KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 212. การวิจัย


        การวิจัยกับ KM อาจมองว่าเป็นสองหน้าของเหรียญเดียวกันก็ได้     เพราะต่างก็เป็นเครื่องมือสร้างความรู้ด้วยกัน     แต่ใช้ฐานคิดและวิธีการคนละแบบ      คือผลสุดท้ายอยู่ที่การสร้างความรู้เหมือนกัน      แต่ต่างกันที่
         (๑) ความรู้ที่สร้าง ต่างกัน     KM เน้นความรู้สำหรับนำไปใช้งานโดยตรง หรือความรู้เชิงวิธีการ (tacit knowledge)      แต่วิจัยเน้นความรู้เชิงทฤษฎี เชิงหลักการ (explicit knowledge)
         (๒) วิธีการสร้างความรู้ ต่างกัน     KM สร้างความรู้ผ่านการปฏิบัติงานประจำ ผ่านกระบวนการ ลปรร. และการทดลองปฏิบัติเป็นวงจรไม่รู้จบ      แต่วิจัยสร้างความรู้ผ่านระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) ที่มีรูปแบบเชื่อถือได้      วิจัยมักเป็นโครงการที่มีจุดเริ่มต้น และมีจุดจบ
         (๓) เป้าหมายต่างกัน     KM เน้นเป้าหมายที่การพัฒนางาน  พัฒนาคน  พัฒนาองค์กร     ใช้ความรู้  การสร้างความรู้  และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นเครื่องมือ      ส่วนวิจัยเน้นการสร้างความรู้ (แต่การวิจัยเพื่อพัฒนาอาจเน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลง)  เน้นตัวความรู้ เป็นผลลัพธ์
         (๔) คนสร้างความรู้ต่างกลุ่ม     ใน KM ผู้สร้างความรู้ คือคนหน้างาน      แต่ในการวิจัย ผู้สร้างความรู้คือนักวิจัย
         (๕) ขั้นตอนต่างกัน     ใน KM มีขั้นตอนแบบกระโดดข้ามขั้นตอน     คือเมื่อมีโจทย์ที่ต้องการแก้ไข หรือพัฒนา ก็กระโดดไปหาความสำเร็จมา ลปรร. และสร้างความรู้     แต่ในการวิจัย เมื่อมีโจทย์ ก็ดำเนินการทดลอง เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ฯลฯ เพื่อดูว่าสมมติฐานในการสร้างความรู้นั้นถูกต้องหรือไม่     การวิจัยทำตามขั้นตอน ไม่ข้ามขั้นตอน
         (๖) รายงาน หรือการบันทึก ต่างกัน     ใน KM เราเน้นการจดบันทึกเรื่องเล่าความสำเร็จ และคลังความรู้ เอาไว้ใช้งานเอง      ไม่ใช่เขียนรายงานไว้ให้คนอื่นตรวจหรืออ่าน     ถ้าจะเผยแพร่ก็เพื่อเป้าหมายการ ลปรร. อันเป็นส่วนหนึ่งของ KM ด้วย     แต่ในการวิจัย รายงานการวิจัยเขียนเพื่อเผยแพร่ เพื่อการวิพากษ์ถกเถียงทางวิชาการ
         (๗) - - -  (ขอเชิญชวนให้ช่วยกันเติมครับ)

        แต่ในความเป็นจริง     เราไม่จำเป็นต้องแยกระหว่างการวิจัยกับการจัดการความรู้      กิจกรรมที่เรียกว่าการวิจัย ในหลายกรณีก็ใช้วิธีการ KM  เป็นเครื่องมือได้      คือในชีวิตจริง Research กับ KM อาจเข้ามาหลอมรวมกันในทางปฏิบัติ จนแยกแยะยาก     และในความเป็นจริงก็ไม่จำเป็นต้องแยกแยะ

วิจารณ์ พานิช
๑๒ พย. ๔๙   ปรับปรุง ๑๗ พย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 63459เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2006 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่สพท.สุพรรณบุรีเขต 2 ผอ. อนุสรณ์  ฟูเจริญ  ได้เริ่มทำวิจัย และส่งเสริมให้ครู ผู้บริหาร และบุคลากรในสังกัด  ทำวิจัยเชิงพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม  โดยใช้  KM  เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนให้เกิดงานวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม  ที่เป็น PAR&D และผู้มีส่วนร่วม จะต้องร่วมทำวิจัยลักษณะ ร่มเล็ก ในร่มใหญ่ ไปพร้อมๆ กัน นั่น คือจะมีผลการวิจัยของตนเอง คนละ 1 เรื่องไปพร้อมๆกัน

       ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท