"บ้านโบราณ สมัยรัชกาลที่ 5 อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน" .. บ้านที่ไม่ได้อยู่ในสารบบการท่องเที่ยวของจังหวัด


การเดินทางไปสอนของผมด้วยเรือบินนั้น เมื่อเครื่องลงแล้วมักจะมีรถจากโรงแรมที่พักมารับเสมอ แต่ก็มี 2 ครั้งที่ไม่มา แม้กระทั่งรถของวิทยาลัยที่ผมไปสอนก็ไม่มา ทำให้ผมมักจะเลือกเดินจากสนามบินไปโรงแรมด้วยขาของตัวเอง พร้อมของพะลุงพะลัง พะรุงพะรังเสมอ โดยไม่ยอมเลือกการนั่งรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หรือ รถตุ๊ก ๆ เพราะด้วยระยะทางไปเกิน 3 - 4 กิโลเมตร จากสนามบินไปโรงแรม ผมว่า ผมเดินไหว และอีกอย่างหนึ่ง ผมจะได้เดินชมเมืองไปด้วย

ระหว่างทางเดิน ตรงมุม ๆ หนึ่ง ผมเดินทางผ่านบ้านหลังหนึ่งที่ดูจากภายนอกเหมือนบ้านไม้ทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อเดินมาถึงประตูไม้หน้าบ้าน ก็จะพบป้ายบอกชื่อบ้านว่า "บ้านโบราณ สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ 2 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน"

 

 

ขอให้สังเกตว่า ป้ายบอกชื่ออยู่ใต้หลังคาเล็ก ๆ สีเขียว ครับ

 

ดังนั้น ผมจึงตั้งใจว่า ในการสอนครั้งสุดท้ายของภาคเรียนเมื่อไหร่ ผมจะมีเวลาว่างอยู่ 1 วัน ผมอยากเข้าไปชมบ้านหลังนี้ให้ได้ และในที่สุด วันอาทิตย์ที่ 10 ก.พ.51 ที่ผ่านมา ผมได้รับโอกาสนั้น แต่เป็นช่วงใกล้เวลาที่ผมต้องคืนรถเครื่องเช่าเสียด้วย ประมาณ 15.30 น. แล้ว และผมต้องนำรถไปคืนที่ร้านเช่า พร้อมนัดเวลารถของวิทยาลัยมารับไปสนามบินที่หน้าโรงแรม เวลา 16.00 น. ดังนั้น ผมจึงมีเวลาแค่ 10 - 15 นาที เท่านั้น

 

ผมจอดรถไว้อีกฟากหนึ่งของบ้านโบราณ แล้วตะโกนถามลุงที่นั่งเล่นสะล้ออยู่บนรถมอเตอร์ไซค์ว่า "บ้านเขาเปิดไหมครับลุง ผมอยากเข้าไปชม" .. ลุงแกตะโกนถามพี่ผู้หญิงที่อยู่ในบ้านโบราณว่า "เปิดไหม มีคนเขาถามว่า เปิดไหม" .. ผมได้คำตอบที่ไม่แน่ใจนัก แต่ในใจคิดว่า อีกเมื่อไหร่ผมจะได้มาแม่ฮ่องสอนอีก จึงเดินข้ามถนนตรงไปในบ้านเลย

 

ผมพบกับพี่ผู้หญิงคนหนึ่ง ตอนแรกยังไม่ทราบว่าเป็นใครครับ ผมก็แจ้งให้พี่เขาทราบว่า ผมอยากจะขอชมบ้านหน่อยได้หรือไม่ครับ ผมเห็นหน้าบ้านพี่ไม่ได้ติดป้ายบอกเวลาปิดเปิด เลยไม่แน่ใจว่า บ้านเปิดให้ชมหรือไม่ครับ

พี่ผู้หญิงตอบผมว่า ก็ช่วงนี้พักค่ะ นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมี ว่าจะเปิดเดือนหน้า

ผมจึงแจ้งให้พี่เขาทราบว่า ผมมาสอนที่วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน วันนี้สอนเสร็จวันสุดท้ายไม่ทราบว่าเมื่อไหร่จะได้มาอีก จึงขอชมสัก 10 นาที เพราะผมต้องรีบเอารถเช่าไปคืน และรอรถมารับที่หน้าโรงแรม เพื่อไปสนามบิน

พี่เขาเชิญผมขึ้นไปชมบนบ้านเลยครับ ผมเองก็เกรงใจเเหมือนกัน เพราะเขาไม่ได้เปิดให้ชม แต่ผมมาจากไหนไม่รู้ ขอชมหน่อย ผมก็เดินตามพี่เขาขึ้นไปบนบ้านครับ

 

ทางขึ้นบ้านมีหมาสีขาวอายุหลายขวบแล้ว หลับอยู่อย่างสบาย

 

เมื่อขึ้นไปบนบ้านก็จะผ่านป้ายภายในบ้านโบราณอีกหนึ่งป้าย ครับ "บ้านโบราณ ยินดีต้อนรับ"

 

ชานระเบียงหน้าบ้าน ก็จะมีโต๊ะรับแขก พร้อมกับสมุดเยี่ยม ภาพเก่า ๆ ที่วางไว้รอเข้ากรอบ

 

 

นี่คือ ภาพของเจ้าของบ้านรุ่นที่ 4 ที่เป็นผู้ครอบครองบ้านโบราณหลังจากนี้ต่อจากบรรพบุรุษ คือ เด็กผู้หญิงตัวน้อยที่สุด นับจากคนที่ 4 แถวหน้าจากด้านซ้ายของภาพ

 

หลังจากนั้น ผมได้เข้าไปในบ้าน เจ้าของบ้านจะไม่เปิดไฟนะครับ แต่เขาจะใช้แสงสว่างจากภายนอก โดยการเปิดบานหน้าต่างออกหมด เพื่อให้ภายในสว่างโดยธรรมชาติ

ผมเองก็ฟังสิ่งที่พี่ผู้หญิงเล่าให้ฟังหลายเรื่อง เช่น

 

"บ้านโบราณนี้สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมพม่าผสมไทยใหญ่ โดยสร้างด้วยไม้สักขนาดใหญ่ เสาแต่ละต้นใช้ไม้สักต้นเดียว ตั้งแต่โคนถึงปลายเสา ไม่มีการต่อกัน และเสาต้นที่สูงที่สุดในบ้านสูง ประมาณ 11 เมตร"

เสาต้นนี้ ผมเห็นอยู่กลางบ้านครับ เป็นไม้ท่อนเดียวยาวตั้งแต่พื้นถึงหลังคา แต่ถ่ายลำบากครับ เพราะแสงน้อยมาก

 

 

"บ้านโบราณนี้เคยเป็นที่พักของทหารญี่ปุ่น เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ.2485 บนพื้นไม้ภายในบ้าน ยังคงมีหลักฐานตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นสลักติดอยู่"

 

 

ภาษาญี่ปุ่นที่สลักไว้ที่พื้นไม้นี้ มีหลายจุดครับ แต่ผมถ่ายมา 1 จุด พี่ผู้หญิงบอกว่า หันหัวแบบนี้ถูกแล้ว แต่ว่ากลับมาที่นี่จะถามอาจารย์ญี่ปุ่นสักหน่อยว่า แปลว่าอะไร ก็ยังไม่ได้ถาม เอางี้ดีกว่าครับ ถ้าผมไม่ติดไว้ก่อน หรือ ถ้าใครแปลออก ช่วยบอกผมหน่อยครับว่า แปลว่าอะไร ?

 

"ภายในบ้านมีลวดลายไม้ฉลุโบราณที่ชาวไต หรือ ไทยใหญ่ เรียกว่า "ฝาลาย" ประดับอยู่รอบตัวบ้าน ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน"

 

 

"ฝาลาย" ภายในบ้านที่ผมเห็นอยู่ติดกับขื่อบ้าน เป็นไม้สักแผ่นเดียวที่ใหญ่มาก ลายเห็นดังในภาพนี้ครับ ในบ้านแสงน้อย เวลาเร่งรีบ จึงยังไม่ได้ถ่ายให้ชมครับ .. พี่ผู้หญิงบอกว่า "เป็นลายที่ท่านจองอูพะก่าแวง กวีวัฒน์ จ้างช่างไทยใหญ่จากฝั่งพม่ามาทำให้"

 

นี่คือ พื้นครัว มีเอกลักษณ์เฉพาะของเรือนนี้ เป็นไม้สัก ตีเป็นระแนง ยาวไปจนถึง ระเบียงครัวด้านหลังบ้าน

 

เดินเข้าไปในห้องครัว นอกจาก พื้นครัวแล้ว ด้านซ้ายมือของพื้นครัวนี้ เป็นที่วางข้าวของ อุปกรณ์ครัวต่าง ๆ ไว้

เจอคุณป้า ทายาทรุ่นที่ 4 ผู้ครอบครองบ้านนี้ ... คุณป้ากำลังทำครัวพอดี คุณป้าเลยชี้ให้ผมดู "หลังคาครัว" ที่ไม่เหมือนที่อื่น ถือเป็น สถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหลังนี้เช่นกัน

 

หลังคาครัว จะเป็นปล่อง ยกขึ้นจากหลังคาปกติ สำหรับประโยชน์นั้น คุณป้าเล่าให้ฟังว่า ครัวสมัยก่อน เขาไม่มีพัดลมดูดอากาศ จึงยกสูง เพื่อให้ควันไฟจากการหุงหาอาหารมันลอยออกไปได้

 

เป็นไงครับ ภูมิปัญญาของคนโบราณ น่าทึ่งนะครับ

 

แต่มีรอยหนึ่งที่คุณป้าบอกไว้ ตรงใต้จั่วของหลังคาตรงปล่อง

 

รูที่มีแสงสว่างรอดตรงใต้ไม้ที่ตัดกันเป็นรูปตัววี (เห็นไหมเอ่ย) ไม่ใช่รูใหญ่ ๆ ด้านซ้ายนะครับ

ตำแหน่งนี้ เป็นรอยสะเก็ดระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตร เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2

แต่ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ มีอีกรอยอยู่ฝั่งตรงกันข้ามเลย

 

เป็นรอยใต้รูปตัววีเหมือนกัน เห็นรอยสะเก็ดระเบิดที่เป็นจุด ๆ ไหมครับ โดยสะเก็ดระเบิด แต่บ้านไม่เป็นไรครับ

 

ก่อนผมเดินลงมาจากบ้าน พี่ผู้หญิงก็บอกให้ผมทราบว่า อดีตอธิการบดี กับ คณบดีวิทยาลัยแม่ฮ่องสอนเพิ่งพาคณะมาเยี่ยมชม เซ็นอยู่ในสมุดเยี่ยมแล้วครับ

 

เวลางวดเข้ามา ผมจึงขออนุญาตเก็บภาพด้านล่างต่อ เพื่อเตรียมตัวกลับ

 

เดินลงมาแล้วก็ถ่ายไปอีก 1 ภาพครับ เป็นอีกมุมของบ้านที่หันหน้าออกไปถนนทางเข้าบ้าน

 

นี่คือ บริเวณลานที่ทำเป็นร้านเครื่องดื่มสมุนไพร และกาแฟสด เพื่อให้บริการแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนครับ

 

ตรงนี้มีประวัติว่า

"เดิมทีบ้านโบราณนี้มีอยู่ 2 หลังเชื่อมติดกัน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2520 ได้มีการรื้อออกหนึ่งหลัง"

"หลังคามุงด้วยใบตองตึง หรือ ใบพลวง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยก่อน และต่อมาได้เปลี่ยนหลังคาเป็นสังกะสีแทน เมื่อปี พ.ศ.2523 เนื่องจากการมุงหลังคาด้วยใบตองตึงนั้นจะต้องทำการเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ ปี และเสียค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งหาช่างเปลี่ยนหลังคายากมากในปัจจุบัน"

"ต่อมาในปี พ.ศ.2525 เนื่องจากตัวบ้านเกิดทรุดและเอียง จึงได้มีการต่อเสาตอม่อครอบเสาต้นเดิมทุกต้นของบ้านเพื่อให้บ้านแข็งแรงขึ้น พร้อมกับต่อเติมและซ่อมแซมบางส่วนแต่ยังคงสภาพของโครงสร้างเดิมอยู่"

 

 

 

 

แฮะ แฮะ ผมไม่รู้จัก เลยถามพี่ผู้หญิงว่า พี่ครับ นี่คือต้นอะไรหรือครับ

พี่ผู้หญิงตอบผมว่า "ดอกกระเจี๊ยบ" ค่ะ เราเอาไว้ต้มน้ำสมุนไพร เพื่อหารายได้มาดูแลบ้าน

 

ถึงตรงนี้ ผมจึงเกิดความสงสัย จึงถามพี่ผู้หญิงว่า "แล้วเก็บค่าเข้าชมหรือเปล่าครับพี่"

พี่ผู้หญิงตอบว่า "เราไม่ได้เก็บค่าเข้าชม เพราะถือว่าเราอยู่ที่นี่เป็นคนที่นี่ จะเก็บก็รู้สึกไม่ดี เราจึงใช้วิธีการหาน้ำสมุนไพร หรือของท้องถิ่นมาขายแทน"

ใช่ครับ เขาใช้วิธีการไม่เก็บค่าเข้าชมครับ ข้างบนบ้านจะให้แขกผู้มาเยือนช่วยบริจาคเพื่อบำรุงจากจิตศรัทธาครับ

ผมก็หย่อนธนบัตรไป 1 ใบครับ ด้วยความรู้สึกถึงน้ำใจที่ได้รับจากพี่ผู้หญิงเขาครับ

ผมจึงถามต่อไปว่า "แล้วหน่วยงานราชการของจังหวัดไม่ได้เข้ามาช่วยดูแลเลยหรือครับ หรือช่วยค่าใช้จ่าย"

พี่ผู้หญิงตอบว่า "ไม่มีค่ะ ตั้งแต่เปิดให้ชมมา ก็ไม่เห็นมีหน่วยงานใดเลย"

ผมจึงถามต่อว่า "แล้วพี่จะอยู่รอดไหวหรือ ?"

พี่เขาตอบว่า "ก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ"

ผมจึงรับปากพี่เขาไว้ว่า "ผมจะนำภาพที่ผมถ่าย และข้อมูลเหล่านี้ไปช่วยพี่ประชาสัมพันธ์ให้อีกแรงนะครับ"

 

จริง ๆ แล้ว ก่อนผมเข้าชมพี่เค้าก็สงสัยว่า ผมรู้ได้ยังไงว่า ที่นี่มี "บ้านโบราณ" เพราะเขาไม่เคยประชาสัมพันธ์ที่ไหน มีแต่คนที่ชอบจริง ๆ จะทราบ และมาวนเวียนดูหลายครั้ง

ผมตอบว่า "ผมเดินผ่านจากสนามบินน่ะครับ ตั้งใจว่าจะต้องมาแวะให้ได้"

 

ใกล้เวลาแล้ว คงคุยกันถูกคอ พี่ผู้หญิงพาผมไปชี้ให้ดูต้นไม้เลื้อยต้นหนึ่ง แล้วถามว่า "อาจารย์รู้จักต้น ไก่ฟ้าพระยาลอ หรือเปล่า" นี่ไง ๆ พี่ชี้ไปที่ไม้เลื้อยดอกสีส้ม ๆ

ว่าแล้ว พี่จึงถามว่า "อาจารย์เอากลับเชียงใหม่ไหม น่าจะเอาขึ้นเครื่องได้นะ" พี่เขาเดินไปเอากระถางที่เพาะต้นกล้านี้ แล้วเอามาให้ผมเลือก ผมเห็นพี่เขากุลีกุลอด้วยมิตรภาพมาก ผมจึงชี้ 1 ต้น "ต้นนี้ก็ได้พี่ ขอบคุณมากครับ"

แต่ยังไม่พอ เสียงตะโกนมา "เอาเม็ดไปด้วยเนอะ" พี่ก็เทจากกระป๋องมาให้ถุงย่อม ๆ เลย

 

 

นี่ไงครับ ต้นไก่ฟ้าพระยาลอ ... ไม้เลื้อย ใบเป็นรูปหัวใจ แหม ช่างเหมาะกับเทศกาลประจำเดือนจริง ๆ

 

 อีกภาพครับ ... "ไก่ฟ้าพระยาลอ" :)

 

ที่มาที่ไปของ "ต้นไก่ฟ้าพระยาลอ" นั้น ต้นตระกูลได้นำมาปลูกจากประเทศพม่าตั้งแต่ปลูกเรือน ถึงแม้ประเทศไทยมีอยู่แล้ว แต่ผมว่า คุณค่ามันอยู่ที่ "รากเหง้ามันไม่ได้อยู่ประเทศไทย แถมอายุเท่ากับตัวบ้าน คือ 122 ปีล่วงมาแล้ว" นี่แหละ ผมถึงว่า มันมีค่าทางใจเหลือเกิน แถมซึ้งใจมาก ก็ยืนคุย 10 กว่านาทีเองครับ

ผมจึงสัญญากับพี่เขาไว้ว่า "ผมจะต้องกลับมาที่นี่อีกให้ได้ เพราะผมชอบที่นี่มาก แถมยังเก็บภาพไม่ครบเลย"

พี่ผู้หญิงบอกว่า "อาจารย์ ว่าง ๆ มาทานกาแฟได้เลย นั่งนาน ๆ ก็ได้ ไม่เป็นไร"

"ขอบคุณมากครับพี่ ผมจะกลับมาครับ"

 

อืมม มีอยู่ตอนหนึ่งครับ พี่เขาบอกว่า "นักท่องเที่ยวไทยที่มารถตู้ มักจะมาดูแล้วก็ไป" หมายความว่า "ไม่ได้ช่วยค่าบำรุงไงครับ มาแล้วก็ไป" ... แล้วอนาคตจะอยู่ไปได้อย่างไรครับ บ้านอายุ 122 ปี แห่งนี้ ไม่มีทาง

 

ผมจึงอยากเชิญชวนทุกท่าน ใครมีโอกาสไปเที่ยวแม่ฮ่องสอน ขอให้จัด "บ้านโบราณ" อยู่ในทริปด้วยนะครับ แวะไปเยี่ยมเยือน

ครูที่อยู่แม่ฮ่องสอน ก็อาจจะจัดโปรแกรมทัศนศึกษาให้นักเรียนได้มีโอกาสแวะมาเยี่ยมเยือน ให้เขาได้รักและหวงแหนสิ่งที่ค่าของท้องถิ่นของเขา

ช่วยกันนะครับ ... ผมได้ทำตามที่ผมรับปากไว้แล้วครับ

 

แหล่งข้อมูล

ประวัติบ้านโบราณ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

บ้านโบราณ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 2 ถ.ราชธรรมพิทักษ์ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน (เยื้องที่ทำการตำรวจท่องเที่ยว จ.แม่ฮ่องสอน)

สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ.2429 หรือสมัยที่เจ้าแม่นางเมี๊ยะ ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าองค์ที่สองปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน

ผู้สร้าง คือ จองอูพะก่าแวง กวีวัฒน์ (กวีวัฒน์ เป็นนามสกุลพระราชทานจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6)

เดิมทีบ้านโบราณนี้มีอยู่ 2 หลังเชื่อมติดกัน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2520 ได้มีการรื้อออกหนึ่งหลัง

บ้านโบราณนี้สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมพม่าผสมไทยใหญ่ โดยสร้างด้วยไม้สักขนาดใหญ่ เสาแต่ละต้นใช้ไม้สักต้นเดียว ตั้งแต่โคนถึงปลายเสา ไม่มีการต่อกัน และเสาต้นที่สูงที่สุดในบ้านสูง ประมาณ 11 เมตร

ภายในบ้านมีลวดลายไม้ฉลุโบราณที่ชาวไต หรือ ไทยใหญ่ เรียกว่า "ฝาลาย" ประดับอยู่รอบตัวบ้าน ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน

หลังคามุงด้วยใบตองตึง หรือ ใบพลวง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยก่อน และต่อมาได้เปลี่ยนหลังคาเป็นสังกะสีแทน เมื่อปี พ.ศ.2523 เนื่องจากการมุงหลังคาด้วยใบตองตึงนั้นจะต้องทำการเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ ปี และเสียค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งหาช่างเปลี่ยนหลังคายากมากในปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ.2525 เนื่องจากตัวบ้านเกิดทรุดและเอียง จึงได้มีการต่อเสาตอม่อครอบเสาต้นเดิมทุกต้นของบ้านเพื่อให้บ้านแข็งแรงขึ้น พร้อมกับต่อเติมและซ่อมแซมบางส่วนแต่ยังคงสภาพของโครงสร้างเดิมอยู่

บ้านโบราณนี้เคยเป็นที่พักของทหารญี่ปุ่น เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี พ.ศ.2485 บนพื้นไม้ภายในบ้าน ยังคงมีหลักฐานตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นสลักติดอยู่ ในปัจจุบัน บ้านโบราณหลังนี้อยู่ในความครอบครองของทายาทรุ่นที่ 4

บ้านโบราณ เลขที่ 2 ถ.ราชธรรมพิทักษ์ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

โทร.081-8816534  e-mail : [email protected]

 

ป.ล. บ้านเลขที่ 1 นี่คือ ที่ทำการตำรวจท่องเที่ยว จ.แม่ฮ่องสอน ครับ  ซึ่งบ้านเดิม รื้อไปแล้ว เหลือแต่ "บ้านโบราณ" ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ 2 เท่านั้นครับ

พี่ผู้หญิงที่เป็นไกด์ให้ผม เป็นลูกสะใภ้ของบ้านนี้ เป็นแฟนกับลูกชายของคุณป้า ทายาทรุ่นที่ 4 ครับ

หมายเลขบันทึก: 164907เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2008 20:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (69)

ขอบคุณแทนเจ้าของบ้านด้วยคนครับ และขอบคุณแทนพี่น้องชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนครับ  ผมรู้สึกถึงความไร้เดียงสาความใสซื่อของเจ้าของบ้าน คุณค่าของสิ่งเหล่านี้บางทีไม่สามารถวัดกันที่เงินตราได้ สุดท้ายแล้วปรากฏว่า คุณค่าที่ทั้งสองฝ่ายได้รับมันมีมูลค่าที่ค่อนข้างแพงสมควร คนดูได้ความรู้ได้ความอิ่มอกอิ่มใจ และสมใจอยากที่ได้ดูและชมส่วนเจ้าของก็ ได้มีคนช่วยประชาสัมพันธ์(โปรโมท) สถานที่ของตัวเองโดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท

            งานนี้จบลงอย่างสวยงามที่สุดขอ แสดงความดีใจทั้งสองฝ่ายด้วยครับ

สวัสดีครับ คุณครู สังเวียร

  • ว่าง ๆ ก็แวะมาเที่ยว "บ้านโบราณ" นะครับ
  • ช่วยโปรโมทให้กับจังหวัดของครูหน่อยก็แล้วนะครับ
  • มันมีคุณค่าทางใจ มากกว่าสิ่งอื่นใดครับ

ขอบคุณครับที่แวะมาเยือนเสมอ ๆ

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ขอบอกตามตรง ว่าหนูไม่เคยเข้าไปชมบ้านหลังนี้เลยค่ะ
  • ได้แต่ผ่านไป ผ่านมา แหะๆ
  • เรื่องภาษาญี่ปุ่นนะคะ
  • คือ ต้องเรียนอาจารย์ว่า ภาพมันกลับด้านหน่ะค่ะ
  • จะต้องเรียงแบบนี้ค่ะ
  •   
  •    日
  • จะประกอบด้วย สองคำนะคะ
  • คำแรก   大  แปลว่า  ใหญ่
  • คำที่สอง  日   แปลว่า  วัน , พระอาทิตย์ , ในบางกรณี จะแทนความหมายคือ ประเทศญี่ปุ่น
  • จากสองคำรวมกัน น่าจะแปลได้ว่า ความยิ่งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ประมาณนี้ค่ะ
  • เปิดจากพจนานุกรม ทั้งฉบับหนังสือ และ Digital Dictionary แล้ว ไม่มีการแปลความหมายเฉพาะของคำนี้ไว้ค่ะ
  • คนญี่ปุ่น เค้าจะรักในความเป็นประเทศของเค้ามากค่ะ เค้าจะมีวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง ที่ปลูกฝังเรื่องการรักชาติของตนมานาน ตราบจนทุกวันนี้เลยค่ะ
  • ถ้าแปลผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
  • ^^
  • เห็นทีจะต้องแวะไปเยี่ยมชมบ้านหลังนี้บ้างแล้วหละค่ะ
  • ไม่แน่.. คนญี่ปุ่นอาจจะทิ้งลายแทงที่ซ่อนสมบัติไว้ จะต้องไปหาซะหน่อย เผื่อรวยค่ะ
  • อิอิ

ขอบคุณค่ะ. Sasinanda

ถ้าไปแม่ฮ่องสอนจะแวะไปค่ะ

น่าอยู่มากทีเดียว ดูร่มเย็นค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูเพ็ชรลดา ดOกไม้ที่ปลายดOย~*

  • ครูก็รอเราให้มาแปลให้ฟังอยู่พอดีเลย
  • ขอบใจมาก ๆ ครับ
  • อยากให้ไปแวะแล้วนำขึ้นบันทึกให้หน่อยนะครับ
  • โดยเฉพาะ รอยสลักภาษาญี่ปุ่น ... ยังมีร่องรอยอีกหลายแห่งเลย
  • ถ้าได้ไป ก็บอกพี่ผู้หญิงก็ได้ว่า เป็นลูกศิษย์ของครูมาแวะชมต่อจากครู อิ อิ
  • ยังไม่ได้เอาคะแนนสอบขึ้นให้เลย ไม่เกินวันนี้แน่นอนครับ

ขอบใจมาก ๆ ครับ :)

สวัสดีครับ พี่ Sasinanda

  • พื้นที่ไม่มากครับพี่ Sasinanda
  • แต่มีคุณค่ามาก
  • การบันทึกเก็บรายละเอียดต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียว
  • เพราะมันคือประวัติศาสตร์ครับ

ขอบคุณครับ พี่ Sasinanda  :)

  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • ฮือออออออ......อ  (>_<)"
  • ดูคะแนนสอบ Final แล้วค่ะ..เศร้าจัง
  • ทำข้อสอบไม่ได้เลยค่ะ คะแนนน้อยมาก
  • หนูจะรอดมั๊ยคะอาจารย์
  • แงๆๆๆๆ

สวัสดีครับ คุณครูเพ็ชรลดา

  • น้อยหรือ ... ดีกว่าคุณครูท่านอื่นอีก
  • ไม่ทราบว่า เพื่อน ๆ ทราบข่าวหรือยัง
  • ถ้าไม่รอด ก็พบกันที่เชียงใหม่ไง แวะมาเยี่ยมอาจารย์ญี่ปุ่นสิ อิ อิ

โชคดี ๆ ครับ :)

"กวีวัฒน์" เป็นนามสกุลของเพื่อนของผมครับ แต่ไม่ทราบว่าเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ที่เล่ามาอย่างไร

ต้องขอบอกว่า ขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับ กับเรื่องราวที่นำมาเสนอ ผมเองคนแม่ฮ่องสอนกลับไม่ได้ทราบเรื่องราวดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่ผมใช้ชีวิตที่ปายมากกว่า และติดต่อกับทาง จ.เชียงใหม่ มากกว่า ผมเองเป็นชาวล้านนาที่คุณพ่อเป็นช่างแกะสลักไม้ครับ เป็นเชื้อสายเชียงใหม่ครับ

ที่แม่ฮ่องสอนส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่ครับ ศิลป วัฒนธรรม ต่างๆก็ได้รับอิทธิพลมากจาก ฉาน มีเอกลักษณ์ วิถีที่เฉพาะตัว

บ้านหลังดังกล่าวน่าสนใจมากครับ ..คิดว่า จ.แม่ฮ่องสอน ต้องให้ความสำคัญกับบริบทตรงนี้ ผมขอเก็บไว้เป็นข้อมูล

อีกไม่กี่วัน ผมจะเดินทางไปเป็นวิทยากรกระบวนการ แม่ฮ่องสอนพาราไดซ์ (เมืองในฝัน สวรรค์บนดอย) เพื่อระดมความคิดคนแม่ฮ่องสอนเกี่ยวกับ "ประเด็นการท่องเที่ยวของแม่ฮ่องสอน"  การจัดการและยุทธศาสตร์การพัฒนา

ข้อมูลนี้จึงเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ

 

ขอขอบคุณท่านอีกครั้ง

อืมม์...จากสนามบินถึงใบหยกชาเลย์ที่พัก ไกลพอสมควรเหมือนกันครับ หากเราเดิน

สวัสดีครับ คุณเอก

  • ยินดีครับที่บันทึกนี้ยังพอมีคุณค่าบ้าง
  • ผมแค่อยากให้อนุรักษ์ "บ้านโบราณ" แห่งนี้ให้นานเท่านานครับ
  • เป็นคนรักของเก่าครับ แฟนเก่าอะไรแบบนี้ ก็ต้องอนุรักษ์ไว้ครับ อิ อิ :)
  • มีเวลาไปสัมมนาก็แวะชมนะครับ อาจจะได้ข้อมูลอะไรมากกว่าผมอีกแน่นอนครับ ผมมีเวลาแค่ 10 - 20 นาทีเท่านั้นเองครับ ที่เหลือก็โม้ไว้ก่อนครับ อิ อิ
  • สนามบิน ถึง ใบหยกฯ ก็เดินประมาณ 30 นาที ครับ สนุก และ เมื่อยดีครับ

ขอบคุณครับ คุณเอก :)

  •  สวัสดีครับ ตามมาอีกแล้ว
  • เห็นว่าอาจารย์ชอบถ่ายถาพ
  • ก็เลยถ่ายภาพบ้านดั้งเดิม ของพี่น้องปากาญอ บ้านปูแป้ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ. ตาก มาฝากครับ

 Dscf2079

 Dscf2078

Dscf2080

 

สวัสดีครับ คุณ ครูข้างถนน

  • ทราบได้ไงครับว่า ผมชอบถ่ายภาพ อิ อิ
  • ชอบถ่ายภาพ แต่ไม่มีกล้องเป็นคนตัวเองนะครับ ยืมเค้าตลอดครับ  ถ้าคุณครูได้เห็นในบันทึก
  • มันแพงน่ะครับ
  • คุณครูของเล่าบันทึกจากภาพดูสิครับ น่าสนใจดีครับ
  • "ฝาบ้าน" เฉพาะถิ่น เฉพาะชน นะครับ

ขอบคุณมากครับ :)

  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • ไม่เคยไปเที่ยวแม่ฮ่องสอน  แต่ในชีวิตคิดว่าจะหาโอกาสไปเที่ยวให้ได้   และจะแวะเที่ยว บ้านโบราณด้วย 
  • สำหรับคนหูหนวก  จะรู้จักแม่ฮ่องสอน เพราะมีกระเหรี่ยงคอยาวค่ะ  ดังนั้น เวลาตั้งชื่อภาษามือจังหวัดนี้  จึงมีท่ามือคอยาวผสมอยู่ด้วย
  • ขอบคุณค่ะ

Sign%20098

 

 

สวัสดีค่ะอาจารย์

น่าสนใจนะค่ะ ถ้ามีโอกาส ปิดเทอมจะแวะไปบ้างค่ะ บ้านโบราณ จังหวัดแม่ฮองสอน

ครูเอว่า เชียงใหม่ก็มีนะค่ะ  อย่างที่ร้านม่อนฝ้าย เป็นเรือนล้านนาแบบโบราณที่ยกพื้นสูง มีตัวบ้านต่อยาว เป็นหลังๆเชื่อมต่อกัน ตัวบ้านบางส่วนไม่มีห้องกั้น แต่มีประตูบานพับเปิดปิดได้ มีชานยืนออกไปนอกบ้าน  มีเตาไฟกลางบ้าน มีเสื่อกก มีเปี้ย ( ใช้ใส่ข้าวของเครื่องใช้ ) ได้บรรยายกาศดีค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้วสะเทือนใจครับ โดยเฉพาะ "เดิมทีบ้านโบราณนี้มีอยู่ 2 หลังเชื่อมติดกัน ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2520 ได้มีการรื้อออกหนึ่งหลัง"

ของดีที่เป็นมรดกของเราสูญหายไปทุกวัน ต่อไปมีแขกบ้านแขกเมืองมา เราคงพาไปชมร้านอาหารญี่ปุ่น โรงละครเกาหลี และตึกเก่าแบบยุโรป (ที่เป็นความภาคภูมิใจว่าเราสร้างได้เหมือนต้นฉบับมาก)

สวัสดีครับ คุณครู ณัฐยา

  • ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองไปสัมผัสวัฒนธรรมของที่นี่ดูนะครับ แต่ถ้าชอบความคึกคัก สงสัยที่นี่ไม่มีแน่ ๆ
  • ชอบคุณครูถ่ายทอดภาษามือเป็นรูปภาพมาก ๆ ครับ
  • อยากให้ทำทุกครั้งเลยครับ เป็นเอกลักษณ์มาก ๆ

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมเยือนครับ :)

สวัสดีครับ คุณครูเอ

  • "ร้านม่อนฝ้าย" ผมไม่รู้จักทางไปครับผม
  • อยากให้ครูเอช่วยเขียนเรื่องนี้ไว้หน่อยดีไหมครับ
  • อยากเห็นภาพด้วย คงสวยน่าดูชม

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีครับ อาจารย์ ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์

  • ยินดีครับที่อาจารย์แวะมาเยือน
  • ใช่ครับอาจารย์ เสียดายมาก
  • อีกเหตุผลหนึ่งที่เขารื้อนะครับ พี่เขาบอกว่า "มันดูแลไม่ไหวครับ ต้องเช็ดดูปัดกวาดบ่อยมาก ที่บ้านไม่ค่อยมีคนครับ"
  • อย่างที่อาจารย์บอกนะครับ แขกมาก็ไม่รู้จะแวะพาไปที่ไหนดี
  • เชียงใหม่ ... มีแต่ร้านที่อาจารย์ว่าทั้งนั้น กลุ่มทุนละเลงและทำลายวัฒนธรรมกันสนุกสนาน .. ผมไม่ใช่คนที่นี่ ผมยังเบื่อเลยครับ

ขอบคุณอาจารย์ ครับ :)

  • สวัสดีค่ะอาจารย์
  • เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้ไปแวะที่บ้านโบราณแล้วนะคะ
  • แต่ไม่ได้ขึ้นไปดูบนบ้านนะคะ
  • ไป...นั่งทานไอติม มาหน่ะค่ะ
  • แหะๆ
  • อร่อยมากๆเลยค่ะ

สวัสดีครับ คุณครูเพ็ชรลดา ดOกไม้ที่ปลายดOย~*

  • ครับ ... น่าจะขึ้นไปดูนะครับ โดยเฉพาะภาษาญี่ปุ่นที่พื้นกระดาน เสียดาย ๆ
  • รอไปอีกรอบดีกว่า นะ

ขอบคุณครับ :)

 

สวัสดีครับอาจารย์

  • ต้องขอบคุณแทนชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนครับที่ได้มีส่วนช่วยเหลือประชาสัมพันธ์ ตลอดทั้งข้อมูลที่น่าสนใจ
  • มีลูกศิษย์และคนรู้จักก็ใช้นามสกุลนี้เหมือนกันครับ คาดว่าน่าจะมีอีกมาก
  • สนใจครับ ถ้าได้ขึ้นไปในตัวจังหวัดจะไปเยี่ยมชมแน่นอนครับ
  • ไม่รู้ว่าในส่วนของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นคุณค่า..(ทางใจ) ด้วยหรือเปล่านะ....
  • ขอบคุณอีกครั้งครับ

ขอบคุณครับ คุณครูเอกรัฐ .. ลองแวะเข้าไปดูนะครับ ช่วย ๆ กัน :)

...  จ้ะเอ๋ อ. เสือ:) นานแล้ว

 

* มาชมภาพโบ  ศิลปะโบ ในบันทึกคนโบ ? ..

* ....  คิดถึงจริง คิดถึงจัง แม่ฮ่องสอน

* .... 

 "ผมเดินผ่านจากสนามบินน่ะครับ ตั้งใจว่าจะต้องมาแวะให้ได้"

* .... นึกภาพออกเลยค่ะ ชอบไปปั่นจักรยานยามเช้า

เข้าไปถึงสนามบิน แล้วเลาะตรงตลาด มาที่ว่าการฯ

* ....

*  

* ชอบภาพนี้มากๆ ค่ะ ... มุมโบ ที่แปลก และสะดุดตาค่ะ ...

* ให้อ. อารมณ์ดี๊ ดี ทุกวี่วัน ... เพลิดเพลินกับงาน ค่ะ

* ขอบคุณสำหรับภาพงามๆ ... ให้ได้ระลึกความหลัง :) 

ภาพที่คุณ poo ชอบ เป็นหลังคาห้องครัวครับ ที่มีรอยถูกระเบิดจากเครื่องบินทิ้งระเบิดตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ..

ขอบคุณครับ :)

ชอบบ้านโบราณแบบนี้ครับ ดูแล้วนึกถึงสมัยนั้นเลยครับ

ขอบคุณครับ คุณ tok ที่แวะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ :)

  • เป็นจังหวัดที่ผมสนใจมาก
  • เพราะจะไปครั้งใดต้องมีอันเป็นไปทุกครั้ง
  • เลยไม่ได้ไปสักที
  • ภายในธันวาคงต้องไปให้ได้
  • กำลังศึกษา  บ้านโบราณสมัย รัชกาลที่5 ต้องไปชมให้ได้
  • ขอบคุณ

สวัสดีครับ ท่าน ผอ. นายประจักษ์~natadee

เรียนเชิญไปท่องเที่ยวด้วยความเต็มใจครับ

หากท่านใช้เรือบินล่ะก้อ .... ทางผ่านของรถที่เข้าตัวอำเภอเมืองเลยครับ

ขอบคุณครับ :)

สวัสดีค่ะ แปลกใจมากที่ได้เจอภาพบ้านหลังนี้ เพราะดิฉันเองก็ได้มีโอกาสไปยืนชะเง้อคอยาวมองรอดรั้วเพราะชอบในแบบบ้านและบรรยากาศรอบ คือพอดีช่วงเดือนมค.ไปทำธุระที่แม่ฮ่องสอนอยู่สามสี่วันมักจะกาโอกาสเดินเล่นผ่านทางนี้เสมอแต่โชคไม่ดีเลยที่ดูท่าเหมือนตอนนั้นจะไม่มีใครอยู่ ขอบคุณนะคะ เดือนหน้าจะกลับเมืองไทยคงได้มีโอกาสขึ้นไปเที่ยว

ขอบคุณมากครับ คุณ chongnang ... หากมีโอกาส อย่าลืมไปเยี่ยมเยือนนะครับ เจ้าของบ้านคงดีใจมาก ๆ :)

ผมไปเที่ยวมาแล้วครับ นึกว่าจะเดินทางยากเพราะผมเป้นคนขี้เมารถแต่ไม่ยากอย่างที่คิดไว้เลยครับ เพราะที่นี้สามารถมาได้ด้วยสายการบิน SGA ครับ สะดวกมากและก้อได้ชมวิวรอบๆด้วยครับ ทำให้ผมอยากมาที่นี้อีกครับ

ยินดีด้วยครับ คุณพล .. ยังไงก็ขอเชิญไปเที่ยวแม่ฮ่องสอนอีกนะครับ :)

เป็นอีกคนที่ชอบบ้านเก่าๆมากค่ะ

จริงๆแล้วทางการน่าจะสนับสนุนให้เป็นที่รูจักกันมากขึ้นนะคะ

เพราะอย่างน้อยก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของวัฒนะธรรมไทย

เห็นด้วยกับคุณ NatjungZa ครับ ... เราควรรักษาวัฒนธรรมไทยเอาไว้ให้ลูกหลานได้ดู :)

ขอบคุณค่ะที่พาไปชมบ้านโบราณหลังนี้..ดูแล้วก็สบายสบายนะคะ..ร่มรื่นดีมากมาก

ขอบคุณครับ ท่าน ศน.add ... เรียนเชิญแวะกระจายรายได้และท่องเที่ยวที่นี่นะครับ หากมีโอกาส :)

สวัสดีค่ะอาจารย์

แวะมาดูบ้านโบราณค่ะ ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ไปเยือนแม่ฮ่องสอนเมื่อใด

แต่ถ้าได้ไป นี่จะเป็นอีกที่่หนึ่งที่อยากไปชม

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับ น้อง สี่ซี่ ... ที่ชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม :)

ช่วยกันครับ :)

ก็ดีครับที่มีบ้านแบบนี้เปิดให้เข้าชมบ้านนี้ก็okครับ สวยดี บ้านดีคงมีอายูเก่าเเก่มากตั้งเเต่สมัยโบราณใช่ไหมยังคงลักษณะเดิมให้คนรุ๋นใหม่ได้รู้ได้ศึกษาดีมาก

ใช่ครับ คุณ news ... บ้านเลขที่ ๒ ของถนนเส้นนี้ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ครับ ปัจจุบันเหลือหลังเดียวจากเดิมที่มี ๒ หลัง

หากได้มีโอกาสไปแม่ฮ่องสอน อย่าลืมแวะไปช่วยกันนะครับ ;)

ขอบคุณมากครับ

ชอบค่ะ ชอบอะไรที่เป็นไทยอยู่แล้ว

ขอบคุณมากครับ คุณนก ที่มาเยือนบันทึกนี้ ;)

ชอบจังอยากดูแยะๆๆๆถูกจักมากเลยคัฟ ........ม่ายทราบจะไปงัยดีคัฟอยากมาดูด้วยตัวเอง.........ชอบจังเลยอยากมีบ้านงี้จังคัฟชอบๆๆๆๆ

ขอบคุณครับ คุณ พรหมวิเศษ อุ่นกลาง ;)

ก๊อก ๆๆ เจ้าของบ้านบันทึกตื่นรึยังเอ่ยเจ๊า ;) มาตามคำแนะนำ อ๋อบ้านหลังนี้นี่เอง จำได้ๆ ชอบแสงสีใต้หลังคา บรรเจิดมากๆ ค่ะ บรรยากาศแบบนี้เหมาะกับคนโบฯ และโรฯ มากๆ ขอบคุณเจ๊า อืมม ... สงสัยจริง ตกลงว่าอ.เสือสอนนิสิตที่ มช. ? คะ งงๆ

ตื่นมาประชุมแต่เช้าเลยครับ คุณ poo ... บ่ายอีกครู่นี่ก็จะออกไปสอนอีก 1 ช่วงบ่าย

หากมีโอกาสแวะไปอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ก็เรียนเชิญชมบ้านโบราณนี้นะครับ ;)

สำหรับคำถามนั้น คงตอบว่า "NO" ครับ ผมไม่เก่งกาจมากขนาดนั้น เป็นครูชนบทครับ ;) vv

๕ ๕ ๕ คุยกันมาจนเป็นแฟนพันธุ์แทะอยู่หลายปี ... ก็ยังไม่รู้ว่าตกลง อ.สอนที่ไหน เอาเป็นว่า ที่ไหนก็ได้ ให้เด็กไทยเป็นคนดีนะคะ ๕ ๕ ๕ ;) ฮาโลด อิ่มอร่อยมื้อเที่ยงค่ะ

ขอบคุณครับ คุณ poo ;)... เชียงใหม่ไม่กว้างหรอกครับ

ชอบมากๆ ชอบบ้านเก่า ไม่รู้ว่าทำไม คงที่มีประวัติความเป็นมา อยากไปเที่ยวชมแต่คงจะยาก ขอให้กำลังใจทายาท รุ่นที่ 4 นะคะ

น่าจะมีการตั้งชมรมนะแวจัดทัวร์บ้านเก่ากันจะรีบสมัครเลยทีเดียว

ขอบคุณมากครับ คุณ พัชนี ;)

หากมีโอกาสไปแม่ฮ่องสอน เรียนเชิญนะครับ

เนปาลี มาแบบแวบๆ ((อีกแร่ะ))
  • ธุ อาจารย์วสวัตดีมารค่ะ..

บ้านโบราณแห่งนี้..  ถ้ามีโอกาสไปเยือนแม่ฮ่องสอน ต้อมต้องหาทางไปชมแน่ๆ ค่ะ ^^  ขอบพระคุณที่นำมาประชาสัมพันธ์

มาแว่บ ๆ จริงนะ นู๋ต้อม

ขอบคุณครับ ;)

ทางหน่วยงานราชการน่าจะมีการสนับสนุนเงินช่วยเหลือให้กับเจ้าของบ้านที่สามารถอนุรักษ์บ้านของบรรพบุรุษที่มีอายุเกิน80-100ปีไว้ได้เพราะไม่อย่างนั้นต่อไปก็จะไม่มีบ้านที่เป็นรากเหง้าของคนไทยไว้ให้ลูกหลานชมกันอีกเลย...เพราะการที่จะดูแลของเก่าต้องใช้เงินซ่อมแซมบ้างไม่อย่างนั้นเจ้าของบ้านอาจต้องขายไม้หรือรื้อบ้านเพื่อสร้างบ้านสมัยใหม่ก็ได้...

นั่นสิครับ คุณ wanlaya ... กระทรวงวัฒนธรรม น่าจะได้รับทราบบ้างนะครับ

ใครรู้จักคนในกระทรวงนี้ ขอแจ้งให้ทราบด้วยนะครับ

ไม่อยากให้รากเหง้าของเราหายไป

ขอบคุณครับ ;)

ชอบมากคะ  อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์ไว้นะคะบ้านโบราณของเรา อย่าดูอย่างเดียวสนับสนุนเงินด้วยนะจะ  เขาจะได้อยู่รอดและมีกำลังใจต่อไปคะ

ขอบคุณครับ คุณที่มาจาก IP: 122.154.16.246 ;)...

ภาษาญี่ปุ่นที่สลักไว้ที่พื้นไม้นี้ 大日 เป็นคำที่มาจากภาษาจีน เเปลว่า พระอาทิตย์ดวงใหญ่ 大 = ใหญ่ 日 = พระอาทิตย์

กำลังจะปลูกบ้าน เเล้ว search เจอ บ้านหลังนี้ สวยดีคะ ชอบบ้านไม้ ชอบของโบราณ

ขอบคุณมากครับ คุณ อาณา ลิ่มดุลย์ ที่ได้นำความรู้มาแจ้งให้ทราบครับ ;)...

ขอขอบคุณนะคะไม่มีโอกาสได้ไปเองนั่งอยู่หน้าคอมก็นึกหลับตา มโนภาพเอา ไม่รู้เป็นอะไรหลงไหลบ้านโบราณตั้งแต่เด็กแล้ว

ชอบมองนานๆ แถวนครปฐมก็มีนะคะแต่เสียปล่อยล้างก็เยอะอยู่ เคยไปเดินแถวตลาดคลองถมจำซอยไม่ได้มีคนอยู่อาศัยด้วยสวยมากชอบหยุดดูนานๆ ใครทราบที่มาบ้างอยากรู้จัง อีกหลังเก่าแก่น่าดูแต่อลังมากแถวๆวรจักรที่ขายอะไหล่รถยนต์จะแอบอยู่ในซอกเล็กๆถ้าพอสังเกตุ มองเข้าไปจะใหญ่น่าดูชมคล้ายๆตำหนัก ขอความรู้ท่านผู้รู้ด้วยนะคะขอขอบคุณค่ะ

ยินดีครับ คุณ กุลจิรา นิ่มกุล ;)

หากไปแม่ฮ่องสอน อย่าลืมไปเยี่ยมเยียนดูนะครับ

ดาวสวรรค์ วรรณทอง

ยินดีมากที่ท่านอาจารย์รักและสนใจในสิ่งเหล่านี้ ดิฉันเองก็กำลังตามหาอดีตที่จังหวัดสุรินทร์ บ้านเก่าที่กำลังถูกลืมและรื้อถอน ดิฉันกำลังจะเก็บรวบรวมรูปภาพเก่าของบ้านในจังหวัดค่ะ แต่อาจไม่ดบราณเท่านี้ สวยมากค่ะ ถ้ามีโอกาสจะแวะที่บ้านนี้ให้ได้ค่ะ 

ขอบคุณมากครับ คุณ ดาวสวรรค์ วรรณทอง ;)...

สาครินทร์ เครืออ่อน


ไม่ทราบว่าเป็นบ้านหลังเดียวกันที่ถูกรื้อไปหรือไม่ เห็นคุณแม่ผมซึ่งเคยเห็นบ้านหลังนี้ตอนเป็นสาว บอกว่ามีสองหลังหลังหนึ่งท่านเห็นมาปลูกใหม่ที่ต้นถนนนิมมานเหมินทร์ ทำเป็นร้านอาหารเมือ่ราวๆยี่สิบปีก่อนท่านบอกว่าจำรูปร่างหน้าตาของบ้านได้ ลองสำรวจกันดูนะครับ อย่างน้อยก็พอให้รู้ว่าอีกหลังหนึงยังไม่สูญหายไปไหนครับ

เอ อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ คุณ สาครินทร์ เครืออ่อน ;)...

แต่ยังไง ผมจะลองกลับไปสอบถามดูอีกทีครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ ;)...


ตรวจสอบอีกรอบแล้วบ้านหลังที่ย้ายมาปลูกที่ถนนนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่ ถูกย้ายมาจาก อำเภอแม่สะเรียง

มีลักษณะคล้ายกันและป็นบ้านแผดกับอีกหลังที่ยังคงอยู่ที่เดิม เคยเป็นบ้านเก่าของตระกูลค้าไม้เหมือนกันครับ ขออภัยที่ให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน

ยินดีและขอบคุณมากครับ คุณ สาครินทร์ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท