KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 232. ร่วมกันขับเคลื่อนสังคมด้วย KM


            สังคมดีไม่มีขาย  ถ้าอยากได้ต้องร่วมสร้าง
            สังคมดีไม่มีให้  ถ้าอยากได้ต้องร่วมกันจัด

      วันเสาร์ ที่ ๑๘ พย. ๔๙ ผมไปร่วมประชุม เวทีวิชาการประชาสังคม "ทำการเมืองภาคพลเมืองในท้องถิ่นไทย : ความท้าทายแห่งยุคสมัย"  ซึ่งจัดโดย โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธรณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ และภาคี  ได้แก่ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา  สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม  คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  และภาคีพันธมิตรประชาสังคม ๓๕ จังหวัด

     โครงการวิจัยและพัฒนาชีวิตสาธารณะ-ท้องถิ่นน่าอยู่ สนับสนุนโดย สสส.    ผมเป็นกรรมการในคณะกรรมการกำกับโครงการนี้อยู่ด้วย     จึงสนใจไปสังเกตการณ์   เพื่อหาทางเก็บเกี่ยวสารสนเทศ  สำหรับเอามาใช้ประกอบการทำงาน เพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่สังคมอุดมปัญญา หรือสังคมเรียนรู้

       ผมเชื่อว่าสังคมไทยต้องเป็นสังคมอุดมปัญญา หรือสังคมเรียนรู้ ตามรูปแบบที่เราร่วมกันสร้างขึ้นเอง     และสังคมไทยต้องร่วมกันสร้างความรู้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน 

      ที่จริงเรื่องที่ประชุมกันนี้ คือการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน   หรือการรวมตัวกันดำเนินกิจกรรมทางสังคม เพื่อสร้าง "ความเป็นชุมชน"  "การเรียนรู้ร่วมกัน" ในการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตในทุกๆ ด้าน   รวมทั้งเพิ่มความรู้เท่าทันมายาในกระแสต่างๆ

      ผู้จัดการประชุมแจกหนังสือถึง ๑๘ เล่ม   ที่ผมสนใจมากคือ เล่มที่ชื่อว่า "ชีวิตสาธารณะเข้มแข็ง ท้องถิ่นน่าอยู่ บันทึกการเรียนรู้ร่วมกันของพลเมืองใน 35 จังหวัด"   เป็นหนังสือที่บันทึกเรื่องราวย่อๆ ของแต่ละโครงการย่อย ในแต่ละจังหวัด    เหมาะต่อการเอาไปค้นหา "เรื่องราวของความสำเร็จ" สำหรับเอามาขับเคลื่อนการ ลปรร. เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไป  

       อีกเล่มหนึ่งที่ผมสนใจ คือ "หน่วยจัดการความรู้ ภาคประชาสังคม" โดย ประภาพรรณ อุ่นอบ   เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ หนา 88 หน้า    ที่รวบรวม นิยามของคำว่า การจัดการความรู้  การจัดการความรู้ภาคประชาสังคม   และยกตัวอย่างของการจัดการความรู้ ภาคประชาสังคม  3 ตัวอย่างคือ
         ๑. กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต  จ. ตราด
         ๒. ศูนย์พัฒนากิจกรรมภาคพลเมืองปราจีนบุรี
         ๓. มูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร  จ. พิจิตร

       ตบท้ายด้วยข้อเสนอต่อแนวทาง การจัดการความรู้ภาคประชาสังคม

       ผมจึงมีความสุขมาก ที่ได้เห็นการขับเคลื่อนความเข้มแข็งของชุมชน  ในหลากหลายบริบท ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย  โดยมี KM Inside

วิจารณ์ พานิช
๑๘ พย. ๔๙
ระหว่างการประชุม ที่โรงแรมปริ๊นซ พาเลซ  มหานาค

หมายเลขบันทึก: 68717เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2006 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท