"สังคมอุดมศึกษา" ในมุมมองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ... ( ๒ )


ประเด็นต่อจากบันทึก "สังคมอุดมศึกษา" ในมุมมองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ... ( ๑ )

 

สังคมอุดมศึกษา ( ๒ )

 

ผมอาจพูดเกินเลยไปหน่อย เพราะที่จริงคนที่ฟันฝ่าออกมาเพื่อเรียนด้วยตนเองนั้นมีอีกมาก เพียงแต่ไม่ได้เรียนในเชิงวิชาการเท่านั้น หากเรียนที่จะทำธุรกิจได้เอง เรียนที่จะเป็นนักการเมือง เรียนที่จะเป็นมหาดไทย เรียนที่จะเป็นผู้บริหาร ฯลฯ มีอีกมากครับ แต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่ของคนที่จบมหาวิทยาลัย

เป้าหมายของปริญญาตรีดังกล่าวนี้ ไร้ความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ เมื่อทุนนิยมยุคใหม่ขยายตัวขึ้นหลังจากสงครามโลกเป็นต้นมา เพราะทุนนิยมยุคใหม่ "ผลิต" ด้วยวิชาความรู้มากขึ้น ในขณะที่องค์กรผลิตก็ขยายตัวจนเป็นยักษ์ใหญ่ที่คลุมไปทั่วโลก จึงต้องการระบบการศึกษาที่สามารถผลิตคนไปป้อนตำแหน่งงาน ไม่ต้องการเสียเงินให้ใครมานั่งเรียนด้วยตัวเองก่อน จึงทำงานได้ดีขึ้น

ทุนนิยมยุคใหม่นี้ มีอเมริกันเป็นตัวแทนหรือหัวหอก

การศึกษาในมหาวิทยาลัยจึงเปลี่ยนไปเป็นการผลิตผู้มีความรู้เฉพาะด้านในระดับสูง เพื่อป้อนเข้าสู่ตำแหน่งงาน

ปริญญาตรีเป็นเพียงบันไดขั้นแรกเพื่อก้าวไปสู่ความรู้ระดับสูงดังกล่าว ไม่ใช่บันไดขั้นสุดท้ายสำหรับการเรียนรู้เองตลอดชีวิตอีกต่อไป

แต่อเมริกันไม่เคยมีอิทธิพลในมหาวิทยาลัยไทยมาก่อน สมัยที่ผมเรียนอยู่ คณบดี (ซึ่งเป็นนักเรียนอังกฤษ) ถือนโยบายว่า ฝรั่งอเมริกันจะเป็นผู้สอนภาษาอังกฤษในชั้นใหญ่ไม่ได้ ทำได้แค่เป็นผู้สอนในชั้นย่อย (tutor) เท่านั้น

มหาวิทยาลัยไทยแห่งแรกที่ปรากฎอิทธิพลอเมริกันอย่างเด่นชัด คือ "วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร" ซึ่งเมื่อเริ่มเปิดก็มีจุดหมายจะผลิตคนไปป้อนตำแหน่งงานโดยตรง ได้แก่ นักการศึกษาที่จะเป็นผู้ปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยเพื่อรองรับการพัฒนา (ตามแผนของธนาคารโลก)

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดด้วยกำลังของอเมริกันในการให้ความช่วยเหลือ ทำให้อิทธิพลอเมริกันครอบงำมหาวิทยาลัยทุกแห่ง รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่ผมเคยเรียน

มหาวิทยาลัยไทยจึงตั้งหน้าตั้งตารับใช้ทุนกันอย่างไม่ลืมหูลืมตาจนถึงทุกวันนี้

เวลาเขาจัดหลักสูตร คำอธิบายอันแรกที่สำคัญเพื่อให้ผ่านการอนุมัติทุกขั้นตอนก็คือ แล้วใครจะจ้างผู้สำเร็จหลักสูตรนั้นไปทำงานบ้าง ยิ่งมากยิ่งดี

นักธุรกิจเข้ามากำหนดสเป๊กของบัณฑิตเกือบทุกแขนง จะเรียนธรณีวิทยา ฟิสิกส์ การท่องเที่ยว การโรงแรม รัฐศาสตร์ ศิลปะ ฯลฯ อย่างไร จึงจะตรงกับตำแหน่งงานที่นักธุรกิจต้องการ

การเอานักธุรกิจเข้ามานั่งกำหนดนโยบายในสภามหาวิทยาลัยกลายเป็นแบบปฏิบัติพื้นฐานที่ต้องทำกันในทุกสภามหาวิทยาลัย

ฉะนั้น ในการวางแผนการศึกษาของมหาวิทยาลัย ตลาดงานจึงเป็นตัวกำกับอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งลืมไปว่า ถึงอย่างไร เป้าหมายของการศึกษาทุกระดับ คือ ตัวผู้เรียนเอง เป็นก่อนอื่นทั้งหมด ถ้าจะมีอย่างอื่นตามมาอีกก็น่าจะเป็นสังคมมากกว่าทุน (ถ้าไม่นับสองอย่างนี้เป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งก็ไม่ควรนับ)

และด้วยเหตุดังนั้น เป้าหมายตามอุดมคติเดิมของมหาวิทยาลัย คือ สร้างความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงน่าจะเป็นเป้าหมายที่ขาดไม่ได้และสำคัญที่สุด เพราะนี่คือ การพัฒนาผู้เรียนไปสู่จุดที่จะทำให้เขาใช้ศักยภาพของเราได้สูงสุด

และเมื่อมองจากบุคคลหรือจากผู้เรียน โลกที่เราทั้งหลายต้องมีชีวิตอยู่สืบไปตั้งแต่บัดนี้ถึงภายหน้า คือ โลกที่ไม่อนุญาตให้ใครมีทักษะแคบ ๆ เพียงทักษะเดียวอีกแล้ว แม้แต่ทักษะที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ก็กลายเป็นสิ่งล้าสมัยงุ่มง่าม และไร้ประสิทธิภาพโดยเปรียบเทียบไปได้ในพริบตาเดียว

ฉะนั้น ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในการศึกษา

 

(มีต่ออีกตอน)

 

.......................................................................................................................................

 

เป็นอย่างไรบ้างครับ ตอนที่ 2 แล้ว คงต้องขออนุญาตเพิ่มอีกตอนนะครับ เพราะเนื้อหายังยาวอยู่

ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป ทีละน้อย ๆ ดีที่สุด

มีความคิดเห็นอย่างไร นำเสนอได้เลยนะครับ

ขอบคุณมากครับ :)

 

.......................................................................................................................................

แหล่งอ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์.  "สังคมอุดมศึกษา", มติชนสุดสัปดาห์.  29, 1489 (27 ก.พ. - 5 มี.ค.52) : หน้า 33.

หมายเลขบันทึก: 247332เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2009 19:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ขอคุยต่ออีกนิด
  • ในฐานะที่อยู่ราชภัฏ ต้องขออภัยเพื่อนพ้องน้องพี่ชาวราชภัฏสักนิด ที่จะพูดออกมาตรง ๆ
  • ราชภัฏเรานับเป็นตัวการสำคัญที่ทำหน้าที่ผิด ๆ ที่มีส่วนอย่างมากที่ช่วยขยายความผิดเพี้ยนในอุดมคติชองการศึกษา เราเอาปริญญาไปยัดเยียดให้เข้าถึงประตูบ้าน แต่ไม่ได้ช่วยให้เขาได้เรียนรู้สมกับอุดมคติแห่งปริญญาที่ควรมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเอง  บรรดาชาว อบต. แถว ๆบ้านผม มาเรียนแล้วกลับไปตุยกันว่า "ไอ้..ง่ายฉิบ...กูไปมั่ง ไม่ไปมั่ง ลอก ๆ มั่ว ๆ ส่งเดชไป เอ้าจบแล้ว ตอนเรียนปอสี่ยังจะยากกว่าอีก"
  • ราชภัฏได้ไปสร้างเจตคติที่ผิด ๆทางการศึกษาที่ฉกาจฉกรรจ์มาก แทนที่จะเข้าไปปลดเปลื้องกับหวดกระหน่ำซ้ำเติม  บาปนี้จะใช้คืนเมื่อไร อย่างไร ผมเองก็ร่วมสังฆกรรมกับเขาอยู่ด้วยเหมือนกัน...ฮิฮิ ขออนุญาตเอาหน้าไปซุก..ก่อนละ    

                                          paaoobtong
                                             9/3/52
                                              21:55

เห็นด้วยกับอาจารย์  paaoobtong ค่ะ

ตอนนี้มีศูนย์การเรียนต่างอำเภอมากมาย เพื่อเปิดโอกาสให้คนทำงานในชุมชนได้เล่าเรียน

บางวิชาใช้เงินทุนสูงในการทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรม  

แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนด้วยว่า  มีจิตสำนึกแค่ไหน

ต้องการความรู้ หรือเพียงแค่ใบปริญญาเพื่อก้าวไปสู่ตำแหน่งงาน

เราช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆกันนะคะ

ขอบคุณค่ะ

 

 

"ไอ้..ง่ายฉิบ...กูไปมั่ง ไม่ไปมั่ง ลอก ๆ มั่ว ๆ ส่งเดชไป เอ้าจบแล้ว ตอนเรียนปอสี่ยังจะยากกว่าอีก"

5555

เห็นด้วยกับอาจารย์ paaoobtong อย่างยิ่งครับ ในการกระทำที่กล่าวมา ... ง่าย ไม่ใส่ใจ นกกระจอกยังยิ้มให้ หลัง ๆ มานี้ ก็เห็นเงินจากแหล่งพวกนี้แล้วก็ตาโต โอ้โฮ อยากได้ง่าย ๆ เวลาให้เขาจบ ก็ให้ง่าย ๆ ครับ ... ใครไม่ให้จบง่าย ๆ ก็เรียกไปเตือนว่า ปล่อย ๆ เค้าไปเถอะ ... น่าเศร้าใจจริง ๆ ครับ

ขอบคุณอาจารย์ครับ เหลืออีก 1 ตอน ครับ :)

ขอบคุณครับ คุณครูจุฑารัตน์ NU 11 :) ... ผู้บริหารเห็นเงินก็ตาโตแล้วครับ เพราะการทำโครงการเรียนสักโครงการ หมายถึง ผู้บริหารพวกนี้ได้ด้วย แบ่งตามระเบียบที่ตนเองเป็นคนออกมาเอง ครับ

เหนื่อยครับ :)

ประเทศเรา ยังติดในกรอบ 15 คาบ/ภาคการศึกษา มีเนื้อหาการสอนอะไรบ้าง ไม่ได้เน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ แต่ให้ผู้เรียนเดินตามเป็นหลัก

เมื่อให้งานเด็กไปค้นคว้า เด็กไทย ไม่ได้มีวินัยมากเหมือน เด็กต่างประเทศ ซะทั้งหมด ดังนั้น ให้งานไป ไม่ค้นมีจำนวนเยอะ แต่ก็ต้องบังคับเป็นคะแนน

 การฉีกออกนอกกฎเกณฑ์ ยาก แต่ท้าทายครับ ^^

ผมมองว่า การปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความตระหนักรู้นั้นสำคัญที่สุดครับ เขาจะรู้หน้าที่การมาศึกษาหาความรู้จากจิตสำนึกของเขาเอง ซึ่งเราต้องให้ตัวเขาเป็นคนเปลี่ยนตัวเองครับ หากเขาเปลี่ยนตัวเองได้ เขาจะรู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้จึงได้ผลอย่างแท้จริง

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์ตี๋ ครูgisชนบท ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท