ถอดประสบการณ์คนทำทีวี ตอน 2


เรื่องรายการข่าวเด็ก ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องให้เด็กเป็นผู้รายงานข่าว แต่ควรหมายถึงข่าวที่มีประโยชน์ต่อเด็กๆ มีเนื้อหาเหมาะสำหรับเด็กมากกว่า

สายๆ ของวันพุธที่ 22 ตุลาคม ผู้เขียนซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงาน TV4Kids ได้ไปเยี่ยมเยียนที่ทำการแห่งใหม่ของบริษัท ป่าใหญ่ ครีเอชั่น จำกัด บริษัทที่ผลิตรายการเด็กได้อย่างน่ารักน่าเอ็นดูและมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อเด็กและเยาวชนมาอย่างยาวนาน รายการที่บริษัทนี้ผลิต ถ้าเอ่ยชื่อไปเชื่อว่า 80% ต้องเคยดูและนั่งอมยิ้มไปด้วยแน่ๆ เช่น รายการทุ่งแสงตะวัน / รายการความรู้คือประทีป / รายการมดคันไฟ / รายการเมืองไทยวัยซน / เยาวชนคนเก่ง หัวใจแกร่ง ฯลฯ และรายการที่กำลังจะออกอากาศก็คือ รายการคิดดี้ คิดดี (Kiddy Kid-D) (และอีกหลายๆ รายการที่ผู้เขียนจดจำไม่ทัน)

ในวันนี้พี่ยนต์หรือ คุณสุริยนต์ จองลีพันธ์ เป็นผู้มาให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตรายการโทรทัศน์เพื่อเด็ก โดยพี่ยนต์เริ่มเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้จากการทำรายการทุ่งแสงตะวันให้ทีมงานฟังอย่างสนุกสนาน ซึ่งรายการนี้เป็นรายการที่ใช้เวลาในการเข้าไปคลุกคลีกับเด็กๆ อยู่มากพอสมควร นอกจากนี้การทำรายการนอกสตูดิโอ (Out Door) เช่นนี้ยังต้องอาศัยลีลาและชั้นเชิงในการเข้าพวกกับเด็กๆ ให้ได้อีกด้วย เช่น ก่อนการถ่ายทำอาจจะมีการเข้าไปคลุกคลีกับเด็กๆ เพื่อละลายพฤติกรรม ละลายกำแพงคนแปลกหน้าออก และให้เด็กรู้สึกว่า ทีมงานถ่ายทำไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับเขา (ซึ่งเรื่องนี้ใช้เวลาพอประมาณ) เช่น การเล่นด้วยกัน การให้เด็กๆ พาไปดูสถานที่ที่เขาพูดถึงหรือเล่าถึง ฯลฯ ที่สำคัญเด็กต้องมีเพื่อนๆ คอยอยู่ข้างๆ เสมอ เพราะถ้าถ่ายเด็กคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว เขาจะเขินกล้องมากๆ และพาลจะทำให้ไม่พูดไปซะเลย

ระหว่างที่เล่นกับเด็กๆ หรือให้เด็กๆ พาไปเที่ยวในละแวกบ้านเขา ทีมงานต้องคอยคัดเลือกเด็กที่จะมาทำหน้าที่เล่าเรื่องได้ด้วย (โดยเฉพาะคนที่ชอบพูดหรือพูดเก่งๆ) และในเวลาถ่ายอาจต้องมีการหลอกล่อกันบ้างเช่น ถ้าถามคำถามไปแล้วในมุมกล้องที่ 1 แต่เราอยากได้มุมกล้องอีกมุม แต่ถามคำถามเดิม น้องก็จะไม่เข้าใจว่าจะมาถามทำไมอีกก็จะตอบทีมงานว่า "ก็ตอบไปแล้ว" บางทีถ้าทีมงานเจออย่างนี้ก็ต้องใช้มุก "เทปเมื่อกี้มันเสีย" หรือ "เทปมันหมด" อยู่เหมือนกัน (ฮา)

และเมื่อมาถึงขั้นตอนของการตัดต่อ หากพบว่าเทปนั้นมีภาพเด็กหลุดๆ เช่น น้องวิ่งตกคันนา ภาพเหล่านี้อาจจะดูไม่ดี ถือเป็นภาพเสีย (หากเป็นรายการทีวีสำหรับผู้ใหญ่) แต่สำหรับเด็กกลายเป็นภาพขำขัน ที่เด็กๆ จะชอบดูมากๆ เพราะเขาจะรู้สึกว่ามันจริง (Realistic) หรืออย่างภาพใบไม้ใบหญ้า รวงข้าว จะถ่ายแบบสวยๆ เป็นภาพสำหรับ Insert (ภาพสำหรับคั่นเนื้อหา) ก็ต้องเป็นใบไม้ใบหญ้าหรือรวงข้าวที่อุดมไปด้วยมดแมลง หรือต้องมีแอ็คชั่นมดไต่ เป็นต้น ภาพประเภทนี้เด็กๆ จะชอบดูมากๆ

พี่ยนต์ยังได้เล่าถึงรายการอื่นๆ และมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยผสมปนเปกันไปอีกมากมาย โดยรวมๆ แล้วสิ่งที่ทีมงานได้จากพี่ยนต์ในวันนี้น่าจะแบ่งกล่าวถึงได้สัก 5 ประเด็นหลักๆ คือ

1. โครงสร้างรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก สำหรับบริษัทป่าใหญ่ฯนั้นอาจจะแบ่งไม่เหมือนกับที่อื่นๆ เพราะป่าใหญ่ฯแบ่งเป็น ส่วน Producer ซึ่งก็คือ พี่นก (นิรมล เมธีสุวกุล) / พี่ยนต์ (สุริยนต์ จองลีพันธุ์) และพี่แหม่ม (ยุพา เพชรฤทธิ์) / ส่วน Co-Producer ซึ่งจะทำหน้าที่ทั้งการดูแลรายการแต่ละรายการและทำหน้าที่เขียนบทไปด้วย / ฝ่ายข้อมูล / ฝ่ายตัดต่อ ซึ่งผู้ตัดต่อจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ช่างเทคนิคแต่จะต้องทำหน้าที่คิดและเรียบเรียงเพื่อตอบโจทย์รายการได้ด้วย

2. การคิดรายการโทรทัศน์ (ใหม่) เรื่องนี้พี่ยนต์แนะนำไว้ว่ามีแนวทางการคิดได้ 2 วิธีคือ 1. คนดูอยากได้อะไร ก็ไปผลิต (อันนี้มักเป็นมุมมองของเจ้าของสถานีหรือนายทุน) 2. เริ่มคิดจากปัญหาว่าควรนำเสนออะไรให้คนดู แล้วจึงผลิต (อันนี้มักเป็นมุมมองของผู้ผลิตรายการ)

3. การอบรมการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก  ได้แก่

- เงื่อนไขของรายการเด็กหรือเงื่อนไขของสถานี / ช่วงเวลา / สิ่งที่ทำได้ภายใต้เงื่อนไขนั้นๆ ฯลฯ

- เรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับเด็ก / พัฒนาการเด็กแต่ละวัย / ปัญหาของเด็กแต่ละวัย / การละลายพฤติกรรมเด็ก ฯลฯ

- กระบวนการผลิตที่ต้องเข้าใจธรรมชาติเด็ก การมีทีมงานที่เข้าใจเด็กและรักเด็ก เข้ากับเด็กได้เป็นอย่างดี

- การ Test รายการก่อนออกอากาศ (On Air) จริง

- การมี Creative Thinking ด้วยการคิดใหม่แบบเด็กๆ (คิดแบบเด็ก ไม่ใช่คิดแบบผู้ใหญ่คิดให้เด็ก)

- การประเมินรายการ โดยคนผลิตรายการควรเป็นผู้ลงมือทำงานส่วนนี้ด้วยตัวเอง อาจทำได้โดยการนั่งคุยกับเด็กๆ (แฟนคลับ) หรือจัดทำ Focus Group ฯลฯ

- การทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมในรายการ

4. การสร้าง Creative Thinking ประกอบด้วย การคิดแบบต้นไม้ (ซึ่งก็คือการแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ) และต้องฝึกคิดอย่างเชื่อมโยง ที่สำคัญทุกหมวดสาขาวิชาควรได้รับการฝึกฝนให้คิดในลักษณะนี้เหมือนกัน

5. ข้อควรระวังในการผลิตรายการเด็ก คือ

- การฝึกเด็ก ในแง่หนึ่งอาจเป็นสิ่งที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ต้องระวังว่า เราไปฝืนให้เด็กทำในสิ่งที่เขาไม่อยากทำหรือเปล่า (มองในแง่สิทธิเด็ก) ซึ่งรายการโทรทัศน์ไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้เด็กที่มันลำบากเกินไป เพราะจะกลายเป็นว่า สิ่งที่เด็กทำ เด็กเองก็ไม่ได้มีความสุขไปกับการกระทำนั้นๆ ด้วย หรือไม่เด็กก็รู้สึกว่าเขาทำสิ่งนี้เพราะผู้ใหญ่อยากให้ทำ เขาไม่ได้อยากทำด้วยตัวของเขาเอง

- รายการเด็กที่ผลิต เป็นรายการสำหรับ "เด็กส่วนใหญ่" แล้วหรือยัง (ตัวแทนของเด็กไทยส่วนใหญ่) ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ควรเลือกทำมากกว่าตอบสนองแค่เด็กบางกลุ่ม

- ที่สำคัญคือ เวลาสำหรับรายการเด็ก (ผู้ใหญ่ไม่ควรเบียดบังเช่นที่เป็นอยู่) ส่วนเรื่องรายการข่าวเด็ก ก็ไม่ได้หมายความว่า จะต้องให้เด็กเป็นผู้รายงานข่าว แต่ควรหมายถึงข่าวที่มีประโยชน์ต่อเด็กๆ มีเนื้อหาเหมาะสำหรับเด็กมากกว่า

สิ่งที่ผู้เขียนได้แง่คิดในการได้พูดคุยกับพี่ยนต์แห่งป่าใหญ่ ครีเอชั่นในครั้งนี้คือ รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กนั้น ต้องตอบโจทย์เด็กที่เป็น "เด็ก" จริงๆ (ตัวจริงเสียงจริง) เพราะรายการที่ "เด็กชอบ" และ "เด็กเลือก" อาจไม่ใช่รายการที่ "ผู้ใหญ่ชอบดูก็ได้" เฉกเช่นเดียวกับรายการทุ่งแสงตะวันที่ถูกใจกลุ่มเด็กวัยรุ่นมากที่สุด (จากการสำรวจของผู้ผลิตรายการ) ซึ่งพี่ยนต์ก็ได้บอกทีมงาน TV4Kids ไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า กลุ่มเป้าหมายที่ทางรายการกำหนดเอาไว้สำหรับรายการทุ่งแสงตะวันคือ กลุ่มวัยรุ่น (ที่เป็นวัยกึ่งเด็กกึ่งผู้ใหญ่) และกลุ่มผู้ใหญ่

นอกจากนี้พี่ยนต์ยังบอกอีกว่า ถ้าให้เด็กๆ เขานั่งเลือกกดทีวีดูเอง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เขาจะเลือกดูรายการทุ่งแสงตะวันหรือไม่ นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำ ให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบ เด็กๆ เขาอาจจะไม่ชอบก็เป็นได้

หมายเลขบันทึก: 218607เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2008 19:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Design บันทึกไว้น่าอ่านมากครับ

และ ขอบคุณสำหรับความรู้เรื่อง โทรทัศน์ศึกษา ครับ :)

ขอบคุณค่ะ ^_^

ไม่อยากให้เห็นเป็นเรื่องหนักๆ ค่ะ เลยพยายามทำให้ดูสบายๆ

(ที่จริงตกแต่งอะไรไม่ค่อยเป็น ฮา)

ตามมาอ่านและลงชื่อไว้ ไม่เม้นท์อะไรมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท