ขอเรียนจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางใน Gotoknow ด้วยคำสำคัญ "Civil Learning"


สืบค้นด้วยคำว่า "Civil Learning" ก็เจอเข้ากับ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ แห่งสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน เป็น link แรก

     เมื่อวานมีประเด็นที่ทีมงานเครือข่ายพี่น้องภาคประชาชนที่ทำงานด้านยาเสพติดได้ฝากไว้คือให้ช่วยพัฒนาและยกระดับพวกเขาเป็นนักวิชาการของชุมชนเอง ตาเคยบันทึกไว้ที่ GEAR; เครือข่ายนักวิชาการด้านยาเสพติดภาคประชาชน ภาคใต้ตอนล่่าง ผมได้โจทย์มาแล้วก็คิดต่อว่าจะทำยังไงดี สิ่งแรกที่ทำคือเข้าไปสืบค้นเรื่องทำนองนี้น google ว่าใครทำไว้บ้าง เพื่อจะทำแนวและจะได้ติดต่อขอเรียนรู้ รวมถึงอาจจะได้ไปขอเรียนถึงที่เพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่นวางแผนช่วยเหลือพี่น้องภาคประชาชนฯ ตามโจทย์ที่ได้รับมา

     เมื่อเข้าไปสืบค้นด้วยคำว่า "Civil Learning" ก็เจอเข้ากับ อาจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ แห่งสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน เป็น link แรก จำท่านได้ดี จึงได้เข้าติดตามอ่านทีละบันทึก ในแต่ละ Blog ของท่าน บันทึกหลาย ๆ บันทึก จำได้ว่าเคยอ่านผ่านมาแล้วตั้งแต่ท่านบันทึกไว้ใหม่ ๆ แต่จำได้ว่าได้คำว่า "Civil Learning" นี้ มาจากการอ่านงานของท่านนี่แหละ พอวันนี้จะใช้ประโยชน์กลับจำไม่ได้ว่าใครเขียนไว้ จนต้องไปพึ่งพา Google แล้วก็ไม่ผิดหวัง จึงได้ไปขอเรียนกับท่านอาจารย์ไว้เมื่อคืนที่บันทึก การขับเคลื่อนพลังปัจเจกของท้องถิ่น ดังนี้

2. ชายขอบ เมื่อ อา. 21 มิ.ย. 2552 @ 23:25 1363556 [ลบ] [แจ้งลบ] 

 

  • ตามมาขอเรียนครับ 
  • ผมกำลังสนใจที่จะช่วยตามคำร้องขอของภาคประชาชนกลุ่มที่เขากำลังต่อสู้กับปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และมีประเด็นที่เขาสะท้อนออกมาว่าอยากจะให้ช่วยพัฒนาให้ชาวบ้านเป็นนักวิชาการเองบ้างได้ไหม? เขาบอกว่มีแกนนำและลูกหลานของแกนนำตั้งหลายคนที่จบ ป.ตรีแล้ว บางคนถึงไม่จบก็ขอเป็นผู้ช่วยฯก็ได้ เขาสะท้อนออกมาเองนะครับ 
  • เมื่อถามกลับไปว่าทำไมถึงต้องการอย่างนั้น เพื่อตรวจสอบความคิดของเขา เขาก็ตอบว่้า เพราะเท่าที่ผ่านมานักวชาการจากข้งนอกไม่เข้าใจว่าเขต้องการอะไรที่แท้จริง เพื่อนำไปต่อสู้กับัญหานี้
  • และผมกำลังศึกษาดูว่า Research-Based Learning by Doing จะนำไปใช้ได้ไหม เหมาะไหม จะตรงกับที่เขาต้องการไหม 
  • ตอนนี้ผมมาขอเรียนจากอาจารย์พลาง ๆ และหากจะป็นพระคุณยิ่ง ผมจะขอความเห็น เพื่อชี้ทางสว่างสำหรับเรื่องนี้ด้วยครับ

 

 

     ทันทีทันใด คืนนี้ก็พบว่าอาจารย์มาตอบไว้ให้ตั้งแต่ตอนหัวรุ่ง ๆ ตามนี้เลยครับ

          4. นาย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ เมื่อ จ. 22 มิ.ย. 2552 @ 03:32 1363638 [ลบ] [แจ้งลบ] 

 

  • สวัสดีครับอาจารย์ชายขอบ
  • อันที่จริงมีเครือข่ายการวิจัยโดยประชาชนที่ภาคใต้อยู่หลากหลายนะครับ ทั้งการวิจัยแนวปฏิบัติการเชิงสังคม การวิจัยแนวชุมชนและสร้างความรู้ท้องถิ่น การวิจัยแนวประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการรวิจัยเพื่อเคลื่อนไหวประเด็นสาธารณะ ดูเหมือนตั้งเป็นองค์กรและมีหน่วยงานสนับสนุน พัฒนาไปมากมาย เครือข่ายของอาจารย์ชายขอบก็คงจะเป็นส่วนหนึ่ง
  • หากสังคมและวงวิชาการ รวมไปจนถึงองค์กรการวิจัย และการวิจัยในกระแสหลัก ไม่ผูกขาดความเป็นการวิจัย ไม่ผูกขาดนิยามของสิ่งที่เรียกว่าความรู้ และความเป็นวิทยาศาสตร์ ชาวบ้านและผู้คนทุกคนที่สามารถเรียนรู้ได้ ก็เชื่อว่าเป็นนักวิจัยได้ครับ
  • แต่การจะวิจัยแบบไหน มีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร และใครจะสามารถทำวิจัย อย่างนี้ต้องแยกพูดไปตามกรณีครับ 
  • ในเรื่องการให้กลุ่มชาวบ้านและกลุ่มคนที่จบการศึกษาต่ำกว่าปริญญาโท เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาและตั้งกลุ่มหรือองค์กรการทำงานของตนเอง โดยใช้กระบวนการวิจัยและกิจกรรมทุกขั้นตอนของการวิจัยให้เป็นเวทีปฏิบัติการสังคมของกลุ่มชาวบ้านนั้น  ทำได้แน่นอนครับ
  • แต่ก็ต้องการการวิจัยและพัฒนาควบคู่ไปด้วย ในด้านการทำงานได้จริงนั้น ทำได้และดีมากๆด้วยครับ แต่ในแง่การทำวิจัยในแนวนี้ให้ขึ้นไปเป็นผู้นำทางวิชาการด้วยนั้น ในบ้านเราคงจะต้องรอเวลาและพัฒนาไปอีกระยะหนึ่่ง
  • แต่ถ้าหากนึกถึงการเป็นคุณูปการกับสังคมและชาวบ้านตามท้องถิ่นต่างๆที่มีความจำเป็นต้องได้พัฒนาตนเอ ได้มีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้ และมีบทบาทต่อการเป็นผู้สร้างความรู้ขึ้นมาจากโลกทรรศน์ของตนเองไปด้วยในบางเรื่องมากกว่า ก็ควรมุ่งทำไปเถอะครับ
  • อดทน อดทน และอดทน หากยังไม่เจอทางสว่างก็อดทนอีก 

 

           มีความสุขและมีไฟอยู่เสมอนะครับ

     มาถึงตอนนี้ผมกลับไม่ได้ต่อยอดจากท่านต่อในทันที รู้สึกว่าต้องทบทวนต่ออีกนิดก่อนจะวางแผนทำงานให้พี่น้องภาคประชาชนฯ ต่อ ได้แต่กราบขอบพระคุณท่านและนำมาบันทึกไว้ให้พี่น้องฯ ได้ติดตามเผื่อเพื่อน ๆ เครือข่ายนักวิชาการด้านยาเสพติดภาคประชาชน ภาคใต้ตอนล่าง ท่านใดจะได้ค้นคว้าต่อยอดไปพลาง ๆ คาดว่าหลังจากวันที่ 26 มิ.ย.52 นี้ จะกำหนดนัดกันสักรอบเพ่อ set เรื่องนี้ให้เป็นรูปเป็นร่างต่อไป


 

หมายเลขบันทึก: 270191เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2009 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

สวัสดีครับอาจารย์ชายขอบ

  • ผมได้ตามไปดูแล้ว มันขึ้นรายการแรกๆอย่างที่อาจารย์ชายขอบว่าจริงๆ แล้วก็ก็พอกดโปรแกรมแปลเป็นภาษาอังกฤษอัตโนมัติ ก็พบว่าผมชื่อ William ratns ดูแล้วต้องยิ้มกับตัวเองว่า อ้อ ข้าน้อยนี้คือบักวิลเลี่ยมเด้
  • เรื่องนี้อาจารย์ชายขอบอย่าว่าผมพูดแบบเอาใจนะ ผมว่าอาจารย์ชายขอบและเครือข่ายภาคใต้นั่นแหละก็ตัวจริงเสียงจริง ที่สามารถให้ข้อเสนอและวิธีคิด เพื่อการทำงานในแนวนี้ Civil Learning ประชาศึกษา : การให้การศึกษาเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมของปัจเจกและชุมชน ให้เข้มแข็ง ส่วนจะเป็นการเมืองภาคประชาชน การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย การเมืองใหม่ การสร้างการเรียนรู้ทางสังคมและหน้าที่พลเมือง การสร้างสำนึกพลเมือง การพัฒนาการจัดการเพื่อส่งเสริมการประกอบการธุรกิจของสังคม-ชุมชน ...เหล่านี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ  คนเราและแต่ละพื้นที่ในการทำงาน ตลอดจนปัญหาและความจำเป็นต่างๆมันไม่เหมือนกัน จะให้คำตอบและความรู้จากที่หนึ่งไปอธิบายและตีกรอบให้อีกที่หนึ่งซึ่งแตกต่างกันก็คงจะลำบาก  อีกทั้งไม่ควรทำ เพราะงานความรู้และงานทางปัญญานั้น เป็น Soft-Power Structure ซึ่งจะส้อนซึ่งกันและกันกับการผลิตและกิจกรรมทางสังคมของชุมชนและสังคมหนึ่งๆ มันต้องไปด้วยกันแบบทำเสื้อผ้าให้พอดีตัวของแต่ละคน  สร้างปัญญาและเครื่องมือต่างๆขึ้นมาใช้ไปตามบริบทของมัน
  • ในเรื่องหาความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ หรือจากการอ่านหนังสือไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศนั้น  ถ้าหากเป็นเรื่องการใช้ชุมชนและพื้นที่เป็นตัวตั้งแล้ว หากเป็นผม ก็อยากเสนอแนะว่า ระหว่างการเดินเข้าห้องสมุด  เปิดหนังสือ และหาตัวแบบที่ดีที่สุดจากที่ต่างๆก่อนนั้น  ผมจะไปอีกทางหนึ่งคือ ไปอ่านชุมชนและอ่านหัวใจชาวบ้านในที่นั้นๆ แล้วค่อยหอบเอาข้อมูลกลับมาอ่านและทบทวนหนังสือ ซึ่งกระบวนการอย่างนี้ ทำได้ในขนาดที่ยืดหยุ่นไปตามข้อจำกัดและตามความจำเป็นครับ (๑) กลับมานั่งทบทวนเหมือนทำ Field Note ตามปรกติแบบทำวิจัยสนามและทำวิจัยเชิงคุณภาพ แล้วก็ทำ Label สกัดหา Key word และมโนทัศน์ร่วม ซึ่งตรงนี้ทำไปก็ศึกษาค้นคว้าไปแหละดีที่สุด แต่อย่างน้อยให้ใช้หลัก Triangulation ช่วยควบคุมอคติและสร้างความเคร่งครัดมิให้เรามีบทบาทเข้าไปปรุงแต่เองจนเกินไป คือ มองจากจุดยืนชุมชน / มองจากจุดยืนทางทฤษฎีที่พอมี / มองจากจุดยืนของนักวิจัย แล้วก็ค่อยๆแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ....อย่างนี้เป็นการพึ่งตนเอง เหนื่อยและลำบากหน่อย แต่บางทีก็จำเป็นต้องใช้ เช่น ไม่มีเงิน ไม่มีพวก  ไม่มีโครงการรองรับ หรือเราเองหรือชุมชนดันผุดขึ้นมาอยากทำระหว่างทำงานอื่นๆ ฯลฯ (๒) ทำงานกับกลุ่มครับ เรานำเสนอเป็นข้อมูล แล้วก็ให้กลุ่มช่วยวิเคราะห์และสร้างกรอบการมอง  จากนั้นก็นำเอาเป็นแนวไปทบทวนวรรณกรรม อย่างนี้ก็เหมาะกับกลุ่มที่พอมีเวทีทำงานกันมาต่อเนื่อง  มีเครือข่าย  มีแหล่งทุนและทรัพยากรสนับสนุน มีเวลาให้ทำ และมีความสุขที่จะทำ ฯลฯ วิธีการก็แล้วแต่ศิลปวิทยา ความถนัด และพื้นฐานประสบการณ์หรือทุนทางประสบการณ์ของชุมชน เช่น ใช้แผนภาพการคิดระดมสมองกลุ่ม ใช้การสนทนาแบบปลายเปิด ใช้กระบวนการสุนทรียสนทนา ใช้การเล่าเรื่องและจัดการความรู้ในแนวที่ส่วนใหญ่รู้จักกันดีในนี้ (๓) ทำ Cross-Discipline Dialogue นำมาเป็นข้อมูลจัดประชุมกลุ่มวิชาการสหสาขาง่ายๆเร็วๆ ก็จะสร้างความรู้และข้อสรุปขึ้นมาใช้ชั่วคราว ด้านหนึ่งก็นำกลับไปใช้ขยายผลต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่งก็ใช้สอบทาน หาความรู้มารองรับให้แน่น ข้อมูลสนามและกรณีตัวอย่างจากชุมชนก็จะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์  แบบนี้ก็เหมาะกับชุมชนนักวิชาการที่มีกลุ่มประชาคมทางปัญญาในพื้นที่นั้นๆ  (๔) ทำเวทีประชาคมวิจัยของชาวบ้าน  รวมทั้งหมดในข้างต้น มาทำเป็น Social Lab ปฏิบัติการวิจัยให้เป็นปฏิบัติการเชิงสังคม โดยเพิ่มองค์ประกอบด้านเครือข่ายชุมชนและคนที่ปรกติก็เป็นได้แค่ Key Informant และเป็นแค่ Research Objects ให้มาเป็นผู้ร่วมวิพากษ์ วิเคราะห์ สร้างความรู้ขึ้นในเวที ทำไปก็ทำกระบวนการอย่างนี้ไปเรื่อยๆ  ผมมักใช้อย่างหลังนี้  และมีประเด็นทางวิชาการนำมาทบทวนเยอะแยะแต่ก็นำมาเล่นระดับทำงานเชิง Concept ออกแบบกระบวนการทางสังคมขึ้นบนกิจกรรมทางความรู้ ซึ่งวิทยากรกระบวนการแบบ Research Oriented ควรเป็นและควรพัฒนาตัวเองขึ้นมา  เอาไว้วันหลังจะคุยให้ฟังก็แล้วกันครับ ผมว่าอาจารย์ชายขอบและหลายคนในภาคใต้เก่งในแนวนี้
  • อีกเครือข่ายหนึ่งทางด้านสุขภาพ ซึ่งน่าสนใจและฐานประสบการณ์รวมทั้งทุนทางสังคมก็ดีมากคือเครือข่ายนักวิจัยสุขภาพชุมชนที่เชื่อมโยงผ่านการทำงานมาด้วยกันระยะหนึ่งของศูนย์สุขภาพภาคประชาชนภาคใต้กับกลุ่มหมออนามัย ผู้บริหารและคนขององค์กรท้องถิ่นที่เล่นงานทางความรู้ด้วย และผู้นำชุมชน
  • ขอทดไว้ก่อนก็แล้วกันครับ วันนี้จะไปนั่งเสวนากันเรื่องนี้พอดีที่มหิดล

สวัสดีครับอาจารย์ พรุ่งนี้ผมก็เดินทางขึ้นกทม.ครับ ประเด็นความขัดแย้งชุมชนที่ประทุมครับ

สวัสดีครับบังหีม

  • ขอทักทายบังหีมก่อนนะครับ
  • ผมกะว่าจะไปร่วมงานด้วย แต่ติดทางนี้ไม่เรียบร้อยครับ เลยไม่ได้ไป
  • ประเด็นที่บังหีมประชุมคราวนี้ ยังไงก็เก็บไปเล่าให้ฟังอีกบ้างนะครับ
  • ผมมีประชุมที่ กทม.วันที่ 30 นี้ ของสถาบันพระปกเกล้า ครับ ประเด็นเรื่องทางภาคใต้ที่จะให้การเมืองนำการทหารเพื่อสันติสุขครับ
  • ได้ลงไปเมื่อไหร่จะโทรไปแจ้งล่วงหน้า เผื่อจะเจอกันบ้างครับ

สวัสดีครับอาจารย์วิรัตน์

  • ความเห็นของอาจารย์ที่ให้ไว้ผมได้อ่านตั้งแต่วันแรกแล้วครับ
  • รู้สึกขอบพระคุณในความตั้งใจของอาจารย์เป็นอย่างยิ่งที่มุ่งจะมอบความรู้และประสบการณ์ให้ผมได้เก็บเกี่ยวเอา
  • ผมมองเห็นความปราถนาที่อาจารย์มอบให้ เป็นกระบวนการที่ผมทึ่งมากครับ
  • เมื่อผมพรอตเรื่องเรียบร้อยแล้วผมจะนำมาบันทึกไว้เพื่อการแลกเปลี่ยนอีกครั้งนะครับ 

สวัสดีครับอาจารย์ชายขอบ

มีบางอย่างที่อยากคุยแลกเปลี่ยนและเสนอแนะ ทว่า เป็นข้อเสนอแนะบนฐานที่เห็นว่าเป็นคนทำงานในแนวทางนี้อีกทั้งเห็นว่าเป็นอาจารย์ชายขอบนะครับ ซึ่งเป็นคนที่มีประสบการณ์และมีกำลังทางความคิด-กำลังทางวิชาการอีกแบบหนึ่ง ที่ผมประมาณเอาว่าคุยเรื่องพวกนี้ได้นะครับ ลองพิจารณาดูเผื่อจะเป็นแนวทางที่ใช้ทำงานภายใต้หลากหลายเงื่อนไขที่เป็นจริงมากยิ่งๆขึ้นนะครับ

Best Practice ในฐานะวิธีคิดและนวัตกรรมการเรียนรู้ 

           ผมเห็นอาจารย์ชายขอบขึ้นต้น ว่าขอความรู้และความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ขณะเดียวกัน เป็นการขอความรู้ภายใต้ความสนใจเรื่องการศึกษาเรียนรู้ในวิถีพลเมืองหรือการศึกษาในวิถีประชาคม และประชาสังคมศึกษา ซึ่งในทรรศนะผมแล้ว สองเรื่องนี้อยู่ในวิธีคิดจากคนละจุดยืนและคนละกรอบทรรศนะ เนื่องจากการศึกษาเรียนรู้ในวิถีประชาชนพลเมืองนั้น เป็นการศึกษาเรียนรู้ที่มุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาตนเองของพลเมือง

          ดังนั้น การเริ่มต้น หากเริ่มต้นจากการหาความเบ็ดเสร็จ เพื่อความสะดวกและได้ผลแบบทางลัด โดยเฉพาะการรวบรวมและสร้างความรู้จาก(ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง)ประสบการณ์ของผู้อื่น  ก็อาจจะทำให้เราเข้าสู่เรื่องนี้ได้เร็วและชัดแจ้งในแง่ของความรู้ ทว่า อาจจะไม่ใช่แก่ของแนวการศึกษาเรียนรู้แบบนี้ 

          ทั้งนี้ เนื่องจากการศึกษาเรียนรู้ของภาคพลเมือง ควรจะมีสาระและเป้าหมายเป็นละส่วนกับการศึกษาเพื่อจุดมุ่งหมายอย่างอื่น และเป้าหมายของการศึกษาเรียนรู้แนวนี้ มิใช่อยู่แค่เพียงได้ความรู้ที่ดีที่สุด แต่อยู่ที่การได้ความสำเร็จที่การแก้ปัญหาที่จำเป็นและการปฏิบัติได้ของปัจเจก ชุมชน และองค์กรภาคประชาสังคมในขอบเขตต่างๆ

          เรื่องพวกนี้ก็อาจจะมีคำอธิบายและความรู้จากจุดยืน ด้วยวิธีคิดและบริบทที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งอาจจะแตกต่างจากความรู้ที่สร้างขึ้นเพื่อความรู้ของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง(อย่างผมและอาจารย์ชายขอบ ยกตัวอย่างกันเองเพียงเพื่อคุยนะครับ จะได้ไม่ต้องไปพาดพิงคนอื่น)

          นอกจากนี้ ในการเรียนรู้เพื่อได้ความรู้ความเข้าใจที่ดีที่สุด บวกกับการอยู่ในบรรยากาศของการมองสิ่งเหล่านี้ในฐานะเป็นการจัดการความรู้ (และเราคุยกันในบล๊อก GotoKnow ด้วย) ซึ่งแนวคิดของเราก็มักจะโน้มไปสู่การได้ Best Practice  เลยก็ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะขอกล่าวถึงเรื่องนี้อีกสักหน่อย (อันที่จริงเป็นความกังวลใจจากการที่เห็นมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มากมายทั่วประเทศ ซึ่งผมเห็นว่ามีบางส่วนที่ไม่น่าจะสะท้อนกับฐานคิดของการจัดการความรู้ที่อิงอยู่กับคนส่วนใหญ่)

  • Best Practice เพื่อที่คนมักแสวงหานั้น มักหมายถึง Best Practice ที่ดีที่สุดในเรื่องนั้นๆ ที่จะให้คำตอบ ให้ตัวอย่างการปฏิบัติที่ถือเป็นตัวชี้วัดและใช้อ้างอิงได้ดีที่สุด เพื่อทำให้เราเริ่มต้นและได้สิ่งที่ต้องการแบบทางลัด ซึ่งแนวคิดและวิธีการอย่างนี้ เป็นเรื่องดีสำหรับการจัดการความรู้เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทว่า เมื่อนำมาเป็นหลักคิดสำหรับการศึกษาเรียนรู้ในแนวประชาคมแล้ว คิดว่าจะสวนทางกับหลักคิดพื้นฐานเลยทีเดียว เพราะวิธีการอย่างนี้ เป็นการมุ่งให้ส่วนน้อยได้ความเป็นเลิศสูงสุดตามเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน และส่วนใหญ่ที่เหลือ เป็นกลุ่มที่ไปไม่ถึง หากพูดอุปมาอุปมัยก็คือ แนวทางนี้เน้นการแข่งขันเพื่อส่วนน้อยเป็นผู้ชนะและส่วนใหญ่เป็นคนขี้แพ้นั่นเอง  ในขณะที่การศึกษาในวิถีประชาคม เป็นฐานคิดการศึกษาเรียนรู้ที่มุ่งให้ทุกคนและคนส่วนใหญ่ ได้มุ่งพัฒนาความเป็นเลิศตามศักยภาพและความต้องการของตนเอง เริ่มต้นและมีส่วนร่วมออกมาจากความตื่นตัวของตนเอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่พลเมืองเป็นผู้ปฏิบัติ (Active Learning เป็นคนละชนิดกับการเรียนรู้แบบ Passived Learning)  จะว่าไปแล้ว การเรียนรู้ตาม Best Practice เพื่อทำตามอย่างและต่อยอดแบบทางลัดนั้น จะทำให้เราได้ช่างฝีมือที่มีทักษะตามแบบอย่างของ  Best Practice เป็นเหมือน Skill Development  ทว่า การศึกษาเรียนรู้แบบ Active Learning ในวิถีประชาคม จะมุ่งไปไกลกว่านั้น คือ มิใช่เพียง Skill Development  ทว่าต้องการได้ Leardership Development  จึงเน้น Active Learning มากกว่า Passived Learning การถ่ายทอดประสบการณ์จาก Best Practice โดยวิธีคิดแล้วเป็น;bTume Knowledge และ Experiences Transfer เท่านั้น ดังนั้น ผู้รับจึงอยู่ในฐานะ Passive Participant จะเห็นและเข้าใจได้ดีขึ้นต้องขยายความข้อถัดไปครับ
  • Best Practice เพื่อเรียนรู้และเป็นแรงบันดาลใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงออกจากตนเอง  Best Practice สำหรับการทำงานในแนวทางที่ผมยกตัวอย่างให้อาจารย์ชายขอบดูในข้างต้นนั้น มีความหมายและบทบาทแตกต่างจากที่กล่าวถึงในหัวข้อที่ผ่านมาครับ กล่าวคือ ไม่ได้หมายถึงตัวอย่างที่เป๋็นเลิศและตัวอย่างที่ดีที่สุดในแง่ความสำเร็จเมื่อเทียบโดยเกณฑ์มาตรฐาน  ทว่า หมายถึงตัวอย่างที่ดีที่สุดต่อการเรียนรู้ และเป็นการเรียนรู้ชนิดสร้างแรงบันดาลใจให้คนเดินออกมาจากประสบการณ์ตนเอง ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับการถ่ายทอดจากภายนอก ซึ่งเป็นความรู้จากแหล่งประสบการณ์ของผู้อื่น ซึ่งในทางศึกษาศาสตร์แล้วถือว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการ์คนอื่นโดยวิธีการต่างๆ ซึ่งในเชิงคุณภาพและความเข้มข้นแล้ว การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการลงมือของตนเอง จะดีกว่า  ที่เป็นอย่างนี้ ก็เนื่องจากฐานความเชื่อต่างกันอีกด้วย โดยการศึกษาเรียนรู้ในแนวทางนี้  เชื่อว่าความรู้ในระดับการเกิดปัญญาญาณนั้น ต้องสร้างขึ้นมาจากฐานประสบการณ์ภายในตน หรือเชื่อว่า ทุกคนมีความรู้เพื่อชี้นำการปฏิบัติของตนอยู่แล้ว  ดังนั้น การทำให้ผู้คนเกิดพลังสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกัน  จึงไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้จากภายนอกไปทดแทนหรือกดทับความรู้ที่อยู่ในประสบการณ์ของผู้คนดังกล่าวนั้น  แต่ต้องสร้างแรงบันดาลใจ ให้คนเป็นประเด็นความสนใจร่วมกัน ถักทอและสานน้ำใจ แล้วดึงเอาความรู้ ประสบการณ์ และศักยภาพต่างๆที่มี  ออกมาใช้  แล้วความรู้ภายนอกกับความรู้สมัยใหม่จากแหล่งอื่นๆ จึงค่อยผสมผสานเข้าไปผ่านการเลือกสรรค์ที่ประชาชนพลเมืองเข้ารู้และรับเข้าไปโดยสมัครใจตามความพร้อมของแต่ละคนที่อาจแตกต่างหลากหลายกันไป  สำหรับ Civil Learning แล้ว การเป็นกระบวนกรขับเคลื่อนการวิจัยที่ให้แรงบันดาลใจเพื่อประชาชนและชุมชนมีพลังและตื่นตัวต่อการเริ่มต้นเรียนรู้ด้วยตนเอง(รวมทั้งเรียนรู้ที่จะสร้างความรู้ขึ้นมาใช้เพื่อการปฏิบัติของตนเอง)นั้น เป็นแนวการทำงานที่สำคัญมาก  ครูผมสองท่าน คือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒน์ นิยมค้า มหาวิทยาลัยเชี่ยงใหม่ และ ศาสตราจารย์นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า เป็นวิถีของครูและผู้ส่งเสริมการเรียนรู้ผู้อื่นที่ดีที่สุด  ผมเห็นจากการมักสังเกตเอาเองว่า พวกทำงานสร้างสรรค์ พวกทำงานศิลปะ และพวกทำงานแนวประชาสังคม  รวมทั้งผู้คนในสาขาอื่นๆ ที่เข้าถึง Stage of the art ของเรื่องนั้นๆ จะใช้และรู้จักแนวการเรียนรู้แบบนี้ครับ
  • เรื่องเหล่านี้ จะเห็นรายละเอียดได้อีกมามาย  หากลองศึกษาเรื่องราวและหลักคิดสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้นะครับ...ภววิทยา ทฤษฎีความรู้  ญาณวิทยา  และวิธีวิทยา เพื่อเห็นและเข้าใจเป็นระบบว่า สิ่งต่างๆก่อเกิด ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร...ความจริงและความรู้เป็นอย่างไรบ้าง สร้างขึ้นได้หลากหลายอย่างไร แบบไหน โดยวิธีอย่างไรบ้าง แต่ละอย่างมีบทบาทและความสำคัญอย่างไร....เราสามารถรู้และเข้าถึงความรู้-ความจริงต่างๆได้อย่างไร.... วิธีการที่เน้นกระบวนการและระเบียบวิธีที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีแตกต่างหลากหลายอย่างไร  ทำไม  เหล่านี้เป็นต้น
  • ยาวและรายละเอียดเยอะ แต่คิดว่าคงได้ประเด็นสำคัญไปเป็นแนวศึกษาเพื่อใช้ในการทำงานนะครับ

สวัสดีครับอาจารย์วิรัตน์ฯ

  • การศึกษาเรียนรู้ของภาคพลเมือง น่าจะสอดรับกับความต้องการของแกนนำภาคประชาชนตามที่อาจารย์ได้ให้ความกระจ่างครับ ด้วยเหตุผลคือ แกนนำฯ ต้องการที่จะเป็นนักวิชาการเพื่อจัดการความรู้ได้ด้วยตัวเอง จัดการความรู้ไปเพื่อตอบสนองในการลงมือแก้ไขปัญหายาเสพติดที่พวกเขาได้ลงมือทำมาเองนานแล้ว แต่เหมือนเขาจะคิดว่าตัวเองจำเป็นตรงนี้ เพราะเขามองว่านักวิชาการข้างนอกไม่ได้จัดการความรู้ไปให้ตรงกับที่เขาต้องการเอาไปแก้ปัญหาครับ ตรงนี้แหละครับที่ผมตีความเอาว่าเขาต้องการจึงมาขอช่วย แต่เขาขอช่วยให้เราแนะนำวิธีหาปลา หากต้องใช้เครื่องมือในการหา เขาก็คงต้องการให้เราแนะวิธีการสร้างเครื่องมือนั้นด้วยตัวเอง
  • เมื่อผมได้อ่าน คห.ของอาจารย์แล้ว ผมก็เลยลองไปสืบค้นต่อพบว่าแนวทางที่น่าจะนำมาใช้กับแกนนำฯ คือหลักการศึกษาผู้ใหญ่ (Andragogy) ของโนลส์ ที่เน้นว่า “ศิลป์และศาสตร์ในการช่วยให้ผู้ใหญ่เกิดการเรียนรู้” มีการนำเอาปัญหามาเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ผนวกกับประสบการณ์ที่ตนมีมาก่อน ความมุ่งมั่นที่จะพึ่งตนเองมากกว่าการพึ่งพาคนอื่น และเพื่อมุ่งนำความรู้ไปใช้ทันที จากหลักการนี้ผมคิดจะนำไปพัฒนาเป็นแนวทางที่จะใช้เพื่อทำงานร่วมกับเขาเหล่านั้นโดยค่อย ๆ ใส่กระบวนการเรียนรู้แบบนี้เข้าไปให้เขา โดยหวังว่าในที่สุดเขาจะต้องถูกปลดปล่อยจนเป็นอิสระและสามารถเดินได้ด้วยตัวเองได้ในที่สุด ตรงนี้ผมอาจจะพอมีประสบการณ์อันภูมิใจว่าได้เคยทำกับเครือข่ายคนพิการมาแล้ว และทุกวันนี้เขาก็เข้มแข็งได้เองแล้วในระดับที่ผมภาคภูมิใจครับ แต่ยังไงก็ยอมรับว่าแตกต่างกันแน่ ๆ กับแกนนำฯ กลุ่มนี้
  • อาจารย์ครับ ในที่สุดผมก็ยังไม่ได้มั่นใจในตนเองนักว่าจะช่วยเหลือเขาได้แค่ไหนเพียงใด เหมือนผมไปเอารับภาระที่หนักเกินกว่าที่ตนเองรู้และเข้าใจมากแบกไว้ ดีหน่อยตรงที่เขารอได้ แม้ผมจะพยายามบอกไปแล้วว่า ผมยังไม่มีความรุ้หรือคิดวิธีการเชิงระบบต่อเรื่องนี้ได้ และก็ไม่อยากลองผิดลองถูก อยากเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนที่จะวางแผนช่วยเหลือเขานะครับ 
  • หากอาจารย์เห็นว่าผม discuss อะไรไปแล้วเหมือนจะยังไม่เคลียร์ อาจารย์ชี้แนะเพิ่มเติมด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณยิ่ง

สวัสดีครับอาจารย์ชายขอบ

  • ผมขอบคุณอาจารย์ชายขอบไปด้วยเช่นกันที่ค้นคว้าและศึกษาหาแนวคิดไปด้วยแล้วก็นำมาพูดคุยให้ได้ปัญญาไปด้วย ผมตามไปอ่านงานของ Nol แล้ว เป็นทั้งการถ่ายทอดบทเรียนในรูปบทความนำเสนอผลงานทางวิชาการ และการประมวลประวัติพัฒนาการทางความคิดและทฤษฎีของการศึกษาผู้ใหญ่ไปด้วยเลยทีเดียว
  • ผมมีเพื่อนที่ทำงานภาคประชาสังคมในแคนาดา  ทำงานให้การศึกษาแก่ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆในแคนาดา และที่น่าสนใจมากเลยคือ การทำงานประชากรศึกษาเชิงรุกต่อกรณีการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ เพื่อทำให้การได้การศึกษาเรียนรู้ที่ดี แปรภาวะการย้ายถิ่น ให้เป็นการเลือกสรรโอกาสการทำงานและดำเนินชีวิตให้ดีที่สุดในประเทศปลายทาง ซึ่งกรณีของเขาคือ การใช้ข้อมูลการย้ายถิ่นเข้าอเมริกา พัฒนาโครงการเข้าถึงชุมชนและประเทศต้นทางเพื่อให้การศึกษาประชาชนที่สนใจ ซึ่งนอกจากจะทำให้เป็นการทำสาธารณประโยชน์โดยตัวกิจกรรมเองแล้ว ยังเป็นการป้องกันและแก้ปัญหาแรงงานย้ายถิ่นที่สร้างสรรค์ที่สุด แนวการทำงานต่างๆ อาจเรียกได้ว่าใช้วิธีการที่เรียกว่า Andragogy หรือการศึกษาผู้ใหญ่ แต่อาจจะผสมผสานแนวคิดการศึกษาเพื่อพัฒนาพลเมืองไปด้วย เรื่องนี้แคนาดาเก่งมากครับ เขาไม่มีแนวคิดแบบชาตินิยามในความหมายที่แคบ แต่วิธีคิดเขาคือ ใครก็ได้ในโลกนี้ที่เป็นพลเมืองดีและมีคุณภาพ ก็ไปร่วมกันสร้างสุขภาวะสังคมแคนาดาเพื่ออยู่ร่วมกันได้ทั้งสิ้น
  • ก็พอจะพูดได้เหมือนกันครับว่า การศึกษาเรียนรู้และการพัฒนาการเรียนรู้ภาคพลเมือง ต้องเดินตามแนวคิดการศึกษาผู้ใหญ่ แต่หากทบทวนความเป็นมาของการศึกษาผู้ใหญ่ดูแล้ว ก็จะทราบว่าแนวคิดเบื้องหลังและที่มานั้น ต่างกันมากพอสมควร จะว่าไปแล้ว ฐานคิดของการศึกษาผู้ใหญ่เกิดขึ้นอย่างเป็นมาตรการเพื่อแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียน และคิดคำนวนไม่ได้ตามแบบของการศึกษาสมัยใหม่ ที่หลายประเทศทั่วโลกสนองตอบต่อแนวทางนี้มาช่วงหนึ่ง คนในวงการศึกษาเรียกปัญหานี้ว่าปัญหา 3R : Reading / Writing / Arithematic ซึ่งสภาพปัญหาและบริบทของสังคมเกี่ยวกับพลเมืองผู้ใหญ่ที่ต้องส่งเสริมมีโอกาสการศึกษาเรียนรู้เพื่อจะได้เข้าถึงโอกาสการพัฒนามากขึ้นนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเปลี่ยนไปแล้ว หรือไม่เป็นอย่างนั้นแล้วครับ กระนั้นก็ตาม การศึกษาผู้ใหญ่ ยังมีความจำเป็นในหลายกลุ่มประชากร ทว่า ในการจัดกษาศึกษาแบบทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่และพลเมืองของชุมชนระดับต่างๆนั้น ควรมีแนวคิดให้ใช้ที่หลากหลาย และแต่ละแนวคิดมีเหตุผลเบื้องหลังในแต่ละกลุ่มประชากรไม่เหมือนกัน
  • ในบ้านเราและในประเทศกำลังพัฒนานั้น เรื่องหนึ่งที่สังคมต้องให้ความสนใจและมีความสำคัญที่จะต้องบูรณาการเข้ากับกระบวนการทางการศึกษาและการพัฒนาการเรียนรู้ไปด้วยก็คือ การพัฒนาระดับสังคมและวัฒนธรรม เพื่อดำเนินชีวิตและเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมในระบบสังคมที่มีอยู่ ให้สังคมมีพลังการพัฒนาอย่างทัดเทียมต่อความจำเป็นที่มากมายซับซ้อนและผู้คนหลากหลายต้องมีภาวะผู้นำแบบรวมหมู่ที่ต้องช่วยกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นไปของสังคมอย่างกระตือรือร้น
  • การพัฒนาระดับสังคมและวัฒนธรรมนั้น ก็คือ การที่ต้องมุ่งสู่การปรับเปลี่ยนระดับวิธีคิด ค่านิยม ทัศคติ และการปฏิบัติของหน่วยสังคมระดับต่างๆในทุกขอบเขตที่ก่อเกิดปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง รวมไปจนถึงสิ่งที่ส่งผลต่อวิธีคิด ตัวปัญญา อารมณ์และจิตใจของผู้คน ที่จะสะท้อนไปสู่การกระทำทางสังคมแบบต่างๆ ซึ่งจะเห็นว่า มันก็คือเรื่อง การศึกษา การสื่อสารเรียนรู้ ศิลปะ  งานทางวัฒนธรรม การสร้างความรู้และการจัดการความรู้ให้แปรไปสู่การปฏิบัติของสังคมนั่นเอง โดยต้องมีสำนึกทางสังคมและจิตสำนึกต่อสาธารณะเป็นองค์ประกอบหนึ่งไปด้วย ซึ่งในด้านนี้ ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่โดยมากจะไม่เน้น
  • ในเรื่ององค์ประกอบด้าน สำนึกทางสังคมและจิตสำนึกสาธารณะ จำเป็นมากครับ โครงการทางการศึกษาที่ผสมผสานในงานพัฒนาเป็นจำนวนมากผมคิดว่าไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญต่อเรื่องนี้ มักเห็นว่าการจัดกิจกรรมทางการศึกษาให้ผู้ใหญ่แล้วก็ทำงานพัฒนาเสร็จ ทุกอย่างก็ประสบความสำเร็จไปโดยอัตโนมัติหมดแล้ว แต่ในทรรศนะผม หากมีแนวคิดเรื่องการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมืองและการศึกษาในแนวพัฒนาประชาคมศึกษาแล้ว กิจกรรมและวิธีการหลายอย่างจะถือว่าไม่ควรใช้ 
  • เช่น การทำกิจกรรมและเล่นเกมส์ให้สนุกสนานเหมือนกิจกรรมลูกเสือ หรือการทำกิจกรรมเป็นกลุ่มแบบเกมส์สมมติ ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาผู้ใหญ่ที่มุ่งทำการเรียนรู้ให้สนุกและงานปฏิบัติเพื่อให้ประสบการณ์ตามที่ต้องการก็เสร็จสิ้นอย่างสนุกสนาน  อย่างนี้  สำหรับการศึกษาเพื่อพัฒนาพลเมืองและการศึกษาแนวประชาคม ถือว่าเป็นวิธีการที่ลดวุฒิภาวะความเป็นพลเมืองที่เข้มข้นและเข้มแข็งทางความคิด และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีความนัยต่อการได้ประสบการณ์เกี่ยวกับโครงสร้างทางสังคมจากกลุ่มที่ปฏิบัติการเรียนรู้ เช่น ไม่เห็นความหมายว่า การเปลี่ยนสถานะตนเองจากการเป็นผู้นั่งรับความรู้อย่างชาวบ้านๆ ไปสู่การลูกขึ้นเป็นผู้นำและริเริ่มการปฏิบัติเรียนรู้ในสถานการณ์นั้นๆ แล้วก็จัดการให้ความรู้และปัจจัยอื่นๆจากภายนอก เข้ามาเสริมต่อได้อย่างเหมาะสมกับเงื่อนไขและความพร้อมของตนเองนั้น ว่าแตกต่างและเป็นโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมที่กำหนดวิถีสังคม ในวิถีทางที่จะอ่อนแอและพึ่งพิงมากขึ้น หรือเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น อย่างไร
  • ในเรื่องการพัฒนาแกนนำภาคพลเมือง และการศึกษาในวิถีประชาคมนั้น ผมว่าค่อยทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปจะดีที่สุดครับ การทำงานเชิงปฏิรูปต้องใฝ่สันติ ใจเย็น หนักแน่น ไปพร้อมๆกับสังคมและชุมชนระดับต่างๆที่เราทำงาน แล้วก็ต้องระวังการสร้างกระแสความนิยม หรือการปักธงช่วงชิงความเป็นผู้นำกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัว น่าเบื่อหน่าย กลายเป็นความเคลื่อนไหวเล่นกระแสความนิยมลวกๆ กดทับสิ่งที่ต้องการความจริงจังและดำเนินไปอย่างเป็นวงจรในวิถีชีวิตของชุมชน งานที่ระดับชุมชนหลายอย่างก็อาจจะเหมาะสมกับแนวคิดของการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้อย่างนี้นะครับ
  • อย่างในเรื่องยาเสพติดนั้น (๑) การมองแบบวิธีตีตราทางสังคมว่า ยาเสพติดและผู้เกี่ยวข้องเป็นสิ่งชั่ว สิ่งเลว ก็จะแก้ปัญหาและทำให้เกิดปัญหามากกว่าเดิมตามาอีก  (๒) มองว่าเป็นปัญหาสุขภาพและจิตสังคม  ต้องการการบำบัดดูแลทางจิตใจและพัฒนาทักษะเกี่ยวกับตนเอง กลไกการแก้ปัญหา ก็จะเปลี่ยนไปจากตำรวจไปสู่หมอและบุคลากรทางสุขภาพที่ฝึกฝนมาอย่างเป็นการเฉพาะอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งสถานที่และโครงสร้างพื้นฐานในการดูแล ก็จะเปลี่ยนไปจากคุกตาราง ไปสู่การเป็นโรงพยาบาลและแหล่งบำบัดในแนวทางอื่นๆ (๓) มองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาสังคม ก็จะเป็นที่เกลียดชังและซ้ำเติมปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา และเน้นการปราบ ทำลาย ขจัด  มากกว่า (๔) มองว่า เป็นผลพวงของปัญหาสังคมและวิถีการพัฒนา ก็จะขยายความเป็นส่วนรวม และเห็นกลุ่มผู้เกี่ยวข้องครอบคลุมไปถึงผู้คนทุกคนมากขึ้น......จะเห็นว่า หากขาดองค์ประกอบเกี่ยวกับสำนึกทางสังคมในสิ่งที่ต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและแก้ปัญหาด้วยกันของชาวบ้านแล้ว เราก็จะระดมพลังประชาชนมาทำโครงการยาเสพติดให้สำเร็จในแง่ของการมีแรงคนและมีการคล้อยตามกันของสังคมมาหนุน แต่ในมิติการศึกษาเรียนรู้แล้ว ได้แต่กิจกรรมที่ทำครับ แต่ไม่ก่อเกิดการเรียนรู้และพัฒนาพลเมืองในความหมายของการศึกษาแนวประชาคม
  • แต่เรื่องนี้มีความเป็นปัจจัตตังเหมือนกันครับ ผมเดินตามแนวนี้ก็เพราะตนเองพอทำสิ่งต่างๆได้ให้มันมีความหมายต่อตนเองและให้รู้สึกว่าได้ทำหน้าที่ต่อสังคมอย่างที่ควรจะทำ อาจารย์ชายขอบก็เชื่อว่ามีความเป็นตัวของตัวเองที่ทำได้อย่างสุดยอดจำเพาะตนในหลายเรื่อง จึงแม้จะต่างกัน ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วนะครับ ยิ่งเน้นการทำงานกับคนหลายสาขาด้วยแล้ว  ลองทำและให้มีประสบการณ์ตรงจากพื้นที่ที่เข้มข้นเป็นตัวตั้งเหมือนๆกันก่อนครับ แล้วค่อยมาถอดบทเรียน พัฒนากรอบวิธีคิด และใช้เดินกลับไปทบทวนทฤษฎีให้รอบด้าน การมีคนหลากหลาย หากเดินด้วยการใช้ความรู้ก่อน  หากไม่วนอยู่กับการถกความคิดและความรู้กัน ก็จะต้องมีคนส่วนใหญ่ที่ต้องยอมให้กับสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแบบผ่านๆ  แต่ในใจและในความรู้ที่ตนเองมีประสบการณ์จำเพาะตนอยู่ ก็ไม่เห็นและไม่เออออไปด้วยอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งจะทำให้มีพลังทำได้เพียงเล็กน้อยระดับหนึ่งเท่านั้น ลงลึกและทำงานระดับทุ่มเทไม่ได้  และทำงานที่มีวงจรยาวๆตลอดไปไม่ได้ครับ

เรียน อาจารย์วิรัตน์ฯ 

  • คำแนะนำของอาจารย์มีประโยชน์ต่อผมทั้งในงานที่จะทำและมาขอคำแนะนำครับ รวมถึงประโยชน์ที่ผมได้โดยไม่คาดคิดเนื่องจากตอนนี้ผมกำลังนำเสนอ Reading List ต่ออาจารย์ที่ปรึกษาฯ อยู่ครับ
  • ก่อนที่อาจารย์จะตอบมานั้น ผมมองประเด็นไว้แคบมากเลยครับ แต่พอได้อ่าน คห.อาจารย์แล้ว ผมกลับไปรื้อวิธีคิดต่อการทำ Reading List เปลี่ยนไปจากเดิมมากเลยครับ จะนำเสนอวันจันทร์นี้ครับ
  • กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ ผมมีเรื่องแลกเปลี่ยนต่อในหลายเรื่องครับ ที่ยังค้างต่อกับอาจารย์ไว้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท