KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 185. องค์ประกอบที่ ๔ ของปัญญาเชิงสังคม - เข้าใจสังคมวัฒนธรรมของคู่สนทนา


        Goleman ใช้คำว่า social cognition    ซึ่งหมายถึงเข้าใจบริบททางสังคมในแวดวงสังคมนั้นๆ     อย่างตอนนี้ผมต้องไปเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์     ผมต้องเข้าไปอยู่ในวงสังคมของนักการเงินการธนาคาร     ผมบอกตัวเองว่า ผมมี social ignorance ในแวดวงสังคมนี้     ซึ่งผมจะต้องเรียนรู้โดยเร็ว

        แต่ละวงการ  วิชาชีพ  องค์กร ต่างก็มีวัฒนธรรมย่อย (subculture) ของตนเอง     ผมสังเกตว่าในวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีวัฒนธรรมแสดงความเคารพหรือเกรงใจผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสชัดเจนกว่าวงการอื่นๆ     แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการแสดงออกเช่นนั้นจะหมายความว่าผู้น้อยจะเห็นด้วยกับถ้อยคำของผู้ใหญ่อย่างแท้จริง     แต่เขามี social norm ในกลุ่มครูที่จะไม่พูดอะไรที่ไม่ตรงกับของผู้ใหญ่

        ในวงการหมอ มีการเคารพอาวุโส  ถือผู้อาวุโสกว่าเป็นครู     เรียกว่าอาจารย์หมด    โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์-ศิษย์กันมาก่อน  แต่ยังแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้

        ในสมัยรัฐบาลทักษิณ หน่วยราชการที่ทำหน้าที่ควบคุมตรวจสอบหน่วยงานอื่น ไม่มีอิสระที่แท้จริง     ผู้ใหญ่ในหน่วยงานจะคอยเงี่ยหูฟังสัญญาณจาก "ท่านผู้นำ"     และตัดสินด้วยเหตุผลข้างๆ คูๆ ไปตามซิกแนลนั้น     ผมมีตัวอย่างของจริง แต่จะไม่ระบุในที่นี้

        เมื่อประมาณปี ๒๕๒๐ ผมเป็นรองอธิการบดี มอ. ไปประชุมที่ มข.     ได้พบ รศ. สายหยุด นิยมวิภาต ซึ่งเวลานั้นเป็นคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มข.     ท่านเล่าให้ฟังว่าคนทางอีสานจะไม่โต้แย้งผู้ใหญ่ด้วยวาจาหรือท่าทาง แม้จะไม่เห็นด้วย      และคำว่า "ครับ" หรือ "ค่ะ" ของชาวอีสานที่เป็นชาวบ้านนั้นมีความหมายต่างจากที่เราเข้าใจ     มีตัวอย่าง อ. สายหยุดบอกเจ้าหน้าที่คนสวน สมมติว่าชื่อนายมี ให้ไปปลูกต้นไม้     "นายมีเอาต้นไม้สี่ต้นนี้ไปปลูกตรงขอบสนามตรงโน้นนะ"     อ. สายหยุดบอกพร้อมทั้งชี้มือ   นายมีตอบ "ครับ"      แต่เวลาผ่านไป ๑ สัปดาห์ นายมีก็ยังไม่ได้ปลูกต้นไม้     เมื่อสอบสวนกันขึ้นจึงพบว่านายมีไม่เห็นด้วยที่จะปลูกต้นไม้ตรงนั้น     แต่นายมีจะไม่โต้แย้ง แต่ก็ไม่ทำ      อ. สายหยุดอธิบายให้ผมฟังว่า  คำว่า "ครับ" ของชาวบ้านอีสานหมายความว่าได้ยินที่สั่งแล้ว     ไม่ได้หมายความว่าจะทำตามสั่งเสมอไป   

        เมื่อปี ๒๕๑๐ ผมไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน เมือง แอน อาร์เบอร์  รัฐมิชิแกน  สหรัฐอเมริกา      มีเพื่อนที่เรียนด้วยกันเป็นภรรยาสามีคู่หนึ่ง     ภรรยาชื่อรูธ ชอบเอามือลูบศีรษะสามีด้วยความรักใคร่     ผมรู้สึกขัดตามาก เพราะมองว่าหัวเป็นของสูง ภรรยาไม่ควรลูบเล่น     แต่ในวัฒนธรรมฝรั่งเขาไม่ถือ  กลับรู้สึกว่าเป็นการแสดงความรัก   

        เดิมคนเข้าใจกันว่า ปัญญาเชิงสังคมหมายถึงความเข้าใจสังคมวัฒนธรรม ในสภาพหรือบริบทนั้นๆ     แต่ปัจจุบันเป็นที่รู้แล้วว่าปัญญาเชิงสังคมยังมีองค์ประกอบอื่นๆ รวม ๘ ประการ ดังได้กล่าวถึงแล้วในตอนที่ 180

วิจารณ์ พานิช
๑๓ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 55214เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2006 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลยครับที่อาจารย์ยกประเด็นนี้ขึ้นมา เราน่าจะได้พูดคุยกันมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ มิติทางด้านสังคม-วัฒนธรรมแยกไม่ได้จากมิติอื่นๆไม่ว่าจะเป็นสติปัญญาหรือศีลธรรม ยิ่งตัวหลังนี่ชัดเลยว่าเกี่ยวกัน

ก่อนอื่นขอมีส่วนช่วยดังนี้นะครับด้วยนิยามคำ "วัฒนธรรม"  ที่นักมานุษยวิทยา(ฝรั่ง)มักจะใช้หมายถึง "ระบบสัญลักษณ์และความหมาย" เพียงแค่นี้ก็จะทำให้ตระหนักว่าวัฒนธรรมของคู่สนทนามีส่วนอย่างมากต่อการรับรู้ของอีกฝ่าย เราใช้ sign ที่สังเกตได้เป็น signifier แล้วเราก็คิดตามไปในทิศทางนั้น เช่น การที่อาจารย์ไปเห็นภรรยา(ฝรั่ง?) จับศีรษะสามี อาจารย์จะรู้สึกรับไม่ได้เพราะอาจารย์มีบรรทัดฐาน (Norm) ของวัฒนธรรมไทย อาจารย์เริ่มรู้สึกไม่ดีกับหญิงคนนั้น และความคิด (cognition) ของอาจารย์เริ่มมีกรอบทางอารมณ์ ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมคู่สนทนาหรือกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสื่อสาร

อีกคนคือ Spradley มองว่าวัฒนธรรมเป็น "ฉากวัฒนธรรม (Cultural Scene)" ที่แต่ละคนที่เข้า "ฉาก" นั้นๆจะต้องมี "นิยาม" ของสถานการณ์นั้นเพื่อที่จะเข้าไปร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประดุจดาราละครแต่ละคนที่ต้องมี "บท" ของตัวเอง ฉากวัฒนธรรมนี้เกี่ยวข้องอย่างแน่นอนกับวัฒนธรรม มันเป็นชุดความรู้ที่จะทำให้คนๆหนึ่งสามารถที่จะเข้าพัวพันในสถานการณ์ได้อย่างเป็นที่ยอมรับ เหมือนกับการที่คนที่มี "ไวยากรณ์" ภาษาไทยย่อมสามารถพูดภาษาไทยได้อย่างไม่จำกัด คนที่มีไวยากรณ์อังกฤษก็จะพูดภาษาอังกฤษได้อย่างไม่จำกัดจำนวนประโยคที่จะพูด ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่มี "ตัวแบบทางวัฒนธรรม" ก็ย่อมสามารถมีพฤติกรรม/การกระทำที่เป็นยอมรับได้ของคนในชุมชนวัฒนธรรมที่ตนจะเข้าไปพัวพันนั้น 

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันมีปรากฏการณ์ใหม่ของโลก "เสมือนจริง" ที่ระบบ time & space ต่างไปอย่างสิ่นเชิงกับการปฏิสัมพันธ์แบบ "หน้าต่อหน้า" ในโลกจริง ในพื้นที่ไซเบอร์เช่นที่เรากำลังพัวพันกันอยู่นี้ signs ทางวัฒนธรรมมีน้อยกว่าโลกจริงมาก การปฏิสัมพันธ์กันทางความคิดจึงถูกพันธนาการน้อยกว่า แม้กระนั้นก็ยังมีกลิ่นอายอยู่พอสมควร คำ "ศ.นพ." ที่นำหน้าอาจารย์อยู่ทำให้เกิดกรอบการสื่อสารขึ้น รูปภาพที่นำมาติดไว้ก็เป็น sign ทางวัฒนธรรม หน้าตาของอาจารย์(หมอวิจารณ์) แสดงความเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ การปฏิสัมพันธ์กับอาจารย์จึงไม่เหมือนกับในบางเว็บไซท์ที่คนกระโดดเข้า "กัด" กันเหมือนหมาบ้า

การจัดการความรู้มีกระบวนการที่ผมขอเรียกสั้นว่า "จับ-จัด-เจาะ-แจก" กระบวนการสุดท้ายคือการแจกหรือ share สำคัญต่อการเติบโตของความรู้ทั้งของบุคคลและสังคม การเรียนรู้กรอบหนึ่งของการสื่อสารคือกรอบด้านวัฒนธรรมจึงจำเป็นอย่างยิ่ง คนปฏิบัติสิ่งต่างๆบนฐานความรู้ที่เขามี และความรู้นี้ก็รวม "ความเชื่อ" เข้าไปด้วย จะบอกว่าเพียงคนชนบทด้อยการศึกษาเท่านั้นที่มีความเชื่อก็ไม่จริง นักวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษาสูงก็มีความเชื่อด้วย เช่น เคยเชื่อว่าดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ ตอนนี้ก็เลิกเชื่อแล้ว

เอาล่ะครับผมอนุญาติ "แจม" ด้วยแค่นี้ก่อนนะครับ ลองดูว่าเพื่อนๆคิดอย่างไร ฝากสะท้อนออกมาด้วยนะครับ....ขอบคุณล่วงหน้าครับ...

 

สวัสดีค่ะ

เห็นด้วยกับคุณสามารถเป็นอย่างยิ่ง เรื่องที่บอกว่า....

จะบอกว่าเพียงคนชนบทด้อยการศึกษาเท่านั้นที่มีความเชื่อก็ไม่จริง นักวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษาสูงก็มีความเชื่อด้วย เช่น เคยเชื่อว่าดาวพลูโตเป็นดาวเคราะห์ ตอนนี้ก็เลิกเชื่อแล้ว

ที่ญี่ปุ่น วัยรุ่นต่อแถวกันยาวเหยียด ที่ศาลเจ้า ที่เชื่อว่า ศักดิ์สิทธิ์ และจะดลบันดาลให้พวกเขาสอบได้ดีๆ

คนต่างชาติไปเห็นแล้ว งงกันเป็นแถว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท