KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 273. Tipping Point


         Tipping Point เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ทั้งธรรมชาติทางกายภาพ (physical)  และธรรมชาติทางสังคม (social)     ท่านที่สนใจรายละเอียดอ่านได้จากหนังสือชื่อนี้ แต่งโดย Malcolm

         ผมนึกถึงคำนี้เพราะกำลังถกเถียงกับตนเอง ว่า สคส. ทำงานโดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์อย่างไร     มีผู้ทรงคุณวุฒิแนะนำเราว่า สคส. ต้องทำงานแบบครอบคลุม จึงจะก่อผลดีต่อสังคมอย่างแท้จริง      ผมเถียงในใจว่า นั่นเป็นวิธีคิดแบบราชการ ที่จะบบรลุผลอะไรก็ต้องทำแบบปูพรม     ผมไม่คิดว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง      ผมชอบทำงานแบบคนขี้เกียจ ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนขยัน 

         ผมคิดว่า สคส. ใช้ยุทธศาสตร์ Tipping Point      หรือยุทธศาสตร์ทำน้อย เกิดผลมาก     ซึ่งมีหลักการอยู่ 3 ข้อ
           1. Law of the Few
           2. The Stickiness Factor
           3. The Power of Context

          Law of the Few หมายถึงคนที่มีพรพิเศษในการ "แพร่เชื้อ" ความคิดหรือพฤติกรรม   เพียงจำนวนน้อยคน     เป็นผู้มีบทบาทในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับ tipping คือเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง     ไม่จำเป็นต้องปูพรม     แต่จับ (ตัวและใจ) คนสำคัญจำนวนน้อยที่จะทำหน้าที่ change agent แบบทำด้วยใจ อย่างทุ่มเท     ก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบถาวรได้     เรื่องนี้อาจมองผ่านแว่น SNA - Social Network Analysis - ก็ได้     ถ้ามีคนที่มีธรรมชาติเป็น hub อยู่ใน SN เข้ามาทำหน้าที่ change agent งานเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนสิ้นเชิง หรือเปลี่ยนวัฒนธรรม ก็จะมีโอกาสสำเร็จสูง

         The Stickiness Factor หมายถึงตัวพฤติกรรมตัวใหม่ที่เราต้องการเผยแพร่ (ที่เราเปรียบเทียบเหมือนเชื้อไวรัส) ต้อง "เกาะติดหนึบ" ในกลุ่มประชากรเป้าหมาย     ในไวรัสวิทยาเราพูดว่า ต้องมี receptor ของไวรัสตัวนั้น     ไวรัสจะแพร่เชื้อได้เก่ง ก็ต้องทำความรู้จัก receptor     แล้วเปลี่ยนตัวเองให้เกาะ receptor ติดหนึบได้     ก็จะแพร่เชื้อเกิดการระบาดใหญ่ได้     (นี่คือสิ่งที่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกกำลังทำอยู่อย่างขมักเขม้น     เป็นการทำตามธรรมชาติของมัน โดยไม่ได้มีเป้าหมายก่อโรคระบาดใหญ่ในคนโดยตรง แต่ก็จะเกิดผลที่การระบาดใหญ่ในคนแน่ๆ ไม่เร็วก็ช้า)

          Stickiness Factor ในไวรัส สอนเราว่า ในทางสังคมศาสตร์ การสร้างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเป้าหมายใด ก็ต้องศึกษาหา receptor ของประชากรกลุ่มเป้าหมาย     แล้วออกแบบ "กาว" ทางสังคมเพื่อติดหนึบกลุ่มประชากรเป้าหมายให้ได้

          The Power of Context  นี่คือหัวใจของ "การระบาด" สู่ tipping point      คือจะต้องสามารถเข้าใจ context หรือบริบท หรือ receptor ที่แตกต่างหลากหลาย     และปรับ "สินค้า" เพื่อการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะต่อบริบทนั้นๆ     ให้ "สินค้า" มีคุณสมบัติ "ติดหนึบ" ต่อผู้คนในบริบทนั้นๆ   การตอบรับก็จะเป็นไปในลักษณะ "ระบาด" กว้างขวางได้

           สคส. เราอยากทำงานในลักษณะสร้าง tipping point     ไม่ใช่ทำงานในลักษณะ "ปูพรม"      แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่เก่งในการใช้ยุทธศาสตร์ tipping point     ภาคีท่านใดมีคำแนะนำในการใช้ยุทธศาสตร์นี้ โปรดช่วยชี้แนะด้วย

วิจารณ์ พานิช
๒๕ ก.พ. ๕๐ 
 

หมายเลขบันทึก: 83637เขียนเมื่อ 13 มีนาคม 2007 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 21:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบพระคุณค่ะ อาจารย์  
  • หนิงกำลังพยายามทำอยู่ค่ะ  ให้ DSS@MSUและอาสาสมัครทำหน้าที่หรือทำงานกันอย่างเข้มข้นแล้วส่งผลสะท้อน(reflection)ไปเผื่อว่ามีใครที่ไหนสนใจอยากจะทำงานด้านการจัดการศึกษาสำหรับผู้พิการในระดับอุดมศึกษาจะได้ขยายผลต่อๆไปค่ะ

มีบันทึกเกี่ยวกับเรื่อง Tipping point ในอีกมุมมองของด้านการบริหารชุมชนออนไลน์ที่ทีมงาน GotoKnow ได้เขียนไว้นานแล้วค่ะ

จึงขออนุญาตลิงค์ไว้ที่นี่ค่ะสำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่อง Tipping point ค่ะ

http://gotoknow.org/blog/averageline/37352

http://gotoknow.org/blog/tutorial/63769

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท