BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เข้าพร้อมตอก ออกพร้อมต้ม


เข้าพร้อมตอก ออกพร้อมต้ม

คำพังเพยสำนวนปักษ์ใต้ทำนองนี้ เด็กรุ่นใหม่อาจไม่เข้าใจ ส่วนคนรุ่นเก่าที่ค่อนข้างจะห่างวัดอาจลืมๆ ไปแล้วก็ได้ แต่เมื่อได้ยินอีกครั้งก็คงจะพอหวลระลึกความหมายได้....

ตามประเพณีปักษ์ใต้ เทศกาลเข้าพรรษา นอกจากจะมีการถวายเทียนประจำพรรษา (ซึ่งปัจจุบันมีหลอดไฟฟ้าเสริมมาด้วย) และผ้าอาบน้ำฝนแล้ว ก็จะมีการถวายข้าวตอกด้วย...

ข้าวตอก คือ ข้าวเปลือกที่นำมาคั่วแห้ง ให้เมล็ดแตกออกมา  แล้วก็เก็บเปลือกทิ้งไป ก็จะเหลือเพียงข้าวตอกขาวๆ ซึ่งคงจะมีน้อยคนที่ไม่รู้จัก... ในเทศกาลเข้าพรรษา ญาติโยมก็จะนำข้าวตอกมาถวายด้วย เพื่อพระ-เณรในวัดจะใช้เป็นอาหารในช่วงที่ฝนตกหนัก ไม่สามารถจะออกบิณฑบาตได้...

ตอนผู้เขียนยังเป็นเด็ก จำได้ว่าแต่ละวัด จะมีข้าวตอกในช่วงแรกของการเข้าพรรษาเก็บไว้หลายโอ่ง... แต่ปัจจุบันมีน้อย สำหรับที่วัดยางทองปีนี้ ก็มีเพียงกะละมังโตๆ เท่านั้น...

ข้าวตอกที่นำมาถวายในวันเข้าพรรษานั้น พระ-เณรยังฉันไม่ได้ ต้องมีการฉลองก่อนตามประเพณี... สำหรับที่วัดยางทอง ได้มีการฉลองข้าวตอกวันนี้ (แต่ผู้เขียนไม่ได้ลงร่วมเพราะเป็นไข้หวัดตอนเช้า) หลังจากพิธีฉลองเสร็จพระใหม่ก็นำมาให้ผู้เขียน ๑ จาน ... เป็นข้าวตอกคลุกกับมะพร้าวขูดและโรยน้ำตาลใส่เกลืออีกเล็กน้อย... ซึ่งผู้เขียนพยายามฉันได้ครึ่งจานก็เลิก....

นอกจากคลุกกับมะพร้าวขูดแล้ว ข้าวตอกยังสามารถทำน้ำกะทิทุเรียนราดหน้าได้อีกด้วย คล้ายๆ กับ ลอดช่องกะทิหรือข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน (ฟังว่า วันนี้ก็มีเช่นเดียวกัน แต่ไม่ถึงมายังผู้เขียน)....

หลังจากฉลองเสร็จ พระ-เณรฉันเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือญาติโยมก็ร่วมรับประทานแล้วแจกจ่ายกันไป ไม่จำเป็นจะต้องเก็บไว้ฉันยามจำเป็นดังเช่นสมัยโบราณ...

การถวายข้าวตอกในวันเข้าพรรษาค่อยๆ น้อยลงตามลำดับ เพราะไม่มีความจำเป็นดังเช่นสมัยโบราณ... ขณะที่การถวายหลอดไฟฟ้ากลับค่อยๆ มากขึ้น... การลดลงและเพิ่มขึ้นระหว่างข้าวตอกกับหลอดไฟฟ้าเป็นเครื่องบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ประเพณีค่อยๆ แปรไป เพราะสังคมเห็นว่ามีความสำคัญหรือไม่เพียงใด... ประมาณนั้น

อย่างไรก็ตาม คำว่า เข้าพร้อมตอก หมายถึง การเข้าพรรษาจะมาพร้อมกับข้าวตอก ก็ยังคงอยู่ในปีนี้...

..............

ส่วนในวันออกพรรษา หลายๆ วัดจะมีการทำเรือพระแล้วก็ลากไปยังสถานที่ต่างๆ... และญาติโยมก็จะนิยมทำ ข้าวต้มสามเหลี่ยม (ปักษ์ใต้เรียกสั้นๆว่า ต้ม) เพื่อนำไปแขวนที่เรือพระวัดต่างๆ เพื่อเป็นพุทธบูชา... แม้บางวัดจะไม่ได้ทำเรือพระ แต่ก็ยังมีญาติโยมนำต้มมาถวายเป็นพุทธบูชาที่วัด... ต้มเหล่านี้ วัดที่มีเรือพระก็จะได้เยอะ... 

ในตอนเย็น แม้เรือพระยังไม่กลับวัด เพราะอาจอยู่ร่วมสมโภชน์หรือสมัครใจลากไปยังที่อื่นต่อไป... แต่ต้มเกือบทั้งหมดที่เรือพระ จะนำกลับมาย่างหรือทอดที่วัดก่อน (เพราะจะบูด) เพื่อจะได้เก็บไว้ฉัน ซึ่งโดยมากพระ-เณรไม่ค่อยจะฉันสักเท่าไหร่ บรรดาลูกศิษย์จะแบ่งกันไป หรือบางครั้งก็นำไปให้ที่เรือนจำเพื่อแจกพวกนักโทษ...

................

สมัยก่อน ไม่ค่อยมีการซื้อขาย พอจะเข้าพรรษาก็มีการคั่วตอกกันทุกบ้าน นั่นคือ เข้าพร้อมตอก ... และพอจะออกพรรษาก็จะมีการทำข้าวต้มสามเหลี่ยมกันทุกบ้าน นั่นคือ ออกพร้อมต้ม ...      

หมายเลขบันทึก: 117516เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2007 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • นมัสการหลวงพี่
  • อ่านหลวงพี่เล่าทำให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆๆ
  • ขอบคุณครับ

นมัสการค่ะ

เพิ่งเคยได้ยินค่ะ

P

Sasinanda

  • คุณโยมเข้ามาเยี่ยมเสมอ...

เขียนบล็อกใน GoToKnow มาปีกว่าแล้ว... บางอย่างเคยเล่าไว้แล้ว ก็ไม่อยากจะเล่าซ้ำกับปีที่แล้ว จึงนำไปฝาก Link ไว้ในอนุทิน เผื่อผู้สนใจจะได้เข้ามาอ่าน...

เรื่องราวประจำปีหรือประเพณีอื่นๆ ที่ยังไม่เขียน มีโอกาสก็จะเขียนเล่าไว้ ส่วนที่เขียนไว้แล้ว ก็ค่อยนำ Link ขึ้นอนุทินเมื่อถึงวาระ...

และตั้งใจว่า บางบันทึกที่น่าสนใจ ก็ค่อยเลือกพิมพ์รวมเล่มแจกตามโอกาสอีกครั้งหนึ่ง...

เจริญพร

ท่านคะขออนุญาต นะคะ ขออ้างถึงและลิงค์มาด้วยค่ะ

http://lanpanya.net/jindee/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท