KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 199. ความรู้กับความอยู่ดีมีสุข


        ผมเปิดหนังสือ "ดัชนีอยู่เย็นเป็นสุข สร้างสุขได้อย่างไร?"  เอกสารประกอบการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๔๙  เมื่อวันที่ ๒๗ - ๒๙ ตค. ๔๙    พยายามหาว่าผู้เขียนมองบทบาทของความรู้ และการจัดการความรู้อย่างไร ต่อความอยู่ดีมีสุข  

        ผมไปพบในหน้า ๓๘ ภายใต้หัวข้อ องค์ประกอบดัชนี / ตัวชี้วัด ความอยู่ดีมีสุข   เขียนไว้ดังนี้   "2. ความรู้  ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของคนให้มีทักษะความสามารถ ในการปรับตัวได้อย่างรู้เท่าทันในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว    การที่คนเราจะมีความรู้ได้นั้น  จะต้องได้รับการศึกษา   โดยมีองค์ประกอบ ๒ ด้าน
           (๑) การได้รับการศึกษาของคนไทยอย่างทั่วถึงเท่าเทียม
           (๒) คุณภาพการศึกษา" 

         จากข้อความนี้     ผมตีความว่าผู้เขียนมองการศึกษาเน้นที่การเข้าเรียนในโรงเรียน  หรือสถาบันการศึกษาเป็นหลัก     ไม่ได้เน้นที่ "การเรียนรู้" ซึ่งเป็นกิจกรรมตลอดชีวิตของผู้คน     ผมเข้าใจว่าโลกทัศน์ของผู้เขียนน่าจะเป็นโลกทัศน์กระแสหลักในสังคมไทย     และเป็นโลกทัศน์ที่ทำให้มีมุมมองต่อความรู้ แบบแคบ     คือมองเชื่อมโยงกับการศึกษาในสถานศึกษาเท่านั้น

         ผมเปิดหนังสือเล่มนี้ต่อไป และพบเรื่องการศึกษาในอีกหลายตอน    มีที่กำหนดเป็นดัชนีของสภาพัฒน์ ก็มี     ทุกตอนเอ่ยถึงการศึกษาในความหมายเดียวกันกับข้างต้นทั้งหมด     แสดงว่าโลกทัศน์กระแสหลักของสังคมไทย ต่อการศึกษาคับแคบอยู่แค่การศึกษาในสถานศึกษาเท่านั้นจริงๆ

          ถ้าจะให้สังคมอยู่ดีมีสุข ต้องมีมุมมองต่อความรู้ ในแนวใหม่     มองเชื่อมโยงกับ "การเรียนรู้" ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผูกโยงอยู่กับชีวิต     ผูกโยงอยู่กับทุกกิจกรรมในการดำรงชีวิต     กิจกรรมทุกอย่างเป็นการเรียนรู้     สังคมไทยต้องส่งเสริมให้ทุกหย่อมหญ้าของสังคมมีการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ     ซึ่งที่สำคัญที่สุดคือการประกอบอาชีพ     นอกจากส่งเสริมสัมมาชีพแล้ว ต้องเน้น "ปัญญาชีพ" คือการประกอบอาชีพที่เลี้ยงดูตนเอง และสร้างปัญญาไปพร้อมๆ กัน

         สังคมที่อยู่ดีมีสุข ต้องเป็นสังคมเรียนรู้      มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติในทุกๆ เรื่อง      มีการรวมตัวกัน เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของการปฏิบัติ     ซึ่งก็คือสังคมที่ทำ KM กันในทุกภาคส่วน หรือทุกหย่อมหญ้า นั่นเอง

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 58067เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2006 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2012 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ครับ สังคมไทยควรก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้มากกว่าให้ความสำคัญเพียงการจัดการศึกษาในห้องสี่เหลี่ยมหรือ สถานศึกษาเท่านั้น การเรียนรู้มีความหมายมากกว่าการศึกษาจริง ๆ ครับ งานที่ผมทำอยู่ในด้านการศึกษานอกโรงเรียนก็พยายามคิดใหญ่ทำงานให้ยิ่งใหญ่เพื่อกำหนดทิศทางของการทำงาน ว่า สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้คู่สังคมไทย ให้การเรียนรู้รายบุคคล การเรียนรู้ภาคประชาชนคือ กศน.

การเรียนรู้กินความหมายกว้าง ครอบคลุมชั่วชีวิต หาใช่ถูกจำกัดในห้องสี่เหลี่ยมไม่ (เห็นด้วยกับอาจารย์) แต่กศน.เองก็ยังยึดรูปแบบการจัดการศึกษาแบบ "จัดให้" มากกว่าจะทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในระดับชุมชน แม้แต่องค์กรเองก็ยังไม่ก้าวไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้เท่าที่ควร  (ที่เห็นและเป็นอยู่)

คงเพราะว่า  ตัวชี้วัด การศึกษา ในกรอบคิดเดิม วัดผู้จบการศึกษาระดับชั้น ที่สนใจ เช่น มัธยม 3  หาได้ไม่ยาก จาก กระทรวงศึกษาธิการ

แต่ ตัววัด ความก้าวหน้า ความสำเร็จ การเรียนรู้ ของสังคมไทย  มองไม่ออกว่า  จะวัดจากอะไร

สำหรับส่วนตัวผม ขอเสนอ  จาก สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ คือ ระบบ Internet   ตัวอย่างที่ชอบคือ  การที่สามารถสืบค้นย้อนหลัง บทความ หรือ รายการธรรมะเทศนา ประจำวัน ของ หลวงตาบัว

ปัจจุบัน ก็มีหลายรายการสารคดี   หลายเครือข่าย  ที่อุดมปัญญา และ สืบค้นย้อนหลัง ได้ง่าย  เช่น ของ อสมท บน internet    หรือ ของ กลุ่มผู้จัดการ manager radio

 ตัววัดเรื่อง การเรียนรู้ นี้ อาจจะเป็นกลุ่มตัววัด เช่น social  learning  index  ประกอบด้วย จำนวนแหล่ง( sources )  จำนวนงบประมาณของรัฐ หรือสัดส่วน ที่อุดหนุน การเรียนรู้ผ่านสื่อมวลชน ที่ค้นหาย้อนหลังได้

ผมกำลังมีความฝันครับ ใหญ่เกินกำลังของผมโดยลำพังมาก ผมฝันว่าอยากจะไปถอดบทเรียนจากพื้นที่ที่เขาประสบความสำเร็จมาแล้วในระดับหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้คนในพื้นที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความเอื้ออาทรต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ที่ผู้คนใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา เรียนรู้จากการทำงานอยู่ตลอดเวลา จนเสมือนว่าพื้นที่นั้นทั้งพื้นที่เป็นมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยหนึ่ง ผู้คนในพื้นที่นั้นทุกคนก็เหมือนเป็นนักศึกษาที่มีความกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของส่วนรวมและของตนเองไปพร้อม ๆ กัน

ต่อไปนี้ไม่ใช่ฝันนะครับ พอจบจากบันทึกนี้ผมมีนัดจะต้องไปพบ Prof. Dr. Lin Compton จะพาท่านไปดูเมืองพิษณุโลกและสุโขทัย นัดกับนักวิจัยเจ้าของพื้นที่ที่สุโขทัยไว้แล้ว Prof. Lin เพิ่งกลับมาจาก Workshop (Ethnoscience) ที่ด่านซ้าย ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นที่ผมได้รับนั้น ด่านซ้ายน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่เราน่าจะสามารถเข้าไปศึกษาและถอดความสำเร็จมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นอย่างพิษณุโลกหรือสุโขทัยได้ ถ้ามีความเป็นไปได้ กลับมาสู่ความฝันอีกครั้งนะครับ ผมตั้งใจจะค่อย ๆ ทำไปให้ครบ 9+1 จังหวัดตามที่เคยพูดคุยไว้กับท่านอาจารย์พีรเดช (สกว.) ดร.เสมอ (มน.) และภาคีต่าง ๆ เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พ.ย. 49 นี้ครับ ดังรายละเอียดในบันทึกของผมชื่อ "นเรศวรวิจัยกับการพัฒนาภาคเหนือตอนล่าง" ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท