"อภิปราย"การเรียนรู้ ซึ่ง"ไม่เคยทำได้"


แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่ดีขึ้นกว่าเดิมครับ...นักเรียนอภิปรายพอได้ ส่วนใหญ่จะเป็น "ถามคำ ตอบคำ" จะให้เหมือนในหนังฝรั่ง เถียงกันคอเป็นเอ็น หน้าดำหน้าแดง หรือ เหมือนในหนังจีน วิ่ง กระโดด ฟันดาบ ต่อสู้กัน โช้งเช้งๆๆ ตลอดทั้งเรื่อง อย่างนี้่ยังไม่เคยเจอ ทั้งๆที่พยายามทำ

เคยดูหนังฝรั่งเกี่ยวกับเรื่องเรียน เรื่องสอน ในชั้นเรียนของเขา ส่วนใหญ่จะเป็นการอภิปราย ถกเถียง ตามหลักการ ทฤษฎี ตามเหตุผลของแต่ละคนเสียเป็นส่วนใหญ่ การที่ครูจะบรรยาย พูดกรอกหูอยู่ฝ่ายเดียว ท่าจะน้อย

ดูแล้วนึกเปรียบเทียบกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน ของตัวเองเลยล่ะครับ "อยากให้เป็นอย่างนี้บ้างจังเลย" ผมคุยกับนักเรียนหลายรุ่นในชั่วโมงแรกของการพบกัน "อย่างนี้ได้มั้ย? จะเรียนเรื่องอะไร นักเรียนไปค้น ไปอ่านมาให้กระจ่างเลย รวมทั้งครูด้วย เสร็จแล้วพอถึงชั่วโมงเรียนจริง ครูจะตั้งคำถามให้ร่วมกันอภิปราย และ/หรือ เธอตั้งคำถามให้เพื่อนช่วยกันอภิปราย ใครถูก ใครผิด ใครมั่ว ใครตามทฤษฏี จะได้รู้กัน พวกเราจะได้ไม่เบื่อ ที่จะฟังครูสอนอยู่ฝ่ายเดียว"

ผมเชื่อว่า ถ้านักเรียนอภิปรายได้ดีๆ นั่นหมายถึง นักเรียนรู้หมดแล้ว ในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระ การแสดงเหตุผล การถกเถียง จะทำให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดเปรียบเทียบ และ คิดอย่างมีวิจารณญาณ ไปโดยปริยาย โดยสรุป นักเรียนน่าจะต้องใช้ความคิดขั้นสูงในการอภิปราย จึงจะสามารถตอบคำถามเพื่อนและครู ซึ่งมีความหลากหลายได้

แต่เชื่อมั้ยครับว่า การสอนโดยให้นักเรียนอภิปรายที่ว่ามานี้ "ผมยังไม่เคยทำได้เลย" จะว่าไม่ได้เลย ก็ดูจะไม่ยุติธรรมต่อลูกศิษย์ผมนัก นักเรียนก็พออภิปรายได้บ้าง แต่อาจจะไม่ลุ่มลึก ไม่ซับซ้อน ไม่สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ เปรียบเทียบ หรือ ใช้วิจารณญาณได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนใหญ่เป็นแบบ "ถามคำ ตอบคำ" เสียมากกว่า โดยที่ครูต้องตะล่อม  ต้องประคอง ต้องช่วยอภิปรายสนับสนุน องค์ความรู้เรื่องนั้น จึงจะไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ว่าง่ายๆ ก็คือ ครูผู้สอน=ผมเอง ยังไม่พอใจนั่นละครับ...พอได้เท่านั้น(เราเอามาตรฐานผู้ใหญ่ มาตรฐานเด็กเก่งๆ ไปเทียบ ไปประเมินหรือเปล่า ผมยังข้องใจตัวเองในประเด็นนี้เหมือนกัน)

ล่าสุดผมสอนนักเรียนชั้น ม.5/1 เรื่อง อวัยวะรับความรู้สึก และ ม.6/1 เรื่อง วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ผลออกมาก็เป็นรูปแบบเดิมๆ ที่ประสบมาโดยตลอด จึงครุ่นคิดเสมอมาว่า สาเหตุน่าจะเป็นอะไร ที่พอเป็นไปได้ ได้แก่...

สาเหตุแรก : นักเรียนไม่แม่นในเนื้อหาสาระสำคัญมาก่อน

ก่อนเข้าชั้นเรียน นักเรียนไม่อ่าน หรือ อ่านแต่ไม่กระจ่างในเรื่องนั้น ความกล้า ความมั่นใจ ที่จะแสดงความคิดเห็น จึงไม่มี

สาเหตุที่สอง : นักเรียนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เป็นธรรมชาติของเด็กไทย นึกถึงตัวเองสมัยเป็นเด็กๆ ครูให้ออกไปรายงานหน้าชั้นเรียน ขาสั่นพรั่บๆเลย แม้เด็กสมัยนี้จะดีกว่าสมัยก่อน แต่วัฒนธรรมไทย เด็กต้องไม่เถียงผู้ใหญ่ ไม่เถียงพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ก็ยังครอบงำความคิดนักเรียนอยู่เยอะ รวมทั้งครูด้วย

สาเหตุที่สาม : นักเรียนวิเคราะห์ สังเคราะห์ ใช้วิจารณญาณไม่ค่อยได้

การประเมินโรงเรียนของ สมศ. หลายโรงไม่ผ่านก็มาตรฐานนี้แหละ  สำหรับเรื่องนี้แล้ว ผมว่านักเรียนสมัยนี้ด้อยกว่าสมัยก่อน หมายถึง แย่กว่าเดิม ซึ่งน่าเป็นห่วงมากนะครับ เพราะอะไร เพราะความสะดวกสบาย ความสำเร็จรูป เทคโนโลยี ที่ทันสมัยนี่เอง ที่ทำให้เด็กไม่ต้องคิดมาก อะไรๆ ก็สำเร็จรูปมาแล้ว ฉีกซอง...รับประทานได้เลย สังเกตไหมว่า เวลาที่ครูเฉลยข้อสอบ นักเรียนไม่ฟังที่มา-ที่ไปหรอกนะว่า ที่ตอบอย่างนี้-อย่างนั้นเพราะอะไร นักเรียนสนแค่ว่ามันตอบอะไร ก หรือ ข หรือช้อยส์ใดเท่านั้น"ว่ามาตรงๆจะดีกว่า"

ใบความรู้ที่ครูจัดทำมาให้ ก็สำเร็จรูปใช่มั้ย? ครูรวบรวม แยกแยะ ตรงตามเนื้อหา ตามหลักสูตร มาจากข้อมูลหลายๆแหล่งแล้ว โดยที่นักเรียนไม่ต้องทำอะไร บริโภคอย่างเดียว "ไม่ต้องเคี้ยว กลืนได้เลย" อย่างที่เขาว่ากัน

เทคโนโลยีทำให้สะดวกสบายขึ้น น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่ต้องคิด ครูสั่งการบ้าน ค้นจากอินเทอร์เน็ต คัดลอก วาง จัดหน้า ส่ง...ไม่ต้องอ่านเนื้อหาเลยยังได้ อ่านแต่หัวข้อว่าตรงกับที่ครูสั่งหรือเปล่า...เท่านั้นพอ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  ชวนครูให้เด็กเขียนรายงานส่ง ด้วยลายมือตนเอง สำหรับผม ทำอย่างนี้เป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าจะคัดลอกมาจริงๆ ก็ต้องมีเขียนด้วยลายมือตัวเอง สรุปปะหน้ามาอีก 1 แผ่น เป็นอย่างน้อย

สำหรับวิธีแก้ไข ปรับปรุง ผมทำอย่างนี้...

ประการแรก : ผมแก้ด้วยการให้นักเรียน สรุปเนื้อหาสาระสำคัญ โดยการเขียนใส่สมุดมาส่งล่วงหน้า ก่อนที่จะเรียนเรื่องนั้นๆ ก็ดีขึ้นบ้าง สรุปว่า"ยังแก้ไม่ตก"

ประการที่สอง : ผมเคยเขียนบทความเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บ้าง เพราะวัฒนธรรมในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาตินั้น ใหญ่เกินกว่าครูตัวเล็กๆอย่างผมเสียแล้ว

ประการที่สาม : ผมแก้โดย...

1. ข้อสอบของผม จะต้องเน้นให้นักเรียนอธิบายคำตอบ นอกจากเป็นช้อยส์อย่างที่ครูเราฮิต

2. การจัดการเรียนการสอน เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง จะแทรกไว้ในเรื่องต่างๆเสมอ อาทิ ทดลอง ศึกษาค้นคว้า สืบค้นข้อมูล ทำโครงงาน ผลิตสื่อมาสอนกันเอง เรียนรู้ด้วยกลุ่ม(ร่วมมือร่วมใจ) ฯลฯ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าวิธีการเหล่านี้ นักเรียนต้องคิดเองมากขึ้น

แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่ดีขึ้นกว่าเดิมครับ...นักเรียนอภิปรายพอได้ ส่วนใหญ่จะเป็น "ถามคำ ตอบคำ" จะให้เหมือนในหนังฝรั่ง เถียงกันคอเป็นเอ็น หน้าดำหน้าแดง หรือ เหมือนในหนังจีน วิ่ง กระโดด ฟันดาบ ต่อสู้กัน โช้งเช้งๆๆ ตลอดทั้งเรื่อง อย่างนี้่ยังไม่เคยเจอ ทั้งๆที่พยายามทำ

เล่ามายืดยาว เพียงอยากบอกว่า นี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งในหลายๆเรื่อง ที่ครูอย่างผม "ยังไม่เคยทำได้เลย"

หมายเลขบันทึก: 218426เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2008 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

สวัสดีค่ะ

ตอนแรกเด็กที่โรงเรียนครูคิม ก็ไม่มีทักษะแบบว่านี้นะคะ

แต่เราฝึกบ่อย ๆ ค่ะ  การพูดหน้าเสาธงก็เขียนให้

หน้ากิจกรรมภาคกลางวันก็เขียนให้

ภายหลังเขาจะค่อย ๆ เก่ง

อีกอย่างเด็กโตของอาจารย์  เขามีอะไร ไ มากขึ้น รู้แต่ไม่อยากแสดงออก

ไม่รู้สิ!สำหรับผม และนักเรียนผมแล้ว เรื่องกระตุ้นให้นักเรียนอภิปรายให้ได้ดีๆ..ดูยากจัง

ขอบคุณครูคิมครับ

เด็กยุคนี้ ทำในสิ่งที่เรากลัวได้ดีค่ะ หากเราได้ให้โอกาส และสานต่อ นะคะ เติม บ้าง หยิบออกบ้าง krutoiว่า ชีวิตสุขโข ครูมือระวิงเลยค่ะ

ผมก็ว่าอย่างนั้น ไม่ว่าจะอย่างไร เราคงต้องพยายามต่อไป ตราบที่เรายังเป็นครู ซึ่งมีอาชีพสอนนักเรียน...

ขอบคุณ krutoi ครับ

ชื่นชมจากใจเลยครับ แบบนี้ถือว่ามืออาชีพจริงๆครับ เป็นกำลังใจให้ครับ

เข้ามาติดตามความรู้จากอาจารย์อีกครั้งค่ะ

เห็นภาพนักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียนแล้ว อยากเรียนๆๆๆๆๆ ค่ะ

อยากเรียนวิทยาศาสตร์อย่างที่อาจารย์สอนอ่ะคะ

ถ้าวันไหนไปเก็บข้อมูลที่โรงเรียนอาจารย์ จะขอเข้าไปนั่งเรียนด้วยคนนะคะ

เหมี่ยวชอบวิธีการเรียน แบบที่ให้นักเรียนพูด นำเสนอ แสดงความรู้สึก หรืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน หรือไม่เกี่ยวแต่เฉียดๆ เรื่องที่เรียนก็ได้

อีกอย่างชอบข้อสอบแบบว่า ...ให้อธิบายอ่ะค่ะ ชอบเขียนมากกว่า เรียน เข้าใจ อ่านเพิ่มเติม จับconcept ได้ ก็พอ ให้จำโน้น จำนี่ เหมี่ยวตกแน่ๆ พวกข้อสอบ ก ข ค อ่ะตายแน่ๆ 55

อ่อ ...มีหนังสือที่เหมี่ยวกำลังอ่านอยู่ค่ะ ของ ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ชื่อหนังสือ Learning Organization & Knowledge Management ค่ะ อ่านแล้วมันมากๆ ได้ความรู้ดี แถมได้ภาษาที่เหมือนฟังจากคนเขียนมากกว่าอ่านหนังสืออีกด้วย หนังสือเล่มนี้พูดถึงการจัดการศึกษาดีมากๆ เลยค่ะ หรือถ้าอาจารย์สนใจลองติดตามอ่าน blog ของ อ.วรภัทร์ ดูนะคะ นามแฝงของอาจารย์ คือ "คนไร้กรอบ" ค่ะ

  • เคยทดลองเหมือนอาจารย์ว่า
  • แต่ทำได้บางส่วน
  • ถ้าถกเถียงกันสนุกมาก
  • แต่นักเรียนต้องแม่นเนื้อหามากๆๆ
  • อาจารย์ไปอยู่ที่โนนสังกี่ปี่ครับ

คุณเหมี่ยว..

  • ยินดีครับ
  • จะลองติดตามหาอ่านดู
  • ขอบคุณครับ

เรียน อ.ขจิต

  • ยากสำหรับผมครับ"นักเรียนอภิปรายได้ดีๆ"
  • อยู่ที่โนนสังวิทยาคาร 5 เทอม(2 ปี ครึ่ง)
  • ช่วง พ.ค.29-ต.ค.31
  • อ.ขจิต รู้จักโนนสังด้วยหรือ?

 

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ธนิตย์

    ท่านอาจารย์เขียนเรื่องเด็กได้ "ตรง" ดีมากครับ   ความจริงมาว่ากันเลย  ไม่ต้องมัวแต่สร้างภาพกันอยู่

    ตามความคิดเห็นของผมเองนะครับ  ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วนะครับ  ในกรณีที่เด็กไทยไม่สามารถอภิปรายการเรียนรู้ได้

    ผมว่าน่าจะเป็นเพราะเขามีชีวิตอยู่ในสังคมของวัฒนธรรมแบบ "อำนาจนิยม" ซึ่งมันซึมเข้าไปในสายเลือดเลยนะครับ  จะให้เขาปรับเปลี่ยนมาเป็นวัฒนธรรมแบบ "ปัญญานิยม" มันก็คงจะขัดกับสันดานแห่งการเอาตัวรอดของเขา

     มันคงจะต้องปรับแบบ "ค่อยเป็นค่อยไปแหละครับ" เพราะเขายังไม่ "คุ้นชิน"   คงจะต้องลดเพดานลงมาให้เหมาะกับสันดานแห่งการเรียนรู้แบบอำนาจนิยมของเขา

      เมื่อตอนที่ผมเป็นผู้บริหารโรงเรียน  ผมเคยบอกให้ครูช่วยคิดงาน  ครูบอกว่า  "จะให้ทำอะไร ก็สั่งมาเลย ขอแบบด้วย"   และเมือ่ตอนที่ผมเป็นผู้บริหารระดับอำเภอ  ผมบอกผู้บริหารโรงเรียนว่า เงินงบปรัมาณของอำเภอในปีนี้  ผมจะมอบให้โรงเรียนหมดเลย ขอให้ช่วยกันคิดว่าจะทำอะไร  ผู้บริหารโรงเรียนบอกว่า เขาไม่เอา เขามอบให้อำเภอคิดและสั่งมาเลย

    ผมเคยคุยกับผู้บริหารโรงเรียนคนหนึ่ง บอกว่าเดี๋ยวนี้โรงเรียนต้องคิดเองทำเองแล้วนะ

    ผู้บริหารโรงเรียนท่านนั้นบอกว่า "เราคิดเองไม่เป็นหรอกครับ เพราะเราทำงานตามสั่งมานานแล้ว"

     ทั้งหมดนี้เป็นบริบทส่วนหนึ่งที่ผมพบมาครับ  อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็น่าจะสะท้อนอะไรได้บ้างนะครับ

                      ขอบคุณครับ

 

เรียน รองฯวิชชา ครับ

  • ขอบคุณมาก
  • คิดอย่างนั้นเช่นกัน จึง"น่าห่วงมาก"สำหรับภาพรวมของการศึกษาบ้านเรา
  • อำนาจ vs ปัญญา..? ปัญหาหลักจริงๆครับ
  • ผมพบเพื่อนร่วมงานลักษณะนี้เช่นกัน เพราะระบบใหญ่ และวัฒนธรรมเป็นเช่นนี้ แม้แต่ตัวเราเองก็เถอะ...จึงน่าเสียดายความคิดดีๆ ซึ่งมักหล่นหายไป ระหว่างเส้นทางการทำงานของแต่ละคน
  • ขอบคุณ(อีกที)ครับ
  • ไม่ถนัดเรื่องสอน ๆ สอน ๆ
  • แต่มีความเห็นว่า การที่ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนพูดในเวลาเรียนบ้าง ในกลุ่ม หน้าห้องเรียน เป็นการฝึกเด็กได้ดีมาก ๆ
  • และให้โอกาสนักเรียนทุกคน (มิใช่คนไหนพูดเก่ง กล้า ก็คนนั้นตลอด)
  • ขอบคุณครับ

ลักษณะนี้พบบ่อยค่ะ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยก็เจอบ่อยๆ ต้องคอยกระตุ้น มอบงานและให้ไปลองทำจริงๆ มาดูก่อน...ถ้าเด็กเรียนต่อทฤษฎีอย่างเดียวเค้ามองภาพไม่ออก แต่ถ้าเค้าได้ลองลงมือปฏิบัติ...ความคิดจะค่อยๆ ไหลมาเทมาเชียวล่ะค่ะ

เป็นกำลังใจให้นะคะ....สอนวิทยาศาสตร์ยากนะ ขนาดสมัยที่ตัวเองเป็นผู้เรียนก็ยาก ย๊าก ยาก เพราะว่ามองไม่เห็นภาพ จำได้มั่งไม่ได้มั่ง ถ้าสอนในสิ่งที่เป็นสิ่งยากๆ ให้เชื่อมโยงเข้ามาใกล้ตัวกับผู้เรียนได้น่าจะไปได้สวยนะคะ

ขอบคุณสำหรับการเข้าไปเยี่ยมที่บล็อคค่ะ

ขอบคุณประสบการณ์ดีๆ ครับ..คุณ mono

เรียนปริญญามาสี่ปีนี่โดนงานโต้วาทีภาษาอังกฤษไปจนอ่วมอรทัย - - จากพูดไม่ได้ก็ต้องเอาให้ได้ ถกกันหน้าดำหน้าแดง เฮ้ออ...คิดแล้วยังเหนื่อยเลยค่ะครู

สมัยเรียนมัธยมฯ ดูเป็นเรื่องธรรมดามากที่เราจะมีอาการแบบนั้น (ไม่กล้าพูด หรือพูดไม่ได้เรื่อง) นะคะ...แต่พอมาอ่านดูแล้วรู้สึกว่าครูเค้าคงรู้สึกแบบนี้ - - และมาตอนนี้ก็โดนความรู้สึกแบบเดียวกันเล่นงานเสียบ้าง

แม้จะยังไม่ใช่ครูเต็มตัวแต่ก็อยากให้ศิษย์ (จำเป็น) ของเรามีทักษะดีๆ ในทุกๆ ด้านเนาะคะ

สวัสดีค่ะครูแวะมาเยี่ยมค่ะ - - รักษาสุขภาพด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะ

  • ตามมาอ่านอีกรอบค่ะ
  • สาเหตุใหญ่ก็คือ..นักเรียนไม่อ่าน  ไม่เตรียมกันทุกคน
  • ไม่เห็นความสำคัญในการเรียน
  • ขาดวินัย ขาดความรับผิดชอบ  จะพบกับเด็กแถวบ้านนอก ๆ
  • ส่วนเด็กในเมืองจะรักเรียนมากกว่า
  • คนละบทบาท คนละวัย คนละอารมณ์ ก็คนละปัญหา
  • ปัญหาของคนจึงร้อยแปดพันประการ
  • ดังนั้น ยาม speak english คงไฟแลบเลยสินะ
  • ขอบคุณ ญ.ปุ้ย ครับ
  • คงหลายๆสาเหตุประกอบกัน
  • อย่างครูคิมว่า ก็คงเหตุหนึ่งล่ะ
  • นักเรียนเรา..ทำให้เราต้องทำงานมากขึ้น แสดงว่า ครูอย่างเราจะได้บุญมากขึ้น ฮา!
  • ขอบคุณครูคิมครับ
  • การที่จะให้เด็กกล้าคิดกล้าทำ..กล้าแสดงออกนั้น..ส่วนหนึ่งคงอยู่ที่การเลี้ยงดูของครอบครัวด้วยค่ะ..ถ้าเด็กบ้านนั้นไม่เคยได้แสดงความคิดอะไรเลย..มันก็คงยากค่ะ
  • ในขณะเดียวกัน..รูปแบบการสอนของครูก็มีส่วนไม่น้อยค่ะ..อย่างเช่น ที่ร.ร.สาธิต มข..มีครั้งหนึ่ง..ลูกสาวของดิฉันเล่าพร้อมทั้งทำท่าทางให้ดูว่า..ครูให้เด็กนำสิ่งของที่บ้านไปเล่าให้เพื่อนฟัง..แค่เธอยกเสื้อตัวที่น้าส่งมาให้จากกรุงเทพฯขึ้นเท่านั้นแหละ..เพื่อนก็หัวเราะตรึม..ว่าแล้วเธอก็ยกเสื้อขึ้น..ดิฉันก็หัวเราะ..แต่ในวินาทีนั้นดิฉันทึ่งวิธีการสอนของคุณครูมากค่ะ..ดิฉันพูดกับลูกว่า..หนูเก่งมากและครูของหนูก็เก่งมากจริงๆ...
  • ทำได้แน่ๆ..และไม่นานเกินรอด้วยค่ะครู..
  • จงเชื่อมั่นว่า..คนทุกคนมีศักยภาพพร้อมที่จะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงค่ะครู
  • คิดอย่างนั้นเหมือนกันครับ ครอบครัวสำคัญที่สุด ครู โรงเรียน สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ วัฒนธรรม ฯลฯ ด้วย
  • ครูซึ่งพยายามทำอยู่ก็เยอะ อีกอย่างครับ..ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยบ้านเรา สามารถกำหนดการจัดการเรียนรู้ของครู ได้อย่างอัตโนมัติ ว่าจะให้ครูสอนอย่างไร เพราะครูเกรงศิษย์จะสอบเข้าไม่ได้ หน้าตาโรงเรียน หน้าตาผู้ปกครอง การสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงและใช้ ในปี 2553 ซึ่งเน้นวัดทักษะมากกว่าเนื้อหาสาระ..น่าจะช่วยได้มาก
  • หวังเช่นนั้นเหมือนกันครับ ทุกสิ่งทุกอย่างคงเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเสมอ แต่อาจจะช้า ไม่ทันใจเราบ้าง
  • ขอบคุณข้อคิดเห็นดีๆของคุณลดาครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท