แนวคิดหลักของชุมชนบำบัด


ชุมชนบำบัด แตกต่างจากวิธีการบำบัดฟื้นฟูแบบอื่น คือ

ชุมชนบำบัด(T.C.)ใช้สังคมจำลองที่สร้างขึ้นเป็นชุมชน มาเป็นพื้นฐานของการนำความต้องการทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาเข้ามาเปลี่ยนแปลงแต่ละคนในชุมชน ทุกๆกิจกรรมในชุมชนบำบัดถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งในการเรียนรู้และการบำบัดฟื้นฟูสมาชิกทุกคน และผู้ที่เป็นหลักในการเปลี่ยนแปลงคือสมาชิกในชุมชน โดยชุมชนนั้นเป็นเสมือนทั้งครูและผู้บำบัดรักษา

แนวคิดหลักของชุมชนบำบัด  มี 8 ข้อ (Eight Essential Concepts of Community as Methods)


1)การมีส่วนร่วม (Use of Participant Roles) 
สมาชิกแต่ละคนจะได้รับการมอบหมายให้มีกิจกรรมต่างๆกันในแต่ละวัน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้เขาหรือเธอเหล่านั้นได้ทำบทบาททางสังคมที่แตกต่างกันออกไป ทั้งการเป็นเพื่อนร่วมกลุ่ม การสร้างความเป็นเพื่อน การเป็นผู้ประสานงาน และการเป็นคนคอยชี้แนะคนอื่น ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้ถือเป็นกิจกรรมที่อยู่ในกระบวนการที่จะช่วยในการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

2)ปฏิกิริยาสะท้อนกลับของสมาชิก  (Use of Membership Feedback)
สมาชิกในกลุ่มด้วยกันเองจะเป็นจุดกำเนิดเบื้องต้นของการชี้แนะและการให้กำลังใจในการเปลี่ยนแปลงของแต่ละบุคคล จึงควรจัดให้มีการสังเกตปฏิกิริยาของสมาชิกแต่ละคนเพื่อการแก้ไขปัญหารายบุคคลและเพื่อร่วมกันรับผิดชอบสมาชิกภายในกลุ่มด้วยกันทั้งหมด

3)การเป็นแบบอย่างที่ดี   (Use of Membership as Role Model)
สมาชิกแต่ละคนต้องมีความตั้งใจเต็มที่ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีในกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้กับกลุ่ม ด้วยความรับผิดชอบนี้ สมาชิกแต่ละคนจึงต้องมีปฏิกิริยาสะท้อนกลับ(Feedback)ต่อคนอื่นถึงสิ่งที่ควรมีการเปลี่ยนแปลง และสมาชิกของกลุ่มทุกคนต้องเป็นทำตนเองให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นในการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ด้วย

4)วิธีที่ช่วยให้บุคคลเปลี่ยนแปลง (Use of Collective Formats for Guiding Individual Change) 
สมาชิกในกลุ่มทุกคนจะมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะต้องเป็นผู้ช่วยให้เพื่อนร่วมกลุ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยใช้วิธีการต่างๆ ทั้งการให้ความรู้ การฝึกอบรม และกิจกรรมบำบัดที่จัดขึ้น เช่น การเข้าร่วมกลุ่ม การประชุม สัมมนา การมอบหมายหน้าที่ในการทำงาน และการจัดกิจกรรมสันทนาการ โดยประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้นี้สำคัญอย่างยิ่งต่อการบำบัดรักษาและการพัฒนาบุคลิกภาพที่จะปรากฏออกมาให้เห็นผ่านกิจกรรมทางสังคมที่ทำร่วมกันในชุมชน

5)การใช้กฎกติการ่วมกัน (Use of Shared Norms and Values)
บรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคมจะช่วยให้ทุกคนมีความปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ  เช่นเดียวกับการที่สมาชิกเข้ามาอยู่ร่วมกันในชุมชน บรรทัดฐานและค่านิยมจะช่วยชี้แนะให้สมาชิก ช่วยเหลือตนเองในการบำบัดรักษา และการเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างเหมาะสม

6)โครงสร้างและระบบ (Use of Structure and Systems)
การทำงานในชุมชนนั้นมีความหลากหลาย  “การจัดการ”เป็นสิ่งที่จำเป็นในการอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน เพราะการทำงานจะเป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องต้นในการสอนเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาตนเอง การเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากทักษะในการฝึกฝนอย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ การให้การยอมรับนับถือคนที่เป็นผู้ดูแล และการปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน  ซึ่งจะกลายเป็นคนที่สามารถให้คนอื่นพึ่งพิงได้

7)การสื่อสารแบบเปิด (Use of Open Communication) 
วัตถุประสงค์หลักของชุมชนบำบัดคือประสบการณ์ในการมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมสาธารณะ ความรู้สึกนึกคิดและการแสดงออกของสมาชิกในชุมชนถือเป็นสิ่งจำเป็นมากต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงในการบำบัด ไม่เฉพาะการแสดงออกของตนเองเท่านั้น แต่หมายถึงการมีส่วนร่วมต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชน ดังนั้น สิ่งจำเป็นคือการเปิดตัวเองเข้าสู่สังคม

8)การสร้างสัมพันธภาพ (Use of Relationships) 
มิตรภาพระหว่างบุคคล เพื่อนร่วมกลุ่ม และนักบำบัดเป็นสิ่งสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดข้อผูกพันร่วมกันที่จะช่วยกันทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาความสัมพันธ์ในการบำบัดนี้เป็นพื้นฐานในการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการช่วยให้การบำบัดประสบความสำเร็จ

(คัดลอกจากบางส่วนของ หนังสือ รู้ลึก....ชุมชนบำบัด โดย นรัญชญา ศรีบูรพา)

หมายเลขบันทึก: 289219เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2009 03:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท