คุณภาพและมาตรฐานดุษฏีบัณฑิต


คุณภาพและมาตรฐานดุษฏีบัณฑิต

ขออนุญาต ดร.อารักษ์ พรหมณี กับการนำบทความเรื่องนี้ที่ท่านได้โพสต์ไว้ในหัวข้อ "บทความที่น่าสนใจ" มานำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นี่อีกครั้ง 

เพราะเห็นว่า นักศึกษาปริญญาเอก ควรได้รับทราบและรับรู้เรื่องนี้ เอกสารฉบับเต็ม (word) สามารถ download ได้ที่หัวข้อ "บทความที่น่าสนใจ" ครับ

การศึกษาระดับปริญญาเอกหรือดุษฎีบัณฑิต ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลรูปแบบหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งผู้ที่จบการศึกษาชั้นปริญญาเอกต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนการศึกษา ตามหลักสูตรของสาขาวิชานั้นอย่างเข้มข้นขณะที่ศึกษา เพื่อคุณภาพและมาตรฐานของดุษฎีบัณฑิต เพราะคนกลุ่มนี้ได้รับการยกย่องจากสังคมให้เป็นผู้นำทางปัญญา และการที่สังคมจะยอมรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอกว่า เหมาะสมกับความเป็นดุษฎีบัณฑิตเพียงใดนั้น Phillip and Pugh (1994), และ จำเนียร จวงตระกูล ( 2550 ก) เห็นว่า ควรพิจารณาจากความเชี่ยวชาญสูงสุดในสาขาวิชาการใดวิชาการหนึ่ง ที่ดุษฎีบัณฑิตผู้นั้นพึงมีและแสดงออกจนเป็นที่ประจักษ์ชัด
หากมองในแง่คุณภาพแล้วนั่นหมายถึง ความสามารถและความรอบรู้ในสาขาวิชาการของตนโดยเมื่อแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการแล้วผู้ที่อยู่ในสาขาวิชาการเดียวกันรับฟัง ความสามารถในการประเมิน วิพากษ์ วิจารณ์คุณค่างานวิจัยระดับปริญญาเอกหรือเทียบเท่าของผู้อื่น ความฉลาดในการสร้างสรรค์ความรู้ระดับปริญญาเอกที่เป็นประโยชน์ทางด้านใดด้านหนึ่ง ความสามารถประยุกต์ใช้หรือทราบข้อกำจัดของทฤษฎีหรือเทคนิควิธีวิจัยขั้นสูงในสาขาวิชาการนั้นๆ และความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษและการสื่อสารเพื่อค้นคว้าหาความรู้และเผยแพร่ผลงานของตนสู่สาธารณะ

นอกจากคุณภาพทางวิชาการของดุษฎีบัณฑิตที่สามารถแสดงออกได้ดังกล่าวข้างต้นแล้ว Phillip and Pugh (1994) กล่าวต่อไปว่าการศึกษาระดับปริญญาเอกเป็นการเรียนเพื่อมุ่งเน้นการผลิตนักวิจัยโดยแท้ สอดคล้องกับ The International Union of Biochemistry and Molecular Biology : IUBME (2006) ที่กำหนดว่าดุษฎีบัณฑิตทั่วโลกควรตั้งอยู่บนมาตรฐานของคุณภาพงานวิจัยที่ประกอบด้วย มาตรฐานความรู้และความลุ่มลึกในสาขาการวิจัยของตน มาตรฐานงานวิจัยและการพัฒนางานวิจัยจนสามารถครอบครองความรู้นั้นได้ มาตรฐานด้านทักษะในการกำหนดปัญหาและคำถามการวิจัย มาตรฐานด้านทักษะทางวิชาการสาขาวิชาของตน มาตรฐานด้านทักษะการพูด การเขียน และนำเสนอผลงานวิจัย พร้อมทั้งมาตรฐานด้านทักษะการออกแบบงานวิจัยและดำเนินการวิจัยด้วยตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ การวัดผลขั้นสุดท้ายของการเรียนปริญญาเอกจึงเป็นการวัดด้วยผลงานการวิจัย (Phillip and Pugh, 1994) ก็คือ วิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ (Thesis หรือ Dissertation) ซึ่งผลงานการวิจัยนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพและมาตรฐานของดุษฎีบัณฑิต โดยจำเนียร จวงตระกูล (2550 ข) กล่าวว่าวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกที่ดีควรพิจารณา ดังนี้ 

1) ภาษาที่ใช้เขียนต้องมีความถูกต้อง สละสลวย ชัดเจน และเขียนเป็นภาษาอังกฤษในบทคัดย่อหรือ Extended Summary หากใช้ภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเขียน 

2) ความยาวของดุษฎีนิพนธ์ไม่มีข้อกำหนด แต่ส่วนใหญ่ประมาณ 80,000-100,000 คำในการเขียนเป็นภาษาอังกฤษ 

3) แสดงถึงความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาการที่ตนเองศึกษาและระเบียบวิธีวิจัย 

4) งานวิจัยสามารถสร้างความรู้ใหม่และเป็นต้นกำเนิดของความรู้ โดยหลักการแล้วดุษฎีนิพนธ์ที่ได้รับการอนุมัติให้สอบผ่านต้องเป็นผลงานที่เป็นต้นคิดของผู้ทำดุษฎีนิพนธ์ฉบับนั้น 

5) มีความแกร่งทางวิชาการ เพราะความสมบูรณ์ของงานวิจัยจะส่งผลให้ดุษฎีบัณฑิตได้เข้าเป็นสมาชิกชุมชนวิชาการในสาขานั้นๆ 

6) ควรใช้ข้อมูลปฐมภูมิในการรวบรวมข้อมูลมากกว่าใช้ข้อมูลทุติยภูมิ 

7)ไม่คัดลอกงานผู้อื่นและอ้างอิงข้อมูลถูกต้อง 

8) มีความถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนด 

9) มีคุณค่าเพียงพอที่จะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการสาขานั้นๆ เพื่อแสดงถึงการยอมรับดุษฎีนิพนธ์ในชุมชนวิชาการ 

10) เป็นผลงานของผู้จัดทำดุษฎีนิพนธ์อย่างแท้จริง ไม่นำผลงานผู้อื่นมาเป็นของตน และเป็นผู้เขียนดุษฎีนิพนธ์ด้วยตนเอง ไม่สามารถให้ผู้อื่นเขียนหรือทำแทนได้

กล่าวโดยสรุป การศึกษาระดับปริญญาเอกนอกจากจะเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขั้นสูงสุดของแต่ละบุคคลแล้ว ยังต้องเรียนเพื่อเป็นนักวิจัยที่พิสูจน์และตัดสินด้วยคุณภาพและมาตรฐานของวิทยานิพนธ์หรือดุษฎีนิพนธ์ ข้อเสนอแนะของบทความนี้พยายามชี้ให้เห็นว่าการเรียนในระดับปริญญาเอกเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายพอสมควร ซึ่งการเรียนปริญญาเอกโดยทั่วไปจะใช้เวลา 5-7 ปี แต่ก็มีบ้างที่ใช้เวลาเรียนเพียง 3-4 ปี (Goodchild et al , 1997) ดังนั้น ผู้เรียนต้องมีสติปัญญา ความพากเพียรและความมานะอดทนสูง จึงจะเรียนปริญญาเอกจนกระทั่งประสบความสำเร็จและมีภูมิความรู้สมกับความเป็นดุษฎีบัณฑิตที่เต็มไปด้วยคุณภาพและมาตรฐานตามที่สังคมคาดหวังและให้ความยอมรับนับถือในที่สุด 


เอกสารอ้างอิง
จำเนียร จวงตระกูล คุณลักษณะมาตรฐานของดุษฏีบัณฑิต วารสารการบริหารคน ปีที่ 28 ฉบับที่ 2/2550 ก :50-53
จำเนียร จวงตระกูล คุณภาพดุษฎีนิพนธ์สะท้อนคุณภาพดุษฏีบัณฑิต วารสารการบริหารคน ปีที่ 28 ฉบับที่ 3/2550 ข :52-56
Phillip .E and Pugh .D .1994 How to Get a Ph.d . Open University Press. Buckingham
Goodchild et al .1997. Key Player in the Dissertation Process. Jossey-Bass. Sanfrancisco
The International Union of Biochemistry and Molecular Biology :IUBME. 2006. Standards of the Ph.d Degree in the Molecular Biosciences.http://www.iubmd.org


และขอขอบคุณ ข้อมูลจาก

www.kmsas.mju.ac.th

หมายเลขบันทึก: 227792เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2008 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านประวัติและผลงานชิ้นโบว์แดงแล้วภูมิใจที่มีคุณน้าเก่งที่สุด หลานขอให้คุณน้าเจรืญในหน้าที่การงานและมีสุขภาพแข็งแรง

สุขสันต์วันพ่อย้อนหล้งนะคะ ได้อาจารย์นิตยา(เพื่อนศลเองคะ ที่ช่วยสอนเมล์ให้)

พ.ท.หญิงรุ่งทิวา พิมพ์สัักกะ

ดีใจที่ได้อ่านบทความนี้ค่ะ กำลังทำวิจัยปริญญาเอก(ศึกษานอกเวลา) เปลี่ยนหัวข้อเรื่อง 1 ครั้ง ปีนี้ปีที่ 6 แล้ว ต้องใส่ความพยายามและอึดมากกว่านี้ มีหลายครั้งที่ไม่ต้องการไปต่อ ...แต่ก็รู้ว่าไม่ได้... ต้องไปต่อ จะทำยังไงดีนะ ...แต่บทความของอาจารย์ เพิ่มพลังได้ค่ะ จะสู้ต่อไปนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท