ความจริง


ความจริง เป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนพูดระวังจะตาย คนจึงไม่กล้าพูดความจริงกัน

แปลกที่หลายคนไม่ยอมรับความจริง ไม่กล้าเผชิญความจริง หลอกตัวเอง เห็นแต่สิ่งสวยงาม ฟังแต่คำหวานหู แม้นไม่จริงก็ตาม บางคนบอกว่าเป็นกำลังใจ บางคนบอกว่าพูดในสิ่งไม่ดีทำไม พูดสิ่งดีให้เป็นมงคลชีวิตดีกว่า ทุกคนชอบสิ่งดี ชอบมงคลด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่า..  

ข้อเท็จจริงซึ่งพึงตระหนักอย่างหนึ่ง คือ  การเรียนรู้นั้น ถ้าศึกษาอยู่บนความจริง อยู่บนข้อมูลที่ถูกต้อง จึงจะสามารถพบความจริง หรือข้อเท็จจริงได้ ตรงกันข้าม ถ้าการศึกษานั้นอยู่บนข้อมูลไม่ถูกต้อง จอมปลอม มีแต่คำป้อยอ ระวังแต่การเสียน้ำใจ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว น่าเชื่อได้เลยว่า ยากจะพบความจริง 

การจัดการความรู้(KM) กำลังเป็นที่สนใจ เรื่องเล่าเร้าพลังต่างๆ จากประสบการณ์วิชาชีพแต่ละคน เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ดึงความรู้ส่วนที่ยังไม่รู้ เปรียบเสมือนฐานภูเขาน้ำแข็งซึ่งยังไม่โผล่พ้นน้ำ มาวิเคราะห์-สังเคราะห์ สร้างเป็นองค์ความรู้ นำไปใช้ปรับปรุงพัฒนางาน ปรับปรุงองค์กร การจัดการความรู้ตามกล่าว จะไม่มีความหมายเลย ถ้าเรื่องเล่านั้นเป็นของปลอม หวังเพียงให้รื่นหู มีแต่คำปรุงแต่งให้ดูดี ดูว่าขยันแก้ปัญหา เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น การวิเคราะห์-สังเคราะห์ก็ผิดหมด องค์ความรู้ที่เกิดจะไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างที่นักจัดการความรู้มุ่งหวังกัน 

ตัวอย่างของผลการวิจัย หรือ ผลการศึกษาค้นคว้าต่างๆอีก ให้ระเบียบวิธีวิจัยแม่นยำ เครื่องมือน่าเชื่อถือสักเพียงใด แต่ถ้าข้อมูลที่ได้นั้นเป็นเท็จ เต็มไปด้วยการลูบหน้าปะจมูก  เกรงแต่จะถูกเอาคืน(ตัวเองก็ไม่ดีพอ) หรือ ได้แต่กลัวไปสารพัด ก็ยากจะเกิดองค์ความรู้นำไปใช้ได้  

เราจึงเห็นนวัตกรรมทางการศึกษามากมาย ไม่เกิดประสิทธิผลจริง ไม่สามารถทำให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นได้ แม้ว่าเราจะพูดเรื่องนี้ซ้ำๆกันมาแล้วอย่างยาวนาน และเราจึงเห็นบ่อยว่า ผลการวิจัยหลายเรื่อง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ บางเรื่องขัดแย้งกับคนในท้องถิ่น หรือผู้รู้จริงในพื้นที่ด้วยซ้ำ ตัวอย่างของการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) สำหรับโครงการขนาดใหญ่ตามกฎหมาย จึงมีให้เห็นอยู่หลายครั้ง ว่าไม่จริง ใช้จริงไม่ได้อย่างว่า  

ความคิดเห็นในการปฏิบัติงาน การประชุมต่างๆ ปฏิสัมพันธ์ในสังคม สิ่งที่ควรระวังอย่างยิ่งคือ การให้ข้อมูลที่ไม่จริง แต่เรามักจะระวังมากกว่าว่า ข้อมูลนั้นจะกระทบใครหรือไม่ โดยเฉพาะกับผู้มีอำนาจด้วยแล้ว ยิ่งต้องระวังใหญ่  ข้อมูลที่เรานำไปใช้วิเคราะห์-สังเคราะห์ เพื่อแก้ไข ปรับปรุง พัฒนางาน จึงปนไปด้วยความเกรงอกเกรงใจ ความกลัว จนอาจเป็นข้อมูลเท็จไปในที่สุด  

ใช่วัฒนธรรมไทยหรือเปล่า น่าจะมีส่วนใช่มากทีเดียว แล้วความเกรงอกเกรงใจ ความรู้สึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ความกลัว เหล่านี้ไม่ต้องระวังหรือ ไม่ใช่วัฒนธรรมที่ดีงามดอกหรือ โปรดอย่าเข้าใจอย่างนั้น วัฒนธรรม-ค่านิยมไทยที่ดีงาม โดยเฉพาะความเห็นอกเห็นใจ ควรต้องตระหนักและพึงระวังอย่างที่สุด แต่ก็ต้องพอดี บนทางสายกลางอย่างพระพุทธเจ้าสอน   

และที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพียงอยากบอกว่า ถ้าไม่อยู่บนความจริง เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง..เท่านั้น 

หมายเลขบันทึก: 150448เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2007 11:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2015 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ถ้าคิดจะแก้ปัญหาก็ควรให้ข้อมูลที่เป็นความจริง  หากข้อมูลนั้นเป็นเท็จการแก้ปัญหาก็คงไม่สำเร็จ   อย่างคนไข้ที่ไปพบหมอ  หากให้ข้อมูลเท็จนอกจากการรักษาจะไม่ได้ผลแล้ว....อาจถึงตายได้.. อย่างนี้เรียกว่าความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตายใช่ไหมคะ

ครูธนิตย์คะ ชื่นชมคุณครูมาก ที่เป็นคนหนึ่งที่ช่างคิด ช่างวิเคราะห์ นี่แหละคือคุณสมบัติของครู ที่จะเป็นพ่อพิมพ์ของลูกศิษย์ต่อไป ในการทำ km ด้วยการเล่าเรื่อง ในพื้นฐานแล้วจะเป็นเรื่องเล่าที่เกิดจากการปฏิบัติจริง ที่เป็นประสบการณ์ตรง แต่ก็แน่นอนว่าบางครั้งเราก็เจอเรื่องที่ ตีไข่ใส่สี แล้วบางทีก็เจอมากเสียด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า เราเจอปัญหานี้แล้ว เราจะท้อถอยไม่นำเครื่องมือ km เรื่องเล่ามาใช้อีก เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องเล่าที่แต่งเติม (เป็นเรื่องไม่จริง) แต่ก็มีพื้นฐานมาจากการใช้สมองคิดขึ้นมาว่าสิ่งที่เล่ามานั้นเกิดขึ้นจริง แล้วเป็นเรื่องดี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะก่อให้เกิด ข้อคิด เป็นขุมความรู้ส่วนหนึ่งได้ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ดีนักก็ตาม การนำข้อมูลนี้ไปใช้คงจะต้องผ่านการสังเคราะห์อีกครั้งในขั้นตอนการสกัดแก่นความรู้ ป้านางก็เจอมาเยอะทีเดียว ทำไงได้ เราจัด km กับครู (ผู้รู้มาก) ถ้าจัดกับนักเรียน หรือชาวบ้าน ปัญหานี้อาจพบน้อย แต่ก็มีอยู่ดี อย่าคิดมาก แต่พึงระวังไว้ แล้วทำงานต่อไปนะ ป้านางเป็นกำลังใจให้

สวัสดีคุณครูธนิตย์

               จริง (true) กับ ไม่จริง (untrue)  เป็นของคู่กัน การดำรงอยู่ของคนบนโลกใบนี้จึงมี ๒ หน้าเสมอเพื่อความอยู่รอดของตนเองในสังคม เพียงแต่ใครจะใช้ความจริงกับความไม่จริงมากน้อยต่างกัน ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ชีวิตในช่วงเวลานั้น

               ขอบคุณครับกับความคิดดีๆ

ได้แต่คิดว่า..

1. เราใช้ข้อเท็จจริงแก้ปัญหาน้อยไป เราเกรงใจและกลัว(ห่วงตนเอง)มากเกิน

หรืออาจเป็นเพราะ..

2. ในเรื่องหนึ่ง-มีจุดมุ่งหมายหนึ่ง แต่ผู้ร่วมทำในเรื่องนั้นๆมีจุดหมายต่างกัน

ใช่ทั้ง 2 เรื่องนี้หรือเปล่า ที่ทำให้บางคนว่า การศึกษาไทยตกอยู่ในภาวะตายซาก พายเรื่อในอ่าง ฯลฯ นี่ รมต.วิจิตร ก็เสนอยุทธศาสตร์ใหม่ฝากให้รัฐบาลชุดหน้าอีกแล้ว

ขอบคุณข้อคิดเห็นต่างๆของครูมณี ป้านาง และจอหงวน(ผอ.)มากครับ

ครูธนิตย์

     สวัสดีครับ...ครูธนิตย์  ผมได้มีโอกาสอ่าน KM บทความนี้  ขอร่วมแสดงความเห็นด้วยนะครับ   เรื่องความจริง...ความไม่จริง...ความเกรงใจ    เป็นเรื่อง "ธรรมชาติ" ที่ทุกคนต้องประสบพบอยู่ทุกวัน  เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้  โดยเฉพาะสังคมไทย  ที่เป็นสังคมแห่งการพึ่งพา  สังคมเอื้ออาทร   สิ่งเช่นว่านี้  หรือที่ครูธนิตย์กล่าวถึงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมี ต้องเกิดในสังคมของไทยเราอย่างแน่นอน      มีคนมากมายที่นิยม และมุ่งมั่นอยู่ในความจริงถามหาความจริงมาตลอดชีวิต  ก็ยังไม่สามารถพบความจริงได้ตลอดชีวิต   ชีวิตก็เป็นเช่นนี้...จึงมีคำโบราณกล่าวว่า  "รู้หลบเป็นปีก  รู้หลีกเป็นหาง" คงจะนำมาใช้ได้ดีในการดำเนินชีวิตปัจจุบัน    ใช่หรือไม่ครับ.

ไม่ชอบคำว่า"รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง"เลย เพราะดูไม่รับผิดชอบ เอาแต่ได้ ไม่ใช่วิสัยลูกผู้ชาย น่าละอาย...แต่ในสังคม คนอย่างนี้มี(จริงๆ) ภาวนาอย่าให้มีมาก เพราะทำให้บ้านเมืองเรา ไม่ไปถึงไหนสักที ....เจ้าประคู๊น ๆ (ฮา)

ถ้าไม่อยู่บนความจริง เราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริง...เท่านั้น

       ที่ยุ่งๆ และ งานไม่ไปใหน  ก็เพราะเรื่องไม่จริงนี่แหละ

                     ขอบคุณสำหรับสาระดีๆครับ

 

 

สวัสดีค่ะ

  • พื้นฐานจริยธรรมและการสร้างจิตวิญญาณ
  • มาจาก..ความจริง  ความดี ความงาม..ค่ะ
  • ได้มาเมื่อไปร่วมกิจกรรมของการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลกับน้อง   พอลล่า  ที่ รพ.พิจิตรค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท