KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 201. Positive Change


ยุทธศาสตร์การสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับกระบวนทัศน์ในสังคม ในลักษณะของ Positive Change คือใช้ความสำเร็จ (success stories) เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ไปสู่วิถีชีวิตแบบพอเพียง พอดี มีความสุข

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 201. Positive Change

          วันนี้ (๑๑ พย. ๔๙) ผมมีความสุขมาก     ที่ได้เห็นว่า KM จะแฝงเข้าไปอยู่ในการทำงานของ สสส.     เป็น KM Inside สสส. ผ่านการทำงานของวาระหลัก สสส. ปี ๒๕๕๐ คือ "สุขภาวะยั่งยืน  ด้วยวิถีชีวิตพอเพียง" 

        จะเป็นยุทธศาสตร์การสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับกระบวนทัศน์ในสังคม  ในลักษณะของ Positive Change     คือใช้ความสำเร็จ (success stories) เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง      ไปสู่วิถีชีวิตแบบพอเพียง พอดี มีความสุข

         วิธีดำเนินการก็คือ การทำ Success story mapping  หรือการเสาะหาความสำเร็จด้าน   "สุขภาวะยั่งยืน  ด้วยวิถีชีวิตพอเพียง"  ที่มีอยู่แล้วในสังคม     มีอยู่ในผลงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ทำอยู่แล้ว      เอามา ลปรร.  ชื่นชมยินดี  ต่อยอดซึ่งกันและกัน     และบันทึกเผยแพร่ต่อ     เพื่อ "หมุนเกลียวความรู้ (ปฏิบัติ)" อย่างต่อเนื่อง    

         ในที่ประชุมคณะกรรมการ สสส. วันนี้ มีการพูดเรื่อง "วิถีชีวิตพอเพียง" ในแง่มุมที่กว้างและเชื่อมโยงมาก     ไม่ได้มองแค่ระดับบุคคล     แต่มองเชื่อมโยงไปสู่ระดับองค์กร     ว่าการทำงานแบบพอเพียงขององค์กรเป็นอย่างไร     เชื่อมโยงไปสู่ "สุขภาวะยั่งยืน" ที่ตีความแตกฉานออกไปได้มาก และ สสส. มีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์สั่งสมไว้จากการทำงาน ๕ ปี     ที่จะนำไปดำเนินการเสาะหาเรื่องราวของความสำเร็จได้ไม่ยาก

         ผมฟังท่าน รมต. สาธารณสุข (นพ. มงคล ณ สงขลา)     ผู้จัดการ สสส. (นพ. สุภกร บัวสาย) และ ผอ. สำนัก ๑ สสส. (ผศ. ทพ. สุปรีดา อดุลยานนท์) แล้ว      เห็นได้ชัดว่าท่านเข้าใจพลังของ KM และเข้าใจวิธีประยุกต์ใช้ KM แล้ว     ผมจึงมีความสุขมาก ที่เมื่อ สสส. ลงทุนสนับสนุนการทำงานของ สคส.     ผลงานของ สคส. ก็ได้วนกลับไปสนองวิธีทำงานของ สสส.     ทำให้ KM เข้าไปเป็นเครื่องมือของการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ    เกิด KM Inside สสส.

        ขอย้ำหลักการสำคัญ ๓ ประการไว้  คือ (1)  Positive Change   (2) Success-stories Approach   (3) Inclusive Approach คือทำงานร่วมกับภาคีนอก สสส. ด้วย
        โดยมีกิจกรรม ๓ ด้านที่เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว คือ  (๑) เวทีนวัตกรรม   ลปรร. ความสำเร็จในการดำเนินโครงการ/กิจกรรม สู่ วิถีชีวิตพอเพียง    (๒) การตีความ ยกระดับ ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ  จดบันทึกในหลากหลายรูปแบบ และเผยแพร่     (๓) การขยายเครือข่ายการดำเนินการ  อย่างต่อเนื่องยั่งยืน  เข้าสู่ระบบปกติ 
        เป้าหมายสุดท้าย   คือความยั่งยืนต่อเนื่อง  ของกิจกรรมเพื่อ วิถีชีวิตพอเพียง และสุขภาวะยั่งยืน

วิจารณ์ พานิช
๑๑ พย. ๔๙
บนรถกลับจากนครนายก

หมายเลขบันทึก: 58684เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2006 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์ด้วยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท