บล็อกทำไม?


ไม่ใช่การเขียนแบบเสร็จสมบูรณ์เป็นหนังสือหรือบทความวรสารทางวิชาการ ไม่ใช่การเขียนเล่นแบบบันทึกประจำวันว่าวันนี้ไปทำอะไรที่ไหน มันอยู่ระหว่างนั้น คือไม่เป็นทางการ แต่ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว

ผมเชื่อว่าการจะทำอะไรได้ดี ต้องมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า (passion) เป็นที่ตั้ง ถ้าต้องทำเพื่อความอยู่รอด หรือทำเพราะโดนบังคับ ก็จะทำไม่ได้ดี ถึงทำได้ดีก็ไม่มีความสุข คิดได้อย่างนี้แล้วผมเลยไม่อยากจะบอกว่าการบล็อกเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ (อ้างอิงบันทึกของอาจารย์ ดร.แสวง: ทำไมคนทั่วไปไม่อยากเข้า Blog) อย่างที่ ดร.แสวงใช้คำว่า จริต ซึ่งสั้นและชัดเจนที่สุด ผมเชื่อว่าการเขียนอย่างมีคุณภาพต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ซึ่งก็ตรงกับวัตถุประสงค์ของ GotoKnow ที่ต้องการให้คนทั่วไปจัดการความรู้และบันทึกความรู้เหล่านั้นในบล็อก โดยเน้นที่ tacit knowledge

ความคิดเรื่องบล็อกของผมนั้นเริ่มในชั้นเรียนครับ เนื่องจากมีเพื่อนคนหนึ่งเขาศึกษาด้านนี้อย่างจริงจัง และเขียนบล็อกอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาแรมปี เขาชื่อคุณ Christopher Sessums ซึ่งผมชอบแนวความคิดเกี่ยวกับบล็อกของเขามาก เขากล่าวว่าบล็อกคือ half-baked thoughts หรือความคิดแบบสุกๆ ดิบๆ นั้นคือไม่ใช่การเขียนแบบเสร็จสมบูรณ์เป็นหนังสือหรือบทความวรสารทางวิชาการ ไม่ใช่การเขียนเล่นแบบบันทึกประจำวันว่าวันนี้ไปทำอะไรที่ไหน มันอยู่ระหว่างนั้น คือไม่เป็นทางการ แต่ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว คุณคริสโตเฟอร์ยังได้เล่าประสบการณ์การเขียนบล็อกให้เพื่อนในชั้นฟังอีกด้วย คือเขาเริ่มด้วยการเขียน ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อยๆ ครับ แต่เขียนแล้วไม่มีใครอ่าน เขียนแล้วไม่มีใครตอบ เขาจึงลองวิธีการใหม่โดยการสร้างเครือข่าย นั้นคือเริ่มจากการอ่านก่อน อ่านแล้วตอบ แล้วทำความคุ้นเคยกับบล็อกเกอร์คนอื่นๆ ที่มีความสนใจคล้ายคลึงกัน เขาสังเกตได้ว่าบล็อกที่ได้รับความนิยมจะมีประเด็นชัดเจน มีเป้าหมายในการเขียน พอเริ่มรู้จักบล็อกเกอร์มากขึ้นเขาจึงกลับมาเขียน ได้ผลครับ คุณคริสโตเฟอร์ได้รับการเสนอชื่อเป็นบล็อกเกอร์ดีเด่นในชุมชนบล็อกนักการศึกษาชั้นนำในอเมริกา และได้รับเชิญไปพูดบรรยายเรื่อง Social Software โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้บล็อกในการเรียนการสอน

ต้องขออธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งนะครับว่า หนึ่ง ที่กล่าวว่าบล็อกเกอร์มีความสนใจคล้ายคลึงกัน และมีประเด็นชัดเจนนั้น บางครั้งแค่เห็นคำอธิบายที่พาดหัวใหญ่ของบล็อกก็จะทราบทันที เช่นของคุณคริสโตเฟอร์เขาเขียนว่า “Thoughts on learning, teaching, and computing” อีกประการคือคุณคริสโตเฟอร์เคยเป็นครูภาษาอังกฤษมาก่อนการเขียนจึงใช้ภาษาได้ดีและมีลีลาน่าสนใจ

ถ้าการเขียนบล็อกคือการเขียนแบบไม่เป็นทางการ แต่ผ่านกระบวนการคิดมาแล้วนั้น เราจะวัดกันอย่างไรว่าบล็อกนั้นดี? ผมขอเสนอสามหลักการดังนี้นะครับ

หลักการแรก พูดกันง่ายๆ ผมอยากใช้ 5W1H (who what where when why how) ซึ่งที่สำคัญคือการบล็อกนั้นบอกได้ว่า

  1. ใคร, ทำอะไร – ซึ่งควรจะเป็นเจ้าของบล็อก เนื่องจากบล็อกเป็น Social Software ที่มีคุณสมบัติแสดงความเป็นเจ้าและแสดงตัวตนของเจ้าของบล็อกได้มากกว่า Social Software อื่นๆ เช่นกระดานสนทนา หรือ wiki
  2. ทำไม –คือบอกทั้งเหตุผลของกิจกรรมนั้น ว่าผู้จัดกิจกรรม ซึ่งอาจเป็นงานสัมมนา งานแสดง และควรบอกเหตุผลว่าเราเข้าร่วมกิจกรรมนั้นทำไม แล้วเรามาบล็อกทำไม อันนี้สำคัญกว่าครับ เช่นเราเข้าร่วมสัมมนาเพราะเรามีความสนใจด้านนั้น
  3. อย่างไร –ถ้าการบล็อกนั้นบอกเล่าถึงประสบการณ์กิจกรรมที่ทำ ก็ควรอธิบายว่าทำอย่างไร เช่นทดลองสอนภาษาอังกฤษโดยให้ดูดีวีดีภาพยนตร์ ก็ควรบอกว่าเรื่องอะไร แล้วให้ดูแบบไหน ให้นักเรียนอ่านคำบรรยายหรือไม่ ผลเป็นอย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านทราบกระบวนการและสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ต่อยอดไปได้

ผมอยากใช้ทฤษฎีวัตถุประสงค์ทางการศึกษาของ Bloom หรือที่เรียกกันว่า Bloom’s Taxonomy [อ้างอิง1] [อ้างอิง2] ด้วยครับ โดย ทฤษฎีนี้กล่าวว่าการเรียนการสอนนั้นสามารถตั้งวัตถุประสงค์ได้ตั้งแต่

  1. ความจำ ความรู้ คือรู้เนื้อหาการเรียนนั้นๆ
  2. ความเข้าใจ คือสามารถจำแนกหมวดหมู่ อธิบาย
  3. ประยุกต์ คือสามารถประยุกต์ความรู้เดิมเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้
  4. วิเคราะห์ คือสามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็นส่วน และเข้าใจโครงสร้างของหมวดหมู่นั้นๆ ได้ มองเห็นความเหมือนความต่างของส่วนต่างๆ ได้
  5. สังเคราะห์ คือสามารถนำความรู้นั้นไปสร้างความรู้ใหม่ได้
  6. ประเมิน คือสามารถตัดสินใจหรือวิจารณ์สถานการณ์ได้จากความรู้ข้างต้นทั้งหมด
แต่เนื่องจากการบล็อกนั้นไม่ต้องทำอย่างมีหลักการ ไม่ต้องให้เป็นวิชาการ แต่เป็นการเขียนเพื่อบันทึกความคิด เขียนเพื่อสอบถามความคิดเห็นคนในแวดวงเดียวกัน หรือคนที่มีความสนใจตรงกัน ผมจึงคิดว่าถ้าการบล็อกนั้นก้าวข้ามวัตถุประสงค์ที่สาม นั้นคือการประยุกต์ใช้ได้ก็ถือว่าใช้ได้ ซึ่งสอดคล้องกับ 5W1H โดยเฉพาะ ทำไม และอย่างไร

อีกประการหนึ่งที่เข้ากับการบล็อกได้ ซึ่งผมเห็นบล็อกเกอร์หลายท่านกล่าวถึงหลักการนี้คือ สุ จิ ปุ ลิ – ฟัง คิด ถาม เขียน แต่คงต้องขออธิบายความคิดเห็นของผมเพิ่มเติมดังนี้ครับ
ฟัง นั้นรวมถึงทุกกิจกรรมการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็น ฟัง ดู หรืออ่าน
คิด นั้นคือคิดตาม เมื่อคิดตามแล้วสงสัยจึงถาม
ถาม คือถามเพื่อขอความกระจ่าง ขอความรู้เพิ่มเติม ทั้งในแนวกว้างและลึก การถามนั้นผมว่าน่าจะรวมถึงการถามตัวเองด้วย ถามตัวเองก็คือการคิดต่อครับ
เขียน เมื่อคิดต่อ และได้ประมวลความรู้ หรือวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินแล้ว จึงเขียน

สรุปแล้วการบล็อกนั้นต้องขึ้นกับจริต คือชอบเขียน ...เขียนอย่างไม่เป็นทางการ แต่ผ่านกระบวนการคิดนั่นล่ะครับ

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการต่อเนื่อง จะให้เสร็จสมบูรณ์คงยากครับ ผมมองสามหลักการนี้ผสมผสานกันไป ซึ่งเป็นความเห็นของผมเท่านั้น ใครมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไร ขอเชิญแลกเปลี่ยนนะครับ

หมายเลขบันทึก: 70526เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2007 06:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 19:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

 สัวสดีค่ะอาจารย์คุณแว้บ

  • ครูอ้อย...ขอบคุณอาจารย์มากเลยค่ะ
  • เป็นบันทึกที่ดี  ข้อแนะนำที่ดี  น่าอ่านค่ะ
  • สวัสดีปีใหม่ครับ
  • ได้มาเรียนรู้ ขอบคุณครับ

ชีวิตชนบท ได้เห็นคนไม่อ่านไม่เขียน ก็ไม่อยากบอกอีกว่าไม่คิด ที่เป็นวิชาการ  พวกเขาเหล่านั้น ทำมาหากินเพราะเป็นเกษตรกร  แล้วการเข้าถึงเทคโนโลยียังห่างไกล

ขณะเดียวกันได้ไปรู้จักกับอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ถึงพร้อมสรรพสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ แต่พวกเขากลับไม่สนใจใยดีนัก จึงเป็นเรื่องน่าตกใจที่กลุ่มนี้หมางเมิน IT  เพื่อการศึกษา

ข้อเขียนตามบล็อคผมได้อ่านมาเห็นว่าเป็นประโยชน์มากครับ ข้อดีของการเขียนบล็อค ทำให้ได้เผื่อแผ่ประสบการณ์ความรู้แก่ผู้มาเยือน เหมือนที่ผมได้ความรู้จากการที่อาจารย์แว็บเขียนมานี่เองครับ ขอขอบคุณ สวัสดีปีใหม่ครับ.

ขอบพระคุณ ครูอ้อย คุณดิศกุล และอาจารย์ Tanu สำหรับข้อคิดเห็นครับ สวัสดีปีใหม่ครับ

สำหรับผมเองไม่คิดว่า IT เป็นทางออกของปัญหา หรือยาครอบจักรวาล มันไม่เคยเป็น และจะไม่มีทางเป็นได้ครับ ตัวคนใช้สำคัญกว่าเสมอมา เพียงแต่เราไปเห่อเทคโนโลยีกัน นึกว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาได้ ไม่ได้มองที่คนใช้ หรือความเหมาะสม สถานการณ์

ผมมองว่าคนที่ไม่สนใจมีสองประเภทครับ พวกแรกคือไม่กล้า ไม่ยอมเปลี่ยน พวกที่สองคือไม่เห็นคุณค่า ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ พวกที่สองนี่สนใจ แต่ไม่สนับสนุนครับ

ชอบข้อเขียนนี้จังค่ะ เติมเต็มได้กับบันทึกของอ.ธวัชชัยที่พี่เขียนถึงไว้ตรงนี้ เลยขออนุญาตคุณแว้บ นำไปลิงค์ไว้ด้วยกันเรียบร้อยแล้วนะคะ ขอบคุณล่วงหน้ากับคำอนุญาตค่ะ (หักคอกันเรียบร้อยเลยนะคะ ขออภัย)

ดีใจที่ได้คนเขียนช่างคิดมาอีกคนใน GotoKnow ค่ะ

บันทึกนี้ของคุณแว็บ ช่วยทำให้เห็นกระบวนการบล็อกได้ชัดเจนมากขึ้นมาก  ขอบคุณที่ทำให้ได้เรียนรู้

  • ตาม link อ.โอ๋-อโณ มาค่ะ
  • ได้ประโยชน์จริงๆ
  • ขอบคุณค่ะ
  • ตาม link ของคุณโอ๋ อโณมาติดๆ ค่ะ
  • ขอบคุณคุณโอ๋ที่แนะนำ Blogger คุณภาพให้รู้จักค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท