KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 240. การทำ KM ในองค์กรโดยเริ่มจาก Best Practice Sharing


ใช้ BP Spiral Award เป็นเครื่องมือสร้างสีสันและความคึกคัก

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 240. การทำ KM ในองค์กรโดยเริ่มจาก Best Practice Sharing

        หน่วยงานต้องการบรรลุผลงานด้านใด อย่างไร     ค้นหาด้วยวิธีต่างๆ ว่าหน่วยย่อยใดมีผลงานที่ "เข้าตากรรมการ" เรียกว่า Best Practice      หา Best Practice มาสัก ๔ - ๕ กรณี หลากหลายแบบ     เอามาจัด Best Practice Sharing Day (ผมได้ชื่อนี้มาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)     โดยผู้บริหารสูงสุดมาร่วมฟัง และซักถามแบบ AI (Appreciative Inquiry)

        อาจมีการให้รางวัล Best Practice ที่มีผลดีต่อองค์กรอย่างถึงขั้น     การให้รางวัลมีหลักว่าต้องไม่ลืมว่ารางวัลทางใจมีค่ายิ่งกว่ารางวัลทางวัตถุ

        มีการออกแบบการจดบันทึกหลากหลายแบบ สำหรับนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ต่อ    ต่อยอดความรู้และความสำเร็จขึ้นไป   

        ผมขอเสนอให้ใช้ BP Spiral Award เป็นเครื่องมือสร้างสีสันและความคึกคัก     หน่วยงานใหญ่ๆ ตั้งไว้เลยว่าจะให้ BPSA ชนิดเหรียญทอง ๕ รางวัล   เหรียญเงิน ๑๐ รางวัล    และเหรียญทองแดง ๒๐ รางวัล    จำนวนรางวัลอาจเพิ่มได้ ถ้ามีทีมเข้าเกณฑ์มากกว่านั้น    รางวัลเน้นความภูมิใจมากกว่าวัตถุเงินทอง     วิธีตั้งรางวัลแบบนี้ เพื่อให้แข่งขันกับตัวเอง ไม่ใช่แข่งขันกันกับทีมอื่น  

        เกณฑ์ของ BPSA คือ ในปีนั้นมีการนำเอาไอเดียหรือวิธีการของ BP (BP 1) จากหน่วยย่อยหนึ่ง  ไปใช้พัฒนางานของอีกหน่วยย่อยหนึ่ง     เกิด BP ใหม่ (BP 2)     แล้วหน่วยย่อยแรกนำเอาไอเดียหรือวิธีการของ BP 2 ไปใช้พัฒนางาน เกิด BP 3     อย่างนี้เรียกว่า 3 step BP Spiral

        เราสามารถตั้งเกณฑ์ให้รางวัล BPSA ได้หลากหลายตามความเหมาะสม     เช่น เหรียญทอง ได้แก่หน่วยงาน 5 หน่วยย่อยขึ้นไป ร่วมกันทำ BPS ได้ไม่ต่ำกว่า 3 step ใน 1 ปี    หรือ 2 หน่วยย่อยร่วมกันทำ BPS ได้ไม่ต่ำกว่า 5 step ใน 1 ปี  

       ทั้งหมดนี้เป็นกุศโลบายให้หน่วยงานย่อยคุยกัน     ร่วมกันคิดหาวิธีพัฒนางานอย่างไม่หยุดหย่อน     คือร่วมกันทำ CQI นั่นเอง

        หน่วยงานใดมีกิจกรรมที่เข้าข่ายแนวนี้อยู่แล้ว กรุณาเอามาเล่าบ้างนะครับ     สคส. อาจจัดให้มี Thailand BP Sharing Award บ้างก็ได้    ซึ่งหมายความว่า BP Sharing ต้องข้ามองค์กร

        ขอขอบคุณคุณอนงนารถ ฆังคัสโร ที่เขียนเรื่อง "การพัฒนาระบบการนัดของคลินิกฝากครรภ์  Best Practice ดีๆ จากเวที KM" ลงใน "ข่าวคณะแพทย์" คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประจำเดือน พย. ๔๙ (http://medinfo.psu.ac.th)     ทำให้ผมได้แนวความคิดในการเขียนบันทึกนี้

วิจารณ์ พานิช
๓๑ ธค. ๔๙
วันสิ้นปี

คำสำคัญ (Tags): #km-วันละคำ#bpsa
หมายเลขบันทึก: 70473เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท