BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ฟื้นฟู "บ่อยาง" สัญลักษณ์เมืองสงขลา


ฟื้นฟู "บ่อยาง" สัญลักณ์เมืองสงขลา

หลายวันก่อน ตัวแทนสโมสรโรตารี่สงขลา ได้เข้ามาพูดคุยเรื่องจะสร้าง "บ่อยาง" ขึ้นมาใหม่... หลังจากอนุโมทนาเป็นอย่างยิ่งแล้วก็เล่าให้คณะที่มาฟังว่า เรื่องนี้คิดไว้สิบกว่าปีแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ...

หลังจากสนทนากันพอสมควรก็ชวนกันไปดูสถานที่ ซึ่งข้อตกลงในเบื้องต้นนั้น จะสร้างบริเวณด้านหน้าโบสถ์ แต่จะไม่สร้างบริเวณหน้าโบสถ์เพราะจัดเป็นทิศมรณะ ถือกันว่าไม่เป็นมงคล โดยจะสร้างเยื้องไปที่มุมทิศตะวันตกของหน้าโบสถ์ (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ซึ่งจัดเป็นทิศอุตตมะ อันถือกันว่าเป็นมงคลสูงสุด... (สำหรับประเด็นนี้ เทียบกับที่อยู่ของเจ้าอาวาส ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าไว้ ผู้สนใจ คลิกที่นี้ )

ตัวเมืองสงขลาเก่า หรือเทศบาลนครสงขลาปัจจุบัน ตั้งอยู่ตำบลบ่อยาง ซึ่งสำนวนเก่าแถบอำเภอสทิงพระ-ระโนด ถิ่นเดิมของผู้เขียน จะเรียกกันติดปากว่า บ่อยาง เช่น ไปบ่อยาง มาบ่อยาง อยู่ที่บ่อยาง... แม้ปัจจุบันสำนวนนี้จะมีคนนิยมใช้พูดน้อยลง แต่หากใครใช้ใครพูด คนในพื้นที่ก็ยังคงเข้าใจ...

วัดยางทอง ที่ผู้เขียนอยู่ปัจจุบันนี้เอง คือสถานที่ตั้งของ บ่อยาง ในอดีต... เล่ากันต่อๆ มาว่า ถ้าวิ่งเรือจากตอนในของทะเลสาบสงขลาออกมาปากอ่าว พอเรือพ้นจากเกาะยอ มองจากหัวเรือมาทางทิศตะวันออก จะเห็น ต้นยางทอง ขนาดใหญ่โดดเด่นอยู่ที่ริมฝั่งข้างหน้า จึงนิยมเป็นที่นัดหมายพบปะของคนสัญจร ครั้นขุดบ่อเพื่อใช้น้ำ น้ำก็จืดสนิทสะอาดดี เมื่อสถานที่นี้กลายเป็นวัด ต่อมาจึงได้ชื่อว่า วัดยางทอง ส่วนบ่อน้ำและต้นยางทองซึ่งเป็นสิ่งคู่กันก็ได้รับการประสมตามนัยแห่งภาษาว่า บ่อยาง (บ่อน้ำที่อยู่ใกล้ต้นยาง) และนั่นคือ ตำบลบ่อยาง ที่ตั้งแห่งเทศบาลนครสงขลาในปัจจุบัน...

วัดยางทอง เป็นวัดเล็กๆ มีพื้นที่เพียง ๔ ไร่กว่าๆ แต่พื้นที่ภายในวัดนั้น เมื่อก่อนมีบ่อน้ำขนาดใหญ่ กระจายอยู่ทั่วบริเวณวัด แต่บางบ่อก็ถูกถมและปรับพื้นที่ไปนานแล้ว... ตอนที่ผู้เขียนแรกมาอยู่วัดยางทอง (พ.ศ. ๒๕๓๐) วัดยางทองยังมีบ่อโบราณขนาดใหญ่อยู่ ๓ บ่อ คือ

บ่อแรกนั้น อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัด ใกล้กับกุฏิผู้เขียนในปัจจุบัน เป็นบ่อกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓-๔ เมตร แต่ตอนนั้นเป็นเพียงบ่อร้าง ตื้นเขิน ผู้เขียนมาอยู่ไม่นานนัก อดีตท่านเจ้าอาวาสก็ให้ถมและปรับพื้นที่ปลูกต้นไม้...

บ่อที่สอง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัด หลังศาลาการเปรียญ ใกล้ต้นจันท์ เป็นบ่อขนาดหน้าตัดประมาณ ๒-๓ เมตร โดยมีกำแพงคอนกรีตกั้นเป็นบังตาโดยรอบเพื่อกันอุจาดตาในคราวที่ใครอาบน้ำ...  ตอนผู้เขียนมาอยู่นั้น บ่อนี้ยังใช้ได้อยู่ นั่นคือ นอกจากพระเณรในวัดซึ่งใช้อยู่บ้างตามโอกาสแล้ว คนทั่วไป เช่น คนถีบสามล้อหรือขับรถรับจ้าง มักจะมาพักเหนื่อยพักร้อนอาบน้ำที่นี้... เมื่อต้องการพื้นที่พัฒนาวัด อดีตท่านเจ้าอาวาสจึงมีบัญชาให้ถมปรับพื้นที่เพื่อสร้างกุฏิ แต่ท่านก็ได้มรณภาพไปก่อน อย่างไรก็ตาม บริเวณนี้ก็มีกุฏิสงฆ์หลังใหม่ในปัจจุบัน

และบ่อที่สาม อยู่ภายในศาลาอัตถจาโรนุสรณ์ซึ่งตั้งอยู่ชิดมุมกำแพงทิศตะวันออกเฉียงหนือของวัด เป็นบ่อขนาดหน้าตัดประมาณ ๒-๓ เมตร โดยปากบ่อจะหล่อแผ่นคอนกรีตปิดไว้ แล้วใช้เครื่องดูดน้ำจากบ่อนี้ขึ้นถังเก็บน้ำเพื่อใช้ภายในวัด... ปัจจุบันถือกันว่าบ่อนี้ จัดเป็น บ่อยาง บ่อสุดท้ายของวัด แต่บ่อนี้ จะเห็นได้ก็ต้องเปิดศาลาเข้าไปดูด้านหลัง ปกติถ้าไม่มีงานศพ ศาลาก็จะปิดไว้ คนทั่วไปจึงไม่รู้ว่ามีบ่อน้ำอยู่ภายใน...

บางคนบอกว่า บ่อยาง จริงๆ นั้น คือ บ่อที่อยู่ด้านหน้าติดกับประตูทางด้านทิศตะวันออกของวัด ซึ่งถมไปนานหลายสิบปีแล้ว และผู้เขียนก็ไม่ทันเห็น...

อนึ่ง ยังมีบ่อขุดใหม่ขนาดเล็ก น่าตัดประมาณ ๑ เมตร ซึ่งอยู่หน้าโบสถ์เยื้องมาทางทิศตะวันตก บ่อนี้ ยังคงใช้อยู่บ้างตามสภาพ แต่ไม่นับว่าเป็นบ่อโบราณ... ผู้เขียนมีความเห็นว่า น่าจะขยายบ่อนี้ออกไปแล้วจัดหาต้นยางทองมาปลูก ปรับพื้นที่ให้เหมาะสมให้ควรแก่การดูการชม...

ส่วน ต้นยางทอง ซึ่งคู่กับบ่อนั้น น่าจะตายไปเป็นร้อยปีแล้ว เพราะไม่มีร่องรอยว่าอยู่ที่ไหน... กล่าวได้ว่า คนในพื้นที่หรือผู้เคยมาอยู่เมืองสงขลา บอกวัดยางทอง มักจะไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่บอกว่าวัดที่มีต้นสาเกเยอะ ก็มักจะมีผู้จำได้ นั่นคือ ต้นสาเกกลับกลายมาเป็นสัญลักษณ์วัดยางทองในปัจจุบัน... อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวัดตั้งแต่สมัยเจ้าอาวาสรูปก่อนจนถึงรูปปัจจุบัน ทำให้ต้นสาเกถูกโค่นไปหลายต้นเช่นเดียวกัน ซึ่งทางวัดก็พยายามปลูกและอนุรักษ์ไว้

ดังนั้น เมื่อสมาชิกโรตารี่สงขลา มีความเห็นที่จะฟื้นฟูบ่อยางไว้ให้ลูกหลานได้ชม โดยขุดบ่อขึ้นมาแล้วนำต้นยางทองมาปลูกใกล้บ่อเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองสงขลา ผู้เขียนจึงอนุโมทนาอย่างยิ่ง เพราะได้คิดไว้นานแล้ว ทั้งได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นไปได้ ภายในโบสถ์ น่าจะมีจิตรกรรมฝาฝนัง โดยนำภาพเก่าๆ ของเมืองสงขลา เช่น ภาพเรือสำเภาจากเมืองจีนจอดเทียบท่าเพื่อรับส่งสินค้า ภาพกำแพงเมืองโบราณ เป็นต้น ซึ่งภาพเหล่านี้ ผู้เขียนเคยเห็น และหาได้ไม่ยากจากสำนักโบราณคดีหรือพิพิธภัณฑ์...

ถ้าเป็นไปได้ตามที่เล่ามา อนุชนคนรุ่นหลัง นักทัศนาจร และผู้สนใจทั่วไป อาจมาแวะชมบ่อยาง ได้ฟังเรื่องเล่า และชมภาพเก่าๆ ก็อาจจินตนาการถึงบ่อยางและเมืองสงขลาเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมาได้... 

หมายเลขบันทึก: 244783เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2009 00:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

นมัสการพระคุณเจ้า อิ่มกับประวัติ บ่อยางครับ ขอชูมือสนับสนุนครับ หลายจังหวัดสืบค้นความเป็นมาไม่ค่อยได้ ถ้าปล่อยให้ประวัติสูญหายก็น่าเสียดายยิ่งนัก

.>ไปสงขลา ก็ว่ามาบ่อยาง

 .>มาพัทลุง ก็ว่าไป เสกัก

.>ไปตรังก็ว่ามาทับเที่ยง

.>มาสุราษฎ์ ก็ว่าไปบ้านดอน

.>มาคอน(ยังไม่ทราบครับ)

 .>มาภูเก็ต ก็ว่ามาทุ่งคา

>.มากระบี่ก็ว่ามาปกาศัย อะไรทำนองนี้ด้วยประการะฉะนี้แหละครับ

P วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

อนุโมทนายิ่ง ที่ท่านผู้เฒ่าเข้ามาแนะนำเพิ่มเติม...

  • เสกัก เคยได้ยินคำนี้ แต่ไม่ทราบ
  • ทับเที่ยง กับ บ้านดอน นั้นพอทราบ
  • ทุ่งคา และ ปกาศัย สองคำนี้ เพิ่งทราบจากท่านผู้เฒ่า

ส่วน มาคอน หรือ ไปคอน นั้น สำหรับชาวพุทธบอกว่าไปหรือมา ไหว้พระธาตุ ก็พอจะมีคนเข้าใจ...

เจริญพร

         ตอนนี้  การกลับไปสร้างความเข้มแข็งให้กลับรากแก้วของท้องถิ่น  ของสังคม   จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับ กิ่ง ก้าน ใบ ของสังคม  ที่กำลังถูกพัดโหมจากกระแสตะวันตกอย่างบ้าคลั่ง

         รากไม่แข็ง   กิ่ง ก้าน ใบ ก็ยากที่จะรอดครับ

นมัสการพระคุณเจ้าครับ

ผมตามหา"บ่อพลับ"อยู่ครับ

มีกล่าวถึงในพงศาวดารอยู่หลายหน

ไม่ทราบว่าพระคุณเจ้าทราบไหมครับว่า "บ่อพลับ" อยู่ตรงไหน

มีถนนอะไรบ้างครับ ผมจะได้ไปหาจากแผนที่

เที่ยวสงขลาแบบขาจร ครับ

http://maps.google.com/maps/ms?hl=th&ie=UTF8&view=map&msa=0&msid=113063331728886345440.0004675bf192329eb68ad&ll=7.19602,100.590992&spn=0.012262,0.034161&z=15

คลิกที่หมุดจะมีข้อมูล ของที่นั้นๆ อย่างคร่าวๆ ครับ

นมัสการครับ

นมัสการพระคุณเจ้าครับ

เที่ยวสงขลาแบบขาจร ครับ
http://maps.google.com/maps/ms?hl=th&ie=UTF8&view=map&msa=0&msid=113063331728886345440.0004675bf192329eb68ad&ll=7.19602,100.590992&spn=0.012262,0.034161&z=15

นมัสการครับ

ไม่มีรูป ขาจร

 

บ่อพลับ รู้สึกว่าจะอยู่ที่วัดมัชฌิมวาส (วัดกลาง) จะถามรายละเอียดกะผู้สูงอายุซึ่งอยู่แถวนั้น เมื่อวานท่านก็กลับไปก่อน ไม่ทันได้ถาม... วันนี้ยุ่งๆ ลืมไป เพิ่งนึกได้...

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท