คิดให้เกิดปัญญา (ตอนที่2)


คิดให้เกิดปัญญา

รูปแบบการคิด (Mental Models)

1.      วิธีการคิดเชิงระบบ (Systems thinking)

2.      วิธีการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking)

3.      วิธีการคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative thinking)

4.      วิธีการคิดหมวก 6 ใบ คิด 6 แบบ (Six Thinking Hats)

5.      วิธีการคิดของพระพุทธศาสนา 

1.   วิธีการคิดเชิงระบบ (Systems thinking) เป็นวิธีการคิดที่ช่วยให้เราสามารถเห็นรูปแบบและเหตุการณ์ที่จะอุบัติขึ้นในอนาคต ทำให้เราสามารถเตรียมตัวและสามารถมีอิทธิพลเหนือสิ่งนั้น ๆ ได้ วิธีการคิดเชิงระบบเป็นสิ่งที่รู้อยู่ในแวดวงอันจำกัด จนดูเหมือนเป็นสิ่งที่ยากกว่าที่จะเข้าใจ แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันได้ สามารถใช้ได้ทุกหนทุกแห่ง และไม่ยากอย่างที่ใคร ๆ คาดคิด (วีรวุธ มาฆะศิรานนท์ และณัฐพงศ์ เกศมาริษ (2547: 15-17) .หัวใจนักคิด. กรุงเทพมหานคร:Be Bright Books.)  วิธีการคิดเชิงระบบ เป็นการคิดในเชิงองค์รวม หรือภาพรวม (Big Picture) โดยตระหนักชัดถึงองค์ประกอบย่อยที่มีความสัมพันธ์ และมีหน้าที่ต่อเชื่อมกันอยู่                 

วิธีการคิดเชิงระบบนั้น John D” Sterman (2000) ได้นำเสนอ Causal Loop Diagrams การคิดเชิงระบบในด้าน Positive Loop หรือ Reinforcing Loop และ Negative Loop  หรือ Balancing Loop

                  Positive Loop หรือ Reinforcing Loop หมายถึง ระบบที่เชื่อมกันอยู่ให้เป็นการเสริมสาเหตุเหล่านั้น

                  Negative Loop หรือ Balancing Loop หมายถึง มีผลทำให้เกิดสมดุลกับในการแก้ปัญหานั้น ๆ 

 2.      วิธีการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) หมายถึง การคิดในแง่บวก การคิดที่ไม่ทำร้ายใครหรือการคิดที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2537) ได้กำหนดองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ อันได้แก่ ความคิดนั้นต้องเป็นสิ่งใหม่ (new, original) ใช้การได้ (workable) และมีความเหมาะสม (appropriate) ลงตัวพอดีกับปัญหาที่ต้องการแก้ไข            

ทอแรนซ์ (Torrance) ได้เสนอองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์   3 องค์ประกอบ คือ

1.      ความคล่องแคล่วในการคิด (Fluency) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการคิดหาคำตอบได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว และสามารถสร้างคำตอบได้ในปริมาณมากในเวลาที่จำกัด

2.      ความยืดหยุ่นในการคิด (Flexibility) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการคิดหาคำตอบได้หลายประเภท หลายทิศทาง หลายรูปแบบ

3.   ความคิดริเริ่ม (originality) หมายถึง ลักษณะของความคิดแปลกใหม่ แตกต่างจากความคิดธรรมดา และไม่ซ้ำกับความคิดที่มีอยู่ทั่วไป (ศรินธร วิทยะสิรินันท์,   ทิศนา แขมมณี และพิมพ์พันธ์ เดชะคุปต์ (2544 : 6263). วิทยากรด้านการคิด. กรุงเทพมหานคร: สถาบันพัฒนาคุณวิชาการ)

กระบวนการคิดสร้างสรรค์ แบ่งออกได้ 5 ขั้น ดังนี้

1.      การค้นหาข้อเท็จจริง (Fact – finding) คือ การเกิดความรู้สึกกังวล สับสน วุ่นวายขึ้นในใจ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุจึงพยายามคิดว่าสิ่งที่ทำให้เกิดปัญหานั้นคืออะไร

2.      การค้นพบปัญหา (Problem – finding) คือ การพิจารณาด้วยความมีสติจนเข้าใจรู้ถึงความกังวล วุ่นวาย สับสนและพบว่านั่นคือปัญหา

3.      การค้นพบแนวคิด (Idea – finding) คือ การตั้งสมมติฐาน การรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อทดสอบความคิด

4.      การค้นพบคำตอบ (Solution – finding) คือ การทดสอบสมมติฐานจนสามารถพบคำตอบ

5.      การยอมรับผลจากการค้นพบ (Acceptance – finding) คือ ยอมรับคำตอบที่ค้นพบ เผยแพร่ และคิดต่อไปว่า การค้นพบนี้จะทำให้เกิดแนวคิดหรือสิ่งใหม่ต่อไปได้อย่างไร

3.       วิธีการคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative thinking) หมายถึง ความสามารถในการพิจารณาเทียบเคียงความเสมือน หรือความแตกต่างระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งความสามารถในการเปรียบเปรยสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ตอบสนองเป้าหมายที่ต้องการ                 

ลักษณะการคิดเชิงเปรียบเทียบ แบ่งออกกว้าง ๆ ได้ 2 ลักษณะ คือ

3.1    การคิดเชิงเปรียบเทียบในลักษณะวิเคราะห์ หมายถึง การจำแนกแจกแจงความเหมือนกันและความแตกต่างกันระหว่างวัตถุ สิ่งของ คน หรือแนวคิด ตั้งแต่ 2 สิ่งขึ้นไป โดยกำหนดเกณฑ์การวิเคราะห์เปรียบเทียบเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ทำให้เห็นความชัดเจนของสิ่งที่เปรียบเทียบ เกิดข้อเท็จจริงที่กระจ่างเกิดความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน สามารถอธิบายได้ทำให้สามารถประเมินและตัดสินใจคัดเลือกได้ตรงตามเป้าหมายหรือความต้องการได้                          

ขั้นตอนในการคิดเชิงเปรียบเทียบ มีดังนี้

3.1.1        กำหนดเป้าหมายการคิด

3.1.2        กำหนดเกณฑ์การเปรียบเทียบ

3.1.3        นำข้อมูลของสิ่งที่ต้องการเปรียบมาเทียบเคียงตามเกณฑ์ 

3.1.4        ประเมินผลการเปรียบเทียบ

3.1.5        นำผลการเปรียบเทียบไปใช้ประโยชน์ตามเป้าหมายการคิด

3.2    การคิดเปรียบเทียบในลักษณะสร้างสรรค์ หมายถึง การคิดเปรียบเทียบในลักษณะ อุปมาโดยให้ความสำคัญกับการกระตุ้นให้เกิดการนำจินตนาการมาใช้ประโยชน์ เช่น การพัฒนาทักษะการเปรียบเปรยสิ่งที่เป็นนามธรรมกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม ซึ่งมีมโนทัศน์บางอย่างที่ต้องการสื่อสารได้อย่างชัดเจน ในกรณีที่ต้องการอธิบายสิ่งที่ยาก ทำให้เราสามารถนำมาใช้สร้างสรรค์สิ่งใหม่โดยการใช้การเปรียบเปรยเชื่อมโยงสิ่งที่ไม่เคยเชื่อมโยงกันมาก่อน                          

ขั้นตอนการเปรียบเทียบในลักษณะสร้างสรรค์มีดังนี้

3.2.1        กำหนดสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบและดึงลักษณะเด่นออกมา 

3.2.2        เทียบเคียงสิ่งอื่นเพื่อหามโนทัศน์ร่วม

3.2.3        พิจารณาความเหมาะสมในการแทนที่

3.2.4        ประยุกต์ให้เหมาะสมกับเป้าหมายในการนำมาใช้                  การพัฒนาทักษะการคิดเชิงเปรียบเทียบจะช่วยให้เราไม่ด่วน สรุปตัดสินตามอารมณ์ความรู้สึก หรือพิจารณาอย่างผิวเผินและด่วนสรุป แต่จะช่วยให้ทราบว่าเรื่องใดควรเปรียบเทียบ เมื่อใดควรเปรียบเทียบ และควรเปรียบเทียบอย่างไร ซึ่งการคิดเชิงเปรียบเทียบจะช่วยกระตุ้นให้เราใช้จินตนาการและความสามารถเชื่อมโยงมโนทัศน์ของสมองออกมาเป็นสิ่งสร้างสรรค์และประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. 2545 (16 18), การคิดเชิงเปรียบเทียบ. กรุงเทพมหานคร : ซัคเซสมีเดีย) 

4.   วิธีการคิดแบบหมวกหกใบ หกแบบ  (Six Thinking Hats)

ศัตรูสำคัญที่สุดของการคิดคือ ความยุ่งยาก ซับซ้อน เพราะนั่นจะนำไปสู่ความสับสน ฉะนั้น Edward de Bono จึงเสนอแนวการคิดแบบหมวกหกใบ หกแบบ (Six Thinking Hats) ซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดของมนุษย์ในช่วง 2300 ปีที่ผ่านมา วิธีคิดนี้สามารถปรับเปลี่ยนใช้ได้มากมาย สอนให้ผู้บริหารสูงสุดประสบผลได้เท่า ๆ กัน สอนเด็กอนุบาล                 

วิธีการคิดแบบหมวกหกใบหกแบบ จะมีสีที่ต่างกัน คือ ขาว แดง ดำ เหลือง เขียว ฟ้า ซึ่งแต่ละสีก็คือหมวกแต่ละใบ ในหมวกแต่ละใบ แต่ละสียังมีความหมายที่แตกต่างกันดังนี้

1.   หมวกสีขาว สีขาว หมายถึง ความเป็นกลางไม่มีอคติ ไม่ลำเอียง หมวกขาวนี้เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงและตัวเลข

2.   หมวกสีแดง สีแดง หมายถึง การแสดงอาการโกรธ (หน้าแดง) ความเดือดดาล และอารมณ์ สีแดงให้มุมมองด้านอารมณ์

3.   หมวกสีดำ สีดำ หมายถึง ความมืดมนและจริงจัง หมวกสีดำ คือข้อควรระวัง และคำเตือน มันชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของความคิดนั้น ๆ

4.   หมวกสีเหลือง สีเหลือง หมายถึง ความส่องสว่าง และให้ความรู้สึกในทางที่ดี หมวกสีเหลืองจึงเป็นมุมมองในแง่บวกรวมถึงความหวัง และการคิดในแง่ดีด้วย

5.   หมวกสีเขียว สีเขียว หมายถึง สีของหญ้า พืชพรรณ ความอุดมสมบูรณ์ การเติบโตงดงาม หมวกสีเขียวหมายถึง ความคิดริเริ่ม และความคิดใหม่ ๆ

6.   หมวกสีฟ้า สีฟ้า หมายถึง ความเยือกเย็น และเป็นสีของท้องฟ้าซึ่งอยู่เบื้องบนเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง หมวกสีฟ้าจึงหมายถึงการควบคุม การจัดระบบกระบวนการคิดและการใช้หมวกอื่น ๆ                 

ระบบวิธีการคิดแบบหมวกหกใบหกแบบ (Six Thinking Hats)

1.   หมวกสีขาว คือ สภาวะที่เป็นกลางหมวกขาวรายงานถึงสิ่งต่าง ๆ ในโลก หมวกสีขาวไม่ได้มีไว้เพื่อแสดงแนวความคิดถึงแม้จะยอมให้ใช้เพื่อรายงานถึงความคดเห็นที่ถูกนำมาใช้หรือได้รับคำแนะนำมาก็ตาม ส่วนที่สำคัญมากของหมวกขาวคือ การระบุถึงข้อมูลที่จำเป็นและขาดหายไป หมวกสีขายจะบอกถึงปัญหาที่ควรจะยกขึ้นมาถาม หมวกสีขาวจะแสดงวิธีการ (เช่น การสำรวจ และออกแบบสอบถาม) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นพลังงานหมวกขาวมุ่งไปสู่การเสาะหาและตีแผ่ข้อมูลหมวกสีขาว แสดงข้อเท็จจริงและตัวเลข หมายความว่า การคิดแบบหมวกสีขาวนั้นเป็นการขอข้อมูลและตัวเลขเพื่อนำมาใช้อย่างเป็นกลางและไม่อคติ เพราะการรับข้อมูลมาก ๆ หรือที่เรียกว่า ข้อมูลท่วมหัวนั้น บุคคลที่กำลังใช้ความคิดนั้นจะไม่สามารถตัดสินใจได้ ฉะนั้นบุคคลที่สวมหมวกสีขาวที่กำลังใช้ความคิด ต้องดึงเอาแต่ข้อมูลที่จำเป็นออกมา ตัวอย่างในการตั้งคำถามให้เข้าประเด็น เช่น เราต้องการทราบข้อมูลนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ถ้าคิดแบบหมวกสีขาวก็บอกว่าต้องการข้อมูลนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่จบระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2548 อย่างนี้เป็นข้อมูลที่แสดงตัวเลขที่แท้จริง ความคิดแบบหมวกสีขาวจะกลายเป็นระเบียบวิธีที่ส่งเสริมให้นักคิดแบ่งแยกอย่างชัดเจนอยู่ในใจเขาหรือว่าคนอื่นคิดอย่างไรและอะไรเป็นสิ่งที่คาดการณ์หรือตีความการคิดแบบหมวกสีขาว ผู้คิดควรจะเลียนแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะมันเสนอข้อมูลเป็นกลางและไม่มีอคติมันไม่เสนอความคิดเห็นหรือตีความ บุคคลที่ขอข้อมูลต้องรู้จักตั้งคำถาม เพื่อให้ได้ข้อมูล หรืออุดช่วงว่างของข้อมูลที่หายไป

2.   หมวกสีแดง คือ การแสดงความรู้สึกบางอย่างออกมาไม่ใช่การบีบให้ตัดสินใจ ซึ่งความคิดที่เสนอออกมา กระจายออกมาในหลาย ๆ แง่มุม ดัดแปลง เป็นความรู้สึกที่เรียกว่า ความรู้สึกเชิงปัญญา (intellectual feeling) ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้เลย                        หมวกสีแดง แสดงอารมณ์และความรู้สึก การคิดแบบหมวกสีแดงเป็นการคิดแบบใช้อารมณ์และความรู้สึกล้วน ๆ ไม่ต้องมีเหตุผลเข้ามาเกี่ยวโยง หมวกสีแสดงเปิดช่องทางที่เป็นทางการและชัดเจน เพื่อตีแผ่สิ่งเหล่านี้ออกมาอย่างเต็มที่ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกต้องของแผนที่ทางความคิดทั้งหมด ซึ่งการแสดงอารมณ์เป็นอารมณ์ดิบ ๆ ล้วน ๆ ไปจนถึงความรู้สึกที่เป็นลางสังหรณ์                        หมวกสีแดงเป็นวิธีที่สะดวกสำหรับนักคิด ในการเข้าออกอารมณ์ ความรู้สึก อนุญาตให้สำรวจความรู้สึกของคนอื่น ๆ โดยขอความคิดหมวกสีแดงจากผู้อื่น ซึ่งหมวกสีแดงครอบคลุมความรู้สึกกว้าง ๆ 2 ประการ คือ ประการแรก คือ ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนขึ้นไป เช่น ความสงสัย หวาดระแวง ประการที่สอง คือ ความรู้สึกที่มีความซับซ้อน สังหรณ์ ความรู้สึกหยั่งรู้ ความรู้สึกสัมผัส ความรู้สึกเชิงนิยมและสุนทรียภาพ

3.   หมวกสีดำ คือ หมวกที่ใช้คิดแห่งการเตือนภัยและการระมัดระวังตัว ช่วยให้เราหยุดหรือหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายการทำสิ่งที่เป็นอันตราย การกระทำที่ให้ผลตอบแทนที่ดี การกระทำที่ไม่ให้ผลตอบแทนที่ดี การกระทำที่นำไปสู่ผลเสียและอื่น ๆ การคิดแบบหมวกสีดำเป็นการคิดที่มีเหตุผล เพราะในการวิพากษ์วิจารณ์พินิจพิเคราะห์สิ่งใดจะต้องมีการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลรองรับ ตัวอย่างเช่น การจับกุมสินค้าหนีภาษีของกรมศุลกากร ซึ่งมีการตั้งรางวัลนำจับไว้ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการกวดขันการลักลอบขนของหนีภาษี ถ้าคิดแบบหมวกสีดำ ก็ต้องคิดว่า การตั้งรางวัลนำจับเช่นนี้จะทำให้สินค้าหนีภาษีลดลงหรือไม่ อย่างนี้เป็นการคิดที่ใช้เหตุผลมารองรับการคิด                        หมวกสีดำ เป็นการคิดที่ระแวดระวังภัย ในการพิจารณาข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะหรือเรื่องต่าง ๆ ที่เราต้องนึกถึงความเสี่ยงอันตราย อุปสรรค ข้อด้อย และปัญหาที่อาจเกิด ซึ่งก็คือการประเมินว่า เราควรจะทำอย่างไรกับข้อเสนอต่าง ๆ ซึ่งจุดประสงค์หลักของแนวคิดหมวกสีดำ คือ การนำข้อที่ควรระมัดระวัง มาตีแผ่แจกแจงให้เห็นชัดเจน นอกจากนี้ต้องระวังไม่ใช้อย่างพร่ำเพรื่อและผิด ๆ จนยึดติดหมวกสีดำเป็นวิธีการคิดเพียงแบบเดียว แต่ถึงการใช้ผิด ๆ ก็มิได้ทำให้หมวกสีดำใบนี้ด้อยค่าลง เช่นเดียวกับการขับรถยนต์ผาดโผนเสี่ยงอันตราย ก็ไม่ได้หมายความว่ารถยนต์เป็นของอันตราย

4.   หมวกสีเหลือง คือ การคิดในแง่ดีและในเชิงสร้างสรรค์สีเหลือง เป็นสัญลักษณ์ของแสงอาทิตย์ ความสว่างไสว และความคิดในแง่ดี การคิดแบบหมวกสีเหลือง เป็นการคิดในเชิงบวก สามารถหาประโยชน์ที่ได้ เช่นการแสวงหาความสุข ว่ามีวิธีการอย่างไร การคิดเชิงบวก เป็นสิ่งที่เลือกได้ เราเลือกมองสิ่งต่าง ๆ ในด้านบวกได้ และเราก็สามารถคาดการณ์ในทางบวกได้เช่นกัน                        การคิดแบบหมวกสีเหลือง ระดับความคิดอย่างไร จึงจะไม่เป็นคนประเภท Pollyanna (ซึ่งมองโลกในแง่ดีอย่างหน้ามืดตามัวจนถึงขั้นโง่เขลา) ดังพวกที่คาดหวังว่าจะถูกลอตเตอรี่ รางวัลใหญ่งมงายเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่คิดว่าจะทำให้ตนเองดีขึ้น ฉะนั้นระดับความคิดของการคิดแบบหมวกสีเหลืองต้องเป็นที่ที่เป็นไปได้ มีเหตุผลสนับสนุน สามารถทำให้เกิดผลได้ โดยความคิดเหล่านี้เริ่มจากความคิดริเริ่ม (Creative) ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง  นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ความคิดใหม่ ๆ และทางเลือกจนเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์

5.   หมวกสีเขียว เป็นหมวกเพื่อความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เมื่อสวมหมวกสีเขียว เราต้องผลักดันความคิดใหม่ ๆ ออกมาหาทางเลือกใหม่ หรือ สิ่งใหม่ทดแทนของเก่าได้ หาวิธีที่จะปรับเปลี่ยนและปรับปรุงความคิดใหม่ที่เสนอมา หมวกสีเขียวเกี่ยวข้องกับความคิดใหม่ ๆ และวิธีใหม่ ๆ ในการมองสิ่งต่าง ๆ การหลีกหนีจากความคดเก่า ๆ เพื่อหาความคิดที่ดีกว่า ในการคิดแบบหมวกสีเขียว มีการคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking) ซึ่งหมายความว่า เป็นการคิดที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและมุมมอง ซึ่งปกติมักถูกกำหนดจากระบบ (แบบแผน) ความคิดของประสบการณ์ดั้งเดิม สลับสับเปลี่ยนกรอบความคิดในแบบแผนที่ไม่สมดุล ซึ่งแทนที่จะคิดแต่ในกรอบก็ฝ่ากรอบความคิดออกไป เริ่มใช้การได้เราจะรู้สึกว่าเราพบแล้ว                        ดังนั้น การคิดแบบหมวกสีเขียว จำเป็นที่จะต้องไปให้ไกลกว่าความคิดที่เห็นรู้กันอยู่ หรือเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้ว นักคิดต้องหาทางเคลื่อนไหวไปข้างหน้า จากความคิดหนึ่งเพื่อไปให้ถึงความคิดใหม่ ความคิดเชิงยั่วยุเป็นส่วนสำคัยอย่างยิ่งของการสวมหมวกสีเขียว

6.   หมวกสีฟ้า คือ หมวกที่ควบคุม นักคิดหมวกสีฟ้าจัดระเบียบตัวคิดเอง คิดว่าจะต้องคิดอย่างไร เพื่อที่จะสำรวจประเด็นต่าง ๆ การสวมหมวกสีฟ้านั้น ผู้สวมจะทำหน้าที่เป็นประธาน เป็นผู้นำ หมวกสีฟ้าเป็นผู้กำหนด กลยุทธ์ในการคิด กำหนดความสนใจ หาว่าอะไรคือปัญหา และอะไรคือคำตอบ กำหนดงานคิดที่ต้องทำ ตั้งแต่ต้นจนจบ มีหน้าที่สรุป วิเคราะห์สถานการณ์ และลงมติต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงเวลาในกระบวนการคิด รวมถึงตอนสุดท้ายด้วย                        หมวกคิดสีฟ้ายังต้องติดตามตรวจการคิดเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามกติกาการคิด                        หมวกคิดสีฟ้าจะหยุดยั้งการได้ถกเถียง และยืนกรานตามแผนที่การคิด หมวกสีฟ้าจะคอยดูให้กระบวนการคิดเป็นไปตามกฎเกณฑ์ หมวกคิดสีฟ้าอาจนำมาใช้ขัดจังหวะเป็นระยะเพื่อให้มีการสวมหมวกสีใดสีหนึ่ง หรือเพื่อกำหนดลำดับขั้นตอนการคิดที่จะตามมา เช่นเดียวกับนักออกแบบท่าเต้นคอยกำหนดท่าเต้น                  การคิดแบบหมวกหกใบคิดหกแบบ มีเป้าหมายสำคัญสองอย่าง เป้าหมายแรก คือ ทำการคิดให้ง่ายขึ้นโดยให้ผู้คิดรับมือกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้นในแต่ละครั้ง แทนที่จะต้องสนใจทั้งความรู้สึกเหตุผล ข้อมูล ความหวัง ความริเริ่ม ทุกอย่างพร้อม ๆ กันทีเดียว ผู้คิดสามารถที่จะตัดการกับแต่ละอย่างแยกออกจากกัน แทนที่จะเอาเหตุผลไปสนับสนุนความรู้สึกที่ยังไม่ชัดเจน ผู้คิดก็เอาความรู้สึกออกมาได้ด้วยหมวกสีแดง โดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลที่เหมาะที่ควรให้กับความรู้สึกนั้นเลย แล้วหมวกสีดำก็จะจัดการเรื่องเหตุเรื่องผลเอง                  เป้าหมายที่สองของแนวความคิด แบบหมวกนี้ก็คือเพื่อให้มีการสับเปลี่ยนการคิดบ้าง ถ้ามีใครสักคนในที่ประชุมเป็นคนที่มีความคิดทางลบตลอดเวลาอย่างเหนียวแน่น คน ๆ นี้อาจถูกขอให้ถอดหมวกสีดำออก นี่คือสัญญาณบอกคน ๆ นั้นว่าเขามองในด้านลบมากไป และคน ๆ นั้นอาจถูกร้องขอให้ใส่หมวกสีเหลืองดูบ้าง นั่นคือ การร้องขอแบบตรง ๆ ให้มองในแง่ดีบ้าง ด้วยวิธีนี้ วิธีคิดแบบหมวกจะมีสำนวนภาษาที่เฉพาะเจาะจงลงไปโดยไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ และที่สำคัญที่สุด คือ คำเฉพาะพวกนี้ไม่ได้ทำให้ใครมีความรู้สึกว่าตนเองเสียหน้า หรืออับอาย วิธีคิดแบบหมวกช่วยให้การร้องขอความคิดแบบใดแบบหนึ่งเป็นไปได้ หมวกกลายเป็นเหมือนคำสั่งที่รู้กัน                  มีองค์กรมากมายหลายแห่งที่สัญลักษณ์ของหมวกได้กลายเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คิดอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น                  (สุดตระการ ธนโกเศศ และคณะ. (2546). หมวก 6 ใบ คิด 6 แบบ. กรุงเทพมหานคร : ชานชาลา)

หมายเลขบันทึก: 76445เขียนเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2007 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท