เดินทางไกลไปกับไทอาหม ตอน ๓


เสือก่าฟ้า ... กับตำราประวัติศาสตร์เคลื่อนที่
  
 
              
                เมื่อสองเท้าแตะแผ่นดินอัสสัม  เราก็พบกับสองหนุ่มไทอาหมที่มารอรับ จากข้อมูลบางอย่างที่คลาดเคลื่อนทำให้สองหนุ่มไม่ได้ยกป้ายชื่อของเราให้เห็น กลับม้วนถือไขว้หลังไว้  เป็นเหตุให้มองหาคนมารับไม่พบ
                “ตำรวจบอกว่า เครื่องดีเลย์ครึ่งชั่วโมง”  หนุ่มหนึ่งบอกกับเรา  หลังจากเราลงไปเดินตามหา  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะหาใครเหมือนกัน  เพราะยังไม่เคยเห็นหน้ากันเลย   เพื่อความสบายใจก็แค่ลงไปเดิน ๆ  ในกลุ่มคนที่มารอรับ  เผื่อจะเห็นป้ายอะไรให้ฉุกคิดว่าจะเป็นคนที่เขาส่งมารับเราเท่านั้น
                ถ้าโชคร้ายหาใครไม่เจอ ก็คงต้องหาทางไปในเมืองเอง พักโรงแรมที่ได้ชื่อมาจากอาจารย์ฉัตรทิพย์  แล้วค่อยโทรศัพท์หาผู้คนที่ต้องติดต่ออีกที
                ปรากฏว่า ไม่มีป้ายอะไรพอสังเกตได้  นอกจากเสียงคุยกันพึมพำของชายสองคน เบา ๆ  ว่า  Bangkok  Bangkok  นิดเลยคว้าสองคนนั้นไว้  ซักถามได้ความว่า เป็นคนของ ดร. บุสปะ ส่งมารับเราจริง ๆ
                ดอยา กริชนะ โกกอย หรือ D.K.  gogoi  และ ชางไหม่  Shangmai  คือ ชื่อของสองคนนั้น  หลังจากขนสัมภาระขึ้นรถแล้ว  เพื่อความสบายใจของเรา  D.K.  จึงกดโทรศัพท์หา ดร. บุสปะ  ก่อนยื่นมาให้ฉันคุย จะได้สบายใจว่าไม่ผิดตัว  ไม่ต้องหวาดระแวงกัน
 
                D.K กับภรรยา
 
                ดร. บุสปะ  พูดยืดยาวเกี่ยวกับแผนการณ์ที่ฉันกับนิดต้องอยู่กวาฮาตี 2 คืน  โดยมี น้องชาย คือ  D.K.  คอยอำนวยความสะดวกเพื่อรอคนจีน และคนเยอรมัน ที่จะเดินทางมาในวันพรุ่งนี้ และมะรืนนี้  จากนั้นจึงเดินทางขึ้นไปเดมาจิ (Demaji) เมืองที่อยู่ตอนเหนือของรัฐอัสสัมพร้อมกัน
 
                                                           
                                             ดร.บุสปะ ปัญญาชนนักเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมอาหม
 
                D.K.  ขับรถพาเราเข้าเมือง  ระยะเวลาจากสนามบินถึงเมืองหลวงของอัสสัม คือ กวาฮาตี ประมาณ 50 นาที  เป็น 50 นาทีที่คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อ  D.K.  เล่าประวัติศาสตร์ไทอาหม  ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 13  เมื่อ เสือก่าฟ้า  วีรบุรุษของชาวอาหม ผู้เป็นเจ้าชายจากเมืองเมาหลวง ซึ่งอยู่ตอนใต้ของประเทศจีน  นำกองทหารและครอบครัว  9,000  คน เดินทางผ่านรัฐฉานของพม่า ข้ามเทือกเขาปาดไก่ มาก่อตั้งบ้านเรือน ชื่อเมืองนุนสุน คำ  สร้างอาณาจักรกว้างใหญ่และสถาปนาเมืองหลวงที่สิพซาการ์ หรือสิวสาคร ในภาษาไทย
                อาณาจักรไทอาหมยิ่งใหญ่กว่า 600 ปี  และถูกอังกฤษยึดครองในสมัยอาณานิคม  และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดินแดนแถบนี้ถูกผนวกรวมกับอินเดีย  ไม่มีอีกแล้วไทอาหมที่เคยยิ่งใหญ่ ... วัฒนธรรม ศาสนา และ วิถีชีวิต ถูกผสมกลมกลืน จนกลายเป็นอินเดียน้อย ๆ
                แต่พวกเขายืนยันแข็งขันว่า พวกเขาเป็นคนไท ไม่ใช่อินเดีย  ซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อไปว่าจริง ๆ  แล้วพวกเขาเป็นอะไรกันแน่
                พวกเขาพาเราไปพักที่โรงแรมเล็ก ๆ  กลางเมืองกวาฮาตี  แม้จะอึกทึก ครึกโครม  เพราะเสียงดังจากแตรรถที่วิ่งผ่านไปมา  แต่ก็เป็นทำเลดีในการเดินชมสินค้า และซื้อของกิน ทั้งร้านผลไม้ และร้าน   เบเกอรี่ ที่มีอยู่มากมาย
                บางทีเราก็ต้องยอมได้อย่าง เสียอย่าง  เพื่อความยุติธรรมของโลกกันบ้าง
                โรงแรมชื่อ  Hema  สกปรกได้ใจ  แต่ยังไงก็สะอาดกว่าที่เคยพักในกัลกัตตา  ครั้น D.K.  สั่งให้พนักงานมาเปลี่ยนมุ้ง หมอน ผ้าปู และขัดถู ห้องหับให้ใหม่  ก็ถือว่านอนได้ คิดเสียว่าไปนอนในหมู่บ้านตอนทำวิจัยก็แล้วกัน
                ดีกว่าต้องไปพักบ้านคนอาหม  เพราะยังไงเสีย พักโรงแรมก็มีความเป็นส่วนตัวกว่าไปพักบ้านคนอื่น
                วันรุ่งขึ้น เราได้เดินทางไปพบคนจีนที่มาพักที่บ้านของ คุณ กิราน โกกอย (Kiran  Gogoi)  ซึ่งเป็นอาหมที่มี ฐานะ  เป็นอัยการ  แม้บ้านจะใหญ่โตโออ่า และลูกชายก็สุดหล่อ  แต่ถ้าเทียบความสบายใจ แล้วอยู่ โรงแรมเล็ก ๆ  สกปรกนั้นดูจะดีกว่า  และมีความสุขกว่าสำหรับเรา
 
                        
                                                   คุณกิรานที่บ้านพัก
 
                กิรานต้อนรับเราอย่างอบอุ่น ด้วยขนมหวาน และน้ำชา  พร้อมกับเล่าประวัติศาสตร์ไทอาหม  เรื่องเสือก่าฟ้า  นำทหารข้ามเขาปาดไก่มาเมื่อ 600 กว่าปีก่อน ให้เราฟังอีกครั้งหนึ่ง
                กิรานอายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว  แต่ยังดูแข็งแรง และสุขภาพจิตดี  ดูเหมือนนักปราชญ์ที่มีความรู้  หลังจากคุยกันได้ความว่า ท่านฝึกโยคะเป็นประจำ ทำสมาธิสวดมนต์สม่ำเสมอ  ในบ้านมีเทวรูป และพระพุทธรูป  ตั้งบูชาไว้จำนวนมาก
                คุณไล  ลูกชายของกิราน  หน้าตาเหมือนฝรั่ง  ตอนแรกเห็นนึกว่าเป็นฝรั่ง ที่มาแต่งงานกับลูกสาวของกิราน  ปัจจุบันทำงานบริษัทไฟแนนซ์ แต่งงานแล้ว มีลูกสาวกำลังน่ารัก 1 คน
                สักพักมีบุรุษผู้หนึ่งเข้ามาทักทายเราอย่างดีใจ  คุณกิรานบอกว่าเป็นรัฐมนตรีชื่อ พูกัน (Phugan) เป็นคนอาหม  บ้านอยู่ที่ปัตซากุ  ท่านรัฐมนตรีมาพร้อมกับลูกชายที่กำลังเรียนปริญญาโท อยู่ที่มหาวิทยาลัยกวาฮาตี  หลังจากแนะนำตัวว่าใครเป็นใครแล้ว  ท่านรัฐมนตรีก็เล่าเรื่อง เสือก่าฟ้า ให้เราฟังอีกรอบ ...
                ฉันคิดถึงอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความเป็นชาติ ความมีตัวตน และความรู้สึกของคนที่สิ้นชาติ  เราไม่มีวันรู้สึกแบบคนไทอาหมได้เลย  เพราะเราเป็นคนไทย เรามีประเทศของเรา มีวัฒนธรรมของเรา มีภาษาของเราเอง  แต่ถ้าวันใดเราไม่มีสิ่งเหล่านี้เหลืออยู่  เราอาจเป็นเหมือนคนอาหมก็ได้  ที่จะต้องเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นตัวตนของเราให้ทุกคนที่เรารู้จักฟังว่า ...
                “เมื่อ 700 กว่าปีที่แล้ว  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ได้ก่อตั้งราชอาณาจักรแห่งแรกขึ้นที่สุโขทัย….
                ฉันกำลังคิดว่า .. จะมีวันนั้นหรือไม่ ที่เราต้องพูดประโยคซ้ำ ๆ  กันนี้ในทุกที่ ๆ  เราไป  เพื่อยืนยันความเป็นคนไทยของเรา  ในขณะที่ประเทศชาติของเราไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว  นอกจากความแตกแยก และซากปรักหักพัง จากความเห็นแก่ตัวของคนบางคน ...
 
                    
                            ดอกไม้ที่บ้าน ดร.บุสปะ ไม่ทราบว่าดอกอะไร
 
หมายเลขบันทึก: 299309เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2009 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

รออ่านเสือก่าฟ้าครับ ไม่ได้อ่านนานมากๆๆ เสียดายอยากเห็นรูปภาพว่าอาหมจะสวยขนาดไหนครับ..

ขอบคุณค่ะอาจารย์

เรื่องรูปเดี๋ยวรอสักวันสองวันนะคะ

ขอหาก่อนค่ะ มีรูปเยอะมาก ยังไม่ได้จัดระบบให้ดี

ช่วงนี้ยุ่งๆ กับการเขียนหนังสือเรื่องอื่นๆ

เลยหายไปนาน

  • แปลกดอกไม้ครับ
  • สวยมากๆๆ
  • เพิ่งเคยเห็นเหมือนกัน
  • รออ่านอีกครับ

หวัดดีคับ..

กู๊ดดี้มาเข้าคิว รออ่าน..ต่อจาก อ.ขจิตคับ..

กู๊ดดี้คับ

เขียนให้อ่านแล้วนะ

อาจารย์ขจิตด้วยค่ะ

ครูตาอ่านชนิดหิวแสบใส้  ก็ไม่ยอมลุก  จะคอยติดตามตอนต่อไปค่ะ  ขอบคุณมาก ๆ สำหรับเรื่องราวของไทอาหมที่น่าติดตาม ...

                                               

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                                          

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท