ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

มาฆบูชา: รักแท้นั้นไซร้อยู่ใกล้แค่ใจเรา


พระมหาหรรษา  ธมฺมหาโส,รศ.ดร.
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ
ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สันติศึกษา
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
หลักสูตรประกาศนียบัตรแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับ
การจัดการความขัดแย้งด้านนโยบายสาธารณะโดยสันติวิธี
รุ่นที่ ๒ สถาบันพระปกเกล้า

 ๑. เกริ่นนำ

        ผู้เขียนได้อ่านผลการศึกษาของเอแบคโพลล์ ซึ่งได้ทำการวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “ความเข้าใจของเด็กเยาวชนไทยเกี่ยวกับวันมาฆบูชา และความตั้งใจทีจะทำกิจกรรมต่างๆ ในวันมาฆบูชา: กรณีศึกษาเยาวชนอายุ ๑๒-๒๔ ปี ในเขตกรุเทพมหานครและปริมณฑล โดยศึกษาจากประชากรกลุ่มตัวอย่าง ๑,๓๒๕ คน ซึ่งได้ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ ๑๑-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งว่า เด็กเยาวชนจำนวน ๖๕.๔% ที่ไม่รู้ว่าวันใดคือวันมาฆบูชา และ ในจำนวนเหล่านี้ ประชาชนจำนวน ๒๗% ไม่ทราบว่า “โอวาทปาฏิโมกข์” คือ หลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา

        นอกจากนี้ จากการสำรวจทำให้พบว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยที่ให้ความสำคัญกับวันมาฆบูชามากกว่าวันวาเลนไทน์ มีจำนวนมากกว่า กลุ่มเด็กที่ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์มากกว่าวันมาฆบูชา คือ ร้อยละ ๔๓.๒ ต่อร้อยละ ๖.๔ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ ๒๗.๓ ให้ความสำคัญเท่ากันทั้ง ๒ วัน และร้อยละ ๒๓.๑ ไม่มีความเห็น

        จากประสบการณ์ของการเข้าไปเกี่ยวข้องกับเด็กเยาวชนทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก การทำกิจกรรมทางศาสนาในอดีตที่ผ่านมา คำ ถามสำคัญที่กลุ่มเด็กเยาวชนทั่วไปมักจะตั้งคำถามก็คือ “เพราะเหตุใด? กลุ่มคนทั่วไปจึงเรียกวันมาฆบูชาว่าเป็นวันแห่งความรักแนวพุทธ หรือแบบพุทธ” หลักการหรือธรรมะชุดใดใน “โอวาทปาฏิโมกข์” ที่บ่งบอกถึงนัยของคำว่า “พระพุทธเจ้าทรงย้ำเตือนให้มนุษยชาติรักและห่วงใยซึ่งกันและกัน”

        จากการวิเคราะห์หลักธรรมในโอวาทปาฏิโมกข์ เราจะพบชุดของพุทธพจน์ที่น่าสนใจ และบ่งบอกนัยให้เราได้ตระหนักรู้ว่า “นี่คือร่องรอยของถ้อยคำที่บ่งบอกว่าวันนี้เป็นวันแห่งความรัก” ได้อย่างประจักษ์ชัด กล่าวคือ ในประโยคที่ว่า “การไม่กล่าวร้าย (อนูปวาโท) การไม่ทำร้าย (อนูปฆาโต)” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่พระองค์ตรัสเตือนในประเด็นเดียวกันนี้ว่า “ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต (ผู้เว้นขาด) ซึ่งคำว่า “บรรพชิต” ในบริบทนี้จึง “หมายถึง ผู้ที่เว้นขาดจากการทำร้ายคนอื่น” และ “ผู้ที่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะ (ผู้สงบ) ซึ่งคำว่า “สมณะ” ในบริบทนี้ จึงหมายถึง การสงบกาย วาจา และใจโดยไม่พยายามที่จะเบียดเบียนคนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ”

        การตีความในลักษณะนี้ จึงสอดรับกับผลการวิจัยในเรื่องเดียวกันนี้บางประเด็นที่ชี้ว่า “สำหรับพฤติกรรมที่เยาวชนไทยตั้งใจจะลด ละเลิกในวันมาฆบูชาที่จะมาถึงนี้ ได้แก่ การงดเว้นจากการใช้วาจาที่ไม่ดี เช่น พูดปด โกหก นินทาว่าร้าย พูดส่อเสียด และไร้สาระ การลดการดื่มเหล้า การเลิกสูบบุหรี่ การเลิกเล่นการพนัน และอบายมุข การเลิกลักเล็กขโมยน้อย การเลิกขี้เกียจ การเลิกใช้ยาเสพติด การเลิกทำสิ่งผิดกฎหมาย และเลิกทะเลาะวิวาทกับคนอื่น รวมถึงการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน จากพฤติกรรมและการแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม”

        จะเห็นว่า หาก เรามุ่งที่จะตีความใน “ภาษาธรรม” แล้ว เด็กเยาวชนเหล่านี้ สามารถเป็นได้ทั้ง “บรรพชิต” และ “สมณะ” ในคราวเดียวกันดังที่ปรากฎในผลการวิจัยที่บ่งชี้ว่า “ในวันมาฆบูชานั้น เด็กเยาวชนกลุ่มตัวอย่างมีความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเว้นขาดจากสิ่งเหล่า นั้น” ที่นำไปสู่การเบียดเบียน และทำร้ายบุคคลอื่นๆ หรือ สิ่งอื่นๆ ในสังคม

        อย่างไรก็ดี หลัก ธรรมที่ถือได้ว่าเป็น “แก่น” หรือ “แกน” ที่จะทำหน้าที่ในการกำกับ และควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจของเด็กเยาวชนเหล่านั้นใน “วันแห่งความรักแบบพุทธ” คือ “ความอดทน” (ขันติ) ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะอย่างยิ่ง” ความอดทนในบริบทนี้จึงหมายถึง “การรักษาความเป็นปกติของตนไว้ได้ ในเมื่อได้รับผลกระทบด้วยสิ่งอันไม่พึงปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอดทนต่อการล่วงเกินของคนอื่น ความอดทนต่อความเจ็บใจ และความทนต่อความกระทบกระแทกแดกดันของคนอื่น

        เมื่อใดก็ตาม เด็กเยาวชน หรือหมู่ชนทั่วไป อดทนต่อสภาวะการณ์ หรือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามากระทบอารมณ์ในลักษณะดังกล่าวได้ ย่อมเกิดผลในเชิงบวกตัวเราเอง และสังคมโดยภาพรวมโดยที่ (๑) เราจะไม่พยายามที่จะตอบโต้ หรือทำร้ายคนอื่น แม้คนอื่นๆ จะพยายามว่าร้าย หรือมุ่งร้ายเรามากเพียงใดก็ตาม (๒) เราจะไม่เบียดเบียน และทำร้ายคนอื่นๆ เพียงเพราะว่า “ต่างสถาบัน” “ต่างวัฒนธรรม” “ต่างสี” หรือ “ต่างความคิด”ทั้งๆ ที่คนบางกลุ่มไม่เคยทะเลาะ หรือทำร้ายเราในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

๒. อดทนไม่ได้ จึงต้องตายเพื่อประชดรัก

        ประเด็นที่ควรค่าแก่การห่วงใยอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันคือ การที่เด็กเยาวชนบางคนเข้าไปเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับความรัก และกำลังสูญเสียในสิ่งที่ตัวเองรัก หรือเข้าใจว่าคนรักกำลังตีจาก และอดทนไม่ได้ต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับชีวิตของตัวเอง โดยมองว่า “ตัวเองกำลังได้รับการปฏิเสธการรับรักจากคนอื่น” จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อ “ประชดคนรัก” ดังจะเห็นจากกรณีของ “หญิงสาววัย ๒๔ ปีที่ฆ่าตัวผ่านแคมฟรอก (Camfrog) เพราะประจักษ์ชัดว่า ชายหนุ่มผู้เป็นที่รักได้บอกเลิกความสัมพันธ์

        ประเด็นคำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อถึงจุดหนึ่งของภาวะวิกฤติ ทำไมเด็กสาวคนดังกล่าวจึงไม่เลือก "พ่อแม่ หรือพี่น้อง" ที่อยู่เคียงข้างเธอมาตลอดชีวิต เธอกลับไปเลือกที่จะตายเพื่อ "ประชดผู้ชาย" ที่เพิ่งผ่านเข้ามาในชีวิตได้ไม่ถึงปี และหมดสิ้นความรักในตัวเธอ

        นักพูด นักคิด และนักปฏิบัติการด้านความรักหลายท่านในอดีตจนถึงปัจจุบัน มักจะตั้งข้อสังเกตว่า “วัยรุ่นมักจะมอบ และทุ่มเทความรักให้แก่เพื่อนมากกว่าพ่อและแม่” แท้ที่จริงแล้ว วัยรุ่นรักเพื่อนมากกว่ารักพ่อและแม่จริงหรือ? หรือว่า วัยรุ่นไม่ได้รักเพื่อนของตัวเอง แต่เขากำลังนำเพื่อนมาสนองตอบต่อความรักที่ตัวเองกำลังเรียกร้องและค้นหา

๓. ความรักเสมอด้วยตนย่อมไม่มี

        พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ความรักเสมอด้วยตนย่อมไม่มี” หมายความว่า ไม่มีมนุษย์ตนใดที่จะรักคนอื่นมากกว่าการรักตัวเอง ฉะนั้น การที่ใครสักคนฆ่าตัวตายคือการที่เขาไม่ต้องที่จะให้ตัวเองต้องทุกข์ทรมาน กับอดีตที่เลว ร้าย และไม่ต้องการให้ตัวเองต้องจมปลักอยู่กับความเจ็บปวด และการเลือกฆ่าตัวตายคือการเลือกที่จะหนี หรือไปเจอ และแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าหรืออนาคตที่ดีกว่าให้แก่ตัวเองความจริงแล้ว

       จากการที่ผู้เขียนทำวิจัยเรื่อง "การฆ่าตัวตาย" และสัมภาษณ์ผู้หญิงที่ตัดสินฆ่าตัวแต่ไม่ตาย ได้พบคำตอบที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า "การที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย" ไม่ได้เกิดจากการที่เธอไม่รักตัวเอง สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “เพราะเธอรักตัวเองมากที่สุดและไม่ปรารถนาที่จะให้ตนเองต้องเผชิญหน้ากับ ความทุกข์ทรมาน ดังนั้น การฆ่าตัวตายนอกจากจะเป็นพาตัวเองออกวิกฤติการณ์ที่แสนเจ็บปวดแล้ว ยังอาจจะพาตัวเองไปสู่โลกอื่นที่ดีกว่าโลกที่เป็นอยู่ด้วย จากเหตุผลสองประการนี้ เธอจึงต้องฆ่าตัวตาย

๔. รักแท้ รักเทียม

        เราควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรักอย่างไร? จึงจะพบทางรอดในอนาคต เมื่อหันกลับมาพิจารณา "ความรัก" สรุปโดยหลักใหญ่ใจความในบริบทนี้มี ๒ ประการ คือ

        (๑) รักเทียม คือ ความรักที่เราต้องเอาเขามาทำให้เรามีความสุข แม้ ว่าเขาจะทุกข์ทรมานจากการนำเขามาเพียงใดก็ตาม (สิเนหา) เป็นความรักแบบมีเงือนไข และเต็มไปด้วยพรมแดน เคียดแค้นยามไม่สมหวังในรัก พระพุทธเจ้าตรัสเรียกรักประเภทนี้ว่า "ความเศร้าโศก และความกลัว ย่อมเกิดจากความรัก (ไม่ว่าจะเป็นสิ่งหรือคนที่เรารัก) หากเราหลุดพ้นจากความรักประเภทนี้แล้ว ความเศร้าโศก และความกลัวจะหาได้จากที่ไหน" ฉะนั้น รักในบริบทแรก จึงได้รับการประเมินว่า "ความรักคือความทุกข์"

        (๒) รักแท้ คือ ความรักที่เราต้องการจะทำให้เขามีความสุข คำว่า "เขา" ในที่นี้ หมายถึงใครก็ได้ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายในโลกนี้ ความรักแบบนี้ เราเรียกว่า "เมตตา" เป็นความรักสากล (Universal love) ที่ไม่มีเงื่อนไข (Un-condition) อิสระ (Freedom) ที่ปราศจากคาดหวัง (Expectation) ไม่เรียกร้องรักตอบ รักในความหมายนี้ จึงได้รับการตีค่าว่า "ความรักคือความสุขแท้ มิใช่สุขเทียม" หากทุกคนขยายพื้นที่ของความรักเช่นนี้ออกไปมากเพียงใด ครอบครัว สังคม และโลกก็จะได้รับไออุ่นจากความรักประเภทนี้เพียงนั้น ฉะนั้น "โลกของเราจะอยู่รอดได้ ก็เพราะความรัก"


        การที่จะแสวงหาความรักจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะความรักที่แท้จริงซ่อนตัวและนอนนิ่งอยู่ภายในใจของเรา เราสามารถสร้างให้มีขึ้นภายในใจของเรา เป็นความรักที่ไร้เงื่อนไข ไร้ทุกข์ ไร้เสียงร้องให้ และไร้น้ำตาอันเกิดจากการสูญเสีย

        หากเราจะมีรักสักครั้ง ทำไมความรักที่ใครสักคนจะมอบให้แก่กันและกัน จึงต้องคลอเคล้าด้วยน้ำตา หรือว่าการจะมีรักสักครั้ง จะต้องลงทุนแลกมาด้วย "น้ำตา" ทำไมเราต้องวิ่งไปหาสิ่งภายนอกมาทำให้เรารู้สึกว่า "เรามีรัก" เพื่อให้รัก "เติมเต็มให้กับชีวิตของเรา" การวิ่งหาความรักเช่นนี้ เราจะตอบตัวเองได้ไหม กี่ปี กี่เดือน เราจึงจะค้นพบรักแท้ แต่ใครจะรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว "รักแท้นั้นไซร้อยู่ใกล้แค่ใจเรา"

๕. หากจะลองรักครั้งใด อย่าไร้สติและปัญญา

        หากคิดจะรักใครหรือสิ่งใด จงโปรด "รักอย่างมีสติและปัญญา" เพราะสองสิ่งนี้ จะทำให้เราหลุดพ้นไปจากกลัว หวาดระแวง และหยาดน้ำตา หากเมื่อใดก็ตาม "สติและปัญญา" ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนั้น เมฆหมอกอันดำมืดของ "อวิชชา" คือ "ความโง่" ก็จะเข้ามาปกคลุม กินพื้นที่ และครอบครองอาณาจักร



        การที่เรารักใครสักคนมากเกินไปจนไร้สติ จึงทำให้เรา "กลัว" กลัวว่า เราจะสูญเสียรักไป ในขณะเดียว เพราะเรารักใคร หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป เราจึงต้อง "เศร้าโศกเสียใจ" หากสักวันหนึ่ง เราต้องจากสิ่งที่เรารัก หรือสิ่งที่เรากำลังจะตีจาก หรือหนีหายไปจากใจของเรา

        เมื่อใดก็ตาม ที่จิตของเราอยู่เหนือ "อิทธิพลของรักเทียม" ไม่ตกเป็นทาสของความรักโดย "ขาดสติ" ก่อนรัก ในขณะที่เรากำลังรัก และหลังจากที่เรารัก เมื่อนั้น ความกลัวว่า เรากำลังจะจากสิ่งที่เรารัก และกลัวว่าคนหรือสิ่งที่เรารักกำลังจะจากเราไป และ ความเศร้าโศกเสียใจที่เราต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก ก็จะเลือนมลายหายไปจากใจของเราด้วย

         ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราคงทำอะไร หรือ สิ่งใดไม่ได้มากไปกว่าการนั่งตระหนักอยู่ในมุมที่เงียบสงบว่า "เราไม่รู้หรอกว่าการยืนอยู่เหนือหุบเหวแห่งรักแท้นั้น เต็มไปด้วยความสุขขนาดไหน หากเราไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับความเจ็บปวด ทรมานในหุบเหวแห่งรักเทียมที่เรากำลังเผชิญหน้ากับมัน" ในวินาทีนี้ จะมีเพื่อนมนุษย์กี่คนที่กำลังเผชิญหน้ากับความหนาวเหน็บในหุบเหว และจะมีสักกี่คนที่กำลังอิ่มเอมกับสุขแท้ที่เกิดจากรักอย่างมีสติ

        ถึงกระนั้น ประสบการณ์ วัน และเวลาทำให้พวกเราเข้าใจว่า "รักแท้คือความอิสระ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เรารัก" เพราะเมื่อใดที่เรายึด เมื่อนั่นเราจะรู้สึกว่าขาดความอิสระ หรือเบาสบาย การเด็กที่รักตุ๊กตามาก จะกอดรักตุ๊กตาแน่นมากยิ่งขึ้น เมื่อกอดแน่น สิ่งที่จะตามมือคือความอัดอัดขัดใจ ความไม่สบายใจ ไม่สบายใจ ก็จะเกิดตามมาอย่างเห็นได้ชัด

        สรุปก็คือ จะเห็นว่า เมื่อ ใดก็ตาม เรายิ้มให้กับความรัก และเข้าไปสัมพันธ์กับความรักประดุจดัง "กัลยาณมิตร" รวมไปถึงการมองความรักอย่างเข้าใจ และมีปัญญา เมื่อนั้น ความรักก็จะมอบ "ความเข้าใจ" "ปัญญา" และ "กัลยาณมิตร" ตอบแทนต่อเราเช่นกัน

๖. นึกถึงรักแท้ครั้งใด นึกถึงลมหายใจของตัวเอง

        พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพวกเราว่า "กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์และตัวของมันเอง" ความจริง เวลาก็คือเวลา และในฐานะที่ "เวลา" เป็นสิ่งสมมติที่ชาวโลกสร้างขึ้นเพื่อใช้เรียกขาน และกำหนดนับสิ่งต่างๆ ให้สะดวกและง่ายต่อการดำเนินชีวิต ถึงกระนั้น "เวลา" หาได้มีอิทธิพลต่อ "ความดี" หรือ "ความชั่ว" ภายในของเราไม่ ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นอื่นไปไม่ได้ หากเราไม่ใช้เวลาที่เราสมมติมาเป็นเครื่องมือ "รับใช้" การพัฒนาคุณค่าภายใน หรือความดีความงามของเรา รวมไปถึงพฤติกรรมการคิด การพูด หรือการทำของเรา

         เมื่อมองย้อนไปกลับหาวัน และเวลาในอดีต หากมีสิ่งใดผิดพลาด หรือบกพร่องอันเกิดจากการไม่รู้เท่าทัน หรือขาดประสบการณ์ในการคิดวิเคราะห์ ขอได้โปรดนำประสบการณ์ที่ "เลวร้าย" หรือ "ความบกพร่อง" มาเป็นเครื่องมือพัฒนาตัวเอง หรือยกระดับจิตของตนเองให้เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น ดังพุทธพจน์ที่ว่า "จงดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท" ด้วยการมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความโลภ ความโกรธ และความหลง ฉะนั้น "จงนำอดีตมารับใช้ปัจจุบัน แต่อย่านำอดีตมาครอบงำปัจจุบัน"

        นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเตือนพวกเราด้วยความห่วงใยว่า "วันคืนล่วงเลยไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่” ประเด็นคือ “วันคืนเคลื่อนคล้อย ชีวิตเหลือเหลือน้อยลงทุกวัน" คำถามคือ หากปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่เราจะสามารถมีชีวิตอยู่ สิ่งแรกที่เราปรารถนาจะทำคือ "การได้อยู่กับลมหายใจของตนเองอย่างมีสติ"

        สิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดคือ "ลมหายใจ" และในขณะเดียวกัน "ลมหายใจ" ได้ทำหน้าที่ในการหยิบยื่น "ชีวิต" ให้แก่เรา แทนที่เราจะสนใจ หรือใส่ใจอยู่ทุกเวลาและนาที รวมไปถึงการให้ความสำคัญโดยการกล่าวคำว่า "ขอบคุณลมหายใจ" ในวันใหม่ หรือปีใหม่ แต่เรากลับหลงลืมที่จะใส่ใจต่อสิ่งเหล่านี้ และหลายสถานการณ์เรากลายเป็นคน "อกตัญญูต่อลมหายใจของเราเอง" อย่างไม่น่าเชื่อและไม่น่าให้อภัย


        ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงย้ำเตือนเราทุกคนว่า "หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้" ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เช่น ขับรถ ทำงาน และทำกิจกรรมอื่นๆ หากเมื่อใดก็ตาม เราหลงลืมกัลยาณมิตรของเราโดยไม่รู้ว่าเรากำลังหายใจ คำถามคือ เราจะต่างอะไรจากคนที่ตายแล้ว เพราะลืมหายใจหนึ่งวินาที ก็เหมือนกับว่าเรากำลังตายหนึ่งวินาที หากลืมหนึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งวัน เราก็ตายหนึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งวันเช่นกันตามพุทธพจน์ที่ว่า "คนขาดสติเหมือนคนที่ตายแล้ว"

        เมื่อใดก็ตามที่เรา ใส่ใจต่อกัลยาณมิตรของเราโดย "กตัญญูต่อลมหายใจของเรา" หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ซึ่งเป็นการระลึกนึกถึงกัลยาณมิตรของเราตลอดเวลาเช่นนี้ เมื่อนั้น เราจะได้รับ "ความตื่น" และ "เบิกบาน" มาเป็น "ของขวัญ" แก่ชีวิตของตนเอง และแล้วเราจะพบว่า "ความสุขที่ยิ่งใหญ่คือการได้อยู่กับลมหายใจของตัวเอง"


 

หมายเลขบันทึก: 426710เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2011 11:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2014 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (57)

นมัสการพระคุณเจ้า

จบลงด้วยข้อสรุปการวิจัยลมหายใจ 

ปัญหาทุกอย่างมีเพิ่มมากขึ้น  แต่วิธีการใดที่จะเข้าถึงปัญหาและร่วมมือกันแก้อย่างจริงจัง  ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองได้แต่เอาวาทกรรมมาต่อสู้กัน อย่างที่เห็น ๆ เจ้าค่ะ วาทกรรมคือภาษาสุดยอด...แต่หาแก่นไม่เจอเลย

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ

  • นมัสการพระคุณเจ้า เจ้าค่ะ
  • ความสุขอยู่ใกล้ตัวจนทำให้เรามองข้าม... "ความสุขที่ยิ่งใหญ่คือการได้อยู่กับลมหายใจของตัวเอง"
  • นำดอกไม้มาถวายเจ้าค่ะ

 

ขอบคุณพระอาจารย์ให้ความรู้เกี่ยวกับวันมาฆบูชา

อยากรบกวนพระอาจารย์ให้ช่วยใช้สำนวนที่ง่ายสำหรับคนทั่วไปด้วยครับ เท่าที่ผมได้อ่านยังคงเป็นสำนวนพระอยู่มากครับ

จากลูกศิษย์พระอาจารย์

นมัสการครับ

โลกยุคนี้ มี "อาจารย์เทียม" มากเด็กๆจึงไม่ได้ความรู้จริงรู้ถูกที่ควรได้

ติดตามงานอาจารย์อยู่ครับ

นมัสการเจ้าค่ะ

มานมัสการ เนื่องในวันมาฆะบูชา

นมะสการลา

เจริญพร โยมพี่คิม, โยมอุ้มบุญ และโยมณัฐรดา

อนุโมทนาขอบคุณที่กรุณาแวะเข้ามาทักทาย  โดยเฉพาะ "โยมพี่คิม" ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจเพิ่มเติม  ผู้ใหญ่หลายท่านในสังคมได้นำเสนอมุมมองดี และน่าสนใจ ให้ความใส่ใจกับบ้านเมือง  ถ้าเราสนใจ ใส่ใจ และให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ตามหลักอปริหานิยธรรม เราอาจจะได้สิ่งดีๆ จากท่านเหล่านี้ และทำให้สังคมร่มเย็นและเป็นสันติสุขได้อีกมากน่ะ โยมพี่คิม

เจริญพร โยม Kanako,

อนุโมทนาขอบใจศิษย์รักที่ได้มาซึมซับเนื้อหามาฆบูชา และต้องขออภัยสำหรับเนื้อหาของภาษา "ค่อนข้างจะเป็นสำนวนแบบพระๆๆ" ตามที่ศิษย์กล่าวอ้าง 

เรื่องนี้ต้องขอยอมรับตรงๆ ว่าเป็นสำนวน "พระๆๆ" เพราะผู้เขียนยังคงเป็น "พระ" ฉะนั้น กลิ่นอายของภาษาอาจจะติดมาจากพระมาก โดยเฉพาะเป็น "พระมาเกือบ ๒๗ ปี" แล้ว

อาตมาจะพยายามพัฒนาภาษา ปรับภาษาให้ได้ทั้ง "ภาษาคน และภาษาธรรม" ซึ่งเป็นการบูรณาการแบบประสมกลมกลืนกันมากยิ่งขึ้น เพื่อให้โลกไม่ช้ำ และธรรมไม่สูญเสียความเป็นแก่นไป

อย่างไรก็ดี  รบกวนศิษย์รักของอาจารย์ไปอ่านหนังสือแนวกึ่งวิชาการได้เพิ่มที่

เจริญพร อาจารย์โจ

"อาจารย์เทียม"  เข้าใจว่าล้อเลียนจากคำว่า "รักเทียม"  สองคำนี้สามารถเทียบกันได้หรือไม่ละท่านอาจารย์โจ  เพราะเราควรเรียก "อาจารย์ที่มีรักแบบเทียมๆ ต่อลูกศิษย์" ว่าเป็น "อาจารย์เทียม" แต่ให้เรียก "อาจารย์ผู้มีหัวใจเต็มไปด้วยรักแท้" ว่าเป็น "อาจารย์แท้" 

ขอบคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาฝากแง่มุัมดีๆ ให้พวกเราได้คิดต่อ

ด้วยสาราณียธรรม

อ่านบันทึกนี้ ทำให้เข้าใจแล้วว่า ทำไม

พุทธศาสนาสอนให้เรากำหนดลมหายใจ เข้าออก

สิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดคือ "ลมหายใจ" และในขณะเดียวกัน "ลมหายใจ" ได้ทำหน้าที่ในการหยิบยื่น "ชีวิต" ให้แก่เรา แทนที่เราจะสนใจ หรือใส่ใจอยู่ทุกเวลาและนาที รวมไปถึงการให้ความสำคัญโดยการกล่าวคำว่า "ขอบคุณลมหายใจ" ในวันใหม่ หรือปีใหม่ แต่เรากลับหลงลืมที่จะใส่ใจต่อสิ่งเหล่านี้ และหลายสถานการณ์เรากลายเป็นคน "อกตัญญูต่อลมหายใจของเราเอง" อย่างไม่น่าเชื่อและไม่น่าให้อภัย

ขออนุญาตเก็บไปไว้อ่านด้วยนะคะ

กราบนมัสการ ท่านมหา

เป็นข้อคิดสติเตือนใจได้ดีมาก และให้ความรู้แก่ชาวพุทธมาก...

    ท่านมหาเคยไปอังกฤษ  ลูกสาวและลูกชายพูดถึงท่านมาก

min and mark  told me . you so smart and good monk . you visit my family in york  in uk. 3 year more

        หากท่านมีอะไรให้รับใช้ โปรดเรียกได้ 086-3121418 ครับ  รองเอ  รรท. สวญ.สทล.2กก.8 ทล

 

นมัสการเจ้าค่ะ

วันนี้ได้ไปทำบุญที่วัดเขาสมอแคลง ฟังเทศน์ฟังธรรม  รู้สึกชื่นใจที่ได้เห็นพ่อแม่หลายครอบครัวจูงลูกจูงลานไปวัด  เป็นการเพาะบ่มให้มีความรักในการปฏิบัติศาสนกิจ  และปลูกฝังให้มีความศรัทธาในทางที่ถูกต้อง  เห็นว่าการเข้าวัดฟังธรรมไม่ใช่เรื่องของคนแก่เท่านั้น

ทำให้ได้โจทย์ว่า  "จะอบรมสั่งสอนเด็กในซอยที่บ้านเกี่ยวกับการนั่งกราบ นั่งไหว้เจ้าค่ะ"  ให้สมกับเกิดมาเป็นพุทธศาสนิกชน

 

อาจารย์แก้ว

ด้วยความยินดี และเต็มใจในความงาม ความดี ความจริง และทั้งสามประการได้นำไปสู่ "ความสุข"

สุข สดชื่น สมหวังในวันมาฆบูชา

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

  • ขอบพระคุณค่ะที่พระคุณเจ้าแวะเข้าไปทักทายที่ "ใต้ร่มกาสาวพัตร์"
  • และลิงค์ให้เข้ามาอ่านบันทึกอันทรงคุณค่าในวันมาฆบูชาวันนี้
  • อยากให้อีกหลาย ๆ คนได้อ่าน ขออนุญาตพระคุณเจ้าเผยแพร่ทั้งในเน็ตและในการสั่งสอนอบรมเด็กนักเรียนที่เริ่มสู่วัยรุ่น รวมทั้งลูก ๆ ของตัวเองด้วยค่ะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

Dear Yom wongsakron,

Thank you very much for the message you kindly sent me. Of course, I met  your family: Min and Mark. They are all very kind of me while I was taking time to be there.

Buddha bless you all healthy and happiness.

With metta,

Ajhan Hansa Dhammahaso.

กราบนมัสการ ท่านอาจารย์มหา ดร.หรรษา ที่เคารพ

ผมได้บทความทางวิชาของท่านแล้ว ขอชื่นชมในองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ท่านกรุณาเมตตาแก่ญาติโยมทั้งหลายครับ

 กราบนมัสการมาด้วความเคารพ

อ.ดร.วรกาญจน์  สุขสดเขียว

  

กราบนมัสการ พระอาจารย์

ความรักที่ปราศจากรัก

ความรักที่ปราศจากความเข้าใจในรัก

ความรักที่ปราศจากความเห็นอกเห็นใจ

จะเรียกว่าว่า "รัก" ได้หรือไม่

มีรัก ก็มีทุกข์

แต่คนเราก็อยากจะได้ทุกข์แบบรักมาอยู่กับตัวเอง

รักแบบขาดความคิดและสติ

เป็นทุกข์นักเหลือเกิน

.....................................

บทความวิชาการดีๆแบบนี้ เป็นบุญเหลือเกินที่ได้อ่านและสัมผัส

ด้วยความเคารพ

นิค

 

 

โยมนิค (MMM NIDA)

มาเยี่ยมชมกันแล้ว ถามตั้งข้อสังเกตได้แหลมคมมาก ขอแลกเปลี่ยนน่ะ

(๑) ความรักที่ปราศจากรักได้หรือไม่?  รักแท้ปราศจากรักเทียมได้ แต่รักเทียม ปราศจากรักแท้ไม่ได้

(๒) ความรักจะปราศจากความเข้าใจในรัก  รักแท้ (True Love) หรือ (Loving Kindness) จะต้องไปด้วยกันกับคำว่า "ความเข้าใจ" และต้องเป็นความเข้าใจที่เรียกว่า เข้าใจชอบ (สัมมาทิฐิ) (Right Understanding) ซึ่งตัวสัมมาทิฐิคือ องค์ประกอบที่สำคัญของปัญญา   ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ความรักจะขาดตัวปัญญาไม่ได้  เจ้าความรักต้องมีเพื่อนแท้สักคน ซึ่งเพื่อนคนนั้นคือ "ปัญญา" เพราะเพื่อนคนนี้จะช่วยให้มองเห็นทุกอย่างตาม "เนื้อผ้า" หรือตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของความโกรธ เกลียด และความหลง

(๓) รักกับความเห็นอกเห็นใจ   ถ้ากล่าวถึง "รักแท้" หรือ "เมตตา" ย่อมเป็นสิ่งเดียวกันกับคำว่า "เห็นอกเห็นใจ" แต่เพียงเห็นแค่ "เห็นอกและเห็นใจ" ย่อมเพียงพอ ฉะนั้น จำเป็นต้องมีธรรมะอีกตัวค่อยเข้าไปช่วยเหลือและเกื้อหนุน คือ "กรุณา" เพราะกรุณา คือ การเข้าไปช่วยเหลือเมื่อเห็นเพื่อนกำลังประสบกับความทุกข์ทรมานในมิติอย่างใดอย่างหนึ่ง

(๔) การมีรักแท้ จะพาเราเข้าไปสู่เส้นทางของความสุข  แต่การมีรักเทียมเข้ามาผสมปนเป หรือแยกไม่ออกว่าอะไรคือแท้หรือเทียม ย่อมทำให้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับรักต้องสบักสบอม

สรุปสุดท้ายคือ "รักเธอแล้วแย่ รักแม่ดีกว่า"

ด้วยสาราณียธรรม

 

โยมพี่คิม

ไฟแรงอีกแล้วนะพี่  ดีที่ว่าเป็น "ไฟนี่เป็นพลังแห่งการทำดี เพื่อสังคมจะได้มีคนดีๆ"  เอาใจช่วย และขออนุโมทนาบุญกับโยมพี่คิมด้วย   ส่วนวัดอาตมาจะเวียนเทียนตอนหนึ่งทุ่ม 

ด้วยสาราณียธรรม

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

  อ่านแล้วทำให้ลึกซึ้งถึงคุณค่าของชีวิตและวันเวลาที่กำลังจะล่วงไป

วันคืนล่วงไป ล่วงไป...เราทำอะไรอยู่...หนอ

เจริญพรท่านทั้งสาม

Ico48

อนุโมทนาขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน  สำหรับอาจารย์อิงจันทร์  ถ้าอาิทิตย์หน้าไปเชียงใหม่จะแวะไปสนทนาธรรมกับโยมได้อย่างไร เพื่อว่าจะได้มีโอกาสเยี่ยมสิ่งดีๆ ที่โยมทำต่อลูกศิษย์  ดร.วรกาญจน์ ท่านไปไกลถึงอินเดีย ไม่ทราบได้อะไรดีๆ โดยเฉพาะบันทึกดีๆ มาฝากพวกเราหรือเปล่า ถ้ามีรบกวนแนบมาให้อาตมาด้วย  โยมตันติราพันธ์  "วันคืนเคลื่อนคล้อย ชีวิตเราเหลือน้อยไปทุกวัน" การคิดถึงความตาย หรือเจริญมรณสตินับเป็นแนวทางที่ดีสำหรับการสอนให้เราไม่ประมาทในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการเจ้าค่ะ...

  • วันนี้ เจ้าตัวโต "พี่ภัคร" อายุประมาณ 24 ปี ก็ไปเวียนเทียนและนั่งสมาธิที่วัด ฯ ด้วยค่ะ...ช่วงเช้าก็ไปทำบุญมาค่ะ...เพราะเขาจะชอบเรื่องธรรมะ บอกว่า สามารถนำมาปรับใช้กับตนเองได้ในการสอบค่ะ...ผลสอบของเขาเรียนจบ ป.ตรีแล้ว ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ค่ะ...เขาบอกว่าเป็นเพราะเขามีสมาธิในการใช้หลักทางธรรมะมาปรับใช้กับตนเองค่ะ...ตอนนี้ก็สอบได้ 1 ใน 5 เพื่อศึกษาต่อ ป.โท ที่ ม.เกษตร ฯ ค่ะ...
  • "พี่ภัคร" เป็นเด็กที่ชอบทางธรรมะค่ะ...บอกว่า...เวลาไปพูดกับคนอื่นที่ใจเขาไม่เปิดรับในเรื่องธรรมะ เขาจะมองดู "พี่ภัคร" เป็นเหมือนตัวประหลาดค่ะ...เพราะพี่ภัครเป็นเด็กหนุ่ม แต่จิตใจชอบเรื่อง "ธรรมะ" ค่ะ...

 

นมัสการพระคุณท่าน เป็นบทความที่เยี่ยมมากครับ

ไม่ใช่เหมาะสำหรับวัยรุ่นเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ต้องรับรู้เพื่อช่วยเหลือเด็กให้เขามีทักษะชีวิต ขอรับ

นมัสการพระคุณเจ้า

ขอบคุณลมหายใจ....  ที่ทำให้ยังได้อ่านบันทึกดีดี

ขอบพระคุณเจ้าค่ะ

มาเยี่ยมนมัสการพระคุณเจ้าครับผม


กราบถวายความเคารพครับพระอาจารย์

ได้อ่านบทความของพระอาจารย์  ได้ข้อคิดหลายเรื่อง  และเรื่องที่สำคัญคือ เรา (พระสงฆ์) จะช่วยให้เด็กและเยาวชน เข้าถึงความรักที่ประกอบด้วยปัญญาได้อย่างไร  คงเป็นโจทย์ของผมและพระสงฆ์ทุกรูปครับ

เจริญพร โยมบุษยมาศ,

อาตมาขอนำเนื้อหาในคำอธิบายบล๊อกของโยมใส่ในส่วนนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่บล๊อกของอาตมา  เพราะเมื่อได้อ่านประโยคด้านล่างแล้วคิดถึงแม่ของตัวเอง

"เป็น ความผูกพันที่แม่มีต่อลูก...ความหวังดี ความปรารถนาดี ความห่วงใย ความรัก ที่แม่มีต่อลูก...ไม่ว่าสัตว์โลกทุกตัว ที่ขึ้นชื่อว่า "แม่"...ย่อมมีความรัก ความห่วงใยต่อลูก ๆ ของมัน.."

เมื่อได้ อ่านคำอธิบายบล๊อกที่โยมมีต่อ "ลูกภัคร" แล้ว ทำให้เข้าใจอย่างประจักษ์ชัดว่า "เพราะเหตุใด? ลูกภัคร จึงประสบความสำเร็จทางในการดำเนินชีวิต และการเรียน"

ย่อมประจักษ์ ชัดว่า "อาตมาไม่มั่นใจว่า ในฐานะของความเป็นแม่แล้ว สัตว์ทุึกชนิดในโลกนี้จะรักลูกของมัน  (เนื่องจากไม่เคยรับรู้ถึงพฤติกรรมของสัตว์บางชนิด จึงอาจจะสรุปไม่ได้) แต่อาตมามั่นใจว่า "ลูกภัคร" เป็นผู้ที่ "มีบุญดี" และ "มีทุนดี" ไม่ว่าจะเป็นบุญ หรือทุนที่สัมผัสทางกายภาพ หรือจิตภาพ ที่เกิดมาเป็น "ลูกของแม่บุษยมาศ"

รักของแ่ม่บุษยมาศเป็น "รักแท้" ที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ ถนุถนอม เอาใจและ แบ่งปัน  และขอให้ "รักแท้" เช่นนี้เป็นประดุจห่วงโซ่ที่คล้องกาย และใจของแม่ลูก และครอบครัวให้สามารถ "ครองตน ครองคน และครองงาน" ตลอดปี และตลอดไป

ด้วยสาราณียธรรม

กัลยาณมิตรทั้งสาม

Ico48 tamtam1

Ico48 โสภณ เปียสนิท

Ico48 บัณฑิตเมธี

อนุโมทนาขอบคุณโยม "Tamtam" และ "อาจารย์โสภณ" ที่ได้กรุณามาเยี่ยมถึงกุฏิ (บันทึกบล๊อกหน้านี้) และขอบคุณลมหายใจแห่งการรู้ ตื่น และเบิกบานที่โยมได้ส่งต่อให้อาตมาและเพื่อนร่วมโลก

ท่านบัณฑิตเมธีครับ ถ้าเข้าใจไม่ผิด ท่านน่าจะเป็นพระภิกษุหนุ่มรูปงามตามชื่อนะครับ เพราะคำว่า บัณฑิตเมธี นอกจากจะเป็นผู้ที่ฉลาดและอุดมไปด้วยปัญญาแล้ว ชื่อเช่นนี้มักจะเป็นบัณฑิตที่งามทั้งภายในและภายนอกด้วย

ผมขอเป็นเพียงพระรูปหนึ่ง (ผู้ซึ่งกำลังเดินไปสู่ "ความแก่ และความตาย") ที่จะช่วยสะท้อนแง่คิดและมุมมองจาก "ช่วงหนึ่งของกาลเวลา" ว่า เราจะทำสิ่งที่ดี และมีคุณค่าบ้าง เพื่อเป็นเครื่องบรรณาการขอบคุณลมหายใจของตัวเอง และขอบคุณลมหายใจ และความรู้สึกดีๆ ของท่านนะครับ

ด้วยสาราณียธรรม

เจริญพร ท่าน ผอ.พรชัย Ico48 

เราไม่ได้พบกันมานานแล้วน่ะท่านอาจารย์ และความสัมพันธ์และความรู้สึกดีๆ ยังมีให้กันเช่นเดิม อาตมาจำวันที่ได้มีโอกาสไปพบ และร่วมทำกิจกรรมที่โรงเรียนผอ. ได้อยู่ทุกลมหายใจ   และำพวกเราทุกคนดีใจ และสุขที่อาจารย์ได้มอบ "รักแท้" แก่ศิษย์ของตัวเอง

ด้วยสาราณียธรรม

นมัสการท่านผศ.ดร.หรรษา

ได้อ่านบทความที่เกี่ยวกับความรัก ได้เห็นมุมมองเกี่ยวกับเรื่องความรักของท่านอาจารย์ดร.โดยผ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา ยอดเยี่ยมจริงๆ กำลังรออ่านผลงานของท่านอาจารย์อีก

ขอคารวะ

จาก รักษาโฉม

 

คุณแม่ รักษาโฉม

อาตมาก็เช่นกัน เห็นบทบาทและการทำงานของคุณแม่ที่มีต่อลูกศิษย์ ป.โท มจร.แล้ว ขอแสดงความชื่นชม  ที่ผ่านมาคุณแม่มีงานดีๆ มากมาย  อาตมาก็เช่นเดียวกันคุณแม่คือ "รออ่านบทความดีๆ ที่คุณแม่ตัดออกมาจากงานใหญ่" งานบทความจะกระชับสั้น ได้เนื้อหา และได้บทสรุปในเวลาอันรวดเร็ว

จากวันนี้ อาตมาจะสวดมนต์รอ (ไม่ใ่ช่รองเพลงพอ) ผลงานดีๆ ของคุณแม่ที่จะออกมาผ่านสายตาของพวกเรา  ไ่ม่ว่าจะเป็นเดือน ปี หรือสิบ อาตมาก็จะรอ

 

ด้วยสาราณียธรรม

  • นมัสการท่านธรรมหรรษา
  • เป็นบันทึกที่ให้ข้อคิดเตือนใจ ทั้งกลุ่มเยาวชน และกลุ่มผู้ใหญ่
  • สุดท้าย..........สุขที่เรายังมีลมหายใจ....
  • นมัสการ...บันทึกดีดีมีคุณค่ะ

โยมเอื้อง

เจริญพรขอบใจที่แวะมาทักทายตามประสาญาติธรรม   หวังใจว่า เราทุกคนจะไม่ลืมว่า "เรายังลมหายใจอยู่" เพราะบางคนมีก็เหมือนไม่มี จึงหายใจทิ้งไปวันๆ จึงไม่ได้คุณค่าที่แท้จริง และประโยชน์ที่ควรมีควรได้จากลมหายใจ

ความสุขที่ยิ่งใหญ่คือการได้อยู่กับลมหายใจของตัวเอง

และรักอย่างมีสติ...

กราบนมัสการพระคุณเจ้าครับ

ท่าน อาจารย์ ผศ. นุ  Ico48 

ขอบคุณมากที่พาลูกน้อยมาเยี่ยมอาตมา  อาตมาอาจจะเป็นหลวงปู่ของหนูน้อยน่ะ  ดีใจที่ได้ทีมงานวิศวกรรมเพื่อสังคม  เมื่อทุกคน ทุกกลุ่มหันมาใส่ใจสังคม ความร่มเย็นและเป็นสันติสุขจะบังเกิดกับพวกเรา 

ด้วยสาราณียธรรม

        ท่านพระอาจารย์  อ่านบทความของท่านแล้วมีความสุขขึ้นเยอะครับ

อาจารย์อรุโณทัย

อนุโมทนากับท่านอาจารย์  ขอเพียงได้ประจักษ์ว่า "ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรรม"  รักษาธรรม แล้วธรรมจะรักษาอาจารย์ให้สุข สดชื่น และสมหวังดังใจนึก

 

ด้วยสาราณียธรรม

กราบนมัสการเจ้าค่ะ

ความสามารถในการผ่านรักร้าว ย่อมดีกว่าการมีแค่ความสามารถในการ ฝัน ถึงแต่รักที่แสนหวาน ค่ะ

ขออนุโมทนาบุญกับความสุขที่ยิ่งใหญ่นี้ด้วยค่ะ

โยมน้ำเกลือหวาน

ขอบใจมาแวะมาเยี่ยมเยียนอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานมาก  ประสบการณ์กับความฝัน มักเป็นคนละโลก  เพียงแค่ฝันไม่มีวันเป็นจริง แต่การเข้าใจความจริงของสิ่งที่เข้าไปกระทบหรือสัมผัส ย่อมทำให้ "รัก" ไม่เกิดอาการ "ร้าว"

 

ด้วยสาราณียธรรม

ไม่มีใครรักมากกว่าตังเอง หรือคนที่บอกว่ารักเราทุกวัน รักพ่อแม่ดีกว่า

โยมนก

"ไม่มีใครรักมากกว่าตัวเอง หรือคนที่บอกว่ารักเราทุกวัน รักพ่อแม่ดีกว่า" เป็นถ้อยคำที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง สอดรับกับพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า "ไม่มีใครรักคนอื่นมากกว่าการรักตัวเอง" 

การรักแบบหนุ่มสาว เราัมักได้ยินคำว่า "รักเธอเหลือเกิน" ความรักดังกล่าวอาจจะนำไปสู่การ "นำเขามาทำให้เรามีความสุข"  เมื่อไรไม่สมหวังในรัก หรือรักที่ว่าไม่สามารถทำใ้ห้มีสุข  เขา หรือเราอาจจะตัดสินใจ ผละจากสิ่งที่เราไม่สมหวัง และไม่สามารถบริหารความคาดหวังของเราได้

ด้วยสาราณียธรรม

รักแท้ จะสอนให้เราเห็นแก่ตัวน้อยลง และค่อยๆยกระดับความรักให้สูงขึ้น

แต่ มันจะดีกว่าไหมถ้าเราจะยกระดับความรักด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอให้ รักแท้

มาบงการ เพราะบางครั้งรักแท้ อาจมาช้า...หรือมาสายเกินกว่าจะแก้ความเห็นแก่ตัว นั้นได้

ขอบพระคุณและสวัสดีค่ะ

โยมน้ำเกลือหวาน

โดยปกติแล้ว "น้ำเกลือ" ที่อาตมารู้จัก "มักจะเค็ม" แต่การใช้ชื่อว่า "น้ำเกลือหวาน" ดูประหนึ่งว่า "เกิดจากประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง"  หากเจ้าของนามนี้มีโอกาสได้มีเยือนอีกคราว ได้โปรดบอกพวกเราถึงที่มาของคำนี้ จะเป็นพระคุณยิ่ง

เห็นด้วยอย่างยิ่งที่บอกว่า "รักแท้สอนให้เราแก่ตัวน้อยลง" อีกทั้งรักแท้ "จะทำให้เราเห็นแก่คนอื่นมากยิ่งขึ้น" เหตุผลก็เพราะ "การพบรักแท้" คือ "การพบความจริงที่ว่า เรารักความสุข เกลียดกลัวความทุกข์ฉันใด  มนุษย์คนอื่นๆ ล้วนรักความสุข เกลียดกลัวความทุกข์ฉันนั้น เหมือนกัน"

ฉะนั้น เมื่อมนุษย์รักตัวเอง  เราจึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น  เพราะเมื่อเราไม่เบียดเีบียนคนอื่นๆ  จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะทำให้คนอื่นมาเบียดเบียนเรา (ยกเว้นกรณีกรรมเชิงสังคม) ฉะนั้น การรักตัวเองมีค่าเท่ากับการรักคนอื่น และการรักคนอื่น มีค่าเท่ากับการรักตัวเอง  เมื่อเข้าใจกฎเกณฑ์ข้อนี้ จึงทำให้ระลึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า "อัตตานัง อุปมัง กะเร" คือ "การเอาใจเขามาใส่ใจเรา" (ศิษย์เก่ามหิดลย่อมรู้จักพุทธพจน์ข้อนี้ดี)

อนุโมทนาขอบใจอีกครั้งที่แวะเวียนมาให้แง่คิด และแลกเปลี่ยนมุมมองดีๆ

ด้วยสาราณียธรรม

กราบนมัสการพระคุณเจ้าและสวัสดีกัลยาณมิตรทุกท่านค่ะ

"ในโลกนี้ความรักไม่ใช่สิ่งที่มีค่าที่สุด แต่ความรักเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีค่ามากที่สุด"

น้ำเกลือหวาน หาได้มีที่มาซับซ้อนไม่ เพียงแต่ตั้งขึ้นตามความรู้สึกส่วนตัวที่ปรารถนารสหวาน มากว่ารสเค็มเท่านั้นเองเจ้าค่ะ

สาธุค่ะ

โยมน้ำเกลือหวาน

อนุโมทนา... สาธุ

 

ด้วยสาราณียธรรม

  • นมัสการท่าน
  • ขอ link ไปให้นิสิตอ่านใน Facebook นะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับ

อ. ดร. ขจิต,

ด้วยความยินดีและเต็มใจมากๆ ในความตั้งใจดีของท่านอาจารย์ ดร. (หนุ่มและจิตใจงดงามแถมเก่งมาก)  และขออนุโมทนาสำหรับ "ดอกไม้ช่องาม" ที่นำมาใส่บาตรของอาตมา ยินดีและเต็มใจรับ "ดอกรัก" จากอาจารย์ด้วยความจริงใจ และไมตรีจิต

ด้วยสาราณียธรรม

จริง ๆ แล้ว มนุษย์เราที่อาศัยบนโลกนี้ ก็ยังแยกไม่ออกกับรักแท้ รักเทียม (ตัวดิฉันเองก็ไม่รู้ เพราะสติไม่ได้อยู่กับตัวตลอดเวลา   (บางทีก็ไม่รู้ตัวชั่ววูบ)  ทุกขณะจิตที่เรารักเขา(เพื่อนร่วมโลกหรือรักตัวเราเอง)  แต่อย่างไรก็ตาม รักแท้ก็ดี รักเทียมก็ได้  หากเรามีสติและระลึกรู้ถึงความรักนั้น และมีความสุขกับมัน หรือมีทุกข์ก็รู้ ก็น่าที่จะทำให้เราอยู่บนโลกนี้ได้เป็นอย่างดี   /น้ำพริก

โยมน้ำพริก

"รักแท้ก็ดี รักเทียมก็ได้  หากเรามีสติและระลึกรู้ถึงความรักนั้น และมีความสุขกับมัน หรือมีทุกข์ก็รู้ ก็น่าที่จะทำให้เราอยู่บนโลกนี้ได้เป็นอย่างดี"

ทุกถ้อยคำที่โยมเขียนมาันั้นเต็มไปด้วยคุณค่าที่ "อาจจะ" ตึกผลึกจากประสบการณ์การเผชิญหน้ากับ "รักแท้ และรักเทียม" ในบางครั้ง "รักเทียมทำให้เราได้มีโอกาสพบรักแท้"  และเราต้องขอบคุณว่า "ถ้าไม่มีรักเทียมแล้ว เราจะหารักแท้ได้จากแหล่งใด"

"การมีมีสติ และระลึกถึงความรัก และมีความสุขกับมัน ทุกข์ก็รู้" เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ทำให้ "ใครก็ตามที่เข้าไปสัมพันธ์กับรักในมิติใดมิติหนึ่งมีท่าทีต่อรักอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น"

สรุปคือ "ความรัก" ไม่ว่าจะรักแท้ หรือรักเทียมเป็นสิ่งที่อาจจะทำให้เราเข้าถึงความจริงได้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า "ความรักเป็นเรื่องที่ดี แต่ให้ดูท่าทีของการเข้าไปเกี่ยวข้องกับความรัก" 

ขอบใจโยมมากๆ ที่เดินทางมา "ใส่บาตรปัญญา" ให้แก่อาตมาและท่านผู้อ่านท่านอื่นๆ  และดีใจว่า "โยมได้รู้เท่าทันรัก ไม่ว่าจะเป็นรักแท้ หรือรักเทียม" ขอให้โยมได้โปรดส่งต่อ "แสงรักแห่งรัก" ไปสู่ทุกคนที่อยู่รอบข้างดังเช่นที่ได้มอบให้แก่พวกเราในวันนี้

 

ด้วยสาราณีียธรรม

บทความนี้น่าสนใจครับ  ทันเหตุการณ์ อยู่ในความสนใจของสังคม...ขอชื่นชมและขอบคุณสำหรับบทความดีๆ ที่จะออกสู่สายตาผู้แสวงหาแสงสว่างคือปัญญาต่อไปครับ

มาแรงจริงๆ ในเดีอนแห่งความรัก มีผู้คนให้ความสนใจกับบทความนีั้เป็นอย่างมาก ไหลไปมากกว่า 5000 ครั้ง มากกว่าข่าวด้านอื่นๆ บน mcu.ac ขออนุโมทนาที่เป็นสื่อธรรมะดีๆให้ชาวโลกได้อ่านและนำไปปฏิบัติได้ เยี่ยมจริงๆ

ด้วยความรักไม่รู้จบ แ้ม้ผืนดินกลบ.....   แล้วความรักแท้กับรักเทียม ก็เป็นวัฏจักรของชีวิตของทุก ๆ จริง?   น้ำพริก

พี่ใหญ่ สรวิช และคุณน้ำพริก

ขอบคุณมากๆ สำหรับการเข้ามาเยี่ยมเยียน และฝากข้อคิดและข้อห่วงใยดีๆ มาแลกเปลี่ยน  หวังว่าแนวคิดเหล่านี้จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ผู้อ่านทุกท่านในโกทูโน

ด้วยสาราณียธรรม

กี่คน  กี่ครอบครัวที่ผ่านมา

กี่รัก  กี่ห่วงใยที่มนุษย์มีให้แก่กัน

ให้อย่างมากมายเหลือคณนา

พ่อแม่รักลูกด้วยการตามใจลูก

หนุ่มสาวรักกันมากแล้วตามมาด้วยความอาฆาต

จุดจบแห่งความรักมากกลายเป็นความเจ็บปวด

นั่นคือรักที่ขาดการประมาณจึงต้องทรมาน

ความพอดีอยู่ตรงไหน? 

อะไรที่ตึงเกินไปก็มักขาด

อะไรที่หย่อนเกินไปก็ใช้การไม่ได้

คำตอบคือ...

หัวใจที่เสียสละ  รักโดยมิหวังอะไรตอบแทน

เมตตา ความปรารถนาดีต่อกัน ด้วยความจริงใจเท่านั้น

ที่สามารถหล่อเลี้ยงหัวใจของคนสองคนไว้ได้

ตราบนานเท่านั้น..ชั่วนิรันดร์

  • กราบนมัสการพระคุณเจ้า
  • ตาสว่างอีกเยอะเลย
  • สาธุอนุโมทนาค่ะ

ครูต้อยติ่ง

อนุโมทนาขอบใจมากที่ครูแวะมาเยือน หลังจากไม่ได้พบหน้าพบตากันกันทางนี้มานานแล้ว  ดีใจที่เห็นโยมได้รับประโยชน์  และร่วมแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ แก่ญาติมิตรและคนใกล้เคียงในโอกาสต่อไป

กราบนมัสสการค่ะ

รักแท้นั้นไซร้ อยู่ใกล้แค่ใจเรา แล้วใยเล่าคนเราจึงมักเรียกร้องความรักจากผู้อื่นเสมอ

กราบขอบพระคุณสำหรับบทความแห่งกำลังใจเจ้าค่ะ

กราบนมัสการเจ้าค่ะพระอาจารย์

ความรักสำหรับนิยามของศิษย์นั้นคือ

รักแท้คือการเสียสละ ส่วนรักเทียมคือการคาดหวังครอบครอง

เพราะโลกนี้ขาดความรักไม่ได้ดังเช่นที่พระอาจารย์เมตตากล่าวมา

ความรักคือสิ่งสวยงามแต่คนเราเองที่ทำให้ความรักกลายเป็นเรื่องน่าหดหู่เจ้าค่ะ

แต่นั่นคือความรักในทางโลกที่คนเราคาดหวังครอบครองยึดติดว่าเขาเป็นของเรา

ต่างจากความรักในทางธรรมที่เป็นรักแท้ไม่แปรเปลี่ยนเพราะยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อ"ให้"และ

ความเป็นผู้ให้เรารู้ ผู้ให้เราตื่น ผู้ให้เราเบิกบาน นั่นคือ "ความรักแท้จากธรรมแท้"เจ้าค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท