KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 254. นั่งสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักศึกษาหลักสูตรจิตวิทยาความมั่นคง


        วันที่ ๑๑ มค. ๕๐ ผมได้รับเชิญจากสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง      ให้ไปบรรยายเรื่อง "การบริหารความรู้" แก่นักศึกษาหลักสูตร จิตวิทยาความมั่นคง รุ่นที่ ๑๐๐     โดยใช้เวลา ๒ ชั่วโมง     ที่จริงเขาเชิญวันอื่น ที่ผมไม่ว่าง     เราจึงขอต่อรองเปลี่ยนวัน หรือผมส่งคนอื่นไปแทน     เขายินดีเปลี่ยนวัน     เราต่อรองขอขยายเวลา เพื่อจะได้เรียนรู้แบบเน้นการปฏิบัติและซึมซับความเข้าใจ

ด้วยตนเอง      แต่ไม่สำเร็จ  เรามีเวลาจำกัดแค่ ๒ ชั่วโมง      เราใช้หัวข้อ "การจัดการความรู้" ไม่เห็นมีใครคัดค้านหรือถามความแตกต่าง

         ผมขอให้คุณธวัชไปเป็นวิทยากรตัวจริง     ผมเป็น back up    ไปนั่งสังเกตการณ์หลังห้อง

         ตกลงกันไว้ว่า จะใช้เวลาดังนี้
        - กล่าวนำ                                                      ๑๐ นาที
        - ฉาย วีซีดี การจัดการความรู้ในโรงพยาบาลบ้านตาก  ๒๕ นาที
        - ประชุมกลุ่มร่วมกันตีความ และ ลปรร.                   ๔๕ นาที
        - นำเสนอผลการประชุมกลุ่ม                                    ๓๐ นาที
        - สรุป - ตอบข้อซักถาม                                            ๑๐ นาที

        นักศึกษาเป็นข้าราชการ ระดับ ซี ๗ - ๘    อายุ ๓๐ กว่า ถึง ๕๐ กว่า     คือเป็นผู้ใหญ่แล้ว     มีนักศึกษาจากภาคธุรกิจบ้างไม่กี่คน

        มีนักศึกษา ๕ - ๖ คน ยืนปรึกษาหารือกันอยู่หน้าห้องเรียน ตั้งแต่เริ่ม จนเกือบฉายวีซีดีจบ     แสดงว่าเรื่อง KM ไม่ใช่เรื่องน่าสนใจสำหรับนักศึกษากลุ่มนี้     หรือเขามีธุระอื่นที่สำคัญกว่า
 
        นักศึกษาอย่างน้อย ๒ คน เอาคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คมาเปิดทำงาน ในระหว่างฉายวีซีดี     คนหนึ่งทำอยู่ตลอด ไม่ได้เข้ากลุ่มตีความแลกเปลี่ยนเรียนรู้    นักศึกษา ๒ - ๓ คน เดินเข้าๆ ออกๆ จากห้อง      ไม่ได้ตั้งใจดูวีซีดี

         จำนวนนักศึกษาในรุ่นมี ๗๐ คน     เราแบ่งเป็น ๗ กลุ่ม    ในสภาพจริงเราได้สมาชิกกลุ่มละ ๗ - ๘ คน ซึ่งกำลังพอเหมาะ    ทำให้การประชุมกลุ่มมีชีวิตชีวา สมาชิกกลุ่มมีส่วนร่วมอย่างคึกคัก     โจทย์ของการประชุมกลุ่มมี ๒ ข้อ
            (๑) เทคนิคการจัดการความรู้  หรือ how to มีอะไรบ้าง
            (๒) จะนำไปใช้ในงานของตนได้อย่างไรบ้าง

         เราจับฉลากให้มานำเสนอเพียง ๓ กลุ่ม    กลุ่มแรกนำเสนอแบบเข้าป่าไปเลย     คือนำเสนอหน่วยงานของตน     ไม่ได้เหลียวมองวีซีดี รพ. บ้านตากเลย     กลุ่มที่ ๒ ดีขึ้นหน่อย     แต่ก็จับประเด็น KM ได้น้อย     กลุ่มที่ ๓ นำเสนอดีมาก แสดงความเข้าใจ KM จากการดูวีซีดีได้ค่อนข้างดี

         คุณธวัชให้ผมขึ้นไปสรุปตอนท้าย     ผมย้ำแล้วย้ำอีกว่าอย่าทำ KM     ให้ทำงาน แล้วเอา KM ไปใช้ทำให้ทำงานได้มีคุณภาพดีขึ้น   ทำงานได้ง่ายขึ้นหรือสบายขึ้น    หรือทำงานแล้วคนรักกันมากขึ้น เคารพกันมากขึ้น เห็นคุณค่ากันมากขึ้น  

         สรุปย้ำอยู่สัก ๑๐ นาที เวลาเลยไปถึง ๑๒.๑๕ น.  โดยที่เราเริ่มช้าเกือบครึ่งชั่วโมง     มีเวลาให้ถามหรือให้ข้อสังเกตคำถามเดียว     มีข้าราชการจากกระทรวงยุติธรรมมาบอกว่าที่เรานำเสนอนั้นไม่เหมือน KM ที่ กพร. ให้ทำเลย     KM ที่กระทรวงเป็นกองเอกสารที่ไม่มีคนใช้    เขาถามว่า สคส. จะช่วยทำให้หน่วยราชการที่ทำ KM แบบหลงทาง หันมาใช้ KM ได้ผลดีต่องาน ต่อคน และต่อหน่วยงาน เหมือนกรณี รพ. บ้านตากได้อย่างไร

         ผมก็เลยอธิบายให้เขาฟังว่า สคส. มีฐานะเป็นหน่วยงานนอกระบบใดๆ     แต่เราก็จะรับเอาข้อเสนอแนะนี้มาคิด    เพื่อทำงานให้แก่สังคมต่อไป


วิจารณ์ พานิช
๑๑ มค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 74279เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2007 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท