เรื่องเล่าเมื่อเข้า Blog: เครื่องมือใหม่สำหรับการจัดการความรู้


ดิฉันเขียนบทความนี้ลงใน จดหมายข่าว "ถักทอสายใยแห่งความรู้" ฉบับที่ 11 (มีนาคม-เมษายน 2548)

เรื่องเล่าเมื่อเข้า Blog: เครื่องมือใหม่สำหรับการจัดการความรู้

21 กุมภาพันธ์ 2548

วันนี้ดิฉันตื่นเช้ามาด้วยความสดชื่นเป็นพิเศษ นกกางเขนดงหลายตัวแข่งกันร้องรับสายน้ำฝนปรอยๆยามเช้า แนวแถวต้นสะตอห้าต้นหลังบ้านดูชุ่มฉ่ำขึ้นมาถนัดตาหลังจากที่ฝนไม่ตกมาเกือบเดือน น้ำในอ่างเก็บน้ำที่เกือบจะแห้งขอดแล้วก็คงเพิ่มปริมาณขึ้นอีกสักหน่อย แฟลตอาจารย์ที่ดิฉันอยู่นี้ติดกับปลายเขาคอหงษ์ ไม่ไกลจากอ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัยสักเท่าไรนัก แต่ก็ดูจะห่างไกลจากตัวเมืองเอาการอยู่เหมือนกัน แต่กระนั้นก็ตามหลังจากรอคอยมาหลายต่อหลายปี อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงก็ยังอุตส่าห์ให้บริการได้ถึงแถวๆ แฟลตที่ดิฉันอาศัยอยู่ แม้ความเร็วจะช้าบ้างเร็วบ้างไม่สม่ำเสมอและแพงมากเป็นสี่เท่าของในกรุงเทพฯ ยังไงก็ยังดีกว่าไม่มีเสียเลย

ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่ชีวิตนี้ขาดอินเตอร์เน็ตแล้วก็เหมือนคนภาคใต้ยามนี้ที่ขาดฝนนั่นล่ะ ฝนตกลงมาเมื่อไหร่ก็เหมือนกระดี่ได้น้ำ สำหรับดิฉันแล้ววันไหนอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงส่งสัญญาณมาได้เต็มความเร็ว ดิฉันก็ออกท่าทางเป็นกระดี่ได้น้ำเช่นกัน กิจวัตรของเช้าวันนี้ ก็เหมือนทุกๆวันที่เริ่มต้นด้วยการเข้าไปในขุมความรู้มหาศาลที่คอยจุดกระตุ้นเซลล์สมองให้พัฒนาอยู่เรื่อยๆ ที่ชื่ออินเตอร์เน็ต หลังจากเช็คอีเมล์ต่างๆประมาณเกือบร้อยฉบับที่ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับดิฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดิฉันก็เริ่มการปั่นพลังสมองยามเช้าด้วยการอ่าน Blog ที่เลือกสมัครและสะสมไว้อ่านกว่าร้อยแห่ง เผลอเดี๋ยวเดียว กาแฟร้อนๆ ครึ่งกาก็หมดไปโดยไม่รู้ตัวขณะยังเมามันส์อยู่กับข่าวสารเรื่องราวนานาสาระใน Blog เหล่านี้

ดิฉันหลงไหลในเสน่ห์ของ Blog ด้วยลักษณะเด่นในการเขียนที่คล้ายคลึงกับการเขียนบันทึกเพื่อสื่อสารความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ ความรู้ ข่าวสาร ในเรื่องที่ผู้เขียนสนใจโดยเฉพาะ รวมทั้งทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ถึงความเป็นตัวตนของเจ้าของ Blog ด้วยความจริงใจในการสื่อสารที่แสดงออกมาในรูปมุมมองของบุคคลที่หนึ่ง (First-Person Point of View หรือ Participant Point of View) ที่มีความอิสระในการนำเสนอทั้งในอารมณ์ร่วมต่อสิ่งที่สื่อสารและในโครงสร้างเป็นอย่างมาก ถ้าจะเรียกให้เป็นปรัชญาเสียหน่อยก็คงได้ว่า “ฉันคิด ฉันจึงเขียน และเมื่อฉันเขียน ฉันจึงเขียนอย่างฉันเขียน และสิ่งที่คุณกำลังอ่านอยู่คือโลกที่กรองผ่านความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองของฉัน” ยิ่งกว่านั้น Blog ยังมีความ “ถ้าคุณจะอ่านก็อ่าน แต่ถ้าคุณจะไม่อ่าน ฉันก็ยังจะเขียนสิ่งที่ฉันเขียน เพราะนี่คือตัวฉัน”

จะมองอีกมุมหนึ่ง Blog เป็นรูปแบบการสะท้อนอิสระภาพทางความคิดของบุคคลในโลกยุคใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานการมีตัวตนของบุคคลนั้นอย่างชัดเจน ความมีตัวตนนี้จะต่างกับการ “คิด” ผ่านรูปแบบอื่นๆ ที่ยังคงต้องแฝงอยู่บนพื้นฐานตัวตนของสิ่งนั้นๆ (อาทิเช่น คิดผ่านหนังสือพิมพ์ก็ต้องอยู่บนตัวตนของหนังสือพิมพ์ คิดผ่านเวปไซต์ต่างๆ ก็ต้องสอดคล้องกับตัวตนของเวปไซต์นั้นๆ เป็นต้น) และการเขียนบนพื้นฐานของความมีตัวตนนี่เองที่ทำให้งานเขียนนั้นๆ สะท้อน Tacit Knowledge ของผู้เขียนออกมามาก ถ้าเขียนเป็นภาษาฝรั่งเสียหน่อยก็คงได้ว่า Tacit knowledge expresses individuality. และถ้าจะล้อเลียนคุณ René Descartes เสียนิดก็คงเป็น I have tacit knowledge, therefore I am.

ยิ่งไปกว่านั้น Blog ยังมีลักษณะเฉพาะตัวอีกสองสามอย่างด้วยกันที่น่าสนใจ อย่างแรกและเป็นอย่างที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ผู้เขียนมักจะมีการลิงค์ไปหา Blog อื่นที่ผู้เขียนได้เสนอความคิดเห็นโยงต่อจากข้อเขียนที่เขาอ้างถึง ดังนั้น นอกจาก Blog จะใช้ในการเขียน และเผยแพร่เรื่องราวต่างๆแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งรวมสิ่งที่เจ้าของ Blog นั้นๆ สนใจอ่านและใช้เป็นฐานเพื่อเสริมต่อความคิดอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น ลิงค์ของ Blog อื่นๆ หรือเวปไซต์ก็ตาม ลักษณะนี้ทำให้เกิดเครือข่ายของกลุ่มคนที่มีความรู้ความคิดและความสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกันเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Social Network ซึ่งถ้าแปลอังกฤษให้เป็นอังกฤษจะได้ว่าเป็น Network of Communities of Practice นั่นเอง

ลักษณะเฉพาะต่อมาของ Blog เกี่ยวข้องกับการแสดงข้อมูล (Information Presentation) ใน Webpage ของ Blog ซึ่งแสนจะอ่านง่ายและเป็นระเบียบเหมือนกันทุก Blog นั่นก็คือ แสดงเป็นรายการย้อนหลังโดยรายการล่าสุดอยู่บนสุด และรายการวันต่อๆ มาก็แสดงต่อกันไปอีกสักประมาณ 2-3 วัน ถ้ารายการที่เก่ากว่านั้นก็สามารถคลิกดูได้ที่ปฎิทินซึ่งจะอยู่ใน Webpage นั่นล่ะ การแสดงข้อมูลใน Blog นี้รู้สึกว่าคุณ Dave Winer (http://www.scripting.com/) จะเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำ แล้วหลังจากนั้นคนเขียน Blog หรือเรียกด้วยศัพท์เทคนิคว่า Blogger คนอื่นๆ ก็เลียนแบบตามๆ กันไปเพราะเห็นประโยชน์ในการอ่านได้ง่ายและรวดเร็วนั่นเอง

การแสดงข้อมูลแบบนี้ประสบความสำเร็จมากก็เพราะเป็นการทำตาม KISS Methodology ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์สารสนเทศ (Information Science) แล้ว เราจะถือว่าใคร KISS คนนั้น Success แน่นอน แล้วก็จะเป็นจริงอย่างนั้นเสมอไปเสียทุกทีด้วย สงสัยแล้วใช่ไหมว่า KISS Methodology เป็นอย่างไร ก่อนจะเข้าใจผิดคงต้องเฉลยแล้วว่า KISS ย่อมาจาก Keep It Simple Stupid แปลเป็นไทยจะได้ว่า “พยายามทำอะไรให้มันง่ายๆ เข้าไว้” ผู้กระทำตาม KISS Methodology แล้วประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลก็ได้แก่ Google นั่นไงคะ Google ในช่วงแรกๆ ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า Search Engine เจ้าอื่นเท่าไหร่นัก แต่เนื่องจากการแสดงข้อมูลเข้าถึงได้ง่ายผิดกับเจ้าอื่นที่รกรุงรังทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่า Google ให้ผลลัพธ์ที่ดี ช่วงหลังๆ นี้ Search Engine รายอื่นๆ เลยต้องหันมา KISS กันเป็นทิวแถว

… เมี๊ยว เมี๊ยว … เจ้าเหมียววิเชียรมาศช่างพูด มาร้องเรียกขอให้ช่วยลูบหลัง ดิฉันจำต้องละมือจากคีย์บอร์ดชั่วคราว โปรแกรม Microsoft Word ที่ใช้เขียนบทความนี้ยังเปิดอยู่ พร้อมกับโปรแกรม BlogExpress ที่ใช้เป็นโปรแกรมอ่าน Blog ก็ยังเปิดค้างไว้อยู่เช่นกัน สำหรับดิฉันแล้วที่ชีวิตส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ Blog ดูเหมือนจะเป็นสถานที่แรกๆที่เมื่อต้องการรับขุมความรู้ที่หาไม่ได้ในหนังสือหรือวารสารต่างๆ และเขียนอยู่ในภาษาที่สบายๆ และเมื่อต้องการหยุดพักสมอง ดิฉันก็สามารถหาสีสันและเสียงหัวเราะให้กับชีวิตได้จาก Blog เช่นกัน

ดิฉันเองมีความเชื่ออย่างยิ่งว่า Blog เป็นสัญญาณสำคัญของการพัฒนาความรู้ของมนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่ ผู้คนที่ไม่เคยรู้จักกัน ผู้คนที่กันคนละซีกโลก ผู้คนที่ต่างซึ่งเชื้อชาติศาสนา ต่างกล้าที่เปิดเผยตัวตนและกล้าเสนอความคิดอ่าน ความรู้ และ ประสบการณ์ ในรูปแบบของการเล่าเรื่องราว (Storytelling) ซึ่งในแวดวงการจัดการความรู้ยอมรับว่าเป็นวิธีการถ่ายทอดความรู้รูปแบบหนึ่งที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น หลายองค์กรชั้นนำในโลกนี้ นำ Blogไปใช้เพื่อสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยสมาชิกขององค์กรมักจะเขียนถึงประสบการณ์เทคนิคต่างๆ ที่ตนได้รับจากหน้าที่งานในการทำงานโครงการต่างๆ ขององค์กร เช่น http://blogs.sun.com/ หรือ http://blogs.msdn.com/ เป็นต้น

เจ้าเหมียวลุกออกจากตักไปแล้ว ดิฉันกลับมาเขียนบทความต่ออีกครั้ง พลางนึกไปว่า วันนี้ยังไม่ได้อ่าน Blog อะไรอีกบ้าง Blog ของอาจารย์หมอวิจารณ์ (http://blog-for-thai-km.blogspot.com/) ก็ยังไม่ได้อ่านนี่นา ไหนจะ http://www.gizmodo.com/, http://PlanetHCI.org, http://www.guuui.com/, http://blogs.sun.com/jonathan และอื่นๆ อีกมากมายก็ยังไม่ได้เปิดอ่าน สงสัยวันนี้ Blog เหล่านี้ ดิฉันคงได้แค่เปิดดูคร่าวๆเท่านั้น แล้วก็พลางย้อนนึกไปว่า ดิฉันเข้าไปเจอเวปไซต์ เหล่านี้ได้อย่างไร คงไม่ใช่ที่อื่นไปได้นอกจากติดตามผ่าน http://Blogdex.net และ http://www.Popdex.com ที่นำรายการที่น่าสนใจที่มีผู้คนอ้างอิงถึงเยอะจาก Blog ที่ดิฉันไม่รู้จักมาให้ได้ติดตาม

ส่วนการอ่าน Blog นั้น สามารถอ่านได้โดยตรงจากเวปไซต์นั้นๆ หรือ อ่านจากเวปไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวรวบรวม Blog หรืออ่านโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ใช้อ่าน Blog วิธีสุดท้ายนี้จะอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาในอ่านได้เป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ติดตามอ่าน Blog จำนวนมากเป็นประจำ ซอฟต์แวร์ดังกล่าวนี้มีผู้พัฒนาขึ้นมามากและให้บริการ Download ฟรี เช่น RSSBandit หรือ SharpReader ส่วนตัวแล้ว ดิฉันใช้ BlogExpress (http://BlogExpress.com) ซึ่งพัฒนาโดยคนไทยเรานี่เอง การอ่าน Blog กับซอฟต์แวร์ช่วยอ่านเหล่านี้ หลังจากติดตั้งโปรแกรมในเครื่องแล้ว เมื่อเปิดโปรแกรมขี้นมา ให้ทำการสมัครอ่าน Blog จากเวปไซต์ โดยก๊อบบี้ลิงค์ของไฟล์ที่เรียกว่า Site Feed มาใส่ในโปรแกรมที่ลงไว้ 

Blog ต่างๆอาจใช้คำเขียนเรียก Site Feed แตกต่างกันไป เช่น  RSS 1.0, RSS 2.0, หรือ Atom คำเหล่านั้นหมายถึงรูปแบบของไฟล์ แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็เป็น Site Feed เหมือนกัน Blog ส่วนใหญ่ใส่ลิงค์นี้ในรูปกราฟฟิกเล็กๆ บางแห่งก็เป็น Text Link ธรรมดา Site Feed นี้ เป็นไฟล์ที่มีการปรับปรุงทุกครั้งที่มีเขียน Blog โดยนำเสนอเนื้อหาย่อรวมของ Blog เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ติดตามอ่านหลังจากที่ได้สมัครอ่าน Blog

เมื่อเพิ่ม Site Feed ลงไปในโปรแกรมช่วยอ่านแล้ว การอ่าน Blog ในครั้งต่อๆไปก็สามารถอ่านจากโปรแกรมได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องอ่านจากเวปไซต์ทุกๆ เวปอีกต่อไป เมื่ออยากรับข้อมูลใหม่ๆจาก Blog ที่สมัครอ่านไว้ก็ทำการอัพเดต Site Feed นั้นๆ หรือเรียกว่าการ Synchronize หรือหากต้องการเคลียร์ Feed ที่อ่านแล้วก็ให้ทำการ Catch Up ก็เป็นอันเรียบร้อย

เขียนมาถึง ณ จุดนี้แล้ว ก็รู้สึกเหมือนว่าวิญญาณความเป็นอาจารย์เข้าสิง ทำให้เนื้อหาดูออกจะหนักไปทางเทคนิคบ้าง แต่ก็เป็นการปูพื้นให้เข้าใจการอ่าน Blog ในแบบสั้นๆ พอประมาณ ซึ่ง Blog นี่ล่ะจะเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้อย่างมากมายทีเดียว ในเทอมหน้านี้ดิฉันจะสอนวิชาการจัดการความรู้ให้นักศึกษา MBA ดิฉันจะนำเอา Blog ไปเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนในวิชานี้อย่างแน่นอน อย่างน้อยที่สุดนักศึกษาแต่ละคนจะต้องเขียน Blog ที่เกี่ยวกับด้านการจัดการความรู้ ประสบการณ์ในการนำ Blog ไปใช้ในการเรียนการสอนจะเป็นอย่างไรนั้น ดิฉันจะนำมาบอกเล่ากันต่อไปเมื่อโอกาสอำนวย

พูดถึงเรื่องของการเขียน Blog ดิฉันเองก็ยังไม่มีเวลาได้เริ่มต้นเขียน Blog ของตัวเองซักที โดยอันที่จริงแล้ว การสร้าง Blog นั้นทำได้โดยไม่ยากนัก มีเวปไซต์ที่ให้บริการสร้าง Blog ฟรีอยู่พอสมควร เช่น Blogger.com เป็นต้น แต่ที่ไม่ฟรีต้องจ่ายค่าบริการเพื่อฟังก์ชันการทำงานที่สมบูรณ์แบบกว่าก็มีอยู่เช่น เช่น Typepad.com เป็นต้น ละสายตาจากหน้าจอพักหนึ่ง ก็หันไปเห็นโครงร่างหน้าตาของระบบ Blog ที่ดิฉันกับ ดร.ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ กำลังร่วมกันพัฒนา ก็ทำให้รู้สึกตื่นเต้นอยากเห็นความสำเร็จโดยไว

ระบบที่วางเอาไว้นี้จะมีลักษณะของความเป็นชุมชนเสมือน ส่วนความสามารถของระบบนี้โดยเบื้องต้น ก็ย่อมเป็นเรื่องของการเขียน Blog การแยกแยะประเภทหัวข้อของ Blog เพื่อสร้างแผนที่ความรู้ (Categorizing) การเก็บ Blog ที่เขียนเพื่อสร้างคลังความรู้ (Archiving) การค้นหาและดึงความรู้ออกมาใช้ (Retrieving) การโต้ตอบแสดงความคิดเห็น (Commenting) และการโยงใยความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน (Linking)

เวลาที่เปิด Blog ต่างๆขึ้นมาอ่าน ดิฉันสังเกตเห็นถึงเทคโนโลยีเสริมต่างๆที่อำนวยความสะดวกมากมายซึ่งล้วนแล้วแต่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการจัดการความรู้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น Trackback, Tagging, Photo Blog, Audio Blog, Site Stat, และ Tagboard เป็นต้น ดิฉันคงได้เขียนเล่าให้อ่านในโอกาสต่อไป และด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้และอีกมากที่กำลังถูกพัฒนากันอยู่ ทำให้ Blog เป็นปรากฏการณ์ของโลกที่ทุกองค์กรต่างกำลังเฝ้าจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Blog ผนวกกับวิวัฒนาการของโครงสร้างพื้นฐานของโทรคมนาคมที่ไร้เขตแดนของอินเตอร์เน็ต Blog อาจเป็นเทคโนโลยีจำเป็นต่อการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ของโลก เพื่อสร้างคลังความรู้ ช่วยในการเสาะหาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ การรวมกลุ่มกันของผู้เชี่ยวชาญ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของบุคคลเหล่านี้จากทั่วทุกมุมโลก

ดิฉันเขียนบทความนี้ในลักษณะของการเล่าเรื่องราว (Storytelling) ด้วยความคาดหวังว่า การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ Blog โดยสอดแทรกท่วงทำนองชีวิตประจำวันของอาจารย์มหาวิทยาลัยทางใต้แห่งหนึ่ง คงช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจรูปแบบการนำเสนอของ Blog และเชื่อมโยงไปถึงศักยภาพของ Blog ต่อการจัดการความรู้ได้โดยไม่ยากนัก

ฝนหยุดตกแล้ว เจ้าเหมียวตัวเดิมร้องเรียกอีกครั้ง คราวนี้มันคงอยากออกไปเที่ยวเล่นข้างนอกบ้าน ส่วนตัวดิฉันก็คงได้เวลาออกจากโลกเสมือนแห่งนี้ชั่วขณะเพื่อเข้าสู่โลกแห่งความจริงบ้าง เรื่องราว ความจริง ความรู้ ประสบการณ์ ที่คุณและดิฉันจะได้รับทราบโดยตรงจาก Blog เสมือนอยู่ต่อหน้าผู้เล่า รวมทั้งการได้รวมกลุ่มกันกับผู้คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันย่อมเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต จุดเริ่มของการสร้างและแลกเปลี่ยนความรู้ย่อมเกิดขึ้นจากกลุ่มคนเหล่านี้ เราโชคดีที่ได้อยู่ในยุคที่พรมแดนของการแลกเปลี่ยนความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ด้วยระยะทางอีกต่อไปแล้ว จริงๆ แล้วเราโชคดียิ่งกว่าที่ได้อยู่ในยุคของการเริ่มต้นของพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ไร้พรมแดนนี้ และเพื่อให้โชคดีนี้คุ้มค่า เราคนไทยก็จะเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนาการครั้งนี้แน่นอน ดังนั้นโปรดติดตามค่ะ

ดร.จันทวรรณ น้อยวัน
อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โครงการพัฒนาระบบ Blog แบบชุมชนสำหรับกลุ่มการจัดการความรู้ของไทย
โดยการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

คำสำคัญ (Tags): #บล็อก
หมายเลขบันทึก: 3488เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2005 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของอาจาร์ครับ บลอกมีประโยชน์มาก ถ้าเราสามารถสร้าง 'นิสัย' การบันทึกให้คนไทยได้ เราจะมีความรู้จากการ practices เกิดขึ้นมากมายทีเดียว

ขอบคุณที่อาจารย์เขียนตัวอย่างบันทึกให้ดูดีทีเดียว อ่านแล้วรู้สึกสบายๆและมีสาระอยู่ภายในมากทีเดียว

ระบบบลอกที่อาจารย์และคณะได้พัฒนาขึ้นมานี้ ถือว่า เป็นวิทยาทานที่มีคุณอนันต์ต่อวงการ KMของเรา ค้องชื่นชมทั้งคนต้นคิดและคนต้นทำครับ

ผมอยูที่ มภ.สวนสุนันทา ได้นำ GOTOKNOW มาทดลองใช้ดูในภาคนี้ 2 เรื่อง คือ สอน กับบริหารชุดโครงการวิจัย แต่มีปัญหาดังที่เรียนไว้ในตอนต้น คือ ไม่ค่อยเขียน กับอายุแก่เกินกว่าจะใช้ไอที ทั้งนักศึกษาปริญญาโทที่สอนอยู่และนักวิจัยครับ กะว่าภาคเรียนหน้าจะพัฒนาให้มีรูปแบบมากขึ้น

เมือวันนั้นอาจารย์พัฒนาอะไรใหม่มาให้ใช้เพิ่มขึ้นอีกก็ได้

ขอบคุณคะอาจารย์กฤษดา 

GotoKnow.org ต้องมีการเพิ่มเติม features ใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ คะ และเมื่อเรา Open-Source ตัวระบบ ก็จะมีนักพัฒนาหลายๆ เข้ามาช่วยกันสร้างสรรงานแน่นอนคะ

จันทวรรณ

ผมขอชื่นชม คุณหมอวิจารณ์ที่ช่วยปลุกกระแสให้คน 'จารึก' ความรู้ของตนลงไว้เป็นหลักเป็นฐาน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

ผมดูใน discovery channel มนุษย์ homosapiens อยู่รอดมาได้เพราะมีภาษาสื่อสาร ไม่สูญพันธ์ไปเหมือนกับมนุษย์ neanderthans เพราะสื่อสารกันได้ดีกว่า สามารถรักษาเผ่าพันธ์มาได้

gotoknow ที่อาจารย์พัฒนาขึ้นน่าจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมหน้าใหม่ของมนุษยชาติก็ได้ ถ้าเราสามารถบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดไว้ได้มากกว่าเคยได้บันทึกไว้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท