BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การถวายทานในวันปฏิบท


การถวายทานในวันปฏิบท

มาฆบูชา วันนี้ ผู้เขียนออกไปบิณฑบาต พอออกไปจากวัดได้ประมาณสองร้อยเมตรก็ต้องรีบกลับ เพราะถ้าไปไกลกว่านั้น เหนื่อยหน่ายที่จะต้องเดินกลับวัด... ส่วนสาเหตุลองอ่านที่ วันพระ…ก็เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย (ได้รึเปล่า) !!! อาจได้คำตอบ...

ประเด็นที่บรรดาญาติโยมมิตรรักนักบุญทั้งหลายชอบที่จะทำบุญเฉพาะวันพระหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานั้น คิดว่าคงจะมีมานานแล้ว และมิใช่มีเฉพาะพระพุทธศาสนาในเมืองไทย หรือในยุคนี้ สมัยนี้ เท่านั้น.... แม้แต่ในสมัยพุทธกาล คนก็ชอบที่จะทำบุญใส่บาตรเฉพาะวันพระเหมือนกัน...

เฉพาะเรื่องภัตร (อาหาร) นอกจากบิณฑบาตแล้ว พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ภัตรอื่นๆ ไว้ ๗ ประเภท กล่าวคือ  สังฆภัตร อุทเทสภัตร นิมันตนภัตร สลากภัตร ปักขิกภัตร อุโปสถิกภัตร ปาฏิปทิกภัตร (ผู้สนใจดู ที่นี้  เป็นต้น )

ปาฎิปทิกภัตร คือ อาหารที่ทายกถวายในวันปฏิบท ... คำว่า วันปฏิบท แปลว่า วัน ๑ ค่ำ ซึ่งอาจเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ ซึ่งในคัมภีร์อรรถกถา ท่านอธิบายว่า มี... (จำชื่อไม่ได้แล้ว รู้สึกว่าจะเป็นนางวิสาขา นี้แหละ ไม่แน่ใจ ?) เห็นว่า ญาติโยมใส่บาตรมากเฉพาะวันอุโปสถ ๑๕ ค่ำเท่านั้น แต่พอวัน ๑ ค่ำ ญาติโยมใส่บาตรมีน้อย ทำให้พระ-เณรบางรูปไม่พอฉัน.... จึงได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลขออนุญาตถวายทานพิเศษในวัน ๑ ค่ำ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาต...

(ผู้เขียนค้นดูในเน็ตก็ยังไม่เจอ จะไปปัดฝุ่นหนังสือที่มีอยู่ ก็ไม่แน่ว่าไปซ่อนอยู่มุมใดแล้ว จึงเล่าตามความทรงจำ ใครสนใจค้นพบจากในเน็ตได้ ช่วยลิงค์มาให้ผู้สนใจอื่นๆ ได้อ่านกันด้วย)

จากหลักฐานนี้ แสดงให้เห็นได้ว่า เรื่องราวทำนองนี้ มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เพียงแต่ผู้รู้ไม่ค่อยนำมาเล่าเปิดเผย จึงไม่ค่อยจะเป็นที่รู้กันทั่วไปเท่านั้น

................

วันนี้ ผู้เขียนพาอาหารบิณฑบาตกลับมาอย่างทุลักทุเล เหมือนกับวันพระหรือวันเทศกาลอื่นๆ แต่ผู้เขียนก็ยังคงฉันเช้ามื้อเดียว มื้อเพลก็ยังคงฉันกาแฟกับขนมอีกเล็กน้อยเหมือนเดิม ส่วนที่เหลือก็ตกไปยังบรรดาลูกศิษย์และหมาแมวภายในวัด...

ดังนั้น มิตรรักนักบุญลองคิดดู การที่ทำบุญเฉพาะวันพระหรือวันสำคัญตามเทศกาลจะได้บุญมากหรือไม่ ?

แต่... สำหรับผู้ที่ทำบุญในวันปฏิบท คือวันหลังวันพระ หรือวันหลังวันเทศกาล ผู้เขียนคิดว่า ได้บุญมากแน่นอน เพราะวันนั้น พระ-เณร บิณฑบาตได้น้อย ซึ่งบางรูปหรือบางท้องถิ่นถึงขนาดว่าไม่ค่อยจะพอฉัน...

จึงขอบอกกล่าวบรรดาโยมญาติ ทายกทายิกา มิตรรักนักบุญทั้งหลาย... ต่อไปนี้ เมื่อถึงวันพระหรือเทศกาลสำคัญ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใส่บาตรก็ได้ ค่อยไปใส่บาตรวันปฏิบท คือหลังวันพระหรือหลังวันเทศกาล ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นทานพิเศษอีกกรณีหนึ่ง....

  • วิเจยฺย ทานํ สาธุ
  • การตรวจสอบ ถวาย เป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จ

 

หมายเลขบันทึก: 166553เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2008 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กราบขออนุโมธนาบุญค่ะ

ดิฉันมีเรื่องขอสอบถามค่ะ  เพราะบางครั้งดิฉันไม่ค่อยสะดวกที่จะได้ตักบาตรทุกวัน เหตุเนื่องด้วย การดำเนินชีวิต  ในการทำบุญตักบาตร ถ้าหากเป็นการบริจาคอาหารแห้ง หรือ สิ่งของอันเป็นสิ่งจำเป็น นี้ สามารถทดแทนได้หรือเปล่าค่ะ 

ขอขอบคุณค่ะ

ไม่มีรูป

ธาริณี

 

การทำบุญหรือทำทาน ก็ถือว่า ดี ทั้งนั้น เมื่อมองในแง่ว่า...

  • กำจัดความตระหนี่ซึ่งเป็นกิเลสเบื้องต้น
  • อุทิศส่วนบุญให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือแก่เจ้ากรรมนายเวรอื่นๆ
  • เป็นกองบุญหนุนนำความเจริญรุ่งเรืองในอนคตกาล

ส่วนการจะเลือกถวายอาหารแห้ง ปัจจัย หรือสิ่งอื่นๆ  ในสิ่งที่สมควรนั้น  เป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากแง่เบื้องต้น...

และการพิจารณาแล้วจะถวายหรือให้ สิ่งใด จำนวนเท่าไหร่ แก่ใคร และในโอกาสไหน นั้น ก็เป็นอีกนัยหนึ่ง....

คำสอนทางพระพุทธศาสนาจัดเป็น วิภัชชวาท กล่าวคือ จำแนกแยกแยะไปตามกรณี ซึ่งคำตอบสุดท้ายนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาแล้วตัดสินใจของเราเอง.... (ลองดู วิภัชชวาท เพิ่มเติมก็ได้)

โดยส่วนตัว ถ้าคุณโยมคิดว่าเหมาะสม ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อีกทั้งไม่ผิดแผกไปจากธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันทั่วไปแล้ว ก็จงทำไปเถิด....

ซึ่งอาตมาก็ขออนุโมทนาด้วย....

เจริญพร

 

นมัสการ พระคุณเจ้าค่ะ

  • การทำบุญ ทำทาน เป็นสิ่งที่ดี เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของเรามาช้านาน
  • สังคมทุกวันนี้ ต้องมี "บวร" หล่อหลอมจิตใจให้ทุกคนและให้สังคมน่าอยู่
  • บ คือ บ้าน  ต้องเป็นบ้านที่น่าอยู่ ปราศจากการทะเลาะเบาะแว้ง
  • ว คือ วัด    เป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้คนเลื่อมใส ศรัทธา น่าเข้าไปนมัสการ กราบไหว้ เพื่อให้จิตใจสงบ
  • ร คือ โรงเรียน  เป็นสถาบันที่บ่มเพาะ ให้ความรู้แก่เยาวชน ซึ่งเปรียบเหมือน "เมล็ดพันธุ์" หากเราปลูกเริ่มแรกเกิด รดน้ำ พรวนดิน ต้นไม้ก็เติบโต สวยงาม หมั่นดูแลรักษา ดังนั้น เยาวชนจะเป็นคนดีของสังคม และสามารถที่จะทำคุณทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้นั้น ทุกส่วนต้องช่วยกัน รวมหนึ่งเดียวกันเพื่อสร้างสรรค์คนดีแก่สังคม
  • การทำดี ทำบุญ ทำน้อย ทำมาก ได้กุศล ทั้งนั้นค่ะ
  • แต่การทำบุญ ด้วยปัจจัยที่มากมาย แต่ผู้รับ ๆ ไปใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ก็ไม่ทำให้เกิดกุศล และศรัทธา เท่าที่ควร
  • การทำบุญ วันพระ หรือวันสำคัญ จึงคิดว่า ไม่จำเป็นต้องตีกรอบเฉพาะ
  • ควรทำด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ พร้อมที่จะทำ ทำแล้วสบายใจ ทำแล้วผ่องใส อิ่มบุญ นั่นล่ะ ถึงจะเป็นการทำบุญที่แท้จริง
  • ขอบพระคุณค่ะ

 

นมัสการค่ะ

ดิฉันก้คิดอย่างนี้มานานแล้วว่า ทำไมต้องไป ทำบุญกันในวันเดียวกันหมด แต่ ที่วัดบอกว่า ทำวันอื่นไม่ได้บุญเหมือนวันพิเศษนี้ค่ะ

ส่วนวันปฎิบทที่ท่านว่า หาไม่พบค่ะ อยากทราบเหมือนกันค่ะ

กราบ 3 หนค่ะ

P

บัวปริ่มน้ำ

 

โครงการบวรตามที่ว่ามา ใกล้เคียงกับ โครงการสามเหลี่ยม หรือสามประสาน ซึ่งเคยฟังเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน (จำชื่อไม่ได้ ผู้คิดเมื่อตอนเป็นนายอำเภอ ตอนหลังเป็นผู้ว่า ปัจจุบันอาจเกษียณแล้ว) โดยท่านสังเกตว่า ท้องถิ่นที่เจริญนั้น มักจะเกิดจากผู้นำเหล่านี้คนใดคนหนึ่ง คือ...

  • ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันของท้องถิ่นนั้นๆ (บ. บ้าน)
  • เจ้าอาวาสวัด หรือพระบางรูปในท้องถิ่นนั้นๆ ( ว. วัด)
  • ครูใหญ่ หรือครูบางท่านในท้องถิ่นนั้นๆ (ร. โรงเรียน)

และถ้าเชื่อมโยงผู้นำเหล่านี้ได้ ก็อาจทำให้การพัฒนาเป็นไปโลดยิ่งขึ้น...

จึงสงสัยว่า โครงการบวร นี้ น่าจะเริ่มต้นมาจากนี้ หรือคนอาจมองเห็นในทำนองเดียวกัน...

เจริญพร

ขอบพระคุณค่ะ พระคุณเจ้า

  • ได้ทราบที่มาของ "บวร" เป็นแบบนี้นี่เอง
  • เมื่อเข้ามาทำงานประสาน งานวิจัย เริ่มแรกได้สัมผัสช่วยงานอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ก็รู้จักคำว่า "บวร" แต่ไม่ทราบรายละเอียด (ในเวลานั้น) เท่าใดนัก
  • ทราบแต่ว่า 3 สิ่งนี้ หากมีการรวมพลัง สร้างสรรค์ ตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละส่วน ผนวกเข้าด้วยกัน และรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพัฒนาชุมชนให้เจริญ ก็ถือว่า ชุมชนนั้นอยู่เย็นเป็นสุขแล้วล่ะค่ะ
  • ขอบพระคุณอีกครั้ง ค่ะ ได้ความรู้เพิ่มอีกแล้ว
  • อิอิ

P

Sasinanda

 

ประวัติที่มาของเรื่องเหล่านี้ เรียกว่า นิทาน ซึ่งบางเรื่องในพระไตรปิฏกมิได้บันทึกรายละเอียดไว้ ก็ต้องไปค้นในอรรถกถา เฉพาะเรื่องนี้ มีอยู่ในอรรถกถาพระวินัย ซึ่งอาตมาเคยแปลนานแล้ว ตอนอธิบายศัพท์ว่า ปาฏิปาทิกํ 

ก็ลองค้นใน 840000.org ก็มีแต่อรรถกถาพระสูตร... ส่วนอรรถกถาพระวินัย และอรรถกถาพระอภิธรรม ยังไม่มี (สงสัยว่ายังไม่แล้วเสร็จ)... และ ซี.ดี.พระไตรปิฏกของไทยที่มีอยู่ก็ไม่มีอรรถกถา...

อีกแผ่นหนึ่ง เป็นของพม่า ซึ่งเก่ามากแล้ว  (คงจะเกือบ ๑๐ ปี) เวลาจะใช้ก็ต้องตั้งหน้าจอใหม่ และอื่นๆ ซึ่งยุ่งยากหลายเรื่อง

ฉบับพม่าตามที่ว่ามีครบ ทั้งพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา ปกรณ์วิเสส มิลินทปัญหา ฯลฯ โดยจะเป็นบาลี แต่สามารถเปลี่ยนอักษรเป็น ไทย โรมัน เขมร เทวนาครี ฯลฯ ได้ด้วย... พอค้นได้ก็ต้องแปลอีกครั้ง....

พูดไปก็เศร้า พระไทยพัฒนาเรื่องนี้ช้ากว่าพม่าเกินสิบปี... ใครว่าพม่าล้าหลังไทย เห็นซี.ดี. แผ่นนี้แล้ว อาตมาไม่เชื่อเลย....

ส่วนที่ค้นมาได้ ก็เจอศัพท์นี้ แต่ไม่เจอนิทาน ซึ่งคนทั่วไปอ่าน ก็ไม่รู้ว่า ปาฏิปาทิกภัตร หรือ ปาฎิปาทิกทาน เป็นอย่างไร....

ที่จริงประเด็นนี้ ถ้านำมาเป็นข้ออ้าง และช่วยกันรณรงค์ ก็น่าจะดี... (อาตมา ก็ได้เพียงแต่เขียนเล่าในบล็อกเล่นๆ เท่านั้น)

เจริญพร

P

บัวปริ่มน้ำ

 

อาตมาฟังมาจากเจ้าของความคิดนี้โดยตรง...

ตอนบวชไม่นานนัก ซึ่งมีการอบรมอะไรในวัดนี้แหละ และจำไม่ได้แล้วว่าฟังที่ไหน อาจกรุงเทพฯ ภาคเหนือ หรืออีสาน... แต่มิใช่่ปักษ์ใต้แน่นอน เพราะตอนนั้นเที่ยวไปเรื่อย...

เจริญพร

ที่ไหนก็เหมือนกันครับข้าน้อยไปวัดที่อเมริกา,เยอรมันและอีกหลายประเทศพอวันสำคัญก็มีคนใส่กันมากอย่างที่ท่านอาจารย์ว่านั้นแหละขอรับ

ของสังคมพุทธเป็น  บวร  (บ้าน+วัด+โรงเรียน)

แต่ถ้วสังคมมุสสลิม เป็น  บรม  (บ้าน+โรงเรียน+มัสยิส) วิธีการจัดการก็คล้ายๆกันครับ..แต่ไม่ทราบว่าความคิดไหนมาก่อนมาหลัง

...บวร และบรม..บ้าน วัด/มัสยิด โรงเรียน..สามประสานเพื่อร่วมกันสร้างสังคม/ชุมชน..ได้ยินกันมานานนับยี่สิบกว่าปีขึ้นไป..จำได้ว่าเคยเป็นวิทยากรหมู่บ้านพัฒนาป้องกันตนเอง(อพป.)และได้มีการนำหลักสามประสานนี้มาใช้..สมัยนั้นสถาบันหลักของชุมชน/หมู่บ้านคล้ายกับเข้าใจกันว่ามีแต่บ้าน วัด และโรงเรียน..ดูๆแล้วน่าจะง่ายต่อการพัฒนา..ไม่เหมือนปัจจุบันนี้ที่บ้าน วัด โรงเรียนเหมือนกับไม่สามารถเป็นหลักได้แล้ว..เพราะบ้านแตก..วัดรก /ร้างและโรงเรียนหงอยๆ..ตัวหลักในสังคมที่แคบเข้าจึงน่าจะเป็น โลก.. ซึ่งเริ่มร้อนขึ้น  ตลาด..หลักทรัพย์/ธนาคาร/บรรษัท และอินเตอร์เน็ท..สามประสานใหม่นี่แหละที่จะบอกได้ว่าอนาคตของลูกหลานเราจะเป็นเช่นไร??..(ในความหมายเดิม"บ้าน"หมายถึง ครอบครัวและความร่วมแรงร่วมใจของสมาชิกในครอบครัว  "วัด"หมายถึงองค์กรชี้นำทางศีลธรรม+สถานที่จัดกิจกรรมร่วมกันของชุมชน  และ"โรงเรียน" คือองค์กรทางความรู้และส่วนราชการในชุมชน..ถ้าเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน..การประสานทั้งสามเกิดผลชัดเจน..ลูกหลานของเราที่ขณะนี้เป็นวัยฉกรรจ์..น่าจะเป็นกำลังของชุมชน..ในปัจจุบัน??)..

P

ลุงรักชาติราชบุรี

 

  • โลก + ตลาด + อินเทอร์เน็ต

น่าสนใจ

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท