วัฒนธรรมศึกษา


สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ กรณี
สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้เรื่องการจัดการความรู้ กรณี ชุมชนเกษตรกรจังหวัดพิจิตร  และ  โรงพยาบาลบ้านตาก 

            การเรียนรู้ในวันนี้เป็นการเสนอความคิดเห็น  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่หลากหลายเกี่ยวกับการ จัดการความรู้ โดยมีท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์  พานิช เป็นผู้คอยเสนอแนะและจุดประเด็นการแลกเปลี่ยน  ทั้งยังช่วยคอยอุดช่องโหว่ทางความคิดบางประเด็น  ที่ขาดหายไปในวงแลกเปลี่ยนของเหล่านิสิตปริญญาเอก  สาขาวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยทักษิณ

            สิ่งที่กระผมเห็นว่าได้รับ อย่างเป็นรูปธรรมจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ คือ การจัดการความรู้ในองค์กร/ชุมชน นั้น  เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถที่จะเข้าถึง  หรือทำความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง(ท่านอาจารย์ย้ำว่าถ้าเราจะเข้าใจถ่องแท้ต้องลงมือปฏิบัติจริง)  ทั้งนี้เราจะต้องไม่ละเลย ศักยภาพ  ขององค์กรหรือชุมชนที่มีอยู่เป็นทุนเดิม  อีกทั้งการจัดการกับความรู้นั้นบางครั้งเราเข้าไปจัดการโดยขาดความเป็น เอกภาพ  และขาดการประสานสัมพันธ์ การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างชุมชน/องค์กร อันจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อประมวลความรู้ใหม่จากฐานคิดเดิมมาจัดทำระบบฐานข้อมูล โดยผ่านกระบวนการจัดการความรู้ แบบมีส่วนร่วม เพื่อก้าวไปสู่จุดหมายสูงสุดที่ทุกคนในองค์กร/ชุมชนคาดหวัง

            กระผมมีความเชื่อว่าไม่มีวิธีการหรือกระบวนใดๆ ที่จะเป็นสูตรสำเร็จรูปในการ จัดการความรู้ เพื่อแก้ปัญหาหรือคลี่คลายวิกฤติใดๆ  ในสังคมหรือชุมชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ  เหตุผลประการหนึ่งก็คือ บริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ตายตัว  การจัดการความรู้ ก็ย่อมเปลี่ยนไปตามบทบริบทที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ณ ช่วงเวลาที่เราเข้าไป จัดการ  แต่ทั้งนี้  แม้ว่าเราสามารถจะพัฒนาองค์กร หรือชุมชนให้มีศักยภาพได้ระดับหนึ่งแล้ว  ใช่ว่าทุกอย่างจะจบสิ้นลง ปัญหาใหม่ก็จะต้องเกิดขึ้นตามบริบทใหม่เพื่อให้เราจัดการ ซึ่งก็ต้องปรับปรนให้ดีขึ้นไปอีก ทั้งต้องสร้างให้เกิด ความยั่งยืน ขึ้นด้วย  (ซึ่งหลายคนในวงอภิปรายวันนี้พยายามชี้ไปที่ศักยภาพของตัว ผู้นำ ทั้งยกตัวอย่างบางกรณีว่าชุมชนจะอ่อนแอ และไม่สามารถที่จะจัดการอันใดได้เมื่อขาดผู้นำที่เข้มแข็ง) ทั้งนี้อาจมีฐานคิดว่า ศักยภาพทั้งหมดของชุมชนหรืองค์กรเกิดขึ้นได้เพราะผู้นำคนเก่งอย่างเดียวเท่านั้น  โดยละเลยความเชื่อมั่นที่เป็น พลัง และ เอกภาพ เดิมขององค์กร/ชุมชน เช่น ทุนทางวัฒนธรรม(ภูมิปัญญา/ขนบประเพณี/ความเชื่อ ฯ) ทุนทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อม  หรือทุนที่เป็นทรัพยากรบุคคล

            นอกจากนั้น  ยังได้ข้อคิดจากอาจารย์อีกประการหนึ่งว่า การมองสิ่งใดๆ ไม่จำเป็นต้องใช้กรอบทฤษฎีมาครอบ  เพราะบางครั้งทฤษฎีที่เรานำมาใช้วิเคราะห์  หรือสังเคราะห์อาจเป็นการ ปิดกั้น  ข้อเท็จจริงหรือบริบทอื่นๆ  จนเรามองมันไม่เห็น  หรือเราละเลยเพราะคิดว่าไม่อยู่ในทฤษฎี  แต่การมองที่เป็น องค์รวม  ทั้งหมดต่างหากที่สามารถจะเห็นอะไรได้กว้าง และรอบด้านกว่าเพราะเราไม่ ติดยึด อยู่กับทฤษฎีใด ทฤษฎีหนึ่งเป็นการเฉพาะ  แต่พร้อมที่จะผสมผสานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายและข้อเท็จจริงของความรู้ที่เราเข้าไปจัดการ  แน่นอนที่สุดเราคงไม่ละเลยความสำคัญของ วัฒนธรรม ไป เพราะผู้คนที่เราสัมพันธ์ในชุมชน/องค์กรต่างก็อยู่บนพื้นฐานทางวัฒนธรรมเดียวกัน  อีกทั้งเราก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธเทคโนโลยี่สมัยใหม่ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อเราสามรถใช้มันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดขององค์กรแล้ว เครื่องมือธรรมดาอาจกลายเป็น สิ่งวิเศษ ขึ้นมาได้

            ในความรู้สึกของผม การจัดการความรู้  ผมขอสรุปตามความเข้าใจของผมที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ว่า   เป็นการเก็บ  การรวบรวมความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่ให้เป็นกลุ่มก้อนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนา(องค์กร/ชุมชน)  รวมทั้งการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ  เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ขึ้นมาบนฐานความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่เดิม  ทั้งนี้อาจจะใช้(หรือจำเป็นต้องใช้)เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ  จัดระบบ  เพื่อสร้างประสิทธิภาพของงานหรือองค์กรไปสู่ความเป็นเลิศ บนฐานของการดำเนินการ แบบมีส่วนร่วม (ถูกผิดประการใดแล้วแต่ท่านอาจารย์จะชี้แนะครับ)

            การสอน(ที่อาจารย์เรียกว่า สอนแบบไม่สอน) กลับเป็นการจุดประกายความคิดให้นิสิตได้ถกเถียงหาข้อสรุป  และเสนอทัศนะที่หลากหลายโดยไม่มีการปิดกั้น  พร้อมกับคอยซัก หรือจุดประกายให้นิสิตด้วยกันถกเถียง  เป็นบรรยากาศทางวิชาการที่กระตุ้นให้นิสิตตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา หากมีการติดขัดประการใดเกิดขึ้นอาจารย์ก็ช่วยชี้ทางให้  ซึ่งกระผมมีความรู้สึกว่าเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศที่อบอุ่นยิ่ง  ครับ 

             นายอุทิศ  สังขรัตน์

           

           
คำสำคัญ (Tags): #วัฒนธรรมศึกษา
หมายเลขบันทึก: 39849เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2006 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท