เรียนออนไลน์ ภาคหนึ่ง


ห้องเรียนออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลเสมอไป การพัฒนาห้องเรียนประเภทนี้ผมฟันธงไปเลยว่าเป็นการลดต้นทุน

หลายๆ ครั้งที่ผมรู้สึกว่านักการศึกษา และผู้บริหาร เชื่อว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำการเรียนการสอนนั้นจะสามารถทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น คิดว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลกครับ ส่วนตัวผมเองเห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง แล้วแต่บริบทของสังคม แล้วแต่การนำมาใช้ ปัญหาในบ้านเราที่เกิดส่วนใหญ่ก็เพราะเราเอาแต่ตามฝรั่ง เพราะหลายๆ โครงการที่ล้มเหลวก็เพราะเอาความคิดเขามาแล้วไม่ปรับใช้กับวัฒนธรรม

การเรียนออนไลน์เป็นรูปแบบหนึ่งของการศึกษาทางไกลที่บ้านเรากำลังเห่อ และความต้องการก็เพิ่มขึ้นมาก หลายสถาบันเริ่มโครงการห้องเรียนออนไลน์ บางแห่งเปิดให้ผู้สนใจเข้าเรียนฟรี บางแห่งก็จัดเป็นหลักสูตรมาตรฐาน มีปริญญาบัตรมอบให้ผู้สำเร็จการศึกษาเลย

ผมเองมีประสบการณ์เรียนและสอนออนไลน์มาบ้างก็อยากจะมาเล่าให้ฟังครับ แต่ก่อนอื่นต้องขออธิบายการเรียนออนไลน์ตามความเข้าใจของผมนะครับ
ผมคิดว่าการเรียนออนไลน์ควรแบ่งเป็นสองประเภท คือประเภทมีผู้สอน ผู้ดูแล (instructor/coordinator) และประเภทมีไม่มีผู้สอน หรือผู้ดูแล ประเภทหลังนี้จะมีผู้ให้บริการด้านเทคนิคเท่านั้นครับ ต้องขออธิบายเพิ่มเติมในความหมายของผู้สอนหรือผู้ดูแลนี้อีกนิดหนึ่งครับ ในที่นี้ผมหมายถึงบุคคลที่รับผิดชอบในวิชานั้นๆ ซึ่งมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน คอยแนะแนวทาง คอยตอบปัญหา และตรวจงานของนักเรียนออนไลน์ โดยทำอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตรนั้น ส่วนประเภทที่คอยตอบปัญหาว่า password ไม่ถูก หรือ ลงทะเบียนไม่ได้ หรือเปิดวิดีโอไม่มีเสียง ทำอย่างไรดี แบบนี้ไม่นับนะครับ
นอกจากนี้ผมอยากจะแบ่งในแง่ของระบบการเรียนการสอนด้วย คือแบบผู้เรียนเข้าห้องเรียนพร้อมกัน (synchronous mode) เช่นการสนทนาออนไลน์ (chat) และแบบผู้เรียนเข้าห้องตามเวลาที่ตนสะดวก (asynchronous mode) เช่นการใช้กระดานสนทนา (discussion board) แบ่งแบบนี้แล้วสามารถตีตารางได้ดังนี้ครับ

มีผู้ดูแล และเรียนพร้อมกัน
มีผู้ดูแล และเรียนไม่พร้อมกัน
ไม่มีผู้ดูแล และเรียนพร้อมกัน (ไม่น่าจะมี)
ไม่มีผู้ดูแล และเรียนไม่พร้อมกัน

ผมรู้สึกว่ากำหนดแบบนี้แล้วช่วยให้เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนได้พอสมควรครับ ประการแรกคือเรื่องของผู้สอนและผู้ดูแล เนื่องจากห้องเรียนออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลเสมอไป การพัฒนาห้องเรียนประเภทนี้ผมฟันธงไปเลยว่าเป็นการลดต้นทุน มหาวิทยาลัยในอเมริกาบางแห่งใช้วิธีนี้เพื่อลดจำนวนนักเรียนที่จะมาเรียน “ที่” มหาวิทยาลัย คือให้เรียนอยู่บ้านแทน วิธีการสอนคือให้นักเรียนเข้าไปอ่านเนื้อหาวิชาออนไลน์ และสอบออนไลน์ไปเลย ทำแบบนี้มหาวิทยาลัยลดจำนวนห้องเรียนลง ลดอาจารย์ผู้สอน แต่ยังสามารถรับนักเรียนได้เท่าเดิม และอาจจะมากขึ้นในอนาคต การจัดการเรียนการสอนแบบนี้ ไม่ใช่ว่าไม่ดี หรือเป็นการเอาเปรียบเด็กนะครับ ผมเชื่อว่าวิธีนี้เหมาะสมในหลายกรณี ช่วยทั้งเด็กและมหาวิทยาลัย เพราะเด็กบางคนชอบเรียนเอง หรือทำงานพิเศษ ก็อยากจะเรียนตอนไหนก็ได้ วิธีนี้ก็ช่วยให้เขาเรียนได้สะดวกขึ้น ปัญหาคือจะจัดการเรียนการสอนแบบนี้ได้ ซอร์ฟแวร์หรือคอร์สแวร์ต้องดีมากครับ ไม่งั้นเด็กก็เรียนกันไม่รู้เรื่อง ต้องมีความสามารถในการโต้ตอบกับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ต้องมีความยืดหยุ่นให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความต้องการ แต่ก็ครอบคลุมเนื้อหาหลักสูตร ส่วนวิธีการทดสอบความรู้ก็ต้องทำอย่างมีหลักการ คือวัดผลความรู้ในหลายระดับ ไม่ใช่เพียงแต่ท่องจำไปสอบ เพราะผู้เรียนสามารถเปิดหนังสือสอบได้แน่ๆ (ใครจะไปตรวจสอบได้ครับ ถ้าเขาสอบออนไลน์) การเรียนแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการเรียนด้วยตนเอง จะเร็วจะช้าก็ตามความสามารถ ไม่มีการทำงานกลุ่ม ไม่มีการติดต่อสือสารกับเพื่อนในชั้นมากนัก
ส่วนการเรียนแบบมีผู้ดูแลนั้นก็จะมีความรู้สึกไปอีกแบบ นั้นคือไม่ต้องพึ่งพาคอร์สแวร์มากนัก เพียงแค่มีซอร์ฟแวร์ที่สามารถบริหารเนื้อหาหลักสูตรได้ แต่การติดต่อสื่อสารนั้น เกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนและผู้สอนเป็นหลัก อาจมีการจัดงานกลุ่ม จัดการอภิปรายออนไลน์ หรือเขียนงานส่งผู้สอน เมื่อผู้สอนตรวจงานก็มีการให้คะแนนและความคิดเห็นกับงานนั้นๆ การเรียนการสอนแบบนี้ ผู้สอนเหนื่อย... เหนื่อย(อิ๋บอ๋าย)เลยครับ เพราะการโต้ตอบกับนักเรียนทำได้โดยการเขียน ๆ ๆ ๆ และ เขียนเท่านั้น
การเขียนเป็นทักษะที่ (ผมคิดว่า) ยากกว่าและใช้เวลามากกว่าการพูด หมายถึงถ้าจะเขียนให้ดี สามารถแสดงความหมายระหว่างบรรทัดได้ ถ้าเราจะแสดงความรู้สึกเห็นใจนักเรียนคนหนึ่งต่อหน้า กับแสดงความเห็นใจโดยการเขียน อย่างไหนยากกว่าครับ? ลองคิดดูว่าหน้าตาก็อาจไม่เคยเห็นกันมาก่อน นิสัยใจคอก็ไม่รู้แน่ จะให้เขียนติติงงานของเขา (แบบติเพื่อก่อ) ก็ต้องเขียนอย่างมีศิลปะ เขาจะแสดงท่าทางอย่างไรกับข้อความของเราก็ไม่สามารถรู้ได้ แบบนี้ยากหรือยังครับ?

ที่พูดมาโดยใช้เกณฑ์ผู้สอน ผู้ดูแลเป็นหลักนั้น จริงๆ แล้วสามารถมองอีกมุมโดยใช้ระบบการเรียนการสอนได้เหมือนกันครับ แต่วันนี้ขอหยุดไว้แค่นี้ก่อน เดี๋ยวจะยาวเกิน

หมายเลขบันทึก: 71518เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2007 02:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เห็นด้วยนะครับว่าเทคโนโลยีอาจจะมีศักยภาพในการเป็นสื่อแห่งการเรียนรู้ได้อย่างมหาศาล แต่ก็ต้องสอดรับกับบริบทของวัฒนธรรมของสังคมนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน
  • จะรูปแบบไหนก็ได้ครับ  แต่สำหรับผมขอให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมกับการเรียน หรือการสอนให้มากที่สุด ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ทั้งในระบบสารสนเทศ หรือแม้แต่แบบดังเดิมที่มี "ครู"  บรรยายอยู่หน้าชั้นเรียน
  • ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 20 ปีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัยที่สุดที่ผมเคยได้ใช้ก็คือ "เครื่องฉายข้ามศีรษะ"  แต่บัดนี้และวันนี้ ทุกอย่างช่างทันสมัยเสียเหลือเกิน

ผมนึกถึงคำพูดของ รศ.ดร.เปรื่อง กุมุท ขึ้นมาเลยครับ " ถ้าคิดจะใช้ก็ต้อง Appropriate Technology นะ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท