KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 190. องค์ประกอบที่ ๘ ของปัญญาเชิงสังคม - ทักษะในการเอาใจใส่ เห็นอกเห็นใจ เข้าใจความต้องการ และช่วยเหลือผู้อื่น


       Goleman เรียกทักษะนี้ว่า Concern     ซึ่งหมายถึงความเห็นอกเห็นใจ    จนนำไปสู่การกระทำ คือการลงมือช่วยเหลือ

        ในทางพุทธ เราหมายถึงมีเมตตา กรุณา   

       ในที่นี้เราหมายถึงเมตตา กรุณา ในระดับการกระทำ    เอาใจเขามาใส่ใจเราในระดับการกระทำ     กระทำทั้งในด้านการปฏิบัติช่วยเหลืออย่างตรงความต้องการของผู้รับ     ไม่ใช่ช่วยเหลือตามความต้องการ หรือความคิดของผู้ช่วยเหลือ     ผมมองว่าต้องเป็นการช่วยเหลือด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่หวังผลตอบแทน    เป็นการช่วยเหลือด้วยท่าทีบริสุทธิ์

       ที่สำคัญคือเป็นการช่วยเหลือตามที่ผู้รับต้องการ     ไม่ใช่ตามความต้องการช่วยเหลือของผู้ช่วยเหลือ

       และจะยิ่งได้ประโยชน์ลึกซึ้งขึ้น  ถ้าเอาแนวคิด หรือความเชื่อของมูลนิธิฉือจี้     หรือคำสอนของท่านธรรมาจารย์เจิ้งเหยียนมาจับ     คือให้ผู้ช่วยเหลือแสดงความขอบคุณผู้ได้รับความช่วยเหลือ     เนื่องจากความทุกข์ยากของผู้รับความช่วยเหลือเป็นโอกาสให้ผู้ช่วยเหลือได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น     หรือได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม เพื่อชำระล้างจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

        จะเห็นว่า Golemen มองในระดับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์     แต่แนวทางตะวันออกลึกซึ้งกว่า     มองเข้าไปในระดับจิตวิญญาณ  มองการปฏิบัติเพื่อชำระความบริสุทธิ์ของจิตใจ เป็นเครื่องค้ำจุนสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ 

        แต่จริงๆ แล้ว ทักษะข้อนี้ไม่ใช่เป็นทักษะระหว่างผู้ให้กับผู้รับในระดับช่วยเหลือเท่านั้น     แม้ในระดับของการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน ก็ใช้ได้ด้วย      ผู้ที่เข้าใจความต้องการระดับที่ลึกกว่าที่แสดงออกโดยทั่วไปของคู่สัมพันธ์     จะสามารถ "ให้" ในระดับที่ลึกกว่าการให้วัตถุอย่างมากมาย     โดยที่การ "ให้" นั้นเต็มไปด้วยความรักและความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ หรือมิตรไมตรี

        ผมมองว่า ทักษะข้อนี้ น่าจะรวมไปถึงทักษะในการเป็นฝ่ายรับ    ที่แสดงออกถึงความขอบคุณในระดับจิตวิญญาณ เช่นเดียวกันกับฝ่ายให้     และในชีวิตจริง ไม่มีใครที่เป็นฝ่ายให้อยู่ตลอดเวลา     และไม่มีใคร ที่เป็นฝ่ายรับอยู่ตลอดเวลา     ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่เป็นทั้งรับและให้ หรือเกื้อกูลกัน    แม้แต่ศัตรู ยังมีส่วนเกื้อกูลกัน     และในขณะเดียวกัน แม้มิตร ก็มีส่วนเบียดเบียนหรือก่อผลร้ายแก่มิตรในทางอ้อมได้ด้วย     แต่ในทางจิตใจ มิตรจะให้ความรัก ความเห็นอกเห็นใจต่อมิตรเสมอ

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ตค. ๔๙
วันปิยมหาราช

หมายเลขบันทึก: 55911เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2006 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 11:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้ว ก็ได้หยุดที่วิ่งๆ อยู่ กลับมาตั้งสติ... หายใจลึก..ๆ แล้วก็สบายใจดีค่ะ  "เหมือน KM"                      นะคะ อาจารย์ "ยิ่งให้..ยิ่งได้..."

 

อ่านแล้วทำให้มีกำลังใจในการทำความดีค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท