KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 230. พี่คิดได้ไง


        storytelling ที่สนุกและมีพลังต้องการ "ใจ" ทั้งจากส่วนผู้เล่าและผู้ฟัง      สิ่งที่เราต้องการจากเรื่องเล่า คือวิธีการ หรือความรู้ปฏิบัติ      สำหรับเอาไปปรับใช้ต่อ      หรือเพื่อกระตุ้น "ปิ๊งแว้บ" ไปสู่การริเริ่มใหม่ๆ ในงานของผู้ฟัง      และบางครั้งผู้เล่าเองนั่นแหละ ที่เกิด "ปิ๊งแว้บ" ขึ้นจากเหตุการณ์ของการเล่าเรื่องและการซักถามโต้ตอบ

       บรรยากาศของการสื่อสารด้วย "ใจ" เป็นตัวกระตุ้นพลังสมองส่วน "ปัญญาญาณ" (intuition) ให้ทำงาน     การสื่อสารจากใจถึงใจนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างคน      ความรู้สึกว่าตนเองได้รับการยอมรับในความคิดเห็น ในคุณค่า      ความรู้สึกว่าสิ่งที่ตนเล่า หรือแสดงความคิดเห็นจะได้รับการยอมรับ     ความรู้สึกว่าตนสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ ไม่ต้องกังวลเรื่อง ถูก-ผิด     ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ตรงกับความเชื่อของผู้อื่น      ความมั่นใจอันเกิดจากสิ่งที่ตนเล่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง     จะทำให้ผู้เล่าเล่าเรื่องได้อย่างเห็นจริงเห็นจัง

        การสื่อสารแบบ "ไร้เสียง" ของเหล่าผู้ฟัง ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อบรรยากาศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสุนทรียสนทนา      การสื่อสารแบบ "ไร้เสียง" ได้แก่ การฟังอย่างสงบ ไม่ทำอย่างอื่น  แววตาท่าทางที่แสดงความสนใจ ดื่มด่ำ      การจ้องหน้าผู้เล่า และสีหน้าที่แสดงออก     การยิ้ม เสียงหัวเราะ คำอุทาน  น่าจะถือได้ว่าเป็น "การสื่อสารแบบไร้เสียง"

        การสื่อสารแบบมีเสียง  สื่อสารด้วยถ้อยคำ ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน      และถ้าการสื่อสารสองแบบนี้ (แบบไร้เสียง กับแแบถ้อยคำ) ผสมผสานกันอย่างสอดคล้องกลมกลืน บรรยากาศของการเล่าเรื่อง - สุนทรียสนทนา ก็จะได้ทั้งสาระและบันเทิง

         ประโยคทองของการสื่อสารแบบถ้อยคำ  เพื่อกระตุ้นด้วยความชื่นชม ต่อผู้เล่า คือ "พี่ (น้อง) คิดได้ไง"      คำนี้คุณพินิจ นิลกัณหะ แห่ง กฟผ. โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นผู้เน้นต่อที่ประชุมวิชาการจัดการความรู้ ครั้งที่ ๒๒ เมื่อวันที่ ๑๗ พย. ๔๙     "พี่คิดได้ไง" เป็นถ้อยคำสั้นๆ ที่เมื่ออุทานออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ จะแสดงความชื่นชม และเป็นคำถามหาที่มาที่ไปของการกระทำ หรือวิธีการในเรื่องเล่านั้น     เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับที่ไม่ใช่ตื้นๆ แค่เทคนิค     แต่ลึกลงไปในระดับความคิด ความเชื่อ หรือระดับปัญญา  

        KM เน้นความรู้ปฏิบัติ     แต่ถ้าเราทำ KM เป็น     เราจะไปถึง "ปัญญาปฏิบัติ"

        สู่ "ปัญญาปฏิบัติ" ด้วยคำถาม (หรือคำอุทาน) "พี่คิดได้ไง"

วิจารณ์ พานิช
๑๘ พย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 68379เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2006 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท