KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 238. เล่าความดีอย่างไรไม่ให้ยี้


ถ้าเราเล่าเรื่องความสำเร็จ เรื่องความดี เพื่อ glorify ตัวเราเอง คนเขาจะยี้ และเอียน ด้วยความหมั่นไส้

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 238. เล่าความดีอย่างไรไม่ให้ยี้

        วันที่ ๒๙ ธค. ๔๙ ผมไปร่วมประชุมวิสามัญมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)     มูลนิธินี้มี ศ. นพ. อารี วัลยะเสวี เป็นประธาน และ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นรองประธาน    ทั้งสองท่านนี้เป็นหมอแมกไซไซทั้งคู่

         คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ (จิตแพทย์นักเขียนแห่ง รพ. เชียงรายประชานุเคราะห์    และตอนเรียนแพทย์เรียนด้วยทุนเล่าเรียนหลวง) 

   ผู้ประสานงานแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ นำเสนอสรุปผลการดำเนินงาน    และแผนปฏิบัติต่อไป    เป็นที่ชื่นชมของคณะกรรมการ     อ. หมอประเวศถึงกับบอกว่า มสส. ควรทำเรื่องนี้เรื่องเดียว     เน้นทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาจิต จากกิจกรรมที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย     โดยเข้าไปทำงาน KM & Social Communication เพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจของสังคมเกี่ยวกับการพัฒนาด้านจิตใจ และจิตวิญญาณผู้คนและของสังคม

         คุณหมอประเสริฐบอกว่าตนมีปัญหาการทำ KM ในภาคปฏิบัติ     และถามผมโดยตรงว่าเล่าเรื่องราวดีๆ เรื่องของคนดีอย่างไรไม่ให้ผู้ฟังเห็นเป็นเรื่องตลก หรือเป็นเรื่องเพ้อฝัน    และถูกผู้ฟังหัวเราะเยาะ

         นี่คือความจริงของสังคมไทยนะครับ     เมื่อตอนเด็กๆ ผมก็ตกใจมากที่เมื่อนำเรื่องดีๆ มาเล่าให้กลุ่มเพื่อนฟัง โดนเพื่อนๆ หัวเราะเยาะว่าเป็นคนคร่ำครึ ไม่อยู่กับโลกของความจริง     แม้ตอนเป็นนักเรียนแพทย์แล้วก็ยังได้เห็นภาพเช่นนี้เป็นครั้งคราว      แต่ในชุมชน GotoKnow เราไม่มีปัญหานี้เลย     มีแต่การชื่นชมและให้กำลังใจ     แสดงว่าในชุมชนต่างๆ มีค่านิยมต่างกันนะครับ

         แต่ผมโชคดีที่ชีวิตมันเหมือนมีพรหมลิขิตให้โน้มนำไปหาคนดี ที่เป็นแบบอย่างในอุดมคติของตนได้     และได้รับกำลังใจและคำชมเป็นระยะๆ หลายคน และในจำนวนนั้นก็คือสองหมอแมกไซไซนี่แหละ    จนเมื่อแก่จัดถึงขนาดผมก็ตั้งตัว ตั้งใจ เป็นผู้ให้แรงส่งแก่คนอื่นต่อ

        กลับมาที่คำตอบที่ผมให้แก่คณหมอประเสริฐ     ผมตอบสั้นๆ แบบ im promptu ไม่มีเวลาไตร่ตรอง      ตอบแล้วท่านผู้ใหญ่และผู้อื่นๆ ในห้องฮือฮา แสดงว่าผมคงจะตอบดี      คำตอบมี ๓ ข้อดังนี้
         (๑) ถ้าเราเล่าเรื่องความสำเร็จ   เรื่องความดี   เพื่อ glorify ตัวเราเอง    คนเขาจะยี้ และเอียน ด้วยความหมั่นไส้
         (๒) ถ้าเราเล่าเพื่อ glorify งานของเรา  หน่วยงานของเรา     คนเขาก็อาจจะยังยี้    แต่จะยี้น้อยกว่าข้อ ๑
         (๓) ถ้าเราเล่าเพื่อ glorify คนอื่น  หน่วยงานอื่น  คนเล็กคนน้อย    ลดเจตนา glorify ลง     คนเขาจะฟังด้วยความชื่นชม

       ระหว่างนั่งรถกลับจาก มสส. ผมทบทวนเรื่องนี้     เห็นว่าผมตกคำตอบที่สำคัญที่สุดอีก ๒ ข้อ  คือ
         (๔) ต้องเล่าโดยเข้าใจค่านิยมหรือคุณค่าร่วมของกลุ่มผู้ฟัง     ว่าเขามีความชื่นชมเรื่องทำนองใด    เลือกเล่าเรื่องที่ตรงกับรสนิยมของเขาก่อน   จนได้ใจ    ได้อารมณ์ร่วม    แล้วจึงเล่าเรื่องที่อาจไม่ตรงกับค่านิยมร่วมของกลุ่มผู้ฟังมากนัก     ก็จะสามารถจูงใจให้กลุ่มผู้ร่วมประชุมให้เห็นคุณค่าในเรื่องราวที่เล่าได้
        (๕) เป็นผู้ฟังที่ดีก่อน     ฟังคนอื่นด้วยความตั้งใจ (deep listening) และแสดงความชื่นชม หรือถามด้วยความชื่นชม    เอ่ยคำตีความเชิงคุณค่าและบอกว่าเรามีเรื่องทำนองเดียวกันจะเล่าเสริม     จะได้ใจคนนั้นตั้งแต่เรายังไม่ได้เล่า

        มิตรรัก blogger มีเคล็ดลับเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้างไหมครับ

วิจารณ์ พานิช
๒๙ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 70170เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2006 05:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์

  • ขอบคุณมากค่ะ  สำหรับข้อคิด  เขียนอย่างไร  ไม่ผู้อ่าน  ยี้

เรียน ท่านอ.หมอวิจารณ์ พานิชค่ะ

  • หนูดีใจที่ได้พบอาจารย์ช่วงปีใหม่นี้ค่ะ....
  • หนูมากราบสวัสดีปีใหม่อาจารย์ค่ะ..และมาขอพรอาจารย์ด้วยค่ะ...
  • หนูชื่นชมคุณ "เพื่อนร่วมทาง" ที่ http://gotoknow.org/blog/kmanamai-nonta/70177   ที่ทำให้หนูเข้ามาหาอาจารย์ตามความสนใจได้ง่ายขึ้น..เนื่องจากอาจารย์มีบันทึกมากมายค่ะ
  • "เล่าความดีอย่างไรไม่ให้ยี้"
  • หนูมองว่า...เมื่อใดก็ตามที่คนมองตนเองว่าดี..มีดีจะอวด...คนอื่นมักจะยี้..เพราะเหมือนยกยอตนเอง..ดูเหมือนมองมุมเดียวคือมองแต่ตนเอง..ดูไม่น่าภิรมย์...เพราะบางครั้งการเล่าด้วยตัวอักษรมิได้มีการกระทำที่แท้จริงให้ปรากฎ...ก็ยากนักที่จะเชื่อ..บางคนจึงอด"ยี้"ไม่ได้...
  • หากอยากจะเล่าความดี...ต้องมีเจตนาเอาเทคนิคหรือแนวคิดในการทำดีนั้นออกมาแชร์ให้เพื่อนๆผู้อ่านมองเห็น..เข้าใจ...และเอาไปดัดแปลงหรือถ่ายทอดได้..นั่นคนถึงไม่คิดจะยี้ค่ะ..หนูว่าของหนูเองค่ะ..อาจไม่ใช่ก็ได้..
  • ขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสแสดงความคิดค่ะ...

หนูขอเพิ่มเติมค่ะ....

  • ความดีที่ว่านั้น...ใครกำหนดว่าดี..
  • 1. เราเองกำหนด..เพราะเราเชื่อว่าเราเป็นคนดี...ปฏิบัติตนดีตามคำสอนคำแนะนำของใครต่อใคร..ที่เราศรัทธา
  • 2. ผู้อื่นกำหนด...ว่าสิ่งที่เราทำนั้นดี...ข้อนี้แหละสำคัญ...คนจะไม่ยี้ค่ะ

หนูก็ว่าของหนูเองอีกนั่นแหละค่ะ..อาจจะไม่ใช่อีกก็ได้..

                      ขอบคุณอาจารย์ที่ให้โอกาสค่ะ

 

เรียนท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ครับ

  • ผมคงจะมีนิสัยบางส่วนไปคล้ายอาจารย์บ้างแหละครับ คือเวลาผมพูดหรือบรรยายในชั้นเรียนหรือพูดต่อหน้าชุมชน..มีหลายคนพูดถึงผมว่าเป็นตลกหน้าตาย..
  • อย่างผมอ่านข้อเขียนของท่านอาจารย์หมอตรงนี้นะครับ "ตอบแล้วท่านผู้ใหญ่และผู้อื่นๆ ในห้องฮือฮา แสดงว่าผมคงจะตอบดี" ผมคิดว่าเป็น "ตลกหน้าตาย" ครับ
  • อ่านบันทึกของท่านอาจารย์หมอแล้วไม่ร้องยี้
  • แต่สิ่งที่ตรงใจผมกับคนอื่นๆ...คือ...เราต้อง "ได้ใจ"ของผู้ฟังมาก่อน เขาจึงจะไม่ร้องยี้..ครับ
  ขอให้ท่านอาจารย์ใหญ่ และชาวสคส.มีความสุขตลอดปีหมู ปีใหม่ ปีนี้

กราบสวัสดีปีใหม่ด้วยความเคารพครับ
   เรื่องเล่าอย่างไรไม่ให้ ยี้ ขอเสริมว่า เมื่อจะบอกถึงศักยภาพแท้ๆที่มี และไปทำอะไรได้ผล .. บางทีก็ต้องถ่อมตัวแกล้งบอกว่า "บังเอิญ" บ้าง "ฟลุ้ค" บ้าง "ดวงมันดี" บ้าง ก็จะลดอาการ ยี้ ได้มากขึ้นครับ ไม่ต้องกลังว่าเขาจะเข้าใจไปตามตัวหนังสือ เพราะบริบท จะบอกความจริงอยู่ในตัวมันเองได้ดี

 

  การเขียนเรื่องเล่า  ถ้าเป็นคนพันธุ์KM.พันธุ์แท้ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง  เพราะเขาจะต้องเขียนไปเรียนรู้ไป พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ

ตอนแรกอาจ  จะยี้

ตอนกลางอาจ  จะ แย้ม

ตอนท้ายอาจ   จะยิ้ม

ครับผม

ผมคิดว่า  เวลาเล่า อย่าไปพยายามบอกว่า  ( best practice ) เป็น

  ของใหม่ ของดีที่สุดในโลก คิดโดยเรา ( แม้อาจจะเป็นความจริง )

แต่ผมเลือกบอกว่า  เรื่องทำนองนี้ ที่อื่นๆเขาทำอย่างไร  แล้วเราทำอย่างไร  เพราะว่าเรามีปัญหาอะไร    เราคิด เราเชื่ออะไร

สวัสดีค่ะอาจารย์ และท่านครูบา

  • ครูบาเขียนได้ถูกใจ   ยี้...ยิ้ม...แย้มค่ะ
  • โชคดีปีใหม่ทุกท่านค่ะ

ขอบคุณค่ะ

จากประสบการณ์  ควรเลือกเล่าความดีจากคนหลายระดับ เน้นการเล่าเรื่องดี โดย

1.คนที่ทำความดีที่ได้รับการยอมรับจากสังคมและองค์กร

2.เล่าความดีของคนตัวเล็กๆที่มีคนตัวใหญ่ๆเป็นคนให้คำนิยม

3.ให้คนเล็กๆเป็นคนคัดเลือกคนดีตัวเล็กๆมาเล่าว่า...คนเล็กๆมีดีอย่างไร 

4.คนเล็กๆเล่าสิ่งที่เขาทำว่ามีแรงบันดาลใจหรือเหตุผลหรือเป้าหมายทำความดีเพื่ออะไร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท