ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เห็ดป่า เกื้อกูลในระบบเกษตรกรรมแบบประณีต


เห็ดป่า เช่น เห็ดระโงก เห็ดผึ้ง เห็ดเผาะ สามารถปลูกร่วมกับต้นไม้เมื่อต้นไม้โตเราก็สามารถเก็บเห็ดได้

เห็ด (Mushrooms) โดยเฉพาะเห็ดป่าเช่นเห็ดระโงก เห็ดผึ้ง เห็ดเผาะ จัดเป็นเห็ดพวกมัยคอร์ไรซา  (Mycorrhizas) ที่หากินยากในหนึ่งปีจะมีเพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้คนส่วนใหญ่ถามถึง ส่งผลให้แม่ค้าต้องเก็งกำไรตามเคย

มีคนถามว่าไมคอร์ไรซ่า ( Mycorrhizas) คืออะไร วันนี้ต้องขออนุญาตเอาศัพย์ทางวิชาการไปด้วยหน่อยหนึ่งนะครับ ซึ่งจริงๆ แล้วผมก็ไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่หรอกศัพย์ที่เป็นภาษาต่างประเทศ แต่มีคนขอมาว่าจะเอาไปอ้างอิงครับ ถ้าอย่างนั้นผมจึงใคร่ขอทำความเข้าใจในความหมายของคำว่า มัยคอร์ไรซาดังนี้ครับ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อรา        ( Fungi) กับระบบรากอาหาร ( Feeder roots) ของพืชชั้นสูง ( Higher plants) การอาศัยอยู่ร่วมกันนี้เป็นการอาศัยแบบเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน ( Symbiotic relationships) ไม่เป็นพิษ เป็นภัยซึ่งกันและกัน ต้นไม้ได้รับน้ำและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ส่วนเชื้อราก็จะได้รับสารอาหารที่ต้นไม้ขับถ่ายออกมาทางระบบราก เช่น พวกน้ำตาล ( Sugars) แป้ง (Carbohydrates) โปรตีน ( Proteins) และวิตามิน ( Vitamins) ต่าง ๆ ซึ่งเป็นของเสียที่ถูกขับถ่ายออกมาทางระบบรากของต้นไม้ ครั้นเมื่อเชื้อราเห็ดเหล่านั้นได้รับสารอาหารเพียงพอ ประกอบกับสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็จะสร้างดอก (Fruiting body) ให้เราได้เก็บไปกินอย่างอร่อยเลยทีเดียว

 หลายคนถามว่าเห็ดป่าเหล่านี้เพาะด้วยหรือ ก็ตอบว่าเพาะได้ครับเพาะได้มีคนเขาพิสูจน์กันมาหลายคนแล้ว แต่เป็นการเพาะเลียนแบบธรรมชาติ โดยที่เราใส่เชื้อ (Spore) หรือเส้นใย ลงไปในดินบริเวณที่รากของต้นไม้ที่เชื้อราเหล่านี้ชอบอยู่อาศัย เช่น เห็ดเผาะชอบต้น ยางนา พยอม พลวง บาก พอก  มะค่า ฯลฯ เห็ดระโงก ในต้นเต็ง รัง มะค่า พลวง พยอม  บาก ยางนา ฯลฯ เห็ดผึ้ง ชอบต้น ยางนา พยอม พลวง พอก  บาก มะค่า เสียว หูลิง มะม่วง แค ขนุน ฯลฯ เมื่อที่รากต้นไม้มีเชื้อเห็ด พร้อมกับได้รับอาหาร และสภาพแวดล้อมเหมาะสม ก็จะเกิดดอกเห็ดให้เราเก็บมากิน

คุณไพบูลย์  พูลทอง ชมรมถ่ายทดเทคโนโลยีการเกษตรจังหวัดขอนแก่น เล่าให้ฟังว่า ได้นำดอกเห็ดผึ้งแก่ๆ มาขยำกับน้ำให้ละเอียด แล้วนำไปรดใส่ที่โคนต้นแคที่มีอายุประมาณเข้าปีที่ 2  (ขุดหลุมลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ) กลบด้วยปุ๋ยคอก (ขี้วัว 2 กำมือ)รดน้ำให้ชุ่ม ในปีต่อมาปรากฏว่าเกิดดอกเห็ดผึ้งให้ได้เก็บกินอย่างอร่อยทีเดียว

หนึ่งปีเก็บได้หลายรุ่น คุณไพบูลย์ ได้ทดลองต่อโดยการเอาฟางข้าวคลุมที่ต้นแค แล้วรดน้ำช่วงที่ไม่มีฝน โดยใช้หลักการแห้งสลับเปียก ห่างเป็นช่วงๆ ในปีที่แล้วสามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 6 รุ่นทีเดียว

ได้ผลผลิตผักตลอดทั้งปี จากที่ได้ทดลองใส่เชื้อเห็ดควบคู่กับการปลูกแค และผักสวนครัวรอบๆ ต้นแคแล้วพบว่า ต้นแคสามารถเจริญเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งได้กินดอก ยอดข่า และพืชผัก รอบๆ ต้นแคตลอดทั้งปีอีกด้วย

จากแนวทางดังกล่าวจึงนับได้ว่าเป็นการจัดการความรู้ในระดับชุมชนที่สามารถนำกิจกรรมการเพาะเห็ดป่าเลียนแบบธรรมชาติ ควบคู่กับการปลูกต้นไม้ที่อยู่ในระบบเกษตรกรรมแบบประณีต ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างพืชกับเห็ด นับเป็นการสร้างอาหารที่ปลอดภัยอันโอชะของพี่น้องเกษตรกร

ขอบคุณมากครับ

อุทัย   อันพิมพ์

9 มกราคม 2550

หมายเลขบันทึก: 71738เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ตอนนี้ข้อมูลชัดเจนแค่ไหนครับ โดยเฉพาะความแน่นอนของระบบการผลิต

ผมหมายถึงอัตราเสี่ยงนะครับ

เรียน อาจารย์ดร. แสวง   รวยสูงเนิน

  • อาจารย์ครับ เป็นงานที่เริ่มเห็นผลชัดเจนมากยิ่งขึ้น
  • จากประสบการณ์ การทำของผมร่วมกับชุมชนที่อำเภอรัตนบุรี ศรีสะเกษ ประมาณ 2-3 ปี ในเห็ดระโงกกับยางนาเรามีความมั่นใจมากครับ เพราะผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ
  • คนที่ทำชื่อ อดุลย์ 084-606-0578 ครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย   อันพิมพ์

อยากถามว่าการเพาะเห็ดระโงก ทำเช่นเดียวกันกับเห็ดผึ้งที่เพาะกับต้นแคได้หรือเปล่าครับ

ไม่ทราบว่าเป็นแคบ้านหรือแคป่าค่ะ

เห็ดระโงก เห็ดเผาะ และเห็ดผึ้ง ที่กล่าวถึงอยู่ในภาคอีสาน ถ้าดิฉันเพาะพันธ์ยางนาในภาคใต้แล้วใช้น้ำเห็ดตามวิธีดังกล่าวมารดต้นกล้าพันธ์จะมีเห็ดมางอกในภาคใต้ได้รึเปล่าคะ...

ได้ครับ

เมื่อเชื้อเห็ดเข้าไปเกาะกับรากไม้แล้ว (ยางนา) เขาจะอยู่ร่วมกัน อาหารพอเพียง สภาพอากาศได้ เห็ดจะเกิดตามมาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท