BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

วัดเปลี่ยนไป ๑


วัดเปลี่ยนไป ๑

เป็นหนังสือเล่มน้อย ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อแจกในงานทอดผ้าป่าฯ ที่วัดยางทอง เมื่อปี ๒๕๔๗ และเคยพิมพ์ซ้ำ ๑-๒ ครั้ง แจกในงานอื่น ต้นฉบับเก่าในดีสเก็ตเสียไปนานแล้ว... เข้าพรรษาปีนี้ ค่อยๆ ทยอยพิมพ์เผยแพร่ที่นี้ จนกว่าจะจบ...

 

.........

๑. นำเรื่อง

ผู้เขียนบวชมายี่สิบปี ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้รู้ได้เห็นและมีส่วนร่วมในความเปลี่ยนแปลงของวัด กล่าวได้ว่าตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในวัด ข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวัดซึ่งสะท้อนกลับมาจากสังคม เป็นเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนนำมาคิดใคร่ครวญ สืบหาสาเหตุ คาดหมายถึงวัดที่ควรจะเป็น และในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนเรียนหนังสือ ก็พยายามสร้างชุดคำอธิบายขึ้นมา หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างข้อแก้ต่างและข้อแก้ตัวขึ้นมาว่าเป็นเพราะสาเหตุอะไร ? และควรจะแก้ไขอย่างไร ? เป็นต้น ซึ่งเสียงสะท้อนกลับเหล่านี้ก็ยังคงอยู่กับผู้เขียนเสมอในฐานะคนอยู่วัด (จริง จริง)

ตามสภาพของวัดปัจจุบันนี้ อาจกล่าวตามสำนวนสมัยนิยมได้ว่า "วัดเปลี่ยนไป" ผู้เขียนจึงใคร่ที่จะขอโอกาสนี้บอกเล่าความเห็นของผู้เขียนว่า วัดเปลี่ยนไปเพราะสาเหตุอะไร และเราควรที่จะปรับปรุงแก้ไขเพื่อจะให้ "วัดเปลี่ยนมา" ได้อย่างไรบ้าง โดยหมายความว่า คำว่า "ไป" นั้น บ่งชี้ถึงการจากไปของสิ่งที่เรายังรักยังหวงแหน ส่วนคำว่า "มา" นั้น บ่งชี้ถึงความหวังในสิ่งที่เราพึงประสงค์จะได้รับในปัจจุบัน แต่การที่จะนำเสนอสิ่งที่วัดเปลี่ยนไปและสิ่งที่วัดควรจะเปลี่ยนมาให้ครบถ้วนทุกประการนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้น ผู้เขียนจะเล่าเรื่องความเปลี่ยนไปของวัดตามที่จะคิดจะนึกได้เล็กๆ น้อยๆ พอเป็นอาหารสมองหรือเป็นข้อคิดบางประการเท่านั้น

ในการนำเสนอ ผู้เขียนจะเริ่มต้นด้วยความหมายของคำว่า "วัด" และความสำคัญของวัดในฐานะองค์ประกอบของศาสนา ส่วนสภาพข้อเท็จจริงแห่งความเปลี่ยนไปของวัด ผู้เขียนจะบรรยายความเป็นไปประจำวันของวัดในอดีตที่เรายึดถือกันว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เริ่มด้วยการลุกขึ้นปัดเวกของพระภิกษุในเวลาใกล้สว่าง ครั้นรุ่งอรุณพระภิกษุขสามเณรก็ออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ กลับมาถึงวัดก็ทำภัตรกิจหรือฉันข้าว การทำวัตรสวดมนต์ และกิจกรรมวันอุโบสถ เพิ่มเติมด้วยปกิณณกะอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะสรุปด้วยความเห็นของผู้เขียน...

 

๒. วัด : ความหมาย

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า "วัด" ผู้เขียนคิดว่าทุกคนก็คงจะเข้าใจ แต่ถ้าถามว่า "วัดคืออะไร ?" คำตอบซึ่งเป็นมุมมองหรือความเห็นของแต่ละคนคงจะแตกต่างกันไป เช่น

  • วัดคือที่อยู่ของพระ-เณร และแม่ชี
  • วัดคือที่ตั้งที่เผาศพ
  • วัดคือที่อยู่ของผี
  • วัดคือที่พึ่งของคนยาก
  • วัดคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
  • วัดคือสถานที่ลึกลับ
  • ฯลฯ

ผู้ฟังละ ! จะอธิบายความหมายของวัดอย่างไร แต่ขอร้องว่าอย่าให้ความหมายว่า "วัดคือการตรวจสอบความยาวของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยการใช้ไม้บรรทัดหรืตลับเมตรเป็นเครื่องมือตรวจสอบ" เพราะว่า วัดตามนัยนั้นเป็นคำกิริยา มิใช่วัดที่บ่งชี้ถึงศาสนสถานที่เรากำลังคุยกันขณะนี้... เมื่อกล่าวถึงการให้ความหมายของคำว่า "วัด" แล้วก็อาจได้หลายนัย เช่น

การให้ความหมายด้วยการชี้เฉพาะ สมมติว่ามีใครสักคนหนึ่งไม่รู้จักวัดและอยากจะรู้ว่าวัดคืออะไรหรือเป็นอย่างไร ด้วยความใจดีเราจึงอธิบายให้เขาฟัง แต่เขาก็ไม่เข้าใจ เราก็พามาเที่ยวที่วัดบางวัด สมมติว่าเป็นวัด โรงวาส แล้วก็บอกเค้าว่า นี่แหละวัด เพียงวัดเดียวเท่านั้นก็เกรงว่าเขายังไม่เข้าใจเพียงพอ ก็เดินพามายังวัดดอนแย้ วัดลียบ และวัดยางทอง โดยบอกเขาว่า นี้แหละวัด ๆ ๆ... ตามลำดับ ผู้อ่านบางคนคงคิดว่า เพียงแค่นี้เขาก็คงรู้ได้ว่า "วัด" เป็นอย่างไร

ชาวสงขลาหรือผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตบ่อยางคงจะไม่สงสัยว่า วัดโรงวาส วัดดอนแย้ วัดเลียบ และวัดยางทอง เป็น "วัด" หรือไม่ ? อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัดตามตัวอย่างข้างต้นจะเป็นวัดเหมือนกัน แต่วัดโรงวาสก็มิใช่วัดดอนแแย้ หรือวัดเลียบก็มิใช่วัดยางทอง กล่าวคือ แม้จะเป็นวัดเหมือนกันแต่ก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้น การชี้เฉพาะทำนองนี้ จึงก่อให้เกิดปัญหาว่า ความหมายของคำว่า "วัด" จริงๆ ที่รวมเอาลักษณะของความเป็นวัดทั้งหมดนั้นเป็นอย่างไร ? ซึ่งเรื่องนี้ทำให้มีการให้ความหมายประการต่อมา คือการหาลักษณะร่วมซึ่งเป็นสิ่งที่เหมือนกันของความเป็นวัด

การให้ความหมายโดยลักษณะร่วม เป็นการค้นหาลักษณะที่เหมือนกันของวัด เพราะแม้จะมีความแตกต่างกันของวัดทั้งหมดในแต่ละวัด แต่ก็ย่อมมีสิ่งเหมือนกันซึ่งทำให้ได้ชื่อว่า "วัด" เช่น บางคนอาจบอกว่าสิ่งที่เหมือนกันของวัดก็คือ "เป็นสถานที่อยู่ของพระภิกษุ-สามเณร"

อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีตัวอย่างที่บ่งชี้ว่าสถานที่อยู่ของพระภิกษสามเณรบางครั้งก็มิใช่วัด เช่น พระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งอาพาธหนังจึงได้รับการอาราธนานิมนต์ให้เข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาล หลังจากได้รับการบำบัดเยียวยาจนเป็นปรกติแล้ว ท่านก็ไม่ออกจากโรงพยาบาลเพราะผู้ที่นิมนต์ท่านมานั้นไม่นิมนต์ท่านกลับไป ดังนั้น พระเกจิอาจารย์รูปนี้จึงอยู่โรงพยาบาลสิบกว่าปี โดยทางโรงพยาบาลได้จัดที่ส่วนหนึ่งให้ท่านพักอาศัยและมีพระภิกษุ-สามเณรที่เป็นศิษย์ของท่านจำนวนหนึ่งมาคอยดูแลรับใช้ ถามว่า สถานที่ส่วนนั้นของโรงพยาบาลเป็นวัดหรือไม่ ? ผู้เขียนเชื่อว่า หลายๆ คน (รวมทั้งผุ้เขียนด้วย) จะตอบว่า นั่น ! เป็นโรงพยาบาลมิใช่วัดแน่นอน

อนึ่ง ยังมีสถานที่อยู่ประจำของพระภิกษุ-สามเณรอีกจำนวนมากที่เราไม่อาจยอมรับว่าเป็นวัดได้ เช่นในต่างประเทศ จะมีพระภิกษุ-สามเณรที่ไปเช้าบ้านหรือหอพักอยู่เพื่อศึกษาเล่าเรียนหรือเพื่อประกอบ อเนสนาวิธี (วิธีการแสวงหาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับสักยันต์ ทำเสน่ห์ ฯลฯ) พวกเราก็คงบอกว่าสถานที่นั้นมิใช่วัดเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าเพียงแต่การบ่งชี้ว่าสถานที่อยู่ของพระภิกษุ-สามเณรเป็นวัดเท่านั้น มิใช่ ! เป็นจริงเสมอไป...

การหาลักษระร่วมของความเป็นวัดทำนองนี้ บางคนว่าจะต้องใช้หลายๆ อย่าง นั่นคือ นอกจากจะเป็นที่อยู่ของพระภิกษุ-สามเณรแล้ว จะเป็นวัดได้จะต้องมีลักษระร่วมอื่นๆ อีกด้วย เช่น ภายในวัดจะต้องมีโบสถ์ ศาลาการเปรียญ กุฏี ... กิจกรรมของวัดก็จะต้องมีการบิณฑบาต ทำวัตรสวดมนต์ เทศนาสอนธรรม... หรือวัดจะต้องเป็นสถานที่สงัด สงบ วิเวก รื่นรมย์... อะไรทำนองนี้ แต่การใช้ลักษณะร่วมซึ่งเป็นสิ่งที่เหมือนกันในความเป็นวัดหลายสิ่งหลายอย่างนั้น ก็จะทำให้ลักษณะของวัดมีความแตกต่างและหลากหลายยิ่งขึ้นไปอีก มิหนำซ้ำ ! อาจกำหนดความเป็นวัดจริงๆ ไม่ได้ เพราะมีทั้งส่วนที่ขาดหายไปและส่วนที่เพิ่มขึ้นมา

ในส่วนที่ขาดหายไป อาทิเช่นบางวัดไม่มีโบสถ์ ตัวอย่างก็คือวัดหัวป้อมนอก (หรือวัดท่าทาง) สงขลา แม้จะเป็นวัดมานานแต่ก็ยังไม่มีโบสถ์ (ตอนทีเขียนหนังสือเล่มนี้ปี ๒๕๔๗ มีข่าวว่ากำลังจัดสร้าง แต่ตอนนี้จัดสร้างแล้วแต่ยังค้างคาอยู่ไม่แล้วเสร็จ)... บางวัดก็ไม่มีการบินฑบาต ด้วยว่าทางวัดมีโรงครัวจัดเลี้ยงเอง หรือบางวัดก็อยู่บนยอดเขาห่างไกลหมู่บ้าน พระภิกษุ-สามเณรต้องเข้าครัวดำเนินการเองตามสมควร... และวัดในเมืองใหญ่ดังเช่นกรุงเทพฯ โดยมากก็อึกทึกคึกโครม จอแจด้วยฝูงชน มิใช่เป็นสถานที่สงัดรื่นนมย์ตามที่เราคาดหวัง แต่เราก็ยังจัดว่าเป็นวัดเช่นเดียวกัน

อนึ่ง ในส่วนที่เพิ่มเข้ามาของวัด บางวัดก็มีเมรุเผาศพรวมทั้งศาลาตั้งศพ บางวัดก็เป็นสถานที่พักแรมของนักท่องเที่ยว มีสภาพคล้ายๆ กับโรงแรม หรือบางวัดก็จัดเป็นที่รับฝากรถ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการของวัดเกี่ยวกับสิ่งทีเพิ่มเข้ามานี้ ทำให้วัดมีลักษณะคล้ายๆ กับสถานประกอบการ คือ มีการลงทุน มีการจัดการ มีบุคลากรหรือคนช่วยงาน และโดยที่สุดแม้ว่าจุดประสงค์เดิมของวัดมิใช่การแสวงหากำไร แต่วัดจะต้องไม่ขาดทุนเพื่อให้กิจการเหล่านั้นสามารถดำเินินต่อไปได้

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ส่วนที่ขาดหายไปและส่วนที่เพิ่มเข้ามาของวัดนี้เองที่ทำให้คนทั่วไปมองว่า "วัดเปลี่ยนไป" เพราะส่วนที่ขาดหายไปทำให้เรารู้สึกถึงความสูญเสียบางสิ่งบางอย่าง และส่วนที่เพิ่มเข้ามาทำให้เรารู้สึกแปลกแยกไม่คุ้นเคยกับวัดตามคตินิยมเดิมๆ ที่ผ่านมา....

(มีต่อ)

คำสำคัญ (Tags): #วัดเปลี่ยนไป
หมายเลขบันทึก: 194999เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2008 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระอาจารย์

บันทึกของท่านเปรียบเทียบเรื่องวัดได้อย่างเห็นได้ชัด เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆครับ จะติดตามอ่านต่อๆไปครับ

บางทีเรามองแล้วผ่านเลยไปโดยไม่คิด แต่พอคิดกลับมีเรื่องสงสัยมากมาย น่าทำความกระจ่าง

จะมีโบสถ์มีวิหารหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่จะต้องมีวิสุงคามสีมา จึงจะเป็นวัดใช่ไหมครับพระอาจารย์

P

อัยการชาวเกาะ

 

ประเด็นที่ท่านอัยการถาม มีอยู่ในหัวข้อต่อไป รอหน่อยก็แล้วกัน...

เจริญพร

กราบนมัสการหลวงพี่มหาชัยวุธ

เพิ่งได้ตามมาอ่านค่ะ เห็นชื่อเรื่องแล้วคิดว่าคงสะกดผิดค่ะ น่าจะเป็น"วั"เปลี่ยนไป ๑ ใช่ไหมคะ

P

กมลวัลย์

  • อนุโมทนาอย่างยิ่ง...

รีบพิมพ์ บางตอนก็ตรวจคร่าวๆ คิดว่า ถ้าผิดพลาดคงจะมีผู้ทักท้วง หรือค่อยแก้เมื่อเจอ... แต่ไม่นึกว่าจะผิดตั้งแต่ชื่อเรื่องเลย (.......)

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท