เมื่อผมถามลูกศิษย์ชาวดอยว่า "เรามาเรียนหนังสือไปทำไม ?"


เมื่อผมไปสอนพิเศษให้กับนักศึกษาเอกปฐมวัยของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแห่งเชียงราย จำได้ว่า 1 ในวิชาที่ผมสอน คือ "พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน"

นักศึกษาที่มาเรียนส่วนใหญ่ คือ คนที่ขาดโอกาสในสมัยตอนเป็นเด็ก ๆ หรือ วัยรุ่น และปัจจุบันมักทำงานอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การส่วนปกครองท้องถิ่น ในฐานะ "ผดด." หรือ ผู้ดูแลเด็กเล็ก ก็คือ "ครูเด็กเล็ก" นั่นเอง

ผมอยากทราบความรู้สึกของการดั้นด้นมาเรียนหนังสือ ณ ที่นี่ บางคนลงดอย ต่อรถมา กว่าจะมาที่เรียน ก็หลายชั่วโมง แล้วนี่ต้องมาแบบนี้ทุกเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้น งานหนึ่งที่ผมมอบหมายให้นักศึกษาเขาไปคิด คือ "เรามาเรียนหนังสือไปทำไม ?"

ผมมอบงานให้คาบนี้ แล้วคาบหน้านำมาส่ง (ห้วงนี้ประมาณ 1 เดือน)

ผมรับงานแล้วนำมาตรวจ รู้สึกประทับใจวิธีคิดของนักศึกษาคนหนึ่งมาก มีหลักคิดมากมายที่น่าสนใจ จึงอยากนำมาบันทึกนำเสนอไว้ ณ ที่นี้

 

 

เรามาเรียนเพื่ออะไร เรียนทำไม ?

การที่ข้าพเจ้าได้เข้ามาเรียนสาขาการศึกษาปฐมวัยนี้มีที่มาจากสาเหตุอยู่ 3 ประการ คือ

1. มาเรียนเพื่อให้ได้ความรู้เฉพาะทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตนเองในด้านความรู้ ความสามารถ เพื่อนำไปใช้ในงานอาชีพที่ทำอยู่ปัจจุบัน คือ การทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการ อบรม เลี้ยงดู และสร้างให้เด็กในวันเริ่มต้นของชีวิตได้มีพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัยในการทำงานทุก ๆ อาชีพข้าพเจ้าคิดว่า เราต้องทำให้ดี เต็มที่และสุดความสามารถ เพื่อให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล งานดูแลเด็กเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ความสามารถหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น จิตวิทยา ความรู้เชิงวิชาการ แขนงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น จิตวิทยา ความรู้เชิงวิชการแขนงต่าง ๆ แล้ว ยังต้องฝึกตนเองให้มีความอดทน ความเข้มแข็ง ความแข็งแรง ความอ่อนโยน ความเมตตา และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย คนที่ไม่มีใจรักในงานอาชีพนี้จะทำไม่ได้ และงานที่ต้องอยู่กับเด็กเล็กตลอดวัน เราควรมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเด็กในหลาย ๆ แง่มุม คนที่จะทำหน้าที่ได้ดีควรมีความรู้เฉพาะด้าน ถึงแม้ข้าพเจ้าจะจบการศึกษาด้านอื่น ๆ มาบ้าง แต่ก็นำมาใช้ได้ในบางส่วนเท่านั้น

2. ข้าพเจ้ามาเรียนก็เพื่อสร้างความพร้อมให้กับตนเอง เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการทำงาน เพื่อในอีก 2 - 3 ปี หากทางหน่วยงานต้องการบรรจุบุคคลขึ้นเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ก็จะเป็นโอกาสแห่งความก้าวหน้าในชีวิต เท่ากับว่า เรายิงปืนนัดเดียว แต่ได้นกถึง 2 ตัว แบบงานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข ถึงแม้ไม่ได้บรรจุก็ไม่เป็นไร เพราะนั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา ขอเพียงแค่ได้ทำงานที่เหมาะกับตนเองและเรามีคุณสมบัติพร้อมสำหรับงานที่ทำก็ทำให้การทำงานนั้นประสบผลสำเร็จไปแล้วเกินกว่าครึ่ง

3. ที่ข้าพเจ้ามาเรียนก็เพราะว่าเป็นคนชอบศึกษาไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือ หรือศึกษาศาสตร์แขนงอื่น ๆ ชอบหาความรู้ในสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสข้าพเจ้าก็ไม่ปล่อยให้ผ่านไป ในข้อนี้ยังมีข้อสนับสนุนอีกอย่างคือ ในวัยเด็ก ข้าพเจ้าอยากเรียนหนังสือมาก แต่ไม่มีโอกาส พอได้ทำงานจึงได้ขวนขวายในการเรียน และรู้สึกชอบที่ได้ความรู้จากการศึกษาที่มีประโยชน์มากมาย บางอย่างก็นำไปใช้ได้เอง บางอย่างก็นำไปปรับใช้ให้เหมาะสม และการศึกษายังทำให้ทัศนคติในการคิด ทำสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไปจากเดิม

 

 

ทุกครั้งที่ผมได้รับโอกาสให้ช่วยสอนพวกเขา "ครูเด็กเล็ก" ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจศึกษาแค่ไหนของมหาวิทยาลัยท้องถิ่นทั้งอันดับหนึ่งและเชียงราย ผมจะพบอยู่เสมอว่า "ลูกศิษย์ที่มาเรียนกับผม คือ คนที่ขาดโอกาส ฐานะยากจนทั้งสิ้น หมู่บ้านอยู่ตามหุบดอย ซึ่งการเข้าถึงของรัฐค่อนข้างยาก แต่เขากลับมีความเพียรพยายามของการได้มาเรียนหนังสือในตัวเมืองพื้นราบด้วยความขยันและอดทน"

หลายคนเป็นชาวเขา ชาวดอย มาแต่กำเนิด พูดไม่ชัดตามเชื้อชาติที่ได้มา แต่เขาก็มีสิทธิเท่าเทียมกับคนพื้นราบ เป็นคนไทยเหมือนกันนั่นแหละ คนพื้นราบหลายคนชอบดูถูกศักดิ์ความเป็นมนุษย์ของพวกเขา โดยเฉพาะคนของภาครัฐเอง

ผมชื่นชมพวกเขาทุกคนและมีความสุขอย่างบอกไม่ได้ถูกที่ได้มีโอกาสให้ความรู้กับพวกเขาในสิ่งที่ผมมี ค่าตอบแทนที่ได้รับไม่มีคุณค่าเกินความตั้งใจของพวกเขาแน่นอน

 

ผมนำเรื่องราวมาเล่าให้ท่านได้ฟัง อยากให้ท่านเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำยังคงไม่ได้หมดไปจากประเทศไทยแต่อย่างใด ยังคงดำเนินการสะสมความไม่รู้ของคนเหล่านั้นอีกต่อไป

จงใช้โอกาสทุก ๆ ครั้งให้ดีที่สุด

กลับมาสอนนักศึกษาที่อยู่ที่พื้นราบ รู้สึกสังเวชใจกับ "การที่มีโอกาสได้เรียน แต่ไม่เคยตั้งใจใช้โอกาสนั้นให้ดีที่สุด" ของนักศึกษาที่มีแต่ใช้ลมหายใจไปวัน ๆ ทำตัวไร้คุณค่า

คราวหน้าไปเจอกับชาวดอย อย่าไปบอกว่า ตัวเองมีอารยธรรมและการศึกษาสูงกว่าก็แล้วกัน เพราะบางทีความรู้ยังสู้ชาวดอยไม่ได้เลย

 

ขอบคุณครับ ;)

 

หมายเลขบันทึก: 281213เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2009 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)
  • "เรามาหนังสือไปทำไม ?"
  • มาช่วยตรวจข้อความที่ตกไปครับ
  • ตอนนี้เขายังไม่เห็นผลของการเรียนหนังสือ
  • ต่อไปเขาอาจคิดว่า
  • รู้แบบนี้เรียนหนังสือดีกว่า
  • อาจารย์สบายดีไหมครับ

ขอบคุณท่านอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ครับ ... ;) ได้แก้ไขการพิมพ์ตกเรียบร้อยแล้วครับ

โอกาสเป็นของมีค่า หากเขารู้จักใช้มันให้ดีที่สุด

สบายดีอยู่ครับอาจารย์ ;)

คนบนดอยก็คนไทย...เป็นกำลังใจให้พวกเขาทุกๆคนคะอาจารย์...

ขอบคุณมากครับ คุณก้อย ♡*.:。 KiTTyJuMP゚・♡゚゚・(หน้าตาดีอยู่แล้วครับ ไม่ต้องเติมสร้อยก็ได้นะ อิ อิ)

สวัสดีค่ะ อ.. Wasawat Deemarn

  • เรียนเพื่อ.... เอาไว้เติมเต็มชีวิตค่ะ ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียนค่ะ
  • เรียนจากการลงมือทำค่ะ หรือง่ายๆการรู้จักคน เข้าใจ หนูก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ค่ะ
  • จะว่าไปการเรียน ไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดอายุ
  • ผู้คนต่างๆที่เข้ามาในชีวิตเราทำให้เราได้มีโอกาสมองโลกใหม่ เป็นสีสันให้กับชีวิตค่ะ

 

  • เรียนรู้ชีวิต เป็นคำที่บ่งบอกถึงการเจอะเจอสิ่งต่างๆที่เข้ามา เหมือนเราต้องมีธรรมะ มีพลังใจที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่บนโลกด้วยความเข้าใจค่ะ
  • ในความจริงถึงแม้ว่าเรา เรียนจบปริญญา ไม่ได้วัดว่าเราดี เราเก่งมันไม่ใช่ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะที่ให้โอกาสตอบและแสดงความคิดเห็น เป็นการเขียนบันทึกที่โดนใจค่ะ

อ่อ คืออย่างนี้ค่ะ ~natadee คือชื่อ แกงค์ โดยมีพี่ครูโย่งเป็นหัวหน้า หากใครมีกิจกรรมใดๆ ของG2K พวกเราก็จะไปร่วมด้วยช่วยกันไงค่ะอาจารย์ ....อิอิ หน้าตายังไม่เข้าข่าย แต่ขอเป็น คนดี ก็พอแล้วววคะ

ขอบคุณครับ คุณ berger0123 ;) ... ที่ได้แสดงความคิดเห็นดี ๆ

หน้าตาดีจริง ๆ ครับ ... คุณก้อย ♡*.:。 KiTTyJuMP゚・♡゚゚・ ... ;)

เป็นคนดีด้วยครับ ;)

  • สวัสดีค่ะ
  • ทำไมเขียนดี ทั้งศิษย์ ทั้งอาจารย์เลยนะ

สวัสดีค่ะ  พี่อาจารย์ Wasawat Deemarn

มาร่วมภาคภูมิใจกับภูมิความรู้ และ ความคิด ของพี่อาจารย์ และ ลูกศิษย์...

สู้ๆ ค่ะ...  ขอให้ประสบความสำเร็จด้วยดีโดยง่ายดายนะคะ..  

  • ขออนญาตแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนนะคะ
  • ความรู้ในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยคือเครื่องมือที่เราใช้หากิน ซึ่งคนที่อยู่ใกล้หรือในแหล่งความเจริญอาจจะโชคดีกว่า ได้เปรียบกว่าค่ะ
  • แต่การสัมผัสรู้ในคุณค่าแห่งชีวิต ซึ่งไม่ใช่ตัวความรู้โดยตรง เป็นสิ่งที่คนที่มีวิถีชีวิตที่เข้าถึงธรรม (ชาติ) เท่านั้นที่จะมีการเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณที่สูงกว่าค่ะ...
  • ถ้าจะให้กล่าวโดยสรุปก็คือความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอแล้วที่จะได้ชื่อว่ารู้มากน้อยกว่ากัน  แต่ความมีความตระหนักรู้ใน Value of Life ด้วยค่ะ

ป้าแดง pa_daeng กล่าวซะผมตัวลอยครับ ;)

ขอบคุณครับ ... ครูก็งี้แหละครับ ;)

ขอบคุณครับ น้อง นีนานันท์ ;)

สาธุ สาธุ สาธุ

อาจารย์ศิลา Sila Phu-Chaya มาขออนุญาตเลยหรือครับ ;) ... มีหรือจะไม่

"การศึกษาคือความเจริญงอกงาม (โดยเฉพาะจิตใจ)" คือปรัชญาการศึกษาดั้งเดิม เพียงแต่ว่า ... ปัจจุบัน เริ่มจะวิ่งหนีห่างมากขึ้นทุกทีครับ

มีการนำเงินทองจำนวนมากมายไปแลกแค่ "ใบปริญญาใบเดียว" แต่ลืมเก็บเกี่ยวความรู้ ความงดงามไปใช้ด้วย

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท