ส่วนประกอบของหนังสือ


ความหมายของหนังสือ 

หนังสือ  หมายถึง  การบันทึกความรู้  ความคิด  ประสบการณ์   ลงบนแผ่นกระดาษขนาดเท่า ๆ กัน โดยใช้ถ้อยคำ สำนวนโวหารในการสื่อสารให้ผู้อ่านได้รับรู้ และเข้าใจ ซึ่งใช้การเขียน หรือพิมพ์  แล้วนำมาเย็บรวมเป็นเล่ม  

กระดาษที่นิยมใช้จัดทำหนังสือมีหลายขนาด แตกต่างกันไปตามประโยชน์ของการใช้งาน ดังนี้

  • กระดาษขนาดสองหน้ายก ความสูง มากกว่า 30 ซ.ม. (ประมาณ 15 นิ้ว)
  • กระดาษขนาดสี่หน้ายก ความสูง  30  ซ.ม.  (ประมาณ  12 นิ้ว)
  • กระดาษขนาดแปดหน้ายก ความสูง  25  ซ.ม.  (ประมาณ 9 ¾  นิ้ว)
  • กระดาษขนาดสิบหกหน้ายก ความสูง  17  ½  ซ.ม. (ประมาณ 6  ¾  นิ้ว)
  • กระดาษขนาดสามสิบสองหน้ายก ความสูง  13  ซ.ม. (ประมาณ 5 นิ้ว)
  • กระดาษขนาดหกสิบสี่หน้ายก ความสูง   8  ซ.ม. (ประมาณ 3 นิ้ว)
  • กระดาษขนาดช้าง (Elephant  folio) ความสูง  23  นิ้ว
  • กระดาษขนาดหนังสือแผนที่ (Atlas  folio) ความสูง  25  นิ้ว
  • กระดาษขนาดช้างคู่ (Double elephant folio) ความสูง  50  นิ้ว

หนังสือที่มีความกว้างมากกว่า ความสูงเรียกว่า หนังสือสี่เหลี่ยมผืนผ้า (oblong) และใช้คำว่า สี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามหลังขนาดของหนังสือได้ เช่น หนังสือขนาดแปดหน้ายกสี่เหลี่ยมผืนผ้า

ที่มีความกว้างน้อยกว่า 3/5  ของความสูง เรียกว่า หนังสือหน้าแคบ (narrow)  และใช้คำว่า  หน้าแคบ  ตามหลังขนาดของหนังสือได้ เช่น หนังสือขนาดแปดหน้ายกหน้าแคบ

หนังสือที่มีความกว้างมากกว่า  3/4  ของความสูง  แต่ไม่เกินความสูง  เรียกว่า หนังสือหน้าจตุรัส (square)

หนังสือวิชาการโดยทั่วไป นิยมใช้กระดาษขนาดแปดหน้ายก ซึ่งถือเป็นขนาดมาตรฐาน และหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊ก นิยมใช้กระดาษขนาดสิบหกหน้ายก  (พวา พันธุ์เมฆา, 2539, หน้า 81) 

ประโยชน์ของหนังสือ

หนังสือมีประโยชน์ ดังนี้

1. บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้อย่างละเอียดชัดเจน

2. ถ่ายทอดวัฒนธรรมและเรื่องราวจากอดีตถึงปัจจุบัน

3. ส่งเสริมความใฝ่รู้ให้แก่ผู้อ่านด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย  และรูปเล่มที่ดึงดูดความสนใจ

4. สร้างนิสัยรักการอ่าน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ส่วนประกอบของหนังสือ

          การศึกษาส่วนประกอบของหนังสือนั้น มีความจำเป็นมากสำหรับผู้อ่าน นอกเหนือจากการอ่านเนื้อเรื่องของหนังสือแล้ว  ผู้อ่านควรที่จะทราบส่วนประกอบของหนังสือด้วย เนื่องจากแต่ละส่วนของหนังสือ จะบอกข้อมูลต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนั้นๆ เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการเลือกซื้อ หรือใช้ประกอบการอ้างอิงได้ หรือเพื่อประโยชน์ในการช่วยให้อ่านหนังสือได้เข้าใจยิ่งขึ้น ซึ่งหนังสือประกอบด้วย 4 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้

1. ส่วนปก (binding)

2. ส่วนประกอบตอนต้น (preliminary page)

3. ส่วนเนื้อเรื่อง (text / body of the book)

4. ส่วนประกอบตอนท้าย(auxiliary materials)

          หนังสือแต่ละเล่มที่ผลิตออกมานั้น ล้วนแล้วแต่มีส่วนประกอบต่างๆ ที่มากน้อย แตกต่างกันไป อาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ปัจจัยการผลิตหลายประการ ซึ่งไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิด เพราะไม่มีหนังสือเล่มใดในโลก ที่มีส่วนประกอบครบถ้วนสมบูรณ์ทุกประการ

1.  ส่วนปก (binding)

1.1 ใบหุ้มปก (book jacket / dust jacket / wrapper)

  • เป็นส่วนแรกของหนังสือ มีลักษณะเป็นกระดาษหุ้มตัวเล่มด้านนอกของหนังสือไว้ แล้วพับทบไว้ที่ด้านในของปกทั้งปกหน้าและปกหลัง ที่ด้านหน้าของใบหุ้มปกจะพิมพ์รูปภาพ หรือข้อความ ที่มีลักษณะเหมือนกับปกจริงของหนังสือ ซึ่งอาจเป็นชื่อหนังสือ และชื่อผู้แต่ง  หรืออาจเป็น ภาพที่แตกต่างจากปกจริงก็ได้ แต่ต้องเป็นภาพที่มีสีสันสวยงาม เพื่อดึงดูดความสนใจ  และเป็นภาพมีความสัมพันธ์กับเนื้อหาภายในตัวเล่ม 
  • ใบหุ้มปกช่วยให้หนังสือสวยงาม และยืดอายุการใช้งานของหนังสือ โดยป้องกันไม่ให้หนังสือสกปรกง่าย ส่วนที่พับทบไว้ด้านในของปก ทั้งปกหน้าและปกหลัง ยังสามารถพิมพ์ประวัติของผู้แต่งหนังสือ และเนื้อเรื่องย่อของหนังสือได้อีกด้วย

1.2  ปก (blnding / cover)

  • ปกของหนังสือมีทั้งปกอ่อน และปกแข็ง ซึ่งมีกรรมวิธีในการเข้าปกไม่เหมือนกันโดยหนังสือปกอ่อน เป็นเพียงการนำปกที่พิมพ์สำเร็จแล้ว มาทากาวทาบติดกับตัวเล่ม แต่หนังสือปกแข็งมักจะมีการทำปกด้วยผ้าแล็กซีล หรือกระดาษแล็กซีล (Lacquer sealed)  และมีกรรมวิธีในการเข้าปกที่ยุ่งยากซับซ้อน แต่หนังสือปกแข็งมีความแข็งแรงทนทานมากกว่าหนังสือปกอ่อน จึงมีผลทำให้หนังสือปกแข็งมีราคาแพงกว่าหนังสือปกอ่อน 
  • ไม่ว่าจะเป็นปกอ่อนหรือปกแข็ง  ปกของหนังสือจะมีหน้าที่ยึดกระดาษที่อยู่ด้านใน ให้รวมเป็นเล่มเดียวกัน และมีรูปทรงที่ชัดเจน เพื่อรักษารูปทรงของหนังสือให้คงทน โดยบริเวณปกด้านหน้าจะเขียนชื่อเรื่องของหนังสือ ชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ บางครั้งอาจมีชื่อสำนักพิมพ์ด้วย

1.3  สันหนังสือ (spine)

  • เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างปกหน้า และปกหลัง มีหน้าที่ยึดปกหน้า และปกหลังให้ติดกัน ซึ่งขนาดของสันหนังสือแต่ละเล่มจะบางหรือหนาแตกต่างกันไปตามจำนวนกระดาษที่อยู่ด้านใน หนังสือที่มีสันหนา ส่วนมากนิยมพิมพ์ข้อมูลของหนังสือ เช่น ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง สำนักพิมพ์ และปีที่พิมพ์ ตามลำดับ สำหรับหนังสือที่มีสันบาง สามารถเลือกพิมพ์ ข้อมูลที่จำเป็นบางอย่างได้ โดยส่วนใหญ่จะเลือกพิมพ์ชื่อเรื่องก่อน
  • ห้องสมุดใช้ประโยชน์จากสันหนังสือโดยการพิมพ์ เลขเรียกหนังสือ (call  number) ไว้บริเวณด้านล่างของสันหนังสือ ซึ่งวัดจากขอบล่างของหนังสือขึ้นมาประมาณ 1.5 - 3 นิ้ว  แต่กรณีที่สันหนังสือบาง ไม่สามารถพิมพ์เลขเรียกหนังสือลงไปได้ ห้องสมุดจะเปลี่ยนมาเขียนเลขเรียกหนังสือที่บริเวณปกหน้า ด้านล่างซ้ายแทน โดยวัดห่างจากขอบล่างของหนังสือขึ้นมาประมาณ 1.5 - 3 นิ้ว เช่นกัน และห่างจากขอบสันด้านซ้ายของหนังสือเข้ามาประมาณ 1.5 นิ้ว  หรือบางห้องสมุดจะพิมพ์เลขเรียกหนังสือทั้งที่สัน และปกหน้าของหนังสือ

1.4  ใบติดปก (end paper)

  • เป็นกระดาษที่ทากาวผนึกติดอยู่กับปกด้านใน ทั้งปกหน้าและปกหลัง ส่วนใหญ่จะพบใบติดปกในหนังสือปกแข็ง เนื่องจากหนังสือปกแข็งจะมีการทำปกด้วยผ้าแล็กซีล หรือ กระดาษแล็กซีล ซึ่งทำให้มีรอยตะเข็บที่เกิดจากการพับผ้าแล็กซีล หรือกระดาษแล็กซีล จึงต้องนำกระดาษมาปิดทับรอยนั้นเพื่อให้เกิดความสวยงาม นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ช่วยยึดปกกับตัวเล่มหนังสือไว้ด้วยกันอีกด้วย

2.  ส่วนประกอบตอนต้น (preliminary page)

2.1 ใบรองปก (fly leave)

  • เป็นกระดาษแผ่นเดียวกันกับใบติดปกที่มีความยาวต่อเนื่องกันมา แต่ปล่อยเป็นอิสระ ระหว่างใบติดปกและใบรองปก จะถูกยึดติดกับตัวเล่ม เพื่อช่วยให้ปกและตัวเล่มหนังสืออยู่ติดกันได้นานขึ้น โดยส่วนใหญ่ใบติดปกและใบรองปกจะเป็นกระดาษที่หนาและเหนียวพอสมควร

2.2  หน้าชื่อเรื่อง (half title page)

  • เป็นหน้าที่มีชื่อเรื่องของหนังสือเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นการกล่าวซ้ำให้ชัดเจนว่าหนังสือมีชื่อเรื่องว่าอย่างไร หนังสือบางเล่มที่มีชื่อเรื่องเทียบเคียง (pararell title) และชื่อเรื่องรอง (subtitles) ก็จะปรากฏอยู่ที่หน้าชื่อเรื่องเช่นกัน นอกจากนี้หน้าชื่อเรื่องยังทำหน้าที่แทนปกชั่วคราว กรณีที่ปกหลุด หรือสูญหาย

2.3  หน้าภาพนำ (frontispiece) 

  • เป็นหน้าที่แสดงภาพที่มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องของหนังสือ อาจเป็นภาพขนาดใหญ่ และไม่ปรากฏตัวอักษรใดในหน้าภาพนำ

2.4  หน้าปกใน  (title page)

  • เป็นหน้าที่มีความสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นหน้าที่มีรายละเอียดทางบรรณานุกรม ของหนังสือครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการอ้างอิงและเขียนบรรณานุกรมได้
  • รายละเอียดทางบรรณานุกรมที่ปรากฏในหน้าปกใน ได้แก่

2.4.1  ชื่อผู้แต่ง (author) หน้าปกในจะปรากฏชื่อผู้แต่งทุกคนอย่างครบถ้วน บางครั้งบอกคุณวุฒิ และสถานที่ทำงานของผู้แต่งแต่ละคนด้วย

2.4.2   ชื่อเรื่องหนังสือ (title) เป็นส่วนที่มีชื่อเรื่องของหนังสือที่ถูกต้องซึ่งอาจมีทั้งชื่อเรื่องจริง (title proper) ชื่อเรื่องเทียบเคียง (pararell title) และชื่อเรื่องรอง (subtitles)

2.4.3   ครั้งที่พิมพ์ (edition) หนังสือที่มีจำนวนครั้งที่พิมพ์มาก แสดงว่าเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอ่านมาก  เช่น พิมพ์ครั้งแรก พิมพ์ครั้งที่ 2  พิมพ์ครั้งที่ 3  พิมพ์ครั้งที่ 4 พิมพ์ครั้งที่ 5

2.4.4   สถานที่พิมพ์ (place of publisher) คือ ชื่อเมือง ชื่อจังหวัด หรือชื่อประเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือ เช่น กรุงเทพฯ  New York  London Toronto

2.4.5   สำนักพิมพ์ (publisher) คือ ชื่อของบริษัท สำนักพิมพ์ หรือหน่วยงาน ที่รับผิดชอบจัดพิมพ์หนังสือ เช่น สำนักพิมพ์ดอกหญ้า  สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  McGraw – Hill  Facts on File  H.W. Wilson Company

2.4.6   ปีที่พิมพ์ (date of publication) เป็นปีที่จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือ

2.5  หน้าลิขสิทธิ์ (copyright page)             

  • เป็นหน้าที่อยู่ด้านหลังของหน้าปกใน มีข้อความบอก ปีที่จดทะเบียนลิขสิทธิ์หนังสือ และผู้ถือลิขสิทธิ์  เช่น
  • “สงวนลิขสิทธิ์ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ โดยบริษัท....................... พ.ศ.2538  ห้ามการลอกเลียนไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะได้รับอนุญาต”
  • นอกจากข้อความที่เป็นลิขสิทธิ์แล้ว ในหน้านี้ยังอาจมีข้อมูลอื่นๆ ของหนังสือเพิ่มเติมด้วย เช่นเป็นหน้าที่อยู่ด้านหลังของหน้าปกใน มีข้อความบอก ปีที่จดทะเบียนลิขสิทธิ์หนังสือ และผู้ถือลิขสิทธิ์  เช่น

2.5.1 ข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดทางบรรณานุกรมของหนังสือ

2.5.2 เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (International Standard Book Number = ISBN)  เป็นเลขสำหรับข้อมูลของหนังสือแต่ละเล่ม เพื่อการติดต่อสื่อสาร ให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างประเทศต่างๆ

2.6  หน้าคำอุทิศ (dedication page)

  • มีข้อความที่บอกถึงการอุทิศความดี หรือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับจากหนังสือเล่มนี้ให้แก่บุคคลต่างๆ  เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของบุคคลเหล่านั้นที่มีส่วนทำให้ผู้เขียนได้รับความสำเร็จจากการเขียนหนังสือ

 

  •  ตัวอย่างหน้าคำอุทิศ

คำอุทิศ

          หาก คุณค่าทางความรู้และความคิดจากเอกสารเล่มนี้  ช่วยชี้แนะผู้อ่านให้มีนิสัยรักการอ่าน และสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ข้อมูล  ที่ตนเองสนใจและต้องการได้อย่างถูกต้องรวดเร็วด้วยตนเองแล้ว ผู้เขียนขออุทิศความดีดังกล่าว ให้ผู้มีพระคุณต่อผู้เขียนทุกท่าน

ประทีป  จรัสรุ่งรวีวร   

 

2.7  หน้าคำนำ (preface)                  

  • มีข้อความที่แจ้งให้ผู้อ่านทราบถึงวัตถุประสงค์ หรือจุดประสงค์ในการเขียนหนังสือ ในตอนท้ายอาจมีคำขอบคุณ หรือประกาศคุณูปการต่อผู้ที่มีส่วนช่วยเหลือในการเรียบเรียง หรือพิมพ์หนังสือนั้น

2.8  หน้าบทนำ (introduction)

  • เป็นการอธิบายเนื้อหา หรือขอบเขตโดยย่อของหนังสือ เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นๆ  ก่อนที่จะอ่านเนื้อเรื่องอย่างละเอียดต่อไป

2.9  หน้าสารบัญ (table of contents)

  • การนำหัวข้อต่างๆ ในเนื้อเรื่อง มาจัดเรียงลำดับตั้งแต่หัวข้อแรก จนถึงหัวข้อสุดท้ายและกำกับด้วยเลขหน้าที่หัวข้อนั้นๆ ปรากฏอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถค้นหาเนื้อเรื่อง ที่ต้องการอ่านในตัวเล่มได้รวดเร็วขึ้น

2.10  หน้าสารบัญภาพ แผนที่ และตาราง (list of illustrations,  maps and tables)

  • หน้าสารบัญภาพประกอบ แผนที่  และตารางจะมีในหนังสือบางเล่มที่มีภาพประกอบ แผนที่ หรือตารางเท่านั้น โดยนำชื่อภาพ ชื่อแผนที่ ชื่อตารางมาจัดเรียงตามลำดับก่อนหลังที่ปรากฏในเล่ม และกำกับด้วยเลข เพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถค้นหาภาพ แผนที่หรือตารางที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้น โดยแยกหน้าสารบัญตามประเภท

3. ส่วนเนื้อเรื่อง (text or body of the book)

3.1  เนื้อหา (text / body of the book)

  • เนื้อหาเป็นส่วนสำคัญที่สุดของหนังสือ มีการประมวลความรู้ต่างๆ ที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารให้กับผู้อ่านได้ทราบ การเรียบเรียงเนื้อหาเป็นระบบระเบียบ โดยเฉพาะหนังสือวิชาการ จะมีการแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทๆ ซึ่งหนังสือแต่ละเล่มจะมีกี่บทก็ได้ แล้วแต่การจัดแบ่งของผู้เขียนตามความเหมาะสม  แต่หนังสือบางเล่ม มีการเขียนเนื้อหาติดต่อกันไปตลอดทั้งเล่ม ไม่มีการแบ่งบท  ส่วนใหญ่หนังสือที่ไม่มีการแบ่งบทนี้ จะเป็นหนังสือสำหรับอ่านหาความรู้ทั่วไป ไม่ใช่หนังสือวิชาการ
  • ในกรณีที่เป็นหนังสือวิชาการมักจะพบส่วนประกอบ ที่เรียกว่า “การอ้างอิงแทรกในเนื้อหา” หรือ “เชิงอรรถ” อย่างใดอย่างหนึ่ง ปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่องเสมอ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการค้นคว้าอย่างจริงจังจากเอกสารหลายๆ เล่ม เพื่อให้ได้ความรู้ใหม่มาเรียบเรียงในการเขียนหนังสือเล่มนั้นๆ

3.2  การอ้างอิงระบบนามปี  (parenthetical references)

  • หมายถึง ข้อความที่บอกแหล่งที่มาของเนื้อเรื่อง ซึ่งแทรกอยู่ในเนื้อหา และอยู่ในวงเล็บ ได้แก่ ชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ และเลขหน้าของเอกสารที่นำมาอ้างอิง

 

ตัวอย่างการอ้างอิงแทรกในเนื้อหา

           จากความจำเป็นที่แพทย์ ต้องใช้สารนิเทศเพื่อการปฏิบัติงาน แต่จำนวนสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วประมาณว่าแต่ละปีมีบทความใหม่ตีพิมพ์ออกมา 400,000 จากวารสารประมาณ 14,000 รายการ (สุชาดา ธินะจิตร, 2535, หน้า 20)  มีบทความปริทัศน์ (Review articles เป็นข้อเขียน.....

 

3.3  เชิงอรรถ(การอ้างอิงท้ายหน้า)

  • หมายถึง ข้อความที่บอกแหล่งที่มาของเนื้อเรื่อง ซึ่งจะปรากฏอยู่ที่ท้ายหน้ากระดาษ  มี 3 ประเภท ได้แก่

3.3.1 เชิงอรรถอ้างอิง (citation  footnote) เป็นเชิงอรรถที่แจ้งแหล่งที่มา ของข้อความว่านำมาจากเอกสารใด เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล หรือสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารต้นฉบับได้

3.3.2 เชิงอรรถเสริมความ (content  footnote) เป็นเชิงอรรถที่อธิบายคำ หรือความหมาย หรืออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดียิ่งขึ้น

3.3.3 เชิงอรรถโยง (cross reference footnote) เป็นเชิงอรรถที่โยงให้ผู้อ่านดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากส่วนอื่นๆ ของตัวเล่ม เพื่อหลีกเลี่ยงการกล่าวซ้ำ

 

4. ส่วนประกอบตอนท้าย (auxiliary materials)

4.1  ภาคผนวก (appendix)

  • ส่วนที่เพิ่มเติมจากเนื้อเรื่อง ซึ่งไม่สามารถที่จะนำไปเขียนไว้ในเนื้อเรื่องได้ เนื่องจากจะทำให้เนื้อหา ขาดตอนไม่ต่อเนื่อง แต่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง ซึ่งผู้อ่านควรจะได้ทราบ เช่น หนังสือเรื่อง  คู่มืออินเทอร์เน็ต โดย สุรศักดิ์ สงวนพงษ์  เนื้อหาในตัวเล่มมีหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับ พัฒนาการของอินเทอร์เน็ต การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เทคนิคการใช้งานอินเทอร์เน็ตในเรื่องต่างๆ เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว จะสามารถเข้าใจและใช้อินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้น แต่การใช้อินเทอร์เน็ตนั้นจะต้องทราบแหล่งบริการ หรือเว็บไซต์ ที่จะเข้าไปใช้ ซึ่งผู้อ่านบางท่าน ยังไม่ทราบว่าจะเข้าไป ใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้จากที่ใด ดังนั้นผู้เขียนจึงนำรายชื่อแหล่งบริการ หรือเว็บไซต์ต่างๆ ไปไว้ในภาคผนวก เพื่อเป็นส่วนส่งเสริมให้ผู้อ่านได้ใช้อินเทอร์เน็ตให้ประสบความสำเร็จ  และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


4.2  อภิธานศัพท์ (glossary)

  • เป็นการนำคำศัพท์ที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง ที่ผู้เขียนคาดว่าผู้อ่านอาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่รู้จักคำๆ นั้นมาก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้อ่าน ได้อ่านเนื้อเรื่องอย่างเข้าใจและต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นคำคัพท์เฉพาะ หรือคำศัพท์เทคนิค โดยการนำคำศัพท์เหล่านั้นมาจัดเรียงตามลำดับอักษร แล้วอธิบายความหมายของคำศัพท์นั้นๆ


4.3  บรรณานุกรม (bibliography)

  • เป็นการนำรายละเอียดทางบรรณานุกรมของเอกสารต่างๆ ที่ประกอบการเรียบเรียงหนังสือเล่มนั้นๆ มาจัดเรียงตามลำดับอักษร เพื่อแจ้งให้ผู้อ่าน ได้ทราบถึงแหล่งความรู้ที่ผู้เขียนได้ใช้ในการเรียบเรียงหนังสือ และแสดงให้เห็นถึง ความน่าเชื่อถือของการค้นคว้าอย่างจริงจังก่อนการเขียนหนังสือเล่มนั้นๆ  ซึ่งอาจมีทั้งหนังสือ วารสาร โสตทัศนวัสดุ หรือสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ โดยรายละเอียด ทางบรรณานุกรมของเอกสารต่างๆ ประกอบด้วย ชื่อผู้แต่ง ปีที่พิมพ์ ชื่อเรื่อง ครั้งที่พิมพ์ สถานที่พิมพ์ และสำนักพิมพ์

 

4.4  ดรรชนี หรือ บัญชีค้นคำ (index)

  • เป็นการนำหัวข้อย่อยๆ และคำบางคำ ที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง มาจัดเรียงตามลำดับอักษร แล้วกำกับด้วยเลขหน้าที่หัวข้อย่อย และคำบางคำนั้นปรากฏอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้อ่าน ได้ค้นหาเรื่องราวในตัวเล่มได้รวดเร็วขึ้น
  • หน้าดรรชนี หรือบัญชีค้นคำนี้ มีหน้าที่คล้ายกับสารบัญ คือ ช่วยผู้อ่านให้สามารถค้นหา เรื่องที่ต้องการอ่านได้รวดเร็วขึ้น แต่แตกต่างกันตรงที่สารบัญเป็นการนำหัวข้อต่างๆ มาจัดเรียงตามลำดับก่อนหลังที่ปรากฏในตัวเล่ม แต่ดรรชนีหรือบัญชีค้นคำ เป็นการนำหัวข้อย่อย และคำบางคำ มาจัดเรียงตามลำดับอักษร 

      .......................................................................................................

ค้นมาจาก....การรู้สารสนเทศ

e-learning : บทเรียนออนไลน์
โดย ผศ.เพชรรัตน์ บริสุทธิ์

http://human.tru.ac.th/elearning/tec_ban/tinfo03/index.html

      .......................................................................................................

InDesign : Template for Book

ดูตัวอย่าง >>>  ตัวอย่างหนังสือ 1  ...  ตัวอย่างหนังสือ 2

คำสำคัญ (Tags): #หนังสือ
หมายเลขบันทึก: 334938เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2010 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

ขอขอบคุนมากๆเลยคับ จำเปนกับวิชาเรียนของผมมากเลย หายากด้วย ขอบคุนคับที่เอาไฟล์มาลงสรุปให้

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ดีๆ ค่ะ

ขอบคุนมากครับเป็นประโยชน์มากกกกกกกกกกกกก   ขอบคุนจริงๆ ขอบคุนมากเรยครับ

- ขอบคุณอาจารย์มากครับ ที่ให้ความรู้

ขอบคุณครับ คุณช่วยชีวิตผมไว้

ขอบคุณสำหรับทุกสิ่งค่ะ



ขอบคุณมากเลยคับ

ขอบใจมากนะคับ




นิวคับ 0937497278

ขอบคุนจิงๆคับ

หูกระจงควรปลูกให้หางจากตัวบ้าน (^-^)

ขอบคุณมากนะครับ. ทำงานส่ง อาจารย์ได้สบายเลย ??

...............................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................................

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท