KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 270. KM เพื่อการออก พรบ. การวิจัยสุขภาพ


           ผมได้แนวคิดในการเขียนบันทึกนี้ระหว่างประชุมกลุ่มสามพราน     เมื่อวันที่ ๑๒ ก.พ. ๕๐     เรื่อง "กลุ่มสามพราน" ขอผลัดไว้เล่าในหัวข้อ "เรื่องดีวันละเรื่อง"     วันนี้ขอเล่าเรื่อง KM เพื่อการออก พรบ.     ซึ่งในที่นี้คือ พรบ. การวิจัยสุขภาพ      เป็นการออก พรบ. เพื่อทำให้ระบบการวิจัยสุขภาพมีความครบถ้วน ครบด้าน เป็นระบบ และเกิดการทำงานเป็นระบบร่วมกันมากขึ้น    และที่สำคัญที่สุดเกิดการทำงานที่มีคุณค่าในระดับ "ความอยู่รอดของประเทศ"

          ผมเป็นประธานคณะกรรมการยกร่าง พรบ. นี้ โดย นพ. กิตตินันท์ อนรรฆมณี เป็นกรรมการและเลขานุการ มือทำงานตัวจริง    ซึ่งหมายความว่าเมื่อคณะกรรมการให้แนวคิด หมอกิตตินันท์ ก็จะเป็นผู้ไปยกร่าง     และปรากฏว่าหมอกิตตินันท์จับประเด็นได้ดี  สามารถไปค้นหาประเด็นหรือข้อมูลเพิ่มเติมได้ดีมาก     มีคนชมเปาะว่ายกร่างเก่งมาก สมเป็นหมอมือเหรีญญทองจาก รามาฯ      ประชุมในโอกาสต่างๆ ผมก็มองออก (ตีความออก - ไม่ทราบว่าตีความถูกหรือผิด) ว่านี่คือ "การจัดการความรู้"

           คุณหมอกิตตินันท์ เวลานี้ทำหน้าที่รักษาการ ผอ. สวรส. จึงนำเอายกร่าง พรบ. นี้ไปขอความเห็นจากที่ประชุมวงต่างๆ      วันนี้เอามาขอความเห็นจากวง "กลุ่มสามพราน"  ซึ่งวันนี้ ประธานตัวจริง คือ ศ. นพ. ประเวศ วะสี มาเป็นประธานเอง      และวันที่ ๑๖ - ๑๗ ก.พ. ๕๐ ก็จะไปประชุมปฏิบัติการกันที่กาญจนบุรี     ผมมองว่ากระบวนการปรึกษาหารือเหล่านี้เป็นการ capture เอา tacit knowledge ของผู้ทรงคุณวุฒิ     สำหรับนำมาใช้ยกร่าง พรบ.    และใช้ในการเตรียมดำเนินการตาม พรบ. นี้

          เป้าหมายแรกของ KM เพื่อยกร่าง พรบ. การวิจัยสุขภาพ     คือการ "กำหนดปณิธานความมุ่งมั่นร่วม" (common purpose)  ให้เห็นว่าการมี พรบ. นี้ นอกจากประเทศไทยจะได้ประโยชน์แล้ว     ส่วนต่างๆ ของระบบวิจัยสุขภาพที่มีอยู่แล้ว ก็ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น     ในฐานะประธาน ผมเอาใจใส่ให้เกิดกระบวนการและบรรยากาศ win - win เต็มที่      และโชคดีที่ทุกหน่วยงานที่มีอยู่แล้วเห็นด้วยหมด     คือเราได้ common purpose หรือ shared vision ของทุกภาคส่วน     ในระดับที่ผมเองก็ตกใจว่าทำไมมันเกิดได้ง่ายนัก

           แต่ยังมีประเด็นปลีกย่อย ประเด็นเชิงเทคนิคอีกมาก    ที่เป็นประเด็นสำคัญต่อความสำเร็จในการมี พรบ. นี้      การประชุมวันนี้ก็เพื่อ capture tacit knowledge จากสมาชิกกลุ่มสามพรานซึ่งทำงานเชิงพัฒนากันเป็นหลัก    เอามาใช้ประโยชน์     ทั้งเพื่อการทำงานเพื่อผ่านร่าง พรบ.     การทำงานเพื่อให้สาระใน พรบ. เป็นสาระที่ดี มีความเหมาะสม   

           คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ มีประสบการณ์ในการยกร่างกฎหมาย (พรบ. ปฏิรูปสุขภาพแห่งชาติ)     มีประสบการณ์กับคณะกรรมการผู้ตรวจสอบแก้ไขยกร่างกฎหมาย     เข้าใจวิธีคิด วิธีทำงาน วิธีใช้ถ้อยคำ ของนักกฎหมาย     ช่วยตั้งคำถามให้ทีมยกร่างได้ซ้อมคิดและตอบให้ชัดเจนอย่างดียิ่ง     ตั้งคำถามว่าควรแยกหน่วยงานเป็น ๒ นิติบุคคลหรือไม่     

          คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นักมองเชิงระบบและรู้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ กว้างขวาง     ช่วยให้ความเห็นเชิงยุทธศาสตร์  เสนอว่าควรระมัดระวังเรื่องการกำหนดวงเงิน ๒ - ๕% ของวงเงินค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศ     เพราะเราอาจกำหนดไว้ต่ำเกินไป

          ผมให้ความเห็นเชิงระบบ    ว่าต้องซับซ้อนมากขึ้น เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น     งานแต่ละอย่างต้องการ skill และ corporate culture ที่จำเพาะ คนละแบบ     และหวังการวิวัฒนาการของระบบ ไม่ได้หวังให้ พรบ. กำหนดระบบที่สมบูรณ์ตายตัว  

          นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์   มองวิธีคิดว่า policy body กับ granting body ควรแยกกัน     และมองว่าเวลานี้ขาดระบบวิจัยเพื่อ product development      ย้ำแนวคิด multiple sources of fund    หลีกเลี่ยงการมี single source of fund ซึ่งจะไม่ดี        

           ซือแป๋ ประเวศ เล่าความฝันเมื่อ ๓๐ ปีก่อนของ ศ. นพ. ณัฐ ภมรประวัติ (ผู้ล่วงลับ)  และท่าน เรื่องการตั้ง NIH ไทย     แต่ทำไม่ได้เพราะตอนนั้นไม่มีการจัดการ     เวลานี้เรามีทักษะด้านการจัดการ     ต้องตั้งเป้าหมายว่าต้องเอาให้ได้ ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ (การออก พรบ.)       เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว นักวิชาการเบลเยี่ยมชื่อ เลอแพ มาประเมินสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ แล้วเสนอให้ยุบสภาวิจัย เพราะไม่มีศักยภาพในการทำงานตามหน้าที่      ศ. นพ. ประเวศมองว่าองค์กรที่จะตั้งเป็นองค์กรเล็ก ที่ทำงานได้      คำอธิบายประกอบการออก พรบ. ต้องมีพลัง ว่าจะลดความสูญเสีย  จะเกิดผลประโยชน์อะไร ยกตัวเลข    ยกตัวอย่างรูปธรรม เช่น ครีมพญายอ     รวมแล้วประหยัดปีละ ๕ หมื่นล้านได้     นโยบายกับจัดการทุนต้องแยกกัน แต่อาจอยู่ในองค์กรเดียวกันได้     ไม่ควรไปแตะ สวรส. เพราะทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว และมี niche ของตนเองในเรื่องวิจัยระบบสาธารณสุข

          ถ้าแบ่ง operating budget ของทุกเรื่องสัก ๒ - ๕% มาทำวิจัย     จะทำให้ budget ประจำเกิดผลหรือคุณค่ามากขึ้นอย่างมากมาย     ไม่เป็นการเพิ่มงบประมาณ แต่เป็นกลไกให้ใช้เงินให้เกิดคุณค่าเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย      ท่านยินดีเป็นหัวขบวนไปพูดกับนายกรัฐมนตรี      ท่านมองว่าหน่วยงานวิชาการไม่วิจัยเป็นการผิดจริยธรรม    

          นพ. สุวิทย์ ตั้งคำถามว่า แหล่งทรัพยากร / พลังงาน     ควรปล่อยให้กระจายแค่ไหน     ตนคาดหวังมาก    เปรียบเทียบ สวทช. กับ สกว.     มองว่าควรเน้นวิจัยเพื่อ social ไม่ใช่เพื่อ commercial   

          ถึงตอนนี้ผมต้องออกมา เพื่อไปประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล     แต่ตอนไปเข้าห้องน้ำเตรียมเดินทาง ก็ได้คุยกับ นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการ อย.  อดีต ผอ. สวรส. ว่าผมไม่มององค์ประกอบของการวิจัยสุขภาพแบบตายตัว      ไม่มองแบบ ๑๐๐ : ๐     แต่มองสัดส่วนที่กำหนดเป็นยุคๆ หรือช่วงเวลาตามความเหมาะสม     ช่วงแรกๆ เน้นการวิจัยเพื่อสังคมมากเป็นพิเศษ     อาจมีสัดส่วนการวิจัยเพื่อสังคม : เพื่อการพาณิชย์ = ๙๐ : ๑๐     ต่อไปสัดส่วนของการวิจัยเชิงพาณิชย์อาจมากขึ้น     และการวิจัยเชิงพาณิชย์ก็เน้น local / community product ๘๐%    เป็นการวิจัยเชิงพาณิชย์ของบริษัทใหญ่ๆ เพียง ๒๐% ในช่วงแรก     เป็นต้น

           วันที่ ๑๖ - ๑๗ ก.พ. ๕๐ สวรส. จัดการประชุมปฏิบัติการเรื่อง "การร่าง พรบ. การวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ..." ที่ผึ้งหวาน รีสอร์ท  กาญจนบุรี      ผมจึงมีเรื่องบันทึกต่อ 
  
            บุคคลสำคัญที่มาร่วมประชุมคนหนึ่งคือ ศ. นพ. วิฑูรย์ อึ๊งประพันธ์      ซึ่งเป็นกรรมการกฤษฎีกา ด้วย     เราก็ได้เอาความรู้ทั้งเชิงทฤษฎี (explicit knowledge) และความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge) หลากหลายด้านของท่านมาใช้ประโยชน์ในการยกร่างและผลักดันกฎหมาย ระบบวิจัยสุขภาพนี้     โดยที่ข้อความในร่างกฎหมายต้องเข้าใจได้ไม่ยาก     ต้องมีความชัดเจนว่าต้องการบรรลุอะไร      และจะ enforce กฎหมายนั้นได้หรือไม่ 
 
             ระหว่างรอรถออกเดินทางไปกาญจนบุรี คุณหมอกิตตินันท์บอกผมว่า     เจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณเกรงว่าการออก พรบ. จัดตั้งหน่วยงานจะเป็นภาระด้านงบประมาณ    และหน่วยราชการหลายหน่วยก็กังวลว่า พรบ. นี้จะทำให้เกิดหน่วยงานใหม่ ที่ทำให้เกิดการเพิ่มตัวหารงบประมาณ    หรือไปทำให้งบประมาณของหน่วยงานของตนถูกแบ่งไป     ซึ่งก็จะตรงกับคำอธิบายของ ศ. นพ. ประเวศ ที่สวนสามพราน      ว่าการออก พรบ. นี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น     แต่จะช่วยให้ประหยัดได้มากขึ้น 
  
             ตอนนำเสนอเหตุผลและขั้นตอนการทำงานที่ดำเนินการไปแล้ว       คุณหมอกิตตินันท์เสนอ PowerPoint แผ่นแรกว่า "เหตุผลของการออกร่าง พรบ. การวิจัยสุขภาพ พ.ศ. ..."   ระบุเหตุผลข้อแรกว่า "งบประมาณสนันสนุนการวิจัยสุขภาพมีไม่เพียงพอ"  ผมถึงบางอ้อทันที ว่าทำไมเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณกังวลเรื่อง ถ้าตั้งหน่วยงานตาม พรบ. นี้ จะเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ   

           ผมนึกออกทันทีว่า เหตุผลสำคัญที่สุดในการออก พรบ. นี้ คือ เวลานี้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ประเทศไทยใช้ประมาณปีละ ๓ แสนล้านบาท     เป็นการสูญเปล่ามาก  และเป็นการใช้เงินแบบไม่สร้างเศรษฐกิจ     เราสามารถสร้างระบบวิจัยสุขภาพที่ใช้เงินปีละ ๒,๐๐๐ ล้านบาท (ตัวเลขสมมติ) แล้วประหยัดค่าใช้จ่าย ๒๐% คือปีละ ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท ได้     และสร้างผลเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจ ร้อยละ ๑๐ คือปีละ ๓๐,๐๐๐ ล้านบาทได้     ถ้าตัวเลขสมมตินี้เป็นจริง     การไม่จัดระบบการวิจัยสุขภาพเพื่อใช้เงิน ๒,๐๐๐ ล้านบาท ก็เป็นการสูญเสียโอกาส     พูดแรงๆ ว่าเป็นความไม่ฉลาด หรือความโง่เขลาระดับประเทศ     ผมลองเอาตัวเลขนี้เสนอที่ประชุม ก็ไม่มีคนบอกว่าเป็นความคิดที่ผิด     แต่วิธีอธิบายต่อเจ้าหน้าที่สำนักงบประมาณ และข้าราชการโดยทั่วไปคงต้องมีวิธีอธิบายให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือทีละเล็กทีละน้อย แต่ต่อเนื่องและมีชั้นเชิง     ไม่ใช่ฮวบฮาบและก่อแรงกดดันในการปิดหีบงบประมาณ     แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่ทำไม่ได้     เพราะบ้านเมืองเราจะอยู่ไม่ได้

         ผมมองว่าเรากำลังท้าทายตัวเอง ที่จะจัดระบบวิจัยสุขภาพที่ทำให้ตัวเลขสมมตินี้เป็นจริง     นี่ถ้าไม่มีกระบวนการในการออก พรบ. ตามที่เล่ามา ผมก็จะนึกถึงเหตุผลข้อนี้ไม่ออก     นี่น่าจะเป็นตัวอย่าง KM ระดับ individual

           ตัวคุณค่าของระบบวิจัยสุขภาพ ต้องไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาการวิจัย     แต่เป็นการแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรของประเทศ ที่ใช้แบบไม่คุ้มค่า      ต้องช่วยแก้ปัญหาสุขภาพ  และแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศด้วย     คือมองระบบวิจัยสุขภาพเป็นเครื่องมือ (tool) ของการพัฒนาประเทศอย่างครบถ้วนรอบด้าน     ไม่มองแค่ผลด้านสุขภาพ  

          ก่อนยกร่าง (โดยทีมของ สวรส.) เราทำ KM ในลักษณะของการระดมความคิดในหมู่คณะทำงาน  และเชิญผู้แทนของหลากหลาย sector มาให้ข้อคิดเห็น     และหมอกิตตินันท์เอาไปนำเสนอในหลายวงประชุม      แล้วนำมาเสนอในการประชุมปฏิบัติการวันที่ ๑๖ - ๑๗ ก.พ. นี้      ทั้งหมดเป็น knowledge sharing     ใช้กระบวนการ ลปรร. ในการ capture ความรู้จากประสบการณ์ที่หลากหลายเอามาใช้ประกอบ            

           ในวันที่ ๑๖ - ๑๗ ก.พ. เราเชิญคนมาจากเกือบทุกวิชาชีพด้านสุขภาพ     จากหลากหลาย sector     รวมทั้งภาคธุรกิจยา   เพื่อขอความเห็นและข้อแนะนำในการทำให้เราสามารถร่างกฎหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนระบบวิจัยสุขภาพ      ให้ตอบสนองการพัฒนาสังคมไทยเพื่อเป้าหมาย ๒ ด้าน     คือเพื่อ better health กับเพื่อ better economy 

            ผมทำให้บรรยากาศการประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นเป็นบรรยากาศที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย      พยายามยุหรือส่งเสริมให้ทุกคนพูดออกมาจากใจ     ผมบอกที่ประชุมว่า หนึ่งวันครึ่งที่เรามาร่วมประชุมกันนี้ก็เพื่อช่วยกันคิดเพื่อหาทางสร้างกลไกขับเคลื่อนระบบการวิจัยสุขภาพของประเทศ     ซึ่งเป็นระบบที่ซับซ้อนมาก ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข    ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เฉพาะคนทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ     ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เฉพาะนักวิจัย      ความซับซ้อนของระบบวิจัยสุขภาพนี้ ทำให้เรามองเห็นมันไม่ครบ     ผู้จัดการประชุมจึงอยากให้ผู้มาร่วมประชุมช่วยให้ความเห็นจากมุมมองของท่าน จากประสบการณ์ของท่าน ซึ่งแตกต่างหลากหลายกัน     ด้วยเป้าหมายเดียวกัน คือช่วยกันทำให้ระบบวิจัยสุขภาพรับใช้สังคมไทยได้อย่างดี     ช่วยกันออกความเห็นเพื่อทำให้กฎหมายที่กำลังร่างนี้ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนระบบวิจัยสุขภาพที่มีพลวัต  ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ      เราไม่อยากให้ท่านมาออกความเห็นแบบปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มหรือ  sector ของตนเอง

           เล่าเรื่องบรรยากาศก็เพื่อจะบอกว่า     ในการประชุมระดมความคิดแบบสร้างสรรค์นั้น      องค์ประกอบของการประชุมที่แตกต่างหลากหลาย     และการสร้างหรือชี้ให้เห็น "ธงร่วม"     และการสร้างบรรยากาศที่รับฟัง ให้เกียรติ ให้คุณค่า ความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย (แต่สร้างสรรค์) มีผลต่อผลสำเร็จของการประชุมมาก      มีผลต่อ "knowledge sharing" ในระดับที่ลึกและจริงใจ     น่าจะเป็นบทเรียนของการประยุกต์ใช้ KM ในการประชุมเพื่อสร้างสรรค์เรื่องที่ซับซ้อนและมีความต้องการ หรือประสบการณ์ที่เป็นขั้วตรงกันข้ามเต็มไปหมด

            ค่ำวันที่ ๑๖ ก.พ. หลังอาหารเย็นในแพกลางแม่น้ำแควใหญ่     เรานัดกันมาเสวนา เรื่อง "การวิจัยสุขภาพในบริบทโลกและบริบทไทย"      โดยมี ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา  และ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นวิทยากรนำ     คน ๔๐ คนถูก อ. หมอจรัส และหมอสมศักดิ์ ตรึงความสนใจใน "นิทาน" หลังอาหาร จน "ลืมย่อยอาหาร"      คือทั้งสนุกและทั้งประเทืองปัญญา     เป็นการเสวนาที่เต็มไปด้วยตัวอย่างของจริง     และนิทานเรื่องกระต่ายกับเต่าหลากหลาย version      คนที่มาร่วมประชุม ๔๐ คนได้เข้าใจความซับซ้อนของการวิจัยสุขภาพโดยไม่ต้องสรุป     มองจากมุม KM ผมตีความว่า กระบวนการนี้ เป็นการ capture ความรู้ ทั้ง explicit knowledge และ tacit knowledge จากแหล่งความรู้ที่มหึมาและลุ่มลึก    คือ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา กับ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์     และชื่อเวทีที่เราเรียกว่า "เสวนา" ยังทำให้ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และอีกหลายคน เล่า "นิทาน" ของตนเสริมเข้ามาอีก     ช่วยให้มีการ share ความรู้เพื่อการยกร่าง พรบ. การวิจัยสุขภาพ ออกมาอย่างกว้างขวางหลากหลายมิติ     

            การทำงานยกร่าง พรบ. การวิจัยสุขภาพนี้ ช่วยให้ผมเห็นสภาพสังคมไทยชัดเจนขึ้นว่า     เราขาดการมองเรื่องต่างๆ เชิงระบบ     ขาดการมองระบบอย่างมีชีวิต (organic, dynamic) มีวิวัฒนาการ     ขาดการมองกลไก "จัดการระบบ" ซึ่ง ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เรียกว่า "ขาดสมอง"      เรามักมองเรื่องต่างๆ แบบหยุดนิ่งตายตัว     มองแบบตัดขวางมิติเดียว     ไม่ได้มองเป็นสภาพที่ซับซ้อนและเคลื่อนตัวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ  

           เราขาดมุมมอง และขาดทักษะในการจัดการระบบที่มีธรรมชาติซับซ้อน      ให้เกิดสภาพของ concerted effort และเกิด systems evolution         

วิจารณ์  พานิช
เริ่มเขียน ๑๒ ก.พ. เขียนเสร็จ  ก.พ. ๕๐

หมายเลขบันทึก: 82158เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2007 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท