หนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย


ขอยกคำนำในหนังสือมาให้อ่านกันเพื่อเป็นความรู้ครับ

คำนำหนังสือ " Kham Son Christang"

   

       

หนังสือเล่มนี้ เท่าที่ข้าพเจ้า(ม.ล.มานิจ) ได้สอบสวนมาปรากฏว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย มีเพียง 64 หน้า ขนาดเท่าหนังสือเล่มนี้(11*16.5 ซม.)   หนังสือนี้พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2339 (ค.ศ. 1796) โดยบาทหลวงชื่อ การ์โนต์ ที่โบสถ์ ซังตาครูซ ฝั่งธนบุรี ในสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คณะบาดหลวงฝรั่งเศสที่ได้เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ไม่เห็นด้วยการที่จะให้ขุนนางไทยที่นับถือคริสต์ศาสนาไปดื่มน้ำพระพิพัฒสัตยา โดยถือว่าน้ำมนต์ที่จิ้มด้วยหอกดาบ เป็นพิธีลัทธิเดียรถีย์ จึงเกิดเป็นปรปักษ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงสั่งเนรเทศบาดหลวงการ์โนต์ออกไปนอกประเทศ ครั้นถึงสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์ทรงมีรับสั่งให้คณะบาดหลวงกลับเข้ามาสอนศาสนาตามเดิมได้ บาดหลวงการ์โนต์ กับคณะจึงเข้ามาอยู่ที่กรุงธนบุรีตามเดิมและได้นำเครื่องพิมพ์เข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2339 (ค.ศ.1796) และได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นที่โบสถ์ซังตาครูซ

ข้าพเจ้า(ม.ล.มานิจ)เข้าไปค้นพบประวัติเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ ในเอกสารโต้ตอบระหว่างบาดหลวงการ์โนต์กับบาดหลวงเดกูวริแอร์ ในหนังสือ Documents Historiques และได้นำมาลงไว้ในหนังสือ Popula History of Thailand ของข้าพเจ้า(ม.ล.มานิจ)เมื่อ พ.ศ. 2515 (หน้า 433-6) คือเมื่อตอนกลับจากปารีส การพิมพ์ในขณะนั้นลำบากมาก ตัวพิมพ์ภาษาไทยยังไม่มีต้องใช้ตัวอักษรโรมันออกเสียงเป็นภาษาไทยแทนและการหล่อตัวพิมพ์ก็ลำบาก      เพราะต้องใช้แม่พิมพ์ปั้นด้วยดินเหนียวเอา  เผาแล้วหลอมตระกั่วหยอด ฉะนั้นหลอมได้ตัวเดียวก็ต้องทำแม่พิมพ์ใหม่ทุกครั้ง ทำให้ตัวพิมพ์ไม่สม่ำเสมอ และการพิมพ์ก็ไม่เรียบร้อย เส้นขาด ๆ วิ่น ๆ และบางทีก็หายไป หมึกเลอะเทอะ ข้าพเจ้าได้ใช้วิธีถ่ายรูป เพื่อพิมพ์ให้เหมือนต้นฉบับเดิมทุกอย่าง

ตัวพิมพ์ภาษาไทยเพิ่งจะมีผู้มาประดิษฐ์ขึ้นในตอนหลัง โดยมีนางจัดสันค้นคว้าเรียนภาษาไทยกับเชลยศึกไทยในประเทศพม่า แล้วส่งหนังสือสอนศาสนาภาษาไทยที่นางแปลจากภาษาพม่าของสามีลงไปพิมพ์ที่เมืองเซรัมปอร์ในมณฑลเบ็งกอลเมื่อ พ.ศ.2362 หรือหลังจากหนังสือเล่มนี้ 23 ปี ต่อมานายร้อยเอกเจมส์โลว์ได้เรียบเรียงหนังสือไวยากรณ์ไทยขึ้นที่เมืองกลักตาเมื่อ พ.ศ. 2371 (ค.ศ.1828) แต่รู้สึกว่าการพิมพ์ครั้งนี้ใช้วิธีพิมพ์หิน ไม่ใช่เรียงพิมพ์ เนื่องจากไม่ปรากฎหนังสือของนางจัดสันหลงหลืออยู่ จึงตอบไม่ได้ว่า ตอนนั้นพิมพ์กันด้วยวิธีใด อย่างไรก็ดีตัวพิมพ์ไทยที่กลักตาคงจะได้มีขึ้นแล้วเพราะปรากฎว่าสิงคโปรได้ส่งคนเข้ามาซื้อแม่พิมพ์ไปเมื่อ พ.ศ. 2376 และต่อมาทางเมืองไทยก็ไปซื้อจากสิงคโปร์นำเข้ามาใช้เมื่อ พ.ศ. 2379

เมื่อไปราชการ ณ กรุงปารีส คราวประชุมใหญ่ยูเนสโก เมื่อเดือนตุลาคม 2526 ข้าพเจ้า(ม.ล.มานิจ) ได้ไปติดต่อกับบาดหลวงเกนู นักเอกสารของสำนักงานใหญ่ คณะบาดหลวง ณ กรุงปารีส แต่ก็ไม่พบหนังสือเล่มนี้ในกองเอกสารของคณะบาดหลวง ท่านบาดหลวงเกนูบอกว่า ในขณะนั้น (ค.ศ. 1796 หรือ พ.ศ.2336) เพิ่งจะมีการปฎิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส ทหารคณะปฎิวัติเข้ายึดสำนักงานและสั่งปิดสำนักงานของคณะบาดหลวงอยู่หลายปี การติดต่อระหว่างคณะบาดหลวงในกรุงเทพฯกับสำนักงานใหญ่กรุงปารีสจึงขาดสะบั้นลง หนังสือส่งไปเก็บที่กรุงปารีสไม่ได้ แต่บังเอิญเคราะห์ดีบาดหลวงการ์โนต์ ผู้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ ได้เก็บไว้ส่วนตัวเล่มหนึ่ง (มีลายเซ็นนามของบาดหลวงการ์โนที่หน้าปก) เมื่อบาดหลวงการ์โนต์ถึงแก่มรณกรรมที่จังหวัดจันทบุรี (ซึ่งเป็นที่เผยแพร่ศาสนาด้วยอีกแห่งหนึ่งในประเทศไทย) เมื่อ พ.ศ.2354 (ค.ศ.1811) ทรัพย์สมบัติของบาดหลวงการ์โนต์รวมทั้งหนังสือเล่มนี้ ถูกส่งกลับไปให้ญาติที่กรุงปารีส หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเล่มเดียวที่หลงเหลืออยู่ จนกระทั่งพวกเพื่อนของข้าพเจ้าได้ไปสืบจนพบหนังสือเล่มนี้และนำมาเสนอข้าพเจ้า(ม.ล.มานิจ) ข้าพเจ้า(ม.ล.มานิจ)จึงได้เดินทางไปซื้อ นำกลับมาเมืองไทยเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2526 นี้เอง และนำกลับมาแสดงไว้ที่ร้านเฉลิมนิจ ให้ชมกัน

ข้าพเจ้าได้ค้นคว้าเกี่ยวกับการพิมพ์ในประเทศไทยและพบในวารสารทางวิชาการของโรงเรียนฝรั่งเศสในตะวันออกไกล เล่ม 68 พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1980) หน้า 211 ว่า เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสได้นำโกษาปานไปชมโรงพิมพ์หลวงในกรุงปารีส เมื่อ ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229) โกษาปานตื่นเต้นมากอยากจะนำเอามาใช้ในเมืองไทยบ้าง แต่พอกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาก็เกิดการปฎิวัติโดยพระเพทราชาและขับไล่ชาวฝรั่งเศสออกนอกประเทศ  การติดต่อกับฝรั่งเศสจึงขาดสบั้นลงตั้งแต่นั้นมา จนถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ  และในหน้า 212 ผู้แต่งเรื่องนี้ในวารสารโรงเรียนตะวันออกไกลเล่มนี้ ( Gerald Duverdier X) ก็ยืนยันว่าการที่มีเครื่องพิมพ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงคงเป็นไปไม่ได้ ( "Nous pouvons d'autant mieuxecarter la possibilite d'une imprimerie a Ayuthia….")   ตามที่นึกกันว่า น่าจะมีการพิมพ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์กันบ้าง เพราะ บาดหลวงฝรั่งเศสแต่งหนังสือภาษาไทยไว้มาก ถ้าได้มีการพิมพ์จริง ก็น่าจะมีตัวอย่างหนังสือส่งไปเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่กรุงปารีสบ้าง ข้าพเจ้า(ม.ล.มานิจ)ได้วิ่งเข้าวิ่งออกกองเอกสารของเขา ในฐานะผู้ค้นคว้าและสนใจทางประวัติศาสตร์ของไทย เป็นเวลากว่า 30 ปี นับแต่ไปอยู่กับยูเนสโกที่กรุงปารีส ก็ไม่พบ ทั้งๆที่ได้รับความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ของเขา พบแต่ต้นฉบับหนังสือที่บาดหลวงแต่ง และยังได้พบกระทั่งรายงานที่เป็นภาษาไทยที่โกษาปานทิ้งร่างไว้ฉนั้นการพิมพ์ในสมัยอยุธยาคงจะไม่มีจริงตามที่ นาย ดูแวรดิแอ เขียนไว้ในวารสารของโรงเรียนตะวันออกไกลฉบับที่ 68 นั้น

หนังสือเล่มนี้มีราคาร่วมแสนบาท ข้าพเจ้าถือว่าเป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทย ที่ได้อุบัติขึ้นในประเทศไทย ข้าพเจ้าจึงมีมุมานะว่าจะต้องเอากลับคืนมาเมืองไทยให้จงได้ จะยอมให้ชาติอื่นเขาประมูลเอาไปไว้ในประเทศอื่นไม่ได้ แม้แพงแสนแพงก็ต้องเอากลับมา ดังนี้

ม.ล. มานิจ ชุมสาย

เก็บมาจากhttp://www.cokethai.com/board/viewtopic.php?t=2101&postdays=0&postorder=asc&start=105

12-11-2551

 

หมายเลขบันทึก: 222381เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2008 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for sharing this information.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท