KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 183. องค์ประกอบที่ ๒ ของปัญญาเชิงสังคม - สามารถฟังหรือรับสารจากบุคคลได้อย่างตั้งใจ


         ในหนังสือ Social Intelligence ใช้คำว่า Attunement : Listening with full receptivity; attuning to a person    ผมเปิดดิกชันนารีหลายเล่ม ได้ความหมายในทำนองว่า  เป็นการปรับสิ่งของหรือผู้คนให้เข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ    คล้ายๆ จูนคลื่นเข้าหากัน ซึ่งน่าจะตรงกับ การฟังอย่างลึก ฟังอย่างตั้งใจ (deep listening) ที่เราใช้กันในกระบวนการ KM นั่นเอง

         ทักษะในการฟังอย่างลึก สะท้อนออกมาในคำพูด หรือปฏิกิริยาโต้ตอบ   ที่แสดงว่าผู้นั้นตอบสนองต่อ ความรู้สึก คำพูด และการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง     ปฏิกิริยาโต้ตอบ จะแสดงออกมาทางสีหน้า  แววตา  และท่าทาง  

        ที่จริงทักษะข้อนี้ไม่ยาก  ฝึกได้ง่าย  โดยฝึกความตั้งใจ  เอาใจใส่  มีสมาธิและสติจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน คือคู่สนทนา      ใช้ประสาทสัมผัสทุกชนิดพุ่งไปสู่คู่สนทนา     และใช้การสื่อสารทุกรูปแบบ (ทั้งที่เป็นคำพูด และไม่ใช่คำพูด) ตรึงคู่สนทนาไว้กับตัวเรา  ห้เขาเห็นว่าเราให้ความสำคัญต่อเขา      และที่เขากำลังสื่อสารนั้นน่าสนใจ  มีความสำคัญ  และเรากำลังรับสารนั้นอยู่อย่างจดจ่อ  

        การรับสารในอุดมคติจึงเป็นการสื่อสารสองทาง (two-way communication)     ในสภาพที่ลึกที่สุด ผู้สื่อกันทั้งสองฝ่ายจะหลอมรวมวิญญาณเป็นหนึ่งเดียวไปชั่วขณะ หรือไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง     ความสนใจจะพุ่งมาอยู่ที่เรื่องราว (สาระ) และคู่สนทนา      ความรู้สึกจะเหมือนหยุดโลกไว้ ณ กาละ และเทศะ นั้น     ดังนั้นแม้เวลาจะผ่านไปนาน ก็จะรู้สึกเหมือนเดี๋ยวเดียว   

        ในสภาพเช่นนั้น การสื่อสารคือตัวความสุข ความพึงพอใจ ในตัวของมันเอง

วิจารณ์ พานิช
 ๑๓ ตค. ๔๙ 

หมายเลขบันทึก: 55033เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2006 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท