โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑๗)


โรงเรียนชาวนาระดับมัธยม (๑๗)

            นี่เป็นครั้งแรกที่ สคส. จัดการเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนชาวนาอย่างเป็นทางการ    ทำให้ สคส. เองก็ได้เรียนรู้ ว่าสิ่งที่ สคส. ทำ (คือการจัดให้มีคนไปเยี่ยมชมกิจกรรมของ โรงเรียนชาวนา) ก็เป็นการจัดการความรู้อย่างหนึ่ง     ทำให้เกิดความคึกคักขึ้นอย่างมากมายในกลุ่มนักเรียนโรงเรียนชาวนา    

ตอนที่  16  สคส.เยี่ยมโรงเรียนชาวนาวัดดาว

 เช้าตรู่ของวันจันทร์ที่  14  กุมภาพันธ์  2548  รถตู้หลายคันจรจากมหานครมุ่งสู่เมืองสุพรรณ  อู่ข้าวอู่น้ำ  และแล้วก็จรจนถึงตำบลวัดดาวในอำเภอบางปลาม้า  วันนี้ถือเป็นวันดี  วันดีของโรงเรียนชาวนามีความหมายว่า  มีบุคคลสำคัญให้เกียรติมาเยี่ยมเยือนถึงถิ่นดินบ้านนา

   
ภาพที่  147  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช
นั่งร่วมวงเรียนรู้กับนักเรียนชาวนา  

 บุคคลสำคัญท่านแรกที่นักเรียนชาวนาใคร่อยากพบอยากพูดคุยด้วย  คือ  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  หรือที่ใครๆต่างพากันเรียกอย่างสั้นๆว่า  หมอวิจารณ์  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม  (สคส.)  ซึ่งให้การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียนชาวนามาโดยตลอด
 ในวันนี้  ท่านได้พาคณะ  “สื่อสัญจรศึกษาเรียนรู้โรงเรียนชาวนา  :  การบำรุงดินเพื่อคืนชีวิตแม่ธรณี”  มาเยี่ยมนักเรียนชาวนาถึงบ้านถึงนา  มาเรียนรู้นักเรียนชาวนาว่าเรียนรู้กันอย่างไร  และมาชมผลความก้าวหน้ากิจกรรมโรงเรียนชาวนา  ชมแปลงนาตัวอย่างในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  ชมการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์

 ในคณะประกอบด้วยบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง  คือ  คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ปรัธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  (พอช.)  ซึ่งท่านตั้งใจมาเยี่ยมนักเรียนชาวนา  พร้อมๆ  กับสนใจในเรื่องราววิถีชีวิตของนักเรียนชาวนา
 และยังมีคณะนักวิชาการมหาวิทยาลัยที่สนใจในเรื่องการเพาะเลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์ของนักเรียนชาวนา  โดยการนำของ  รศ. ดร.ก้าน  จันทร์หรหมมา  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
 นอกจากนี้  ก็ยังมีคณะสื่อมวลชนที่ได้คอยติดตามผลงานของมูลนิธิข้าวขวัญมาโดยตลอดได้ให้เกียรติมาเยี่ยมชมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย  ได้แก่  ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์มติชน  สยามรัฐ  และรายการคนหวงแผ่นดิน

    
ภาพที่  148  คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม
สวมเสื้อนักเรียนชาวนา  



 ท่านทั้งหลายที่มาถึงโรงเรียนชาวนาแล้ว  ก็ได้นั่งร่วมวงเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับดินรวมกับ      นักเรียนชาวนาไปพร้อมๆกันด้วย  ซึ่งโรงเรียนชาวนากำลังให้การเรียนรู้แก่นักเรียนชาวนาใน    หลักสูตรการปรับปรุงบำรุงดิน  และโอกาสนี้  คุณเดชา  ศิริภัทร  ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ  ได้บรรยายพิเศษเรื่อง  “การปรับปรุงดินกับการคืนชีวิตแม่ธรณี”  สาระได้เชื่อมโยงระหว่างวิถีชีวิตของชาวนา  สู่เรื่องสิ่งแวดล้อมดิน  ดินกับความเชื่อแม่ธรณี  ดินกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืน  สู่โรงเรียนชาวนาที่นักเรียนชาวนาจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการบำรุงดินเพื่อให้ดินมีชีวิต
 เมื่อการบรรยายพิเศษจบลง  ก็มีกิจกรรมการพูดคุยแลกเปลี่ยนต่อเนื่องในวงนักเรียนชาวนา  เรื่อง  “สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกับการชี้วัดคุณภาพดิน”  โดยคุณณรงค์  อ่วมรัมย์  คุณอำนวยของมูลนิธิข้าวขวัญเป็นวิทยากร  สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในดินที่กล่าวถึงนี้คือเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำการย่อยสลายเศษสิ่งต่างๆในดินให้ดินเกิดการร่วนซุย  ซึ่งอีกสักครู่จะนำพาไปรู้จักกับนักเรียนชาวนาที่รู้จักการนำเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์กับการเกษตร  ...  นี่เป็นสิ่งที่หลายๆ  คนกำลังจับตามองอย่างสนใจ

   
ภาพที่  149  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  (สคส.)
คุณเดชา  ศิริภัทร  (มูลนิธิข้าวขวัญ)  และ
คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  (พอช.) 
ภาพที่  150  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช
ชมนิทรรศการนักเรียนชาวนา  

 

   
 ภาพที่  151  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ภาพที่  152  นักเรียนชาวนาพร้อมเรียนรู้ 

 

   
ภาพที่  153  วงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้
บรรยากาศในห้องเรียนโรงเรียนชาวนา 
ภาพที่  154  คุณเดชา  ศิริภัทร
บรรยายพิเศษให้ความรู้นักเรียนชาวนา  

 

 หลังจากได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแนวคิดและเนื้อหาต่างๆในห้องเรียนกันแล้ว  ก็ถึงกิจกรรมที่จะต้องออกนอกห้องสี่เหลี่ยมไปเรียนรู้จากแหล่งปฏิบัติหรือสถานที่จริงทั้งที่บ้านและที่นา  เพื่อโลกของการเรียนรู้จะได้เปิดกว้างรับเอาความรู้ใหม่ๆ  ประสบการณ์จากคนหลายๆคน  ซึ่งได้มาจาก   การฝึกทดลองด้วยการปฏิบัติจริงในนา
 “เทคนิคพัฒนาระบบแปลงนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน”  เป็นเรื่องแรกในพื้นที่แรกที่จะพาไปเยี่ยมชม…  บ้านของคุณบังอร  สุวรรณสูร  แกนนำคนสำคัญของโรงเรียนชาวนาวัดดาว  เพื่อไปดูเทคนิคของการพัฒนาแปลงนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน  วันนี้คุณบังอรทำการเปิดบ้านต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดีและดีใจเป็นอย่างยิ่ง  แวะเยี่ยมบ้านเพื่อดื่มน้ำเย็นๆให้คลายร้อนของแดดยามสาย  แล้วก็เลาะเรียบริมถนนชมนาข้าวอันเขียวที่ปลูกแบบปลอดสารพิษ  ทุกท่านจึงได้ร่วมกันพิสูจน์ให้ได้เห็นกันในเชิงประจักษ์
 

  
ภาพที่  155 – 156  เยี่ยมชมบ้านคุณบังอร  แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน  

 

  
ภาพที่  157 – 158  ชมแปลงนาในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของคุณบังอร  

ขณะที่ชมไปก็ได้มีการพูดคุยซักถามเพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้กันไป  เห็นกลุ่มนักข่าวทั้งถ่ายรูปและสัมภาษณ์เรื่องราวของการปลูกข้าวปลอดสารเคมีกันอย่างสนุกสนาน  งานนี้เรียกว่าได้ทั้งความรู้และความสนุก

   
ภาพที่  159  คณะสื่อมวลชน (หนังสือพิมพ์)  ติดตามทำข่าวด้านการเกษตร  ภาพที่  160  พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

 “นักเรียนชาวนาเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์”  เป็นพื้นที่ที่  2  ซึ่งได้ไปดูการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ที่บ้านคุณสนั่น  เวียงขำ  นักเรียนชาวนาผู้ที่สนใจเรื่องจุลินทรีย์  การไปดูการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์นี้เป็นผลจากการที่ลุงสนั่นได้เรียนรู้และฝึกทดลองด้วยตนเอง  จากการลองผิดลองถูกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  ผลที่ปรากฏให้เห็นประจักษ์  ทำให้หลายๆคนสนใจที่จะเข้าไปศึกษาเรียนรู้ 
 คำตอบส่วนหนึ่งของเรื่องสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกับการชี้วัดคุณภาพดิน  คำตอบของประเด็นจึงอยู่ที่บ้านของคุณสนั่นนี่เอง  คำตอบที่ได้จึงไม่ได้อยู่ไหนไกลตัวเลย 

   
ภาพที่  161  ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช  ชมการขยายเชื้อจุลินทรีย์  โดยมีลุงสนั่นเป็นวิทยากรในฐานะเจ้าของบ้าน  ภาพที่  162  รศ.ดร.ก้าน  จันทร์พรหมมา  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  (ซ้าย)  และคุณเดชา  ศิริภัทร  มูลนิธิข้าวขวัญ  (ขวา) 

  

   
ภาพที่  163  นักเรียนชาวนาแลกเปลี่ยน
ความรู้กับ  รศ.ดร.ก้าน  จันทร์พรหมมา  เรื่องการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ 
ภาพที่  164  นักเรียนชาวนาสาธิตวิธีการเพาะเลี้ยงจุลินทรีย์ด้วยใบไผ่วัสดุธรรมชาติที่พบทั่วไปตามบ้าน/สวน  


   
 ทุกคนที่มาเยี่ยมบ้านของนักเรียนชาวนาพอได้คำตอบกันหลายใน  2  ประเด็น  จากบ้านคุณบังอรและบ้านคุณสนั่น  คราวนี้ไปแวะเยี่ยมบ้านของคุณเพชรรัตน์  สระโจมทอง  นักเรียนชาวนารุ่นแรกอีกคนหนึ่งของโรงเรียนชาวนาวัดดาว  เป็นบ้านหลังที่  4  แหล่งการเรียนรู้เรื่องข้าว   
 เมื่อเข้าไปถึงบ้านคุณเพชรแล้ว  หลายๆคนก็ได้เห็นต้นข้าวกำลังออกรวงทองช่อสวยงามอยู่ในกระถาง  และเมื่อแต่ละคนได้เห็นได้ชมเช่นนั้น…  แน่นอนแล้วว่ามีคำถามที่ต้องการจะซักถามเจ้าของบ้านขึ้นมาในทันที  เช่นว่า  เหตุใดจึงมาปลูกข้าวในกระถาง  พอตอบว่าทดลองปลูกข้าวจากการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว  ก็มีคำถามต่อไปอีกว่า  เหตุใดจึงต้องคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว  แล้วคัดอย่างไร  สาธิตให้ดูได้ไหม  ผลการทดลองเป็นอย่างไร  และคำถามอื่นๆ  อีกมากมาย  คำตอบอยู่ที่นักเรียน   ชาวนา  ...  คุณเพชรรัตน์นั่นเอง

  
ภาพที่  165 – 166  เยี่ยมชมการปลูกข้าวแบบคัดเมล็ดพันธุ์ของคุณเพชรรัตน์  


  “นักเรียนชาวนาวัย  70  ปี  เชื่อมโยงความเชื่อกับวิถีการทำนา”  บ้านหลังที่  4  เป็นบ้านของยายปิ่นทอง  (ปิ่นทอง  ศรีสังข์)    นักเรียนชาวนาอาวุโส  วัย  70  ปี  ผู้ที่จะคนเชื่อมโยงความเชื่อกับวิถีการทำนาให้กับทุกๆท่านได้เข้าใจ  สภาพตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา  จนถึงปัจจุบัน  และรวมถึงการก้าวไปสู่อนาคตอันใกล้นี้
 หลายคนสงสัยว่า  เหตุใดยายปิ่นทองจึงต้องมาเรียนรู้อย่างนักเรียนชาวนาอีก  แต่ก็อย่าลืมว่า  การเรียนรู้นั้น  ไม่มีใครแก่เกินเรียน  ยายปิ่นทองก็ถือเอาค่านิยมเช่นนี้ด้วยคนหนึ่ง  อายุไม่ได้เป็นอุปสรรคของการเรียนรู้ของยายปิ่นทองเลย 
 ยายปิ่นทองเป็นนักเรียนชาวนาคนที่เห็นพัฒนาการทางด้านการเกษตรมา  3  ช่วง  กล่าวคือ  ในสมัยที่ยายปิ่นทองยังคงเป็นเด็กๆ  ซึ่งอยู่ในวิถีเกษตรกรรมดั้งเดิม  ทำนาปีนาน้ำฝน  ใช้ควายไถนา  ปลูกข้าวด้วยการดำนา  และเลือกใช้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน  ต่อมาในระยะเพียงไม่กี่ปี  วิถีชีวิตของยายปิ่นทองก็เปลี่ยนแปลงไป  ภายในหมู่บ้านมีการขุดคลองชลประทาน  เป็นจุดเริ่มต้นของการทำนาปีและนาปรัง  มีการส่งเสริมให้มีการใช้เมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ  ส่งเสริมให้ใช้ปุ๋ยเคมี  ยาฆ่าหญ้า  ยาฆ่าแมลง  จนต่อมาได้สร้างปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ  ด้านสังคม  ด้านสุขภาพให้แก่ยายปิ่นทองเป็นอย่างมาก  กระทั่งในช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ ยายปิ่นทองตัดสินใจเลือกทางเดินใหม่อีกครั้ง  นั่นก็คือการสมัครเป็นนักเรียนชาวนาของโรงเรียนชาวนาวัดดาว  นี่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ยายปิ่นทองต้องการจะย้อนกลับไปทำนาแบบดั้งเดิมอีกครั้ง  เท่าที่จะสามารถย้อนยุคได้  เพราะยายปิ่นทองต้องการกินดีอยู่ดีมีสุขภาวะ 
 นักเรียนชาวนาอย่างยายปิ่นทองสนใจเรื่องของสมุนไพร  ยายปิ่นทองชอบทดลองปรุงยาสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อเอาไปฉีดไล่แมลงที่มารบกวนข้าวและพืชผักผลไม้  การที่ยายปิ่นทองรักการเรียนรู้เป็นอย่างมาก  ทำให้กลายเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูกๆหลานๆในโรงเรียนชาวนา

   
ภาพที่  167  คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรมชมฮอร์โมนชีวภาพ  ภาพที่  168  ยายปิ่นทอง  ศรีสังข์ 
ได้แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมเรื่องสมุนไพรกับ  รศ.ดร.ก้าน  จันทร์พรหมมา 

   

   
ภาพที่  169  เสวนากลุ่มนักเรียนชาวนา
อย่างเรียบง่าย 
ภาพที่  170  วงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้
แบบกันเอง  


   
 หลายๆคนบอกมาเช่นนี้  แต่ความรู้ทั้ง  2  อย่างเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้เปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักเรียนชาวนาได้มาพบปะกัน  กลุ่มหนึ่งรู้อย่างวิชาการ  อีกกลุ่มหนึ่งรู้อย่างชาวนา  ก็คือความรู้  เพราะกลุ่มหนึ่งเป็นความรู้ภาคทฤษฎี  อีกกลุ่มหนึ่งเป็นความรู้ภาคปฏิบัติ  ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้สั่งสมกันมานาน  ถ่ายทอดกันมา  มีนอกเหนือจากตำรา  หากแต่ในวันนี้ได้มีการนำเอาความรู้จากทั้ง  2  กลุ่ม  2  แหล่งมารวมกัน  จึงทำให้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาชีวิต  ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย  นี่เป็นโอกาสที่ดีที่หาดูได้ยาก 
 “สื่อสัญจรศึกษาเรียนรู้โรงเรียนชาวนา  :  การบำรุงดินเพื่อคืนชีวิตแม่ธรณี”  ได้สิ้นสุดก่อนยามเย็น  ทุกๆท่านที่ได้มีโอกาสมาศึกษาดูงานและมาเยี่ยมนักเรียนชาวนาต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับความรู้และประสบการณ์อย่างมาก  และในส่วนนักเรียนชาวนาก็เช่นเดียวกัน  ทุกคนต่างก็บอกเช่นเดียวกันว่าได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์  แต่สิ่งที่นอกเหนือจากนั้น  นั่นคือความภูมิใจในศักดิ์ศรีของชาวนา  ทำให้ในวันนี้นักเรียนชาวนายังยิ้มได้

           ผลของการนำคณะ สคส. ไปเยี่ยมโรงเรียนชาวนานอกจากทำให้สื่อมวลชนลงข่าวโรงเรียนชาวนาอย่างครึกโครมแล้ว     ดร. ก้านยังได้นำเอาใบไผ่ที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่นักเรียนชาวนาเป็นผู้ผลิตเอง เอาไปเพาะเชื้อและส่งภาพเชื้อจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ พร้อมกับความรู้ว่าจุลินทรีย์แต่ละตัวทำอะไร     มีประโยชน์อย่างไร     ทำให้นักเรียนชาวนาเกิดการเรียนรู้ต่อยอดขึ้นไปเป็นอันมาก

วิจารณ์ พานิช
๒๒ สค. ๔๘

 

 


 

หมายเลขบันทึก: 6310เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2005 11:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท