ชีวิตที่พอเพียง : 136. ไปเยี่ยมลูกที่โคโลราโด : 8. เที่ยวโบลเดอร์


       วันนี้วันที่ 5 ตค. เป็นวันที่ 8 ของการเดินทาง   ได้มีเวลาทบทวนความรู้สึกและการเรียนรู้จากการเดินทางครั้งนี้
          1. ได้สัมผัสความกว้างใหญ่  ความแตกต่างหลากหลายของพื้นที่ที่เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา
          2. ได้เห็นระบบ National Parks ที่มนุษย์เราสร้างขึ้น  เพื่อการศึกษา การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูธรรมชาติ     รวมทั้งเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของแหล่งธรรมชาติเหล่านั้น     ที่เราไปเห็นการใช้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดคือด้านการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ (recreation)
          3. ได้เห็นร่องรอยของการใช้ National Parks เหล่านี้ในการทำงาน สร้างผลงานด้านวิทยาศาสตร์  โบราณคดี  ศิลปะ (โดยเฉพาะด้านการถ่ายภาพในหลากหลายฤดู)    ได้เห็น "วิชาการในการปฏิบัติ"     และได้เห็นร่องรอยของความเชื่อมโยงระหว่าง "วิชาการภาคปฏิบัติ" กับ "วิชาการภาคการศึกษา"     และเกิดความคิดว่า สภามหาวิทยาลัย น่าจะได้สร้างนโยบาย หรือระบบ ที่จะให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวิชาการ 2 ภาคนี้ให้เกิดการสนธิพลัง (synergy) กัน
           4. ได้เห็นว่า ระบบ National Parks เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว     ซึ่งไม่ได้มีแค่การเดินทาง  การพักแรม อาหาร  ของที่ระลึก เท่านั้น    แต่ยังรวมการพิมพ์หนังสือ (ที่มีภาพสวยๆ) เกี่ยวกับแต่ละสถานที่    ออกวางจำหน่ายใน Visitor Center ด้วย 
          5. ได้ทดสอบความอึด ความอดทนต่อการ "เดินป่า" (ป่าเมืองหนาวไม่รกอย่างป่าเขตร้อน) ของภรรยาและตนเอง  ซึ่งถือเป็นคนแก่แล้ว
          6. ได้ใกล้ชิดกับลูก และเพื่อนของลูก     ทำให้ได้เรียนรู้วิธีคิดของคนสมัยใหม่
          7. ได้ฝึกถ่ายรูปเพิ่มขึ้น
          8. ได้เรียนรู้เชิงประจักษ์ ต่อชีวิตและอนิจจังของหิน  ในช่วงเวลาที่ยาวมาก เรียกว่า geological time   มีหินหลากชนิด เช่น sandstone, siltstones, limestones ทับถมกันเป็นชั้นๆ  มีแร่ฝังอยู่   เมื่อมีการยกตัว หรือกัดเซาะ ชั้นหินเหล่านั้นก็เผยออกมา
              มองในมุมหนึ่ง หินเหล่านี้คล้ายมีชีวิต    และมีอนิจจังของหินด้วย
          9. ได้เรียนรู้ว่าในช่วงเวลา 100 ล้านปี ของ Pensylvaian & Permian Period คือระหว่าง 325 - 225 ล้านปีมาแล้ว ดินแดนบริเวณ Canyonlands เป็นเขตร้อน คืออยู่ในระดับเส้นศูนย์สูตรเท่าๆ กับอัฟริกาตะวันตกเดี๋ยวนี้
               น้ำเซาะหิน ที่ Grand Canyon เผยชั้นหินที่เกิดขึ้นในช่วง 1,800 ล้านปีที่ผ่านมา
               ทะเล  เป็นผู้สร้างชั้นเกลือ - Paradox salt formation ในบริเวณภูเขานี้    เพราะเมื่อ 400 ล้านปีมาแล้วบริเวณนี้น้ำทะเลท่วมถึง  คือยังไม่ยกตัวเป็นภูเขา
               เราเป็นคนที่ "ไม่รู้ภาษาธรณีวิทยา" (geologically illiterate) ความเข้าใจเรื่องหินจึงไม่ลึกซึ้ง

       10 - 12 น. ออกไปเดินเล่นกับหมออมราที่ Boulder Creek    มีลำธารไหลผ่าน    ใบไม้หลากสีสวยมาก     ได้ถ่ายรูปสวยๆ หลายรูป     และได้เรียนรู้เรื่องราวของเมือง โบลเดอร์ มากขึ้น     ได้เห็นร่องรอยของคนอินเดียนแดงที่มีชีวิตอยู่ในบริเวณนี้เมื่อคนขาวเริ่มเข้ามาครอบครอง

       17 น. ชวนกันออกไปเดินที่ Pearl Street ซึ่งเป็นถนนคนเดินที่ทันสมัย    มีการออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่เป็นที่ชื่นชอบ    คือมีสวน  ที่นั่งพักผ่อน  และสนามเด็กเล่น ไว้กลางถนน    ถ้าไม่ได้ไปเดินเที่ยวก็น่าเสียดาย    ทำให้เห็นคุณค่าของ landscape design ชัดเจนขึ้นสำหรับเรา   
      ได้ถ่ายรูปกระรอกหางแดงอย่างใกล้ชิดที่นี่ 

       วันนี้อยู่กันแบบคนไม่มีรถยนต์ใช้    ตามแบบชีวิตของลูกชาย ที่ใช้รถจักรยาน      ที่จริงลูกเขาไปยืมจักรยานจากมหาวิทยาลัยนาโรปะมาให้     แต่ไม่ได้ใช้ เพราะเกรงว่าจะไปเกิดอุบัติเหตุ     รวมทั้งถนนมีการขึ้นลงเนิน    แม้จะมี bike lane อยู่ในถนนเกือบทุกสาย เราก็ยังไม่สะดวกใจที่จะลองขี่ชมเมือง

        ตอนเย็นลูกทำอาหารไทยประยุกต์ให้กินตามเคย

                    

                         Boulder Creek อันสงบร่มรื่น

                    

                       สีใบไม้ และนางแบบ อันงดงาม

                    

                         รูปนี้ถ่ายมาฝาก อ. Beeman

                     

  Pearl Street อันเป็นผลงานออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่มีชื่อเสียง

                    

                        อีกมุมหนึ่งของ Pearl Street

                    

                    แม่กับลูกสาวคนใหม่ ที่ Pearl Street

                    

                         กระรอกหางแดงที่ Pearl Street

วิจารณ์ พานิช
๑๐ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 55032เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2006 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท