บทเรียนจากชุมชนลดละเลิกเหล้า ตอน ๑ (โซนเหนือ)


กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปอย่างสนุกสนานได้ความรู้ ได้แบ่งปันประสบการณ์ แต่ละทีมเกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับไปขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ต่อ

 

          “จังหวัดน่าน” เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการขับเคลื่อนการลดละเลิกการดื่มเหล้า(หมายถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด) มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ จนสามารถประกาศเป็นวาระของจังหวัดในการจัดแข่งเรือปลอดเหล้า และงานของดีและกาชาดจังหวัดปลอดเหล้า ได้สำเร็จมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐

          ในขณะที่ชุมชนก็มีการขับเคลื่อนวาระลดละเลิกเหล้าในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ เกิดมาตรการลดละเลิกเหล้าได้หลายงาน เช่น งานศพ, งานวัด, งานแข่งขันกีฬา เป็นต้น

          อย่างไรก็ตามแม้สถานการณ์ในภาพรวมการขับเคลื่อนการลดละเลิกดื่มสุราจะดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม แต่สถานการณ์การดื่มเหล้าก็ยังไม่ได้ลดลงไปเท่าที่ควรเป็น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่านร่วมกับเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดน่าน จึงได้จัดเวทีถอดบทเรียนชุมชนลดละเลิกเหล้าขึ้น โดยแบ่งเป็น ๓ โซน ได้แก่

          โซนเหนือ ประกอบด้วยอำเภอเฉลิมพระเกียรติ, ทุ่งช้าง, เชียงกลาง, สองแคว, ปัว, บ่อเกลือ

          โซนกลาง ประกอบด้วยอำเภอท่าวังผา, บ้านหลวง, แม่จริม, สันติสุข

          โซนใต้ ประกอบด้วยอำเภอเมือง, เวียงสา, นาน้อย, นาหมื่น, ภูเพียง

          โดยเชิญชวนทีมขับเคลื่อนการลดละเลิกการดื่มสุราในระดับอำเภอ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข, ปกครอง, ตำรวจ, ครู, กศน., ผู้นำชุมชน, อสม, ผู้สูงอายุ, สภาวัฒนธรรม และผู้ที่เกี่ยวข้อง อำเภอละ ๖-๑๐ คน เข้ามาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์การดื่มเหล้า, สรุปบทเรียนการทำงาน, แนวทางการขับเคลื่อนในพื้นที่ และข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนการลดละเลิกการดื่มเหล้า ใช้ระยะเวลา ๑ วัน

          สำหรับโซนเหนือได้ดำเนินการในวันเสาร์ที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา ณ วัดหนองแดง ตำบลเปือ อำเภอเชียงกลาง (ดูบันทึกวัดหนองแดง ที่นี่) มีผู้เข้าร่วมเวทีราว ๖๐ คน

          กระบวนการเรียนรู้เริ่มด้วยการแนะนำทำความรู้จักคุ้นเคยกันและบอกถึงวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ หลังจากนั้นทีมวิทยากรกระบวนการได้ให้ข้อมูลสถานการณ์การป่วยและตายของคนเมืองน่านที่เกี่ยวเนื่องกับดื่มสุราและสูบบุหรี่ แล้วแบ่งกลุ่มให้แต่ละอำเภอได้สรุปบทเรียนการขับเคลื่อนการดื่มเหล้าในพื้นที่

          บทเรียนในการขับเคลื่อนการลดละเลิกการดื่มเหล้าในพื้นที่โซนเหนือ สรุปได้ดังนี้

     ๑. สถานการณ์การดื่มเหล้า

          การดื่มเหล้าพบได้ในทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่กลุ่มเยาวชน, พ่อบ้าน, แม่บ้าน , สูงอายุ, กลุ่มสล่า(ช่างปลูกบ้าน),ข้าราชการ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางส่วน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มเยาวชนทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา

          โอกาสในการดื่มนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการดื่มหลังเลิกงานการเกษตร, งานเลี้ยงต่างๆ, งานเลี้ยงผี/เลี้ยงเจ้าที่/พิธีกรรมต่างๆ

          พื้นที่ที่ใช้ในการดื่ม – นอกจากพื้นที่การเกษตรแล้ว ยังนิยมดื่มในพื้นที่สาธารณะ, บ้านที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้านไปทำงานต่างถิ่น, หลังโรงเรียน, แหล่งท่องเที่ยว, และร้านจำหน่ายเหล้า

              นอกจากนี้เหล้ายังสามารถหาซื้อได้ง่ายในชุมชน โดยเฉพาะเหล้าเสรีหรือเหล้าพื้นบ้าน ขณะที่อำเภอชายแดนยังมีสามารถหาซื้อเหล้าจากชายแดนได้ง่ายและมีราคาถูก

          ๒. กระบวนการขับเคลื่อนการลดละเลิกการดื่มสุราในระดับพื้นที่ มีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามแต่สภาพปัญหาและศักยภาพของแกนนำในพื้นที่ พอสรุปภาพรวมได้ดังนี้

          มีการขับเคลื่อนผ่านเวทีประชาคม เพื่อแลกเปลี่ยนและให้ข้อมูลสถานการณ์ปัญหา ผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเหล้า รวมทั้งได้กำหนดกำหนดแนวทางหรือมาตรการการลดละเลิกเหล้าร่วมกัน ซึ่งเวทีประชาคมมีทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ทั้งนี้พบว่าในบางอำเภอที่นายอำเภอได้ให้ความสำคัญและประกาศเป็นนโยบายชัดเจนก็มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนในภาพรวมของอำเภอ แต่บางอำเภอก็เริ่มจากหมู่บ้านนำร่องแล้วขยายผลออกไป ทั้งนี้พบว่าผู้นำที่เป็นแบบอย่างที่ดีจะช่วยให้กระบวนการขับเคลื่อนได้เป็นรูปธรรม

          กำหนดมาตรการ/กฎระเบียบในชุมชน เช่น

         ห้ามดื่มในวันหรือประเพณีที่สำคัญ เช่น ในงานศพ, งานกีฬาของหมู่บ้าน/ตำบล, งานวัด, วันพระ, วันอสม., วันกำนัน/ผญบ., วันเด็ก เป็นต้น

         ลดปัจจัยเอื้อที่สนับสนุนให้มีการดื่มเหล้า เช่น ไม่ให้เหล้าเป็นของขวัญ, ร้านค้าไม่ขายเหล้าวันพระ, ไม่ขายให้เด็ก, จำกัดเวลาดื่มไม่เกินเวลาที่กำหนด, บางชุมชนสามารถขอความร่วมกับร้านค้างดขายเหล้าและบุหรี่ในชุมชนได้

         ห้ามดื่มในสถานที่ราชการ และวัด

         ห้ามการรถเร่ แผงลอย เข้ามาขายในชุมชน

         มีมาตรการเสริมเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ลดการดื่มเหล้า เช่น หักเงินฌาปนกิจเจ้าภาพงานศพที่เลี้ยงเหล้า, ให้ของขวัญรางวัลแก่ผู้ที่เลิกดื่มเหล้าได้สำเร็จ, การให้ประกาศเกียรติคุณยกย่อง, ให้ของที่ระลึกแก่ผู้เลิกเหล้าหรือแกนนำขับเคลื่อนการลดเหล้า เป็นต้น

          สร้างบุคคล/ครอบครัว/วัด/ชุมชนต้นแบบ ที่เป็นตัวอย่างให้แก่คนในชุมชน โดยมีการทำป้ายติดหน้าบ้านครอบครัวที่ปลอดการดื่มเหล้า

          รณรงค์ให้ความรู้เรื่องพิษภัยและผลกระทบจากการดื่มเหล้า ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เวทีประชาคม, การประชุมประจำเดือน, หอกระจายข่าว เป็นต้น

          รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา และให้เกียรติบัตรแก่ผู้ที่ทำได้สำเร็จ

          จัดเสวนากลุ่มผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และให้ป้ายร้านค้าไม่จำหน่ายบุหรี่/เหล้า ให้แก่ร้านค้าไม่จำหน่ายบุหรี่/เหล้า

          บางพื้นที่ได้มีการชักจูงให้ผู้ติดเหล้าเข้ามารับการบำบัดผู้ติดเหล้าในรพ. หลังจากการบำบัดได้ให้ชุมชนเข้าไปดูแลฟื้นฟูต่อเนื่อง

          บางพื้นที่จัดประกวดบุคคลตัวอย่าง ครอบครัวตัวอย่าง แล้วให้รางวัล

          หลายพื้นที่สามารถจัดงบประมาณต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมาดำเนินการขับเคลื่อน เช่น กองทุนสวัสดิการในชุมชน, กองทุนสปสช., อปท., สสส. เป็นต้น

          ๓. พื้นที่ต้นแบบ

          สำหรับพื้นที่ต้นแบบที่สามารถเป็นตัวอย่างให้สำหรับพื้นที่อื่นๆ ได้เข้าไปเรียนรู้ได้ในแต่ละอำเภอ มีดังนี้

          บ้านเจดีย์ ต.เชียงกลาง อ.เชียงกลาง

          บ้านซาววา อ.เชียงกลาง

          ตำบลพญาแก้ว อ.เชียงกลาง (ทั้งตำบล)

          อ.ปัว ทุกหมู่บ้าน

          บ้านวังไผ่ อ.สองแคว

          บ้านปางปุก ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว

          บ้านสองแคว ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว

          บ้านงอบเหนือ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง

          บ้านสลี ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง

          บ้านนาขาม อ.บ่อเกลือ

          บ้านห่างทางหลวง อ.บ่อเกลือ

          บ้านบ่อหยวก อ.บ่อเกลือ

          บ้านสะปัน ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ

 

          ๔. การขับเคลื่อนต่อไป

          ในแต่ละพื้นที่ได้มีแนวทางในการขับเคลื่อนการลดละเลิกการดื่มสุราในพื้นที่ต่อไป ดังนี้

          จัดเวทีระดับพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกัน

           ขยายพื้นที่รูปธรรมจากเดิมให้มากขึ้น

           หาวิธีการลดการผลิต เช่น จัดเวทีเสวนากลุ่มผู้ผลิต/ร้านจำหน่าย

           จัดทีมออกตรวจตราให้คำแนะนำ

           ติดตามกำกับการดำเนินงานตามมาตรการที่กำหนดขึ้น

           สรุปผลแบบบูรณาการร่วมกัน

 

          ๕. ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการลดละเลิกการดื่มเหล้า มีดังนี้

          แต่งตั้งคณะทำงานระดับอำเภอ และมีเจ้าภาพชัดเจน

           บูรณาการแผนงานทำงานร่วมกัน

           หน่วยงาน/อปท.ให้การสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่อง

           การดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง

           การมาตรการทางสังคมในระดับอำเภอครอบคลุมทุกพื้นที่

           รณรงค์ต่อเนื่องตลอดปี

           สนับสนุนบุคคล/ครอบครัว/ชุมชนต้นแบบ

           ติดตามประเมินผลอย่างจริงจัง

           ยกเลิกกฎหมายผลิตเหล้าเสรี

          กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปอย่างสนุกสนานได้ความรู้ ได้แบ่งปันประสบการณ์ แต่ละทีมเกิดแรงบันดาลใจที่จะกลับไปขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ต่อ ในขณะที่ทีมจังหวัดก็ยังต้องเดินหน้าจัดเวทีอีกสองโซนที่เหลือ และวางแผนการดำเนินการต่อไปดังนี้

          สรุปเป็นข้อมูลภาพรวมของจังหวัดและนำไปเสนอให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ

          จัดเวทีถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบ

          จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับจังหวัด นำพื้นที่ต้นแบบไปนำเสนอเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นๆ ได้เรียนรู้

          จัดกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา

          จัดทำฐานข้อมูลหมู่บ้าน/ชุมชนลดละเลิกเหล้า

          จัดทำเอกสารชุดความรู้เรื่องการขับเคลื่อนชุมชนลดละเลิกเหล้า เพื่อเผยแพร่

          ผลักดันประเด็นการขับเคลื่อนเป็นวาระจังหวัด

          ก็หวังว่าหลังจากนี้กระบวนการขับเคลื่อนการลดละเลิกการดื่มเหล้าในระดับพื้นที่และจังหวัดจะมีความเข้มข้นมาก สามารถลดทุกข์และลดโรคให้คนเมืองน่านได้

..............................................

ขอบคุณแกนนำการขับเคลื่อนการลดละเลิกการดื่มเหล้าในพื้นที่โซนเหนือทุกท่าน

บทเรียนดีดี เรื่องราวดีดีจากพื้นที่

ทีมวิทยากรกระบวนการและทีมสนับสนุนสสจ.น่าน

ขอบคุณเจ้าอาวาสวัดหนองแดงที่เอื้อเฟื้อสถานที่จัดเวที

ขอบคุณทีมสุขภาพอำเภอเชียงกลางที่ช่วยประสานงานและอำนวยความสะดวก

วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 270355เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2009 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สมัยเป็นวัยรุ่นเคยดื่มกับเพื่อนๆ ด้วยความคิดแบบสมัยนั้นต้องเป็นชายเต็มตัว  ดื่มทีไรก็จะมีผื่นคันไปทั้งตัวต้องหยุดเข้าโรงพยาบาลทุกครั้ง  คุณหมอบอกว่าคุณแพ้แอลกอฮอร์ ดื่มมากๆอาจถึงชีวิตได้  ด้วยความรู้สึกนึกคิดที่ผิดๆไม่ถูกต้องในขณะนั้น  ผมรู้สึกดีใจมากที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอร์ทุกชนิด จนถึงทุกวันนี้  เป็นความโชคดีของชาวน่านเพราะเจ้านี่แหละครับถ้าดื่มมันแล้วมันสั่งให้เราทำผิดทำชั่วได้โดยไม่รู้ตัว  ขอให้โครงการประสบความสำเร็จครับ โชคดี

สุดยอดจริงๆ เป็นกำลังใจให้คนทำงาน โดยเฉพาะทีมสาธารณสุข เราทำในสิ่งที่หลายคนคิดว่าทำไม่ได้ ถ้าหากลองย้อนในอดีตที่งานEPI ที่หลายคนต้องบุกป่าฝ่าดง จนกระทั่งในปัจจุบันที่ลูกฉันไม่ได้วัคซีนเป็นเรื่อง ข้าพเจ้ามองว่าเป็นสิทธิของประชาชนที่จะปลอดภัยจากภัยที่อยู่ใกล้ตัว มีอยู่ในครอบครัว ชุมชน สังคม อีกไม่นานเราคงเห็นปฏิกริยาที่เห็นคนดื่มเหล้า ไม่มีสติ แล้วน่ารังเกียจเหมือนกับการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ

การรณรงค์มักจะนิยมใช้มาตรการบังคับ ห้าม ซึ่งอาจได้ผลในช่วงเวลาหนึ่ง การดื่มเป็นพฤติกรรมที่ฝังลึก ต้องต่อสู้กับอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้นต้องใช้หลายมาตรการทั้งมาตรการกดดันจากสังคม ชุมชน และมาตรการภายในให้คนรู้สึกสำนึกรักตัวเอง รักสุขภาพ และรักคนรอบข้างจากการรู้จริง รู้เรื่องใกล้ตัว สัมผัสได้จริงๆ ดังนั้นน่าจะทำหลายด้านให้เกิดนโยบาย มาตรการชุมชน มาตรการครอบครัว และมาตรการระดับบุคคล เชื่อมโยงจากแรงกดดันของชุมชนสังคม การบังคับใช้ ก.ม. สร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ส่งเสริมพฤติกรรมบุคคลให้เกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ที่เป็นสาธารณะ ไม่ปากว่าตาขยิบ ช่วยกันสร้างต้นแบบและสกัดกั้นนักดื่มหน้าใหม่สร้างวินัยในการดื่มกินสนุกสนาน สนับสนุนให้สังคมได้ร่วมกันรับผิดชอบต่อการดื่มและผลพวงที่เกิดขึ้นตามมา รวมทั้งสร้างสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้ปลอดจากการดื่ม เช่นงานที่เป็นสาธารณะควรงดให้เลี้ยง ให้ดื่มเป็นต้น

อยากให้มีเวทีเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่

ของทุกโซน ใครมีอะไรดีๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนกัน

หากผู้นำชุมชน ร่วมใจ ร่วมพลัง สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เด็กเห็น

สังคมเราคง จะสอน บอกเด็กด้วยการ เป็นแบบอย่างที่ดี

ตอนนี้ดำเนินการครบ ๓ โซนแล้ว (กำลังเขียนบันทึกลง Blog ครับ) ต่อไปจะถอดบทเรียนในพื้นที่ต้นแบบ แล้วค่อยจัดรวมทุกโซนครับ เอาสิ่งดีดีมาแบ่งปันกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท