ถอดประสบการณ์คนทำทีวี ตอน 1


การตั้งชื่อรายการ (อันนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละช่องที่จะฉาย เช่น ห้ามตั้งชื่อรายการเป็นภาษาอังกฤษ / ห้ามตั้งเกิน 4 คำ / ต้องมีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ ที่สำคัญชื่อรายการต้องบ่งบอกได้ว่าลักษณะรายการจะเป็นอย่างไร)

โครงการวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับเด็ก (TV4Kids) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ผู้เขียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะนักวิจัยของโครงการ หนึ่งในภารกิจของการทำงานคือการได้ร่วมแสวงหาความรู้ในเรื่องดังกล่าวจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (หรือที่เรียกกันว่า การเยี่ยมกัลยาณมิตร) อันประกอบไปด้วยเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตมืออาชีพ กลุ่มผู้ผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก ตลอดจนเครือข่ายในสาขาวิชานิเทศศาสตร์ ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นช่องทางหนึ่งที่จะนำมาซึ่งองค์ความรู้ในเรื่องการพัฒนาหลักสูตรการผลิตรายการโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก

โดยเป้าหมายหลักของภารกิจการออกเยี่ยมเยียนกัลยาณมิตรนั้น คือการถอดประสบการณ์และองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตัวผู้ผลิตหรือผู้เกี่ยวข้องในแต่ละด้าน เพื่อสังเคราะห์ความรู้นั้นให้กลายเป็นต้นแบบของกระบวนการผลิต เพื่อทำให้เกิดรายการโทรทัศน์ในรูปแบบของสาระบันเทิง (Edutainment) และรวบรวมองค์ความรู้เหล่านั้น เพื่อไปสร้างชุดความรู้ (Knowledge) ในการพัฒนาหลักสูตรการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก

และในวันนี้ทีมงาน TV4Kids ได้มีโอกาสไปเยี่ยมกัลยาณมิตรที่บริษัท สหมงคลเทเลวิชั่น จำกัด โดยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณพิลาสินี  เจริญจิตต์ หรือคุณต้อง โปรดิวเซอร์(และคนเขียนบท) แห่งรายการคู่หูทดลองวิทย์ และยังมีอีกหลากหลายรายการที่คุณต้องดูแล สำหรับรายการคู่หูทดลองวิทย์นี้ คุณต้องเล่าว่า เน้นทำให้เป็นรายการเชิงวิชาการบันเทิง (หมายถึงเอาวิชาการมาพูดให้เด็กฟังอย่างบันเทิง) เพื่อให้เด็กๆ ได้รับความรู้แบบไม่ยัดเยียดจนเกินไป

เป้าประสงค์หลักๆ ในการสร้างรายการของบริษัท สหมงคลเทเลวิชั่น อยู่ที่การทำให้รายการแตกต่างจากรายการของคนอื่นที่ออกช่องอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว และมีเป้าหมายเป็นเด็กๆ ในวัยที่แตกต่างกัน เช่น รายการคู่หูทดลองวิทย์จะเป็นรายการสำหรับเด็กวัย 6-12 ปี โดยเลือกพิธีกรที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะ เช่น คุณเติ้ล (ตะวัน) และคุณโยกเยก

เกร็ดความรู้หลักๆ ที่ได้จากการคุยกับคุณต้องในวันนี้แบ่งได้ 3 หมวดคือ

1. ปัจจัยที่มีส่วนทำให้รายการสำหรับเด็กอยู่ได้ ประกอบด้วย

- ช่วงเวลา (เพราะขึ้นอยู่กับว่าช่วงเวลานั้นเด็กๆ จะอยู่ที่ไหน ที่บ้านหรือโรงเรียน หรือบนถนน)

- เนื้อหาหรือรูปแบบรายการที่ทำให้เด็กชอบและติดตาม

- สปอนเซอร์ต้องซื้อ

- การตั้งชื่อรายการ (อันนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละช่องที่จะฉาย เช่น ห้ามตั้งชื่อรายการเป็นภาษาอังกฤษ / ห้ามตั้งเกิน 4 คำ / ต้องมีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ ที่สำคัญชื่อรายการต้องบ่งบอกได้ว่าลักษณะรายการจะเป็นอย่างไร)

- ชื่อตัวละครต้องมีความเชื่อมโยงกับลักษณะของตัวการ์ตูน (Character) หรือตัวแสดง

- การออกแบบรูปแบบรายการให้ดูน่าสนใจ / การใช้ฉากที่มีสีสันสดใส

 

2. องค์ประกอบของการเขียนบทหรือการผลิตรายการ

- การเขียนบทหรือสคริปต์ที่ทำให้เห็นภาพครบทุกขั้นตอน

- ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (เพื่อปรึกษาเรื่องความถูกต้องของเนื้อหาที่จะนำเสนอ)

- ต้องค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลอันหลากหลาย

- ต้องมีการผูกเรื่องและมีแกนความคิด (Theme) ที่ชัดเจน

- ควรมีเกร็ดวิธีการแก้ปัญหาที่ใกล้ตัว / ทิปเล็กๆ น้อยๆ

- การสร้างสถานการณ์ให้กับตัวละคร / การสร้างเรื่องราว / การผูกเรื่อง

- การสอดแทรกมุกต่างๆ เพื่อให้รายการมีจังหวะที่ไม่น่าเบื่อ

- ขั้นตอนการตัดต่อ (Post) ช่วยในเรื่องการถ่ายทำได้มากถึง 30%

- เนื้อหาสาระที่ถ่ายทอดต้องถ่ายทอดได้อย่างสนุก ภาพประกอบต้องชัดเจน

- โทนสีรายการ โทนสีของสิ่งประกอบฉาก (Props) ฯลฯ ต้องดูอย่างละเอียด

- ส่วนผสมและจังหวะการตัดต่อรายการเพื่อให้ดูไม่น่าเบื่อ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของโปรดิวเซอร์

 

3. ความรู้ที่ผู้ผลิตมี เช่น

- ความรู้ที่เกี่ยวกับด้านโปรดักชั่นหรือการผลิตในส่วนต่างๆ

- ความรู้ด้านการบริหารการขาย งบประมาณการถ่ายทำ ฯลฯ

- ความคิดสร้างสรรค์

ส่วนความรู้ที่ผู้ผลิตอยากได้เพิ่มเติม เช่น

- ความรู้เกี่ยวกับเด็ก (ทั้งในเชิงจิตวิทยา สิ่งที่ควรนำเสนอและไม่ควรนำเสนอ สิ่งที่ควรให้ความระมัดระวังและขึ้นคำเตือน ฯลฯ)

- เสียงสะท้อนจากเด็กที่เป็นผู้ชมจริงๆ (ที่ไม่ใช่แค่ตัวแทนกลุ่ม) สิ่งที่เด็กอยากได้และไม่ชอบ

 

นอกเหนือไปจากเกร็ดความรู้ใน 3 ประเด็นใหญ่แล้ว ผู้เขียนเองยังแอบเกิดความคิดเล็กๆ ขึ้นในหัวว่า สิ่งที่เห็นสำหรับการผลิตรายการโทรทัศน์ในเมืองไทยนั้นเห็นจะมีอยู่ 2 ประเภทคือ 1. ทำตามใจผู้อื่น (ซึ่งอาจหมายถึง นายทุน เจ้านาย ผู้สนับสนุน สปอนเซอร์ หรือแม้กระทั่งคนดู) 2. ทำตามใจตัวเอง (ออกแนวอินดี้ ไม่สนใจใคร ฉันเป็นฉัน)

แต่สำหรับรายการโทรทัศน์เมืองไทย ประเภทที่ 2 ออกจะมีน้อยสักหน่อย (ส่วนใหญ่จะพบได้ตามภาพยนตร์มากกว่า) ยังไงก็ตามผู้เขียนเองก็มองว่าการที่ต้องผลิตรายการเพื่อทำให้ถูกใจใคร (ที่ไม่ได้แปลว่าตอบโจทย์ตลาด) ทำให้รายการของเราขาดความเป็นเอกลักษณ์ และขาดลักษณะเฉพาะตัวอย่างสูง ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในบางครั้งไม่สามารถทะลุออกนอกกรอบได้ ผู้ผลิตรุ่นใหม่ก็รังแต่จะผลิตซ้ำบน กรอบความเชื่อและความคิดในแบบเดิมๆ (Re-production) ตลอดเวลา นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รายการโทรทัศน์ในรูปแบบฟรีทีวีบ้านเรา แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ก็เป็นได้

         

      

หมายเลขบันทึก: 218063เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2008 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คิดถึงต้องตามากเลย ติดต่อเพื่อน ๆ มั่งสิจ๊ะ

ต้องตาจ๋า เราแอ้นะคิดถึงต้องตามาก ต้องตาคงลืมเราแล้ว เราเคยสนิทกันมาก ตอน ป.5-ป.6 ที่ตะเองย้ายมาเรียนที่ชลบุรี แล้วจากกันตอน ม.1 คิดถึงมากมาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท