ตำนานนางเลือดขาวที่พบในภาคใต้


ตำนานนางเลือดขาวนั้นแต่เดิมปรากฏอยู่ในรูปของตำนานมุขปาฐะที่เล่าสืบทอดต่อๆกันมา  จนต่อมาได้มีผู้รู้ในท้องถิ่นได้คิดรวบรวมจารลงบนกระดาษเพลา  แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากตำนานนางเลือดขาวได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในท้องถิ่นภาคใต้ตลอดแหลมมลายูในรูปคำบอกเล่าที่แตกต่างและเหมือนกันในบางท้องถิ่น  ทั้งในจังหวัดพัทลุง ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ภูเก็ต  ซึ่งผู้คนได้เล่าสืบทอดกันมายาวนานจนกลายเป็นตำนานประจำท้องถิ่น  ซึ่งตำนานนางเลือดขาวที่แพร่หลายในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้นั้น  มีปรากฏที่มาจากสองทางด้วยกัน คือ

1. ตำนานนางเลือดขาวตามที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุง

ตำนานนางเลือดขามตามที่ได้ปรากฏในพงศาวดารเมืองพัทลุง ซึ่งหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์) เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๖๑ นั้นสรุปความได้ว่า เมืองพัทลุงได้ตั้งมาก่อนปี พ.ศ.๑๔๘๐  เมืองตั้งอยู่ที่สทิงพระ เจ้าเมืองชื่อพระยากรงทอง ครั้งนั้นตาสามโมกับยายเพชร สองสามีภรรยา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลปละท่า ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาคือ บริเวณบ้านพระเกิด อำเภอปากพะยูน เป็นหมอสดำ (หมอเฒ่าหรือนายกองช้าง)  มีหน้าที่เลี้ยงช้างส่งพระยากรงทองทุกปี ต่อมาสองตายายได้พบกุมารจากป่าไม้ไผ่เสรียง มีพรรณเลือดเขียว ขาว เหลือง ดำ แดง และได้พบกุมารีจากไม้ไผ่มีพรรณเลือดขาว จึงได้ชื่อว่านางเลือดขาว ต่อมาทั้งสองคนได้แต่งงานกัน และรับมรดกเป็นนายกองช้าง ต่อมาจนมีกำลังขึ้นและมีผู้คนนับถือมาก  ได้เรียกตำบลบ้านนั้นว่า พระเกิด  ต่อมาทั้งสองคนได้พาสมัครพวกพวก เดินทางไปทางทิศอีสาน บ้านพระเกิดไปถึงบางแก้ว  เห็นเป็นชัยภูมิดีก็ตั้งพักอยู่แต่นั้นมาก็เรียกกุมารนั้นว่า พระยา มีอำนาจทรัพย์สมบัติและบริวารมากขึ้น ทั้งสองคนเป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก จึงได้สร้างพระพุทธรูป และอุโบสถขึ้นไว้ที่วัดสทิง อำเภอเขาชัยสน สร้างถาวรวัตถุไว้ที่วัดเขียนบางแก้ว คือวิหารและพระพุทธรูป พร้อมทั้งทำจารึกไว้ในแผ่นทองคำด้วย

ตั้งแต่ พ.ศ.๑๕๐๐ พระยากุมารกับนางเลือดขาว ก็พำนักอยู่ที่บางแก้ว ซึ่งต่อมาเรียกที่นั้นว่า ที่วัด มีเขตถึงบ้านดอนจิงจาย  ต่อมาทั้งสองคนได้ไปเมืองนครศรีธรรมราช และสร้างพระพุทธรูปไว้หลายตำบล นับแต่นั้นมาเกียรติคุณนางเลือดขาวก็รำลือไปถึงกรุงสุโขทัย พระเจ้ากรุงสุโขทัย โปรดให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์ พร้อมนางสนมออกมารับนางเลือดขาวที่เมืองนครศรีธรรมราช เพื่อเชิญไปเป็นมเหสี ส่วนพระยากุมารก็กลับไปอยู่ที่บ้านพระเกิดตามเดิม

พระเจ้ากรุงสุโขทัย เมื่อทรงทราบว่านางมีสามี และมีครรภ์ติดมา จึงไม่ยกขึ้นเป็นมเหสี ครั้นนางคลอดบุตรเป็นกุมาร ก็ทรงขอบุตรไว้ชุบเลี้ยง ต่อมานางเลือดขาวทูลลากลับบ้านเดิม จึงโปรดให้จัดส่งถึงบ้านพระเกิด อยู่กินกับพระยากุมารตามเดิมจนถึงแก่กรรมทั้งสองคน ภายหลังบุตรนางเลือดขาวได้กลับมาเป็นคหบดี อยู่ที่บ้านพระเกิด เมืองพัทลุง ชาวเมืองเรียกว่า เจ้าฟ้าคอลาย

2. ตำนานนางเลือดขาวที่เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้าน

สำหรับตำนานนางเลือดขาวที่เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้าน ในตอนต้นกล่าวถึงสงครามในอินเดียสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทำให้ชาวอินเดียอพยพหนีภัย มาขึ้นฝั่งทางด้านตะวันตกของแหลมมลายู บริเวณเมืองท่าปะเหลียน จังหวัดตรัง แล้วข้ามแหลมมายังอำเภอตะโหนด และอำเภอปากพะยูน ขณะนั้นตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมีย ชาวบ้านพระเกิด เป็นนายกองช้าง ไม่มีบุตร จึงเดินทางไปขอบุตรีชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่ตง บ้านตะโหมด นำมาเลี้ยงไว้ชื่อว่านางเลือดขาว เพราะเป็นคนผิวขาวกว่าชาวพื้นเมือง ต่อมาได้เดินทางไปขอบุตรชายชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่เสรี่ยง ให้ชื่อว่ากุมารหรือเจ้าหน่อ เมื่อทั้งสองเจริญวัย ตายายจึงให้แต่งงานกัน แล้วอพยพไปตั้งบ้านที่บางแก้ว เมื่อตายายถึงแก่กรรม ทั้งสองก็ได้นำอัฐิไปไว้ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ หลังจากนั้นทั้งสองได้สละทรัพย์ สร้างโบสถ์ วิหาร ในวัดเขียนบางแก้วและวัดสทิง เมื่อเดินทางถึงที่ใดก็สร้างวัดที่นั่น เช่น เดินทางไปลังกากับคณะทูตเมืองนครศรีธรรมราช ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่วัดเขียนบางแก้ว สร้างวัดพระพุทธสิหิงค์ วัดพระงาม วัดถ้ำพระพุทธที่เมืองตรัง  สร้างวัดแม่อยู่หัวที่อำเภอเชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช  สร้างวัดเจ้าแม่ (ชะแม)  วัดเจดีย์งาม วัดท่าคุระ ปัจจุบันคือ วัดเจ้าแม่ อยู่ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น

เมื่อข่าวความงามของนางเลือดขาวทราบไปถึงกษัตริย์กรุงสุโขทัยจึงโปรดให้พระยาพิษณุโลกมารับนางเลือดขาว เพื่อชุบเลี้ยงเป็นมเหสี แต่นางมีครรภ์แล้ว จึงไม่ได้ยกเป็นมเหสี เมื่อนางคลอดบุตรแล้ว ทรงขอบุตรไว้ แล้วให้พระยาพิษณุโลก นำนางเลือดขาวกลับไปส่งถึงเมืองพัทลุง ตั้งแต่นั้นมาคนทั่วไปก็เรียกนางว่า เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว หรือนางพระยาเลือดขาว หรือพระนางเลือดขาว นางได้อยู่กินกับพระกุมารจนอายุได้ ๗๐ ปี ทั้งสองก็ถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าคอลายผู้เป็นบุตร ได้นำศพไปประกอบพิธี ฌาปนกิจที่บ้านพระเกิด เส้นทางที่นำศพไปจากบ้านบางแก้วถึงบ้านพระเกิด เรียกว่า ถนนนางเลือดขาว

หมายเลขบันทึก: 390083เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2010 19:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วได้ความรู้ดีสนุก ประวัติศาตร์เป็นส่วนหนึ่งของเส้นสายลายชีวิตคน ได้รู้ความเป็นอยู่แต่ครั้งบุราญกาล เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท