อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (5)


อภิมหาโครงการด้านอุดมศึกษาและวิจัย (5)

        โปรดอ่านตอนที่ 1 (click)ตอนที่ 2 (click)ตอนที่ 3 (click) , และตอนที่ 4 (click) ก่อนนะครับ

        ในตอนที่ 5 นี้   จะเสนอความเห็นเรื่องระบบการจัดการครับ   โปรดฟัง (อ่าน) โดยยึดกาลามสูตรนะครับ   คืออย่าเชื่อจนกว่าจะไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน

ขอเสี่ยงตายเสนอสิ่งที่ไม่ควรทำเสียก่อนเลยนะครับ   คือ
(1) ไม่ควรใช้ สกอ. เป็นผู้จัดการ
(2) ไม่ควรจัดการโครงการนี้โดยใช้กฎระเบียบราชการ
(3) ไม่ควรจัดเครือข่ายเป็น consortium ให้องค์กร (มหาวิทยาลัย) สมาชิก   ส่งตัวแทนมาเป็นกรรมการหรือมาร่วมบริหาร   หรือจัดสำนักงานบริหารผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามองค์กรสมาชิก   เพราะจะทำให้เกิดการเล่นการเมืองกันระหว่างสมาชิก

         หัวใจของการจัดการคือ   จัดการให้เกิดการใช้ศักยภาพของประเทศอย่างเต็มที่   ให้มีความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน   ให้มีการใช้หน่วยงาน/บุคคลที่มีความสามารถสูงมากกว่าผู้มีความสามารถต่ำ (แต่มีฐานการเมือง)   และจัดการให้การดำเนินการอยู่บนฐานคุณภาพ   เน้นผลงานที่มีคุณภาพสูงหรือได้มาตรฐาน   และเน้นความรับผิดชอบสร้างผลงาน   เน้นประสิทธิภาพในการใช้เงินสร้างผลงาน   เน้นการตรวจสอบและความโปร่งใส   ยกย่องหน่วยงาน/บุคคลที่มีผลงานเด่นประสิทธิภาพสูง

          ผมยังมองภาพใหญ่ของการจัดการไม่ออกชัดเจนนัก   เดาว่าน่าจะเป็นองค์การมหาชนแบบที่มีอายุชั่วคราว 10 ปี   แล้วสลายตัว   ให้งานเข้าไปอยู่ในหน่วยงานประจำต่อไป   ผมได้ลองตั้งชื่อให้แล้ว   ชื่อ สำนักงานพัฒนาอุดมศึกษาเพชราภิเษก (องค์การมหาชน)   เริ่มต้นด้วยคนจำนวนน้อย   แล้วค่อย ๆ ขยายจำนวนขึ้นตามความจำเป็น   ไม่ควรรับคนเข้ามาจำนวนมากในคราวเดียว   และต้องเตรียมสร้างวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) ที่เหมาะสมในการทำหน้าที่ส่งเสริมและเชื่อมโยงเครือข่าย   มีตัวอย่างให้เรียนรู้ที่โครงการ คปก. และฝ่ายวิชาการของ สกว. (คงจะมีที่อื่นอีก   แต่ผมไม่คุ้นเคย)   ต้องรับคนเข้าทำงานจากหลากหลาย discipline เพื่อให้ช่วยเสริมพลังซึ่งกันและกัน   เกิดการเรียนรู้จากการทำงาน   เป็นองค์กรเรียนรู้ (Learning Organization) ได้ง่าย   ควรมีวิธีทำงานแบบองค์กรเคออร์ดิค (Chaordic Organization)   ท่านที่ไม่รู้จักองค์กรเคออร์ดิคอาจค้นบทความได้โดยใช้ Google ใช้ชื่อผม (วิจารณ์ พานิช) เป็นคำหลักสำหรับค้น   หรือใช้คำหลักว่า องค์กรเคออร์ดิคก็ได้   หรือเข้าไปอ่านจากจดหมายข่าวประชาคมวิจัย   ในเว็บไซต์ของ สกว. (www.trf.or.th) ก็ได้

            เมื่อเป็นองค์การมหาชน   เงินเดือนและค่าตอบแทนพนักงานจะสูงกว่าราชการ   จะหาคนเก่งและดีเข้าทำงานได้ง่ายขึ้น   คนที่สำคัญที่สุดคือผู้อำนวยการ   ซึ่งจะต้องมีความเชื่ออย่างสุดฤทธิ์ในคุณค่าของโครงการนี้ต่อบ้านเมืองของเรา   และพร้อมที่จะทำงานแบบเคออร์ดิค

            จะต้องมีคณะกรรมการนโยบาย (หรืออาจเรียกว่าคณะกรรมการอำนวยการโครงการ) ซึ่งควรมีจำนวนน้อย   ประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ   ประมาณครึ่ง - ครึ่ง   แต่จะให้ดีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิควรมากกว่าสัก 1 - 2 คน   ประธานควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ   ตัวแทนหน่วยงานไม่ควรเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัย (เพราะจะเกิดการปกป้องผลประโยชน์) ควรเป็นตัวแทนสำนักงบประมาณ,  สกว./วช./สวทช.,  สกอ.,  สภาอุตสาหกรรม   คือเป็นตัวแทนหน่วยงานกลาง ๆ ที่เข้าใจและเชื่อมโยงกับการวิจัย  จำนวนกรรมการทั้งหมดไม่เกิน 15 คน (เข้าใจว่าตาม พรบ. องค์การมหาชนกำหนดให้มีได้ไม่เกิน 11 คน)   มี ผอ. สำนักงานฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ

              จะให้การทำงานเป็นทีมอย่างดี   ควรให้ ผอ. สำนักงานเป็นผู้ hand pick ผอ. เครือข่ายแต่ละเครือข่าย   แล้วเสนอให้คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบ (จริง ๆ แล้ว ผอ. สำนักงานต้องปรึกษาประธานฯ อยู่ตลอดเวลา  รวมทั้งปรึกษาคนที่เป็นผู้ใหญ่เป็นการภายในด้วย) ซึ่งจะต้องถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการอย่างแรงว่า   เลือกคนที่เหมาะสมต่องานจริง ๆ   ไม่ใช่เพราะความสนิทสนมส่วนตัว   ที่สำคัญ ผอ. เครือข่าย 20 คนควรมาจากหลากหลาย discipline,  หลากหลายสถาบัน,   หลากหลายพื้นที่ทางภูมิศาสตร์,  มีทั้งชายและหญิง   และถ้าจะให้หลากหลายวิธีคิดก็จะยิ่งดี   เพราะนี่คือพลังขององค์กรเคออร์ดิค   แต่ ผอ. เครือข่ายทั้ง 20 คนจะต้องมีสิ่งที่เหมือนกันหรือร่วมกันดังต่อไปนี้
1. มีศรัทธาความมุ่งมั่นร่วมกัน   ที่จะร่วมกันฟันฝ่าเพื่อสร้างความสำเร็จของโครงการ
2. เป็นคนซื่อสัตย์   เห็นแก่ส่วนรวม
3. มีประสบการณ์ในการทำงานวิจัยคุณภาพสูง   และมีทักษะด้านการจัดการ
4. เป็นคนที่ทำงานเป็นทีมได้   ไม่ใช่คนประเภท maverick
5. เป็นคนมีความรู้ความเข้าใจที่กว้าง   ไม่ใช่แคบอยู่เพียงสาขาวิชาของตน
6. พร้อมที่จะฟัง   พร้อมที่จะเรียนรู้
7. ทำงานเพื่อประเทศไทย  สังคมไทย   ไม่ใช่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตน   สาขาวิชาของตน   หรือหน่วยงานต้นสังกัดเดิมของตน

              เรื่องการจัดการนี้   รายละเอียดมีมาก   เขียนเท่าไรก็ไม่หมดและมีความซับซ้อนมาก   เขียนเท่าไรก็ไม่ถูก   ต้องไปปฏิบัติเองและเรียนรู้เอาเอง   เรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มผู้บริหารและพนักงาน   เรียนรู้ร่วมกันกับคณะกรรมการนโยบาย   เรียนรู้ร่วมกันกับสถาบัน/หน่วยงานผู้ดำเนินงานวิจัย & บัณฑิตศึกษา   และเรียนรู้ร่วมกันกับนักวิจัย   อาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษาปริญญาเอก

               หัวใจคือไม่มีสูตรสำเร็จและกฎระเบียบตายตัว   แต่เป้าหมายต้องชัด   ต้องมุ่งมั่นที่คุณภาพ

วิจารณ์  พานิช
 17 ต.ค.48

หมายเลขบันทึก: 5674เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2005 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมต้องอ่าน 2-3 เที่ยว จึงมองเห็นสิ่งที่อาจารย์ต้องการสื่อ

แต่เชื่อว่าเข้าใจเพียงส่วนน้อย

ขอบคุณมากครับ

1/5

ผมต้องอ่าน 2-3 เที่ยว จึงมองเห็นสิ่งที่อาจารย์ต้องการสื่อ

แต่เชื่อว่าเข้าใจเพียงส่วนน้อย

ขอบคุณมากครับ

1/5

ผมต้องอ่าน 2-3 เที่ยว จึงมองเห็นสิ่งที่อาจารย์ต้องการสื่อ

แต่เชื่อว่าเข้าใจเพียงส่วนน้อย

ขอบคุณมากครับ

1/5

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท