ชีวิตที่พอเพียง : 210. เรียนรู้จากนักศึกษาปริญญาเอก


        ผมสังเกตจากการได้ใกล้ชิดกับนักศึกษาปริญญาเอก    ทั้งประเภทที่สมองดีมาก เช่น นศ. คปก.     และนักศึกษาที่มาเรียนได้เพราะความอดทน มานะพยายาม แต่พื้นความรู้และสมองไม่ดี     ว่ามหาวิทยาลัยที่รับนักศึกษาประเภทหลังไม่ตระหนักเลยว่าตนจะต้องจัดระบบเคี่ยวกรำนักศึกษาเหล่านี้อย่างไร     ดูคล้ายๆ มหาวิทยาลัยมุ่งแต่จะเอาเงินและเอาผลงานว่าตนมีนักศึกษาปริญญาเอกจำนวนเท่านั้นเท่านี้คน     โดยไม่ได้รับผิดชอบจัดระบบและกระบวนการทางปัญญาให้นักศึกษาได้ซึมซับ และซ้อมสมองตนเอง   

         สกอ. รู้ไหม   สมศ. รู้ไหม ว่ามีจุดอ่อนเป็นหลุมดำใหญ่อยู่ในการจัดการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต

        ประสบการณ์สอนผมว่า     มหาวิทยาลัยต้องมีระบบที่แตกต่างกัน สำหรับช่วยเหลือนักศึกษา ๒  แบบนี้      โดยขั้นแรกต้องยอมรับเสียก่อนว่า นศ. ๒ แบบนี้มีจริง และแตกต่างกัน     มีจุดแข็งจุดอ่อนแตกต่างกัน   

        ประสบการณ์สอนผมว่า นศ. ประเภทหลังไม่มีทักษะในการตั้งคำถาม     คุ้นเคยอยู่แต่กับการเรียนแบบดูดซับเนื้อหาจาก "ผู้รู้"  ดังนั้นจุดใหญ่ในการช่วยเหลือ นศ. ปริญญาเอกประเภทหลัง คือการฝึกนิสัยขี้สงสัย นิสัยไม่เชื่อง่ายๆ นิสัยเถียง หรือตั้งคำถามต่อความรู้ที่มีอยู่แล้ว    

        ผมมีความเชื่อว่าการเรียนเพื่อปริญญาเอก คือการฝึกเป็นนักเถียง นักไม่เชื่อ     เมื่อไม่เชื่อก็ต้องหาหลักฐานใหม่มาอธิบาย     ฝึกไปจนถึงระดับหนึ่งก็จะมีทักษะในการสร้างความรู้ใหม่    หรือการวิจัยนั่นเอง   

        ผมมีความเชื่อว่า ผู้จบปริญญาโท ไม่ใช่ผู้มีเนื้อหาความรู้มากกว่าผู้จบปริญญาตรี      และผู้จบปริญญาเอก ไม่ใช่ผู้มีเนื้อความรู้ หรือ content มากกว่าผู้จบปริญญาโท     ความแตกต่างหลักไม่ได้อยู่ที่เนื้อความรู้      แต่อยู่ที่ความสามารถในการสร้างความรู้ใหม่   คนที่เชื่อง่าย ยอมรับความรู้ง่ายๆ จะไม่เหมาะต่อการเป็นนักสร้างความรู้ใหม่     บัณฑิตศึกษาต้องอยู่กับบรยากาศของการถกเถียง  การไม่เชื่อเป็นพื้นฐานแรกของการถกเถียง ทั้งกับตนเอง และกับเพื่อนนักศึกษา และอาจารย์   

        ผมสงสัยว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งกำลังทำบาปอยู่หรือเปล่า     ที่จัดหลักสูตรปริญญาเอกขึ้นมาแล้วไม่ได้เอาใจใส่ นศ. อย่างจริงจัง      ไม่มีแนวความคิดหรือหลักการ (concept) ในการจัดการศึกษาที่ถูกต้องแก่นักศึกษาปริญญาเอกประเภทมาเรียนด้วยทุนความขยันและพื้นความรู้เชิงประสบการณ์     แต่หย่อนด้านพื้นความรู้เชิงทฤษฎีและสมอง

วิจารณ์ พานิช
๑๑ มค. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 75884เขียนเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2007 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
เป็นอย่างที่อาจารย์ว่าจริงๆ ค่ะ  หนูเคยคิดอยากเรียนต่อปริญญาเอก  แต่รู้ตัวว่ามีแต่ต้นทุนความขยัน  แต่หย่อนพื้นความรู้เชิงทฤษฎี  และไม่ใช่นักช่างสงสัย  ก็เลยตัดสินใจไม่เรียนดีกว่า  แต่ในอนาคตถ้ามีการพัฒนาตัวเองมากขึ้น  ก็อาจจะเรียนค่ะ

หนูขออนุญาตแสดงความคิดเห็นดังนี้นะคะ 

อาจารย์คะ การรับนักศึกษาปริญญาเอกเข้ามาเรียนนั้น   หนูยอมรับว่าแต่ละมหาวิทยาลัยฯ มีวิธีการรับนักศึกษาเข้ามาเรียนแตกต่างกัน 

 

 แต่ถ้าในมุมของหนู ๆ กลับมองว่า  มันคือหน้าที่ของนักศึกษาที่จะต้องค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง   และนักศึกษาปริญญาเอกเหล่านั้น  ก็น่าที่จะต้องรู้หรือเตรียมตัวว่า  เค้าจะต้องทำอะไรบ้าง  ???  ในการเข้ามาเรียนปริญญาเอก

 

หนูเองไม่ใช่นักศึกษาปริญญาเอกที่มีความรู้  มีทักษะ...ฯลฯ  หนูมีเพียงแค่ความขยัน  และความพยายามเท่านั้น  พูดง่าย ๆ ก็คือ  "ขยันแต่โง่"   ถ้าเป็นแบบนี้หนูคงจะไม่มีสิทธิ์เรียนปริญญาเอกเลยใช่ไหมคะ     และหนูคงจะเป็นนักศึกษาในแบบที่ 2 ในความหมายของอาจารย์ 

 

เคยมีอาจารย์ท่านนึง.....สอนหนูว่า..บางอย่างถึงแม้มันจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  แต่ไม่ควรพูด  เพราะเมื่อพูดจะทำให้คนอื่นเกลียดเรา  ...   วันนี้เค้าทำเราไม่ได้  แต่วันหน้า  เค้าสามารถทำให้งานของเราไม่ผ่านและมีผลทำให้เราเรียนไม่จบ..???  5555  นี่แหละคือ...ประเทศไทย  ....

 

กราบเรียนด้วยความเคารพ  ถ้าข้อความนี้ทำให้อาจารย์รู้สึกไม่ดี  หนูต้องกราบขอโทษด้วยนะคะ 

หนูเพียงแค่มองว่า...ถ้าหากเรามัวแต่รอมหาวิทยาลัยฯ จัดระบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับผู้เรียนแล้วหละก็..??....สงสัยชาตินี้หนูคงไม่ได้เรียนปริญญาเอก แน่นอนคะ...

ทั้งนี้....หนูจะใช้เพียงแค่ความขยัน  และความพยายาม ในการเรียนปริญญาเอก  และจบออกมาด้วยความสง่างาม  ตรงตามเงื่อนไขของสกว. แน่นอนคะ.....กราบเรียนด้วยความเคารพคะ  

ขออนุญาตอาจารย์ด้วยคน.....ดิฉันเคยตั้งใจจะสอบเรียน ป.เอกที่สาขาไม่ตรงกับงานที่ทำ....ที่ ม.แห่งหนึ่ง....แต่พอฟังข่าวเล่าลือแล้วถอยดีกว่า....ซึ่งข่าวนั้นตรงกับประเด็นของอาจารย์จริงๆ...กลัวค่ะ...กลัวทั้งตัวเองและกลัวอาจารย์+สถาบันด้วย

เรียนอาจารย์ที่เคารพ

ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเรื่องแนวความคิดการแบ่งนักศึกษาปริญญาเอกแบบ 2 ลักษณะของอาจารย์นะคะ

การแบ่งจำพวกนักศึกษาของอาจารย์นั้นมีพวกสมองดี กับพวกขยันดีอย่าเรียกว่าสมองไม่แต่เรียกว่าไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มากกว่า

ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้จากการฝึกคิด และฝึกทำให้มากขึ้น

 ด้วยความเคารพค่ะ

เรียน อาจารย์ที่เคารพ

หนูขออกความคิดเห็นในบทความที่อาจารย์เสนอมานะค่ะ

หนูคิดว่าการประสบความสำเร็จในการทำงานหรือการสร้างงานนั้นมีหลายช่องทางในการเดินไป ทางที่หนึ่งคือการเดินด้วยความมานะและพยายามปรับความสามารถจนทำได้ทุกอย่าง และมีอีกทางที่คนมักเลือกคือ การสำเร็จด้วยการบริหารจัดการโดยการประสานงานจากฝ่ายต่างๆหรือคนต่างๆที่เก่งในแต่ละทาง ซึ่งการเรียนปริญญาเอกก็เป็นการทำงานเพื่อประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

แล้วคำว่า สมองดี ควรนิยามอย่างไร ควรจะนิยามว่าคนที่เก่งทั้งหมดด้วยตนเอง หรือเก่งเพราะบริหารจัดการเก่ง

ถึงแม้หนูจะเป็นนักศึกษาปริญญาเอก คปก ที่ถูกฝึกให้เป็นแบบแรกที่อาจารย์ต้องการ แต่หนูก็ยังคิดว่าคนที่เรียนจบปริญญาเอกด้วยวิธีที่สองก็เก่งเหมือนกันค่ะ ทั้งๆที่เค้าไม่ได้คิดหรือสร้างสรรค์งานด้วยตนเอง แต่เค้าก็สามารถจัดการจนออกมาได้ค่ะ

ขอบคุณที่รับฟังความคิดเห็นค่ะ

บ่อยครั้งที่เราเอาผลเป็นที่ตั้ง แต่ละเลยกระบวนการ

หลายๆครั้งเราลืมว่าเราอยากเรียนปริญญาเอกเพื่ออะไร

ผมมีเพื่อนมากมายที่เลิกเรียนปริญญาเอก หรือหยุดการศึกษาปริญญาเอกตรงที่เรียกว่า Ph.D. candidate ไม่ใช่ว่าเค้าไม่มีความสามารถ แต่เค้าเข้าใจจุดประสงค์ของการเรียนตามที่ตั้งใจไว้ วันหนึ่งเมื่อเขาเห็นว่าเค้าไม่อยากวิจัย แต่อยากออกมา ประยุกต์ในแวดวงอุตสาหกรรมแล้ว เขาก็เลิก ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาไม่มีความสามารถ

จบปริญญาเอกเป็นแค่กระบวนการครับ ถึงแม้จะดูดีมากก็ตาม แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้น อย่าคิดว่าเป็นจุดสูงสุด ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

ปรอง

บันทึกนี้ท้าทายนัก...

ผมว่า สกอ. และ สมศ. รู้แล้วนะครับ เพราะเขามีการปรับระเบียบทุนแล้ว คุณสมบัติของผู้สมัครเอา GPA ค่อนข้างสูง(3.5 ขึ้นไป) นั่นหมายความว่า เขาต้องการนักศึกษาประเภทที่ 1(จากบันทึก) เลยทำให้พวกประเภทที่ 2 หมดโอกาส แต่ผมเห็นว่าทุนความขยันและพื้นความรู้เชิงประสบการณ์ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งของคนที่จะเป็นดอกเตอร์ ส่วนด้านพื้นความรู้เชิงทฤษฎีและสมองน่าจะเป็นรองนะครับเพราะอาจจะมีปัญหาเมื่อออกมาทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะเท่าที่เห็นมีด็อกเตอร์จำนวนมากทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ได้เพราะตึงกับทฤษฎีมากเกินไป

เจริญพรคุณโยมอาจารย์

เห็นด้วยกัยข้อวิพากษ์ของอาจารย์ครับ...

ความเห็นส่วนตัว... แนวคิดปรัชญาอินเดียบอกว่า

จงเป็นอยู่เพื่อเรียนรู้ มิใช่เรียนรู้เพื่อเป็นอยู่

แต่ อาตมาคิดว่า เมืองไทย กลับกัน กล่าวคือ

เรียนรู้เพื่อเป็นอยู่ จะเป็นอยู่เพื่อเรียนรู้ไปทำไม

อาตมาพบว่า ลูกศิษยโดยมาก คิดตามนี้ ...ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาโดยมาก ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงมาจนถึงครูบาอาจารย์ตัวเล็กๆ คิดเรื่องสถานภาพทางสังคม (หลายๆ ด้าน) มากกว่าเรื่องอื่นๆ

เจริญพร

 

คนเคยเรียนและเลิกเรียนปอเอก
เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ...........ทำไมจะต้องมีค่านิยมที่ด้วยกับการเป็นอาจารย์จะต้องจบปริญญาเอก เราไปตีค่า ไปประเมินคนจากระดับปริญญา มันก็เลยมีปรากฏการณ์แบบนี้........ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของนักศึกษาที่กำลังจะเข้าไปเรียน หรือกำลังเรียนอยู่....ก็มีความคิดแบบนี้ว่า เรียนอะไรก็เรียนไปเถอะ พอให้จบ ๆ มา มีคำว่า ดร. นำหน้าก็พอ....ถ้ายังไม่มีกระบวนการอะไรมาจัดการให้เข้าที่เข้าทางได้...อนาคตการศึกษาไทย น่าเป็นห่วงจริงๆ มี ดร. มากมาย แต่ไร้สมอง
           คนไทย...พวกใหญ่พวกโตไม่เคยก้มหน้ามองตนเองว่าผิดหรือไม่ ขอให้โทษทบวงมหาวิทยาลัย (สมัยนั้น) กระทรวงศึกษาสมัยนี้ ระบบการศึกษาที่ผ่านมา ระบบบริหารมหาวิทยาลัย ระบบหลักสูตร  สกอ และตัวอาจารย์ที่ปรึกษาครับ ทั้งหมดนี้ล้วนมีความตั้งใจจริงร่วมกันเพื่อที่จะทำให้เกิดเป็น "ธุรกิจการศึกษา" โดยมีนักศึกษาเป็นเหยื่อ ไม่ว่าจะเป็นเด็กประเภท 1 หรือ 2 ก็ตาม แต่กลับเขลาเหมือนกันคือเด็กเหล่านี้ล้วนยึดมั่นกับมายาคติ "Ph.D."      
          ตัวที่ปรึกษานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมอยู่ในระบบที่มีเพื่อน ดร. ทั้งประเภท 1 และ 2 มาก่อน ในต่างประเทศเท่าที่สังเกตจะเป็นประเภท 2 เยอะนะครับ เพราะระบบการศึกษาเขาสามารถเลือกเรียนรายวิชาที่ถนัดเองได้ บางทีเขาไม่พูด ไม่ซักไม่ได้หมายความว่าเขาไม่กล้า แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากรู้ต่างหากพวกฝรั่งเวลาเรื่องไหนไม่รู้เขาก็ว่าไม่รู้ คนไทยนี่ถูกสอนมาแต่เด็ก ไม่รู้ให้นิ่งไว้ถ้าไม่อยากเสียฟอร์ก็มั่วไป มันเลยเละกันไปหมด แค่พูดว่าไม่รู้นี่มันน่าอายตรงไหนไม่ทราบ
        และผมก็เป็น ดร. คนหนึ่งด้วยครับ แต่ไม่ใช่ คปก สมัยเรียนหนังสือผมก็ไม่ได้เก่งทุกวิชา เก่งแค่บางวิชา มี F ด้วย เพื่อนฝรั่งยังได้ F Calculus เลยแต่วิชา Bioscience ได้ A เรียบ (สรุปผมเป็นประเภท 2ในความหมายของกระทู้นี้) อาจารย์ที่ปรึกษาบอกเลยว่า ผมมีแววในวิชานี้  เขาอยากได้ผมมาเป็นทีมวิจัยใน lab  ใบปริญญาเอกมันเป็นผลพลอยได้ที่อยู่ๆก็ได้มาโดยไม่รู้ตัวจากการมุ่งมั่นทำการวิจัยในวิชาที่ถนัดตลอดเวลากับที่ปรึกษา การศึกษาในต่างประเทศค่าเทอมไม่เท่าไรแต่ค่าครองชีพนี่น่ากลัวมาก ถ้าเป็นผู้ช่วยวิจัยก็มีเงินเดือนทุกคน และแน่นอนว่าจะเป็นผู้ช่วยวิจัยได้อย่างไรถ้าเจ้าของเงินไม่ได้เป็นคนเลือกเอง อยู่ที่ว่าใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก เรียนเก่งไม่ทำงานก็อดงาน เรียนไม่เก่งทำงานได้ก็ได้งาน เรียนไม่เก่งทำงานไม่ได้ก็ไม่ได้งาน และเรียนเก่งทำงานเป็นก็ได้งาน สรุปแฟร์ๆครับ ผมโชคดีที่มีที่ปรึกษาชนิดกัดไม่ปล่อย การทำปริญญาเอกนั้นง่ายมาก เคล็ดมันอยู่ที่กระบวนการ มีคนพูดว่าเรียนนอกจบง่าย อันนี้ก็จริงครับ ก็เพราะกระบวนการเขาดีมากไงครับ แค่ทำตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็จบได้ ใบปริญญามันเป็น output แต่สิ่งที่ทำขณะเรียนและหลังเรียนจบต่างหากเป็น outcome  ที่ปรึกษาบอกผมว่าอาชีพที่ง่ายที่สุดคือการเรียนหนังสือในระบบการศึกษา และอาชีพที่ยากที่สุดคือการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา 
      ตอนนี้ผมก็อยู่บ้านนอก ผิดแผกจาก ดร.ท่านอื่นๆ ที่อยากอยู่ในเมือง มีเพื่อน ดร.มากมายที่ยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้อยู่ มหาวิทยาลัยในกรุงเทพ มีอยู่ 1 คนเป็นคนประเภทที่ 1 เนี่ยแหละครับ สมัยเรียนเทพมาก คะแนนทุกวิชามีแต่เกือบเต็มกับหวิดไม่เต็ม เขากลับถึงขนาดยอมเข้าไปทำงานเป็น labboy ด้วยวุฒิ ป.โทกว่า 10  ปีในคณะวิ...จนมีโอกาสได้สมัครสอบบรรจุซึ่งตอนนี้เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายสอน และใช้การปรับวุฒิ แต่กลายเป็นว่าเพื่อนร่วมงานก่อนหน้านั้นยังคงเรียกชื่อเขาว่า " ไอ้..." เหมือนเดิมทั้งๆที่เขาเป็นสายสอนแล้ว เคยถามเพื่อนคนนั้นไปว่าเอ็งทำไปเพื่ออะไรเนี่ย อายุปูนนี้แล้ว คำตอบบอกไม่ได้ครับหยาบมากแต่ฟังแล้วสงสารเพื่อน เป็นเพราะสังคมและครอบครัวบีบบังคับ (เป็นลูกอาจารย์) ตอนนี้คนที่มีความสุขที่สุดกลายเป็นครอบครัวเขาเฉยเลย ไม่ใช่ตัวเขา เพราะเขาต้องเสียเพื่อนร่วมงานที่กอดคอกันมากว่า 10 ปี อีกคนหนึ่งบ้านเกิดเดียวกันครับบ้านนอกนี่แหละเห็นกันมาตั้งแต่เล็กจบป ตรี เกียรตินิยม 1 ต่อโท เอก ด้วยแต่เรียนเมืองไทย   เรียน 3 ใบสาขาเดียวกันหมด (ยอมรับว่าเขาเก่งมากถึงมากที่สุด) เพราะเรียน ป เอก แค่ 3.5 ปี  ตีพิมพ์ไป 2 เรื่อง conferenceอีกเป็นกุรุด ดีหมดเลยครับเสียอยู่อย่างเดียวตั้งแต่เขาเรียน ป.โท ยันปัจจุบันนี้ กลับบ้านแค่สงกรานต์เท่านั้น ปีใหม่ก็ไปอยู่ต่างประเทศกับสามีฝรั่ง (บ้านเขาขายของชำ แม่เขาบ่นเป็นห่วงให้ฟังตลอด) ไปเป็นอาจารย์ใน ม.ใหญ่ๆมา 3 ที่ แต่ทำไมอยู่ที่ละ ปีสองปี ผมก็ไม่เคยไปถามนะเห็นแม่เขาเคยพูดทำนองทำงานกับพวกนั้นไม่ได้ (หรือพวกนั้นไม่เอาคุณไปร่วมงาน) ปัจจุบันก็ไม่ได้ทำงานที่เรียนมากลับไปทำธุกิจส่งออกซะงั้น 

ปัจจุบันผมอยู่กับชาวบ้าน ผู้ที่พวกเราชาว ดร. มักจะมองว่าเป็นมนุษย์ด้อยปัญญา เอางานวิจัยมาลงเพื่อทำไร่ทำนา ทำวิจัยโดยตีพิมพ์กับประยุกต์ใช้ควบคู่กันไป ต้องบอกเลยว่าการประยุกต์มาเป็นรูปธรรมนั้นยากมาก ใช้เวลานานมาก ผลใน lab สวยๆกลับใช้ไม่ได้ในทุ่งนา แถมส่งผลหนักกว่าเดิมอีก ฝรั่งยังบอกเลยว่าน่าอิจฉาเมืองไทยมีเวทีให้ปะลองวิทยายุทธิ์ทางการเกษตรมากมายทำไมนักวิทยาศาสตร์บ้านยูไม่ลงไปทำ บ้านเขาทำไม่ได้มีแต่ทะเลทรายกับหิมะ 
 ส่วนการตีพิมพ์นั้นง่ายกว่าเยอะ เรื่องเก่าเอามาเล่าใหม่ จ่ายเงิน ใส่ชื่อเพื่อนฝรั่ง ก็ได้พิมพ์ทุกที อยู่ที่จะลง impact เท่าไร  Quatile เท่าไร ก็หลอก สมศ. ไปงั้นแหละ (ผมว่ากรรมการที่มาประเมิน ไม่เคยเปิดอ่านดูด้วยซ้ำว่า paper จำนวนมากมีคุณภาพไหม เชื่อในสิ่งที่พิมพ์ให้เห็นตลอด)  พิมพ์ส่งไปตรวจสาขาละรีม สองรีม สามรีม ท่านโดน ดร.หัวเส ทุกมหาลัยหลอก และเบิก toner กับ double A มาเก็บเล่นๆซัก 10 โหล)  

 ชีวิตที่ยังเหลือแท้จริงแล้วผมกลับพบว่ามีเรื่องราวมากมายที่ชาวบ้านคิดวิเคราะห์ตีความและอธิบายความลับธรรมชาติได้ดีกว่า ดร. อย่างผม เพียงแต่ใช้ภาษาแบบชาวบ้านเท่านั้นเอง เพราะพวกเขาอยู่กับโลกแห่งความเป็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง โลกของธรรมชาติที่มีคำตอบในตัวมันเอง ดร.โง่ๆประเภทที่ 2อย่างผมยังไขปริศนาไม่ได้อีกตั้งหลายเรื่อง

สรุป.. ทั้งคนประเภท 1 และ 2 ล้วนจบเป็น ดร. ได้ทั้งนั้นครับ กระบวนการในเมืองไทยมันเอื้อแต่กับประเภทที่ 1 เพราะคนที่มันร่างกระบวนการคือพวกประเภท 1 ทำไมคนประเภท 2หลายคนสมองไหลไปอยู่ต่างประเทศกันหมด ทำไม ดร.มากมายที่ไม่ได้เกียรตินิยม ถึงไปทำงานที่ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปรหมด เมืองไทยมี ดร. เกียรตินิยมเพียบแต่เหมือนย่ำอยู่กับที่ ปริมาณ paper ที่เพิ่มมากมายบอกถึงความก้าวหน้าจริงหรือ ทั้งๆที่เกือบ 100% ของการทดลองในส่วน method และ discuss ล้วนอ้างอิงฝรั่งทั้งนั้นแทบจะไม่ cite กันเองในไทยเลย แล้วมันต่อยอดตรงไหนเนี่ย ผลสุดท้ายของบทความมันเกิดนวัตกรรมมากซักกี่บทความ คิดอีกทีทำไมสิงคโปร์วิทยาศาสตร์เจริญมากจังแฮะช่วง 10 ปีมานี้ โดยที่เขาก็ไม่ได้ผลิต ดร. มากมายขนาดนี้เลย แต่เราดันไปผลิต ดร.ให้เขาซะงั้นนะครับ

คนเบื่อระบบการศึกษาไทย

ก็เพราะคนไทยมีพวกไดโนเสาร์เต่าล้านปีอยู่ในวงการการศึกษามากมายนัก และคนเหล่านี้ก็ชอบกีดกันคนอื่นที่เด่นดีกว่า  เพราะกลัวตนเองจะตกขอบ  น่าเบื่อมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท