ปัญหาเกี่ยวกับการนิยามคำสำคัญในงานวิชาการ


ไม่นานมานี้ได้คุยกับเพื่อนที่เพิ่งเริ่มเรียนปริญญาเอก หัวข้อการสนทนานั้นเกี่ยวกับเรื่องการจำกัดความของคำสำคัญ (keywords) ในงานวิชาการ เรื่องของเรื่องคืออาจารย์ที่ปรึกษาของเพื่อนบอกว่าก่อนจะเริ่มลงมือเขียนอะไรได้ต้องรู้เสียก่อนว่าจะใช้คำสำคัญคำไหนบ้าง และคำเหล่านั้นหมายความว่าอย่างไร ปัญหานี้ผมว่าหลายๆ คนที่เริ่มลงมือเขียนงานวิชาการน่าจะเคยเจอ แต่ผมไม่แน่ใจว่าแต่ละคนจะมีทางออกเหมือนกันหรือเปล่า

หนึ่งในคำแนะนำที่ได้ยินกันบ่อยคือให้ทบทวนวรรณกรรมเพื่อดูว่าความหมายของคำเหล่านั้นคืออะไร แต่คำแนะนำนี้กลับกลายเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องสำหรับหลายๆ คนเพราะยิ่งค้นก็ยิ่งพบว่าคำบางคำนั้นมันมีหลายความหมาย เกิดสับสนว่าจะใช้คำไหนดี ผมเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับการคิดวิกฤติ (critical thinking) ที่สามารถจะสืบสาวเรื่องราววรรณกรรมไปได้เป็นร้อยปี และความหมายก็เปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

หลายคนอาจบอกว่าถ้างั้นก็เอางานที่มีคนยอมรับและอ้างถึงเยอะๆ สิ (ง่ายและเร็วที่สุดคือค้นใน google scholar แล้วดูว่างานใครขึ้นเป็นอันดับต้นๆ และดูว่ามีคนอ้างงานนั้นๆ กี่คน) ก็เป็นทางออกที่ดีครับ สะดวกรวดเร็ว แต่ปัญหาที่อาจจะตามมาคือถ้ามันมีหลายๆ ความหมายที่ไม่ค่อยจะเหมือนกัน และมีคนยอมรับและอ้างถึงทั้งนั้น

กลับมาที่ตัวอย่างคำว่าการคิดวิกฤติของผมดีกว่า คำนี้มีนักวิชาการชื่อดังหลายคนให้ความหมายไว้น่าสนใจ ย้อนกลับไปได้ถึง จอร์น ดิวอี (Dewey, 1910) นักปราชญ์ชาวอเมริกันที่ให้ข้อสังเกตว่าการคิดไตร่ตรอง (reflective thinking) นั้นต่างจากการคิดทั่วไป เพราะหมายถึงการตั้งคำถาม การไม่แน่ใจ และทำให้เกิดการคิดต่อ คิดพิสูจน์เหตุผล อะไรก็ว่าไป ถัดมาก็มีคนอ้างถึงเบนจามิน บลูม อันนี้หลายคนคงจำได้ ที่กล่าวถึง Bloom’s Taxonomy (Bloom et al., 1965) คนส่วนมากจะอ้างว่าการคิดวิเคราะห์นั้นหมายถึงการคิดในขั้นสูงในโมเดลของบลูม ซึ่งได้แก่ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมิน

จนเมื่อไม่นานก็เริ่มมีคนพยายามจะให้ความหมายกับคำนี้อีกครั้ง คุณโรเบิร์ต อิเนส (Ennis, 1993) อธิบายว่าจะอ้างงานของบลูมดื้อๆ นั้นคงไม่ได้เพราะแต่ละขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นวิเคราะห์ หรือประเมินนั้นดูจะล่องลอยเกินไป แถมที่หลายๆ คนชอบมองโมเดลของบลูมแบบผิดๆ เพราะคิดว่าเป็นแบบปิรามิดหมายถึงว่าต้องมีความรู้ขั้นล่างก่อนถึงจะต่อยอดไปถึงความรู้ข้างบนได้ (ถ้าวิเคราะห์ไม่เป็นก็ประเมินไม่ได้ อะไรประมาณนี้) คุณโรเบิร์ตบอกว่าจริงๆ แล้วขั้นตอนเหล่านี้เป็นอิสระจากกันต่างหาก จากนั้นก็จัดการนิยามคำว่าความคิดวิกฤติอีกครั้งว่าหมายถึง “การคิดไตร่ตรองแบบมีเหตุผลโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะนำผลมาใช้ในการกระทำหรือมาสร้างองค์ความรู้” (p.180) จากนั้นก็แจกแจงรายละเอียดว่าคนจะคิดวิเคราะห์ได้ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น 1. ต้องสามารถตัดสินที่มาของข้อมูลได้ 2. สามารถตั้งคำถามได้ชัดเจนและเหมาะสม 3. มีจิตใจที่เปิดกว้าง หรือ 4. ระบุเหตุผล การอ้างอิงหรือการสรุปได้ จริงๆ แล้วรายการยาวกว่านี้ครับ แต่จะว่าไปก็เหมือนกับการย้อนกลับไปอิงกับจอร์น ดิวอีอีกครั้ง ประมาณว่าผ่านไปหลายสิบปีแล้ว เรากลับมาสรุปแบบเดิมดีกว่า

ผ่านไปอีกประมาณหนึ่งทศวรรษ คุณแมททิว ลิปแมน (Lipman, 2003) ก็ออกมาแย้งว่าความหมายเป็นข้อๆ แบบของคุณโรเบิร์ตนั้นทำให้ความหมายกระจัดกระจาย วัดผลยาก และที่สำคัญไม่ได้ให้ความสำคัญกับสังคมรอบข้าง คุณแมททิวบอกว่าการคิดวิเคราะห์นั้นหมายถึง “การคิดที่รองรับการตัดสินใจโดยการอ้างอิงถึงมาตรฐานใดๆ โดยการตรวจสอบการคิดไปในตัวและอิงอยู่กับบริบท” (thinking that (1) facilitates judgment because it (2) relies on criteria, (3) is self-correcting, and (4) is sensitive to context, p.212) (รู้ครับว่าแปลไม่ค่อยจะเข้าท่า เลยขอเอาคำอ้างจริงๆ มาแปะไว้ด้วย)

มาถึงตรงนี้มันมีตั้งหลายความหมายให้เลือกและแต่ละอันก็ดูเข้าทีแถมมีคนใช้กันเยอะแยะทุกความหมาย แล้วถามว่าเราจะเลือกความหมายไหนดี?

ถ้าถามกรรมการสอบปริญญานิพนธ์ของผมละก็ ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “แล้วแต่” แต่มีข้อแม้ว่าต้องมีเหตุผลรองรับ หลังจากค้นคว้าอยู่พักใหญ่ผมก็เลือกเอาความหมายของคุณแมททิวที่เป็นคนล่าสุดที่ออกมานิยามคำสำคัญนี้ แต่เหตุผลของผมไม่ใช่เพราะมันอัปเดทที่สุด แต่เป็นเพราะงานวิจัยของผมอิงกับ Social Constructivism หรือแปลได้ใกล้ๆ ว่าทฤษฎีการสร้างความรู้ในชุมชน ทฤษฎีนี้เป็นการต่อยอดจากทฤษฎี Constructivism หรือทฤษฎีการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งอธิบายว่าคนเรานั้นรับข้อมูลมาแล้วก็เอามาสร้างความหมายด้วยตนเอง ส่วนการเพิ่มมิติทางสังคมเข้าไปใน Social Constructivism นั้น ก็คือการให้ความสำคัญกับการสื่อสารในกลุ่มการเรียนรู้นั่นเอง ผมชอบทฤษฎีนี้เพราะมันค่อนข้างจะตรงกับการเรียนรู้ในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะระดับบัณฑิตศึกษาที่คล้ายกับการฝึกงานมากกว่าการเรียนในชั้นเรียน แต่ละคนมีแนวทางเฉพาะตัว เอาความรู้ที่มีอยู่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและต่อยอดความรู้ตัวเองเป็นผลงานวิจัยต่างๆ นี่คือเหตุผลหลักที่ผมเลือกเอาความหมายของคุณแมททิวที่รวมเอามิติทางสังคมเข้าไปด้วย

สรุปง่ายๆ ก็คือว่าแม้ว่าความหมายจะมีอยู่มากมาย แต่ก็ไม่ต้องไปตื่นตระหนกกับมันมาก ทบทวนวรรณกรรมไปถึงจุดที่เราคิดว่ามันเริ่มจะมีการซ้ำซ้อน เจอแต่ของเดิมๆ ซึ่งก็เท่ากับเราครอบคลุมได้พอสมควร จากนั้นก็เอามาเปรียบเทียบกับปัจจัยอื่นๆ ในงานของเราดูว่าความหมายไหนมันจะเข้าทีกว่ากันก็ลงมือเขียนได้เลยครับ จะดีไม่ดีอย่างไรอันนี้ถามกรรมการสอบของใครของมัน

ใครคิดอย่างไรเชิญบรรเลง

ภาพ: http://www.flickr.com/photos/celinesphotographer/2295348530/

หมายเลขบันทึก: 331772เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2010 14:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท