BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

อาหารเสือ


อาหารเสือ

เมื่อแรกบวช ผู้เขียนได้รับการบอกเล่าจากพระเถระว่า พระ-เณรกินอาหารเสือ...  ผู้เขียนไม่ค่อยเข้าใจนัก ท่านจึงอธิบายเพิ่มเติมทำนองว่า...

เมื่อออกหาเหยื่อนั้น บางครั้งเสือไปเจอฝูงสัตว์ขนาดใหญ่ จะจับกินอย่างไรก็ไม่หมด ได้เพียงแค่กินพออิ่มแล้วลากกลับมายังที่พักเท่าที่กำลังจะพามาได้เท่านั้นฉันใด... พระ-เณรเราก็ฉันนั้น บางคราวออกบิณฑบาต มีญาติโยมรอใส่บาตรเยอะแยะ แม้จะมีเมตตาอนุเคราะห์อย่างไรก็ไม่สามารถฉลองศรัทธาของบรรดาญาติโยมผู้ใจบุญจำนวนมากได้...

แต่บางครั้ง ในยามออกบิณฑบาตนั้น เดินเวียนแล้วเวียนอีกก็ไม่ค่อยจะเจอผู้ใจบุญ ชำเลืองสายตาซ้ายบ้างขวาบ้างก็ไม่ค่อยจะมีใครคอยใส่บาตร เมื่อเลยเวลาก็จำเป็นต้องกลับวัด แล้วก็ฉันบางอย่างที่พอมีอยู่เพื่อประทั้งชีวิตไปอีกวัน.... ซึ่งก็คล้ายๆ กับเสือในบางคราว ออกล่าเหยื่อตั้งแต่เช้าจดเย็น ไม่เจอเหยื่อเลย ไล่จับได้เพียงแย้หรือกระต่ายผอมๆ ก็จำทนต้องกินพอประทั้งชีวิตเหมือนกัน...

อีกประการหนึ่ง บางครั้งก็ไปเจอฝูงสัตว์นอนตายอยู่เกลื่อนกลาด แม้พยายามกินให้ได้มากที่สุด ยืนกิน นั่งกิน หรือนอนกินก็แล้ว แต่รู้สึกว่าฝูงสัตว์ตายเหล่านั้น มิได้ลดน้อยถอยลงเลย .... กรณีนี้ก็ทำนองเดียวกับในวันเทศกาลงานบุญ ทายกทายิกานำอาหารมาถวายเยอะแยะ จนไม่มีที่วางที่ตั้ง ฉันอย่างไรก็รู้สึกว่า อาหารเหล่านั้นยังมิได้เบาบางลงเลย.... ประมาณนี้

พังเพยว่า อาหารเสือ นี้ ดูเหมือนว่าเป็นที่รับรู้กันในวงดงขมิ้นแพร่หลาย แต่ผู้เขียนยังไม่เจอว่าสำนวนนี้ มีที่มาจากนักคิดคนใดหรือคัมภีร์เล่มไหน...

............

เช้านี้... ผู้เขียนบิณฑบาต จึงได้ฉันข้าว เพราะสองวันก่อนยังไม่ได้ฉันข้าวเลย กล่าวคือ...

เมื่อวันมะรืนโน้น... โยมแม่โทรมาบอกล่วงหน้าว่า จะเอาขนมเปียะมาถวาย ผู้เขียนจึงคอยฉันขนมเปียะ... ตอนเช้าโยมแม่ก็นำขนมเปียะเล็กๆ ขนาดเท่าไข่ไก่ และมีไข่แดงอยู่กลาง ๓ ลูก กับขนมครกสดๆ อีกนิดหน่อย ผู้เขียนจึงฉันกับกาแฟ... ส่วนตอนเพลจะให้เด็กไปซื้อข้าวห่อก็ไม่มีใครว่าง จึงไปคุ้ยในกระสอบ นำมาม่า ๑ ห่อ ผักกาดดอง ๑ กระป๋อง ปลากระป๋องอีก ๑ (เอาเฉพาะปลา น้ำเททิ้ง) มาใส่รวมกันในปิ่นโต เติมน้ำร้อน... ก็พ้นไปวันหนึ่ง

และเมื่อวาน... ผู้เขียนขี้เกียจบิณฑบาต ตอนเช้าคุณโยมหน้าวัดนำหัวมันซาวพร้าวมาถวายหนึ่งกะละมังเล็กๆ และในกุฏิก็มีหัวมันเชื่อมอยู่หนึ่งหม้อโถวางอยู่แล้ว...

หัวมัน คือ มันสัมปะหลัง ปลอกเปลือกแล้วนำมานึ่งหรือต้มเอาแต่เนื้อ แล้วก็หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมกับมะพร้าวขูดเติมเกลือเติมน้ำตาลนิดหน่อย เรียกว่า หัวมันซาวพร้าว... ถ้าต้มแล้วเติมน้ำตาลทรายหรือน้ำตาลตโหนดก็เรียกว่า หัวมันเชื่อม... ทั้งสองนี้ เป็นขนมพื้นๆ ของชาวใต้ (ไม่แน่ใจว่า ภาคอื่นจะทำกินกันหรือไม่) ส่วน หัวมัน นั้นขุดมาจากข้างกุฏิที่ผู้เขียนพักอยู่นี้เอง....

หลักจากรับประเคนแล้ว ผู้เขียนก็ฉลองศรัทธาโดยการชิมหัวมันซาวพร้าว ๑ ถ้วย แล้วก็จำวัด... พอตอนเพลก็ฉันหัวมันซาวพร้าวอีก ๑ ถ้วยกับกาแฟ และเพิ่มหัวมันเชื่อมอีก ๑ ชิ้น... ก็พ้นไปอีกวันหนึ่ง....

วันนี้... หลังจากบิณฑบาตแล้วจึงได้ฉันข้าว โดยฉันข้าวต้มโจ๊ก ๑ ถุง และข้าวสวยติดก้นบาตรกับแกงอีกถุง แถมชาร้อนอีก ๑ ถุง เสร็จแล้วก็จำวัด.... ตื่นมาก็ฉันกาแฟกับข้าวเหนียวไก่ทอดนิดหน่อย แถมส้มอีก ๑ ลูก (เก็บไว้จากตอนเช้า).... ก็พ้นไปอีกวัน

..............

ท่านว่า การบวชนั้นเป็นการยากส์ เพราะต้องอยู่คนเดียวตลอดชีวิต เป็นต้น... และเฉพาะของกินหรือของขบฉัน ก็ไม่ค่อยจะได้ดังใจ ดังท่านว่า ชอบของร้อนได้ของเย็น ชอบของเปรี้ยวได้ของเค็ม เป็นต้น

อันที่จริง อาหารที่ญาติโยมถวายมา จะเป็นอาหารจากบิณฑบาต หรือในงานจัดเลื้ยงอื่นๆ ก็ตาม เกือบทั้งหมดแล้วจะเป็นอาหารชั้นดีตามความเห็นของญาติโยมผู้ถวาย... แต่พระ-เณร ผู้รับนั้น มิใช่ว่าจะถูกใจทั้งหมด เพราะรสนิยมในอาหารนั้น แต่ละคนแตกต่างกันไป...

นฐานะที่บวชมานานเกินยี่สิบปี และอยู่มาหลายสังคม เคยไปฉันอาหารในบ้านเศรษฐีผู้ดีเก่า หรือในหมู่บ้านสลัมน้ำครำก็เคยไปฉัน... ครั้งหนึ่ง ตอนอยู่กรุงเทพฯ เคยเปรียบเทียบในใจ นั่นคือ บ้านผู้ดีเก่าก็มีแกงเขียวหวาน บ้านชุมชนแออัดย่านสลัมก็มีแกงเขียวหวาน (ไปห่างกัน ๑-๒ วันนี้แหละ) แต่รู้สึกว่า รสชาดของแกงเขียวหวานในสลัมอร่อยกว่าบ้านผู้ดีเก่า เพียงแต่ภาชนะที่ใส่และรูปแบบการจัดอาหารเท่านั้น ซึ่งในสลัมมิอาจเทียบชั้นบ้านผู้ดีเก่าได้...  

คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กๆ มักมีความรู้สึกว่า พระ-เณรได้ฉันของดีๆ (ข้อความค้อนขอดทำนองนี้ แม้ใน gotoknow ก็รู้สึกว่าจะเคยเจอ)... แต่ในมุมกลับ ใครเคยนึกหรือไม่ว่า ลึกๆ พระ-เณรจะรู้สึกชอบใจอาหารที่ถวายหรือจัดเลี้ยงในครั้งนั้นหรือไม่ เพียงไร....

............ 

คุณสมบัติอย่างหนึ่งของนักบวชก็คือ ต้องอยู่ง่ายกินง่าย... ในคำสอนว่าด้วยอันตรายสำหรับพระบวชใหม่อย่างหนึ่งก็คือ เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง... และหลวงพี่รูปหนึ่งเคยบ่นให้ฟังนานมาแล้วว่า พระเราฉันได้ทั้งนั้นแหละ เช่น ไข่ทอดก็ฉันได้ทุกแบบ เค็มบ้าง หวานบ้าน  ใส่หัวหอมบ้าง ใส่มะเขือเทศบ้าง....

ผู้เขียนคิดว่า พระ-เณรที่บวชอยู่ได้นานๆ จะได้รับการปลูกฝัง และฝึกหัดในเรื่องการอยู่ง่ายกินง่าย ไม่ให้เห็นแก่ปากแก่ท้องทำนองนี้... สำนวนว่า อาหารเสือ ก็เป็นคำพังเพยที่แฝงไว้ด้วยข้อคิดทำนองนี้เช่นเดียวกัน

อนึ่ง มีพระบาลีท้ายบทปัจจเวกขณะตอนหนึ่งในเรื่องนี้ว่า 

  • ปรปฏิพทฺธา เม ชีวิกา มยหํ ปรปฏิพทฺธาปรายนํ เอวํ จตุปจฺจโย ปจฺจเวกขิตฺวา โย ปิณฺฑปาโต ปริโภโค นามาโหสีติ
  • ความเป็นอยู่ของเราเกี่ยวเนืองอยู่กับผู้อื่น  เรามีความเกี่ยวเนืองอยู่กับผู้อื่นเป็นเบื้องหน้า ด้วยประการดังนี้แล  ได้ชื่อว่าการพิจารณาปัจจัย ๔ แล้วบริโภคบิณฑบาต 
 
หมายเลขบันทึก: 162717เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2008 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

กราบนมัสการหลวงพ่อชัยวุธครับ

เข้ามาเรียนรู้อาหารเสือ ได้ข้อคิดดีมากๆเลยครับ กระผมคิดว่าในสังคมปัจจุบันนอกจากพระแล้วก็คงจะมีคนยากจนหรือผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งครับที่อาจจะกินอาหารแบบเสือ ฟังดูเหมือนจะน่าเกรงขาม แต่เป็นการนำความจริงของธรรมชาติมาเปรียบเปรยกันให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนครับ เวลาไม่มีก็อด พอมีก็มากเกินจนกินอิ่มแล้วก็ยังรู้สึกว่ายังมีเหลืออีกเยอะ(แต่ก็น้อยครั้งมากๆเช่นกันครับ) 

กราบนมัสการค่ะ

เพิ่งทราบว่า อาหารเสือ เป็นอย่างนี้เองค่ะ

กราบ 3 หนค่ะ

P

ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

 

ขาดๆ เกินๆ อาจเป็นธรรมดาในทุกๆ คน หรือทุกๆ เรื่อง...

ส่วนบางคนแสวงหา ความสมบูรณ์ หรือ perfect เมื่อยังไม่เจอก็คงค้นหาต่อไป....

ในคัมภีร์เต๋าเตกเก๋งของเล่าจื้อบอกว่า...

  • สิ่งที่สมบูรณ์คือสิ่งที่ไม่สมบูรณ์ ดูเหมือนว่าไม่สมบูรณ์ นั่นแหละสิ่งสมบูรณ์

ตัวอย่างที่มักจะยกขึ้นมาอ้างก็เช่น น้ำในแก้ว ถ้าเราใส่เต็มก็จัดว่าสมบูรณ์ แต่จะนำมาดื่มหรือนำไปไหนได้ยาก ... ถ้าเราใส่ไม่เต็มซึ่งจัดว่าไม่สมบูรณ์ แต่ก็อาจสะดวกในการนำมาดื่มหรือนำไปให้ใครบางคน...

.......... 

กรณีผู้สูงอายุนั้น อาตมาเคยดูรายการ... มีครอบครัวตายายอยู่ชายป่า ยายอายุ 98 ส่วนตานั้นอายุ 102 แล้วและดวงตาก็บอด... ลูกนั้นตายหมดแล้ว ส่วนหลานๆ ก็ขาดการติดต่อ ใครผ่านมาก็อาจหุงข้าวให้หรือช่วยเหลืออะไรบ้างตามเวรตามกรรม... บางครั้งไม่มีอะไร ยายก็ต้องไปเก็บผักๆ หญ้าๆ ข้างกระท่อมมาต้มกินกับตา.... แต่ทั้งสองคนก็ยังอยู่ได้

พิมพ์ๆ ไปแล้ว รู้สึกว่า โลกนี้คือโรงละคร จริงๆ...

เจริญพร 

P

Sasinanda

 

คิดจะเขียนเรื่องนี้หลายเดือนแล้ว แต่เพิ่งสำเร็จวันนี้...  

ก็พยายามเขียนอะไรที่แปลกๆ และคิดว่า คนทั่วไปมักจะไม่เคยได้ยิน หรืออาจเป็นมุมมองที่ต่างออกไป....

เจริญพร 

 

กราบนมัสการหลวงพี่มหาชัยวุธ

มารับฟังธรรมยามดึกค่ะ  

เมื่อ สักหลายเดือนที่ผ่านมา เคยนั่งครุ่นคิดอยู่บ้างว่าเหตุใดการบวชเป็นพระจึงต้องบิณฑบาตร ทำไมไม่หุงหาอาหารเอง (ช่วยเหลือตัวเอง ไม่ต้องรอขอจากผู้อื่น) ก็ได้ข้อสรุปความเข้าใจของตัวเองว่าคงเป็นเพราะไม่ต้องการให้สร้างกิเลสจาก การที่ต้องหาอาหารมาเพื่ออยู่รอด เพราะถ้าต้องหาแล้ว..หาได้อย่างหนึ่ง ก็ต้องหาเผื่ออีกอย่างหนึ่ง ต่อกันไปเรื่อยๆ เหมือนที่คนทุกวันนี้ ได้อย่างหนึ่งแล้วก็ยังไม่เคยพอ ต้องหาต่อไปอีก    ดังนั้นพระจึงต้องต้องอยู่ง่ายกินง่ายเหมือนกับที่หลวงพี่กล่าวไว้ มีอะไรใช้เท่านั้น แม้กระทั่งเสื้อผ้าที่สวมใส่ (สบง จีวร) พระธุดงค์ก็นำมาจากผ้าที่ห่อซากศพ (ได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังอีกที) ก็เลยทำให้เข้าใจสภาวะของการอยู่อย่างพอเพียงตามสภาพ ใช้เท่าที่มี ประมาณนั้นค่ะ

่่อ่านเรื่องอาหารเสือที่หลวงพี่เล่าให้ฟังก็รู้สึก เข้าใจไปถึงเรื่องที่เขียนไว้ข้างต้นน่ะค่ะ ซึ่งเป็นความเข้าใจของดิฉันที่ไม่ค่อยได้ศึกษาปริยัติ หากเขียนอะไรผิดพลาดไปก็ต้องขออภัยด้วยนะคะ กราบนมัสการค่ะ

P

กมลวัลย์

 

ตามที่ฟังมา ธรรมเนียมการบิณฑบาตประจำวันของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนานั้น ปัจจุบันนี้มีน้อยลงทั่วโลก ที่ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ได้ดีที่สุดก็คือพระพุทธศาสนาในเมืองไทยนี้เอง...

อาตมาไม่เคยไปอยู่อเมริกา แต่เพื่อนสหธัมมิกบางรูปที่ไปอยู่นั้นเล่าว่า เมื่อแรกไปอยู่นั้น ประการแรกต้องไปเรียนขับรถให้ได้ใบอนุญาต เพื่อจะได้ขับรถไปรับบิณฑบาตจากร้านอาหารไทย โดยรถนั้นมีจอดไว้ให้ใช้หลายคัน ซึ่งเจ้าของก็คือคนไทยนั้นเอง พวกเขานำมาฝากไว้ให้ใช้...

รูปแบบตามพระคัมภีร์นั้น เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนรูปแบบตามข้อเท็จจริงนั้น ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง... ตามที่ประสบมา ญาติโยมในท้องถิ่นนั้นๆ มักมีความเห็นร่วมกันว่าควรจะเป็นไปอย่างไร... แม้อาตมาจะรับรู้หลายเรื่อง แต่บางเรื่องก็ไม่อาจนำมาเขียนเล่าได้...

ขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีนั้น มักจะปรับแปรไปตามท้องถิ่นและยุคสมัย ที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงก็คือหลักธรรมคำสอน มิใช่แต่พระพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนิกชนของแต่ละศาสนาจะนับถือที่ หลักธรรมคำสอน มิใช่ที่ จารีตประเพณี...

ส่วนผู้ที่หนักแน่นอยู่แต่จารีตประเพณี มิได้ใส่ใจในหลักธรรมคำสอน อาจกล่าวได้ว่า ผู้นั้นเพียงแต่ลูบคลำเปลือกแล้วขัดถูกตกแต่งเปลือกให้สวยงามดูดีเท่านั้น มิได้เจาะเข้าไปถึงกะพี้หรือแก่นภายใน...

เจริญพร 

กราบนมัสการค่ะ

แล้วในกรณีพระหรือเณรแพ้อาหารบางประเภทล่ะคะ แล้วญาติโยมไม่รู้ใส่บาตรลงไป การเลือกฉันท์ได้มั้ยคะ

เห็นพระที่นี่ตักอาหารจากญาติโยมทุกอย่าง อย่างละช้อน เพื่อไม่ให้เสียศรัทธา แล้วฉันท์รวมกันเลย ทึ้งจริงๆ ค่ะ เพราะรู้ว่าทุกคนนำอาหารที่คิดตนคิดว่าอร่อยที่สุดไปถวาย แต่เวลาทุกอย่างรวมกันหมดในบาตรก็คงไม่อร่อยเท่าไร

เพิ่งรู้จักอาหารเสือเองค่ะ

กราบ

^__^

 

ไม่มีรูป

IS

 

อาหารที่ได้รับมา โดยมากพระ-เณรก็เลือกฉันตามใจชอบ ถ้ามีอาหารที่แสลงโรคประจำตัวบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องฉัน หรือถ้าไม่มีอย่างอื่นเลย บางท่านก็อาจฉันข้าวเปล่า แต่ก็มิใช่จะเป็นทุกวัน...

อาหารที่รวมกันในบาตรแล้วนำมาฉันนั้น ก็อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง... อาตมาก็เคยฉัน....

จริงๆ แล้ว อาหารก็เพื่อดำรงชีพอยู่ได้ ส่วนที่เหลือเป็นเพียงส่วนเกิน....

เจริญพร 

มาอีกแล้วครับท่านอาจารย์....เป็นพระอญุ่ขบฉันง่ายมากครับรสชาติไม่ได้อยู่ที่อาหารแต่จิตใจมากกว่าที่ปรุงแต่ให้มันอร่อย..ถึงคนอาหารมาถวายอย่างดีเลิศถ้าจิตไม่ปรุงแต่ง  เปรี้ยวหวานมันเค็มก็ไม่เกิดขึ้น...ข้าน้อยก็คนมีกิเลศนี้แหละแต่กำลังฝึกจิตไล่ตามจิตให้ทันสักวันหนึ่ง..จะอาหารเสือหรืออะไรก็ตามสบายมากโดยเฉพาะภิกษุด้วยแล้วต้องขบฉันอย่าง...ยาปนมัตต์....อยู่ง่ายแบบท่านอาจารย์แหละดีแล้วมีไรฉันนั่น...เพราะภิกษุ  แปลว่า  ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร...ก็ต้องรู้ว่าการกินเป็นภัยอย่างหนึ่ง..หรือท่านอาจารย์ว่าไง..เอ้าขอคารวะหนึ่งจอก...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท