094 : หัดดูเมฆเบื้องต้น (3) รู้จักเมฆคิวมูลัสให้ถึงแก่น (ตอบคุณ Lovefull)


 

 

ในบันทึกเรื่อง 092 : หัดดูเมฆเบื้องต้น (1) แผนภาพชนิดของเมฆ

คุณ   ♥< lovefull >♥ ได้สอบถามคำถามที่น่าสนใจ กล่าวคือ


สวัสดีค่ะ

เมฆคิวมูลัส อยู่ในกลุ่มของเมฆชั้นต่ำด้วยหรือคะ

เคยจำมาว่ามันอยู่ในเมฆที่วางตัวในแนวตั้ง เหมือนเมฆคิวมูโลนิมบัส

อยากทราบจริง ๆ ค่ะ


 

นี่เป็นคำถามของเพื่อนใน G2K ที่อยากรู้เรื่องเมฆจริงๆ

จึงขอตอบด้วยบันทึกนี้ครับ

เราจะได้รู้จักเมฆคิวมูลัส (cumulus) ให้ถึงกึ๋นไปเลย! 


 

เริ่มจากพื้นฐานก่อน

แสงอาทิตย์ที่แผดเผาพื้นดิน ทำให้อากาศติดพื้นลอยตัวขึ้น

ไอน้ำที่อยู่ในอากาศก็ลอยตามขึ้นไปด้วย

เมื่อไอน้ำไต่ระดับไปถึงจุดหนึ่ง ซึ่งอุณหภูมิเย็นเพียงพอ

เรียกว่า ระดับควบแน่น (condensation level)

ไอน้ำ (ซึ่งเรามองไม่เห็น) ก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็กๆ (ซึ่งเรามองเห็น)

หยดน้ำเล็กๆ จำนวนมาก ก็คือ เมฆ นั่นเอง

 

 

ภาพซ้าย :

surface warm = พื้นดินอุ่นขึ้น
warm air rises, expands, cools = อากาศอุ่น (และมีความชื้น) ลอยตัวขึ้น ขยายตัวออก และเย็นลง
lifting condensation level = อากาศลอยตัวขึ้นถึงระดับควบแน่น


ภาพขวา :

Convective heating and cooling = การให้ความร้อนทำให้อากาศยกตัวสูงขึ้น และจากนั้นก็เย็นตังลง
Heated ground = พื้นร้อนๆ
 

 

 

เมฆก้อนขนาดเล็ก เรียกว่า

คิวมูลัส ฮิวมิลิส (Cumulus Humilis)

หรือ

คิวมูลัสอากาศดี (Cumulus of Fair Weather หรือ Fair-weathered Cumulus)

ดูภาพเมฆก้อนน้องเล็กของเราสิครับ


ภาพจากเว็บนี้

 


อย่างไรก็ดี หากเมฆก้อนคิวมูลัสมีรูปร่างไม่ชัดเจน (เช่น กำลังสลายตัว)

ก็จะเรียกว่า คิวมูลัส แฟรกทัส (cumulus fractus)


ที่มา


 

 

ทีนี้ถ้าก้อนโตขึ้น

คือเริ่มสูงขึ้นอีกนิด อ้วนขึ้นอีกหน่อย

ก็จะเปลี่ยนชื่อเป็น

คิวมูลัส เมดิออคริส (Cumulus Mediocris)

 คำว่า Mediocris นี่ มาจากภาษาละติน แปลว่า (ขนาด) กลาง นั่นเอง


ภาพจากเว็บนี้

 

 

สมมติต่อไปว่า อากาศค่อนข้างร้อนจัด และมีไอน้ำมากพอสมควร

กระแสอากาศร้อนและชื้นนี้ ก็จะพุ่งขึ้นไปอีก

[ภาษาอุตุฯ เรียก กระแสอากาศที่ไหลขึ้น ว่า updraft]

ส่งผลให้ก้อนเมฆคิวมูลัสน้อยๆ ของเรา

มีความสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จาก คิวมูลัส ฮิวมิลิส -> คิวมูลัส เมดิออคริส -> คิวมูลัส คอนเจสทัส

 


ภาพจากเว็บนี้

 

 

 

 

ภาพข้างล่างที่เห็นนี้คือ

คิวมูลัส คอนเจสทัส (Cumulus Congestus)

หรือบางทีก็เรียกว่า

คิวมูลัสที่ก่อตัวสูงเหมือนหอคอย (Towering Cumulus)

ครับ

 

 


ภาพจากเว็บนี้


 

 

เมฆคิวมูลัสคอนเจสทัสนี่ดูอลังการมาก

เพราะสูงขึ้นไปได้ถึงราวๆ 6 กิโลเมตร นั่นคือ ไปถึงระดับเมฆชั้นกลาง (Middle Clouds) เลยทีเดียว

แถมบางทีทำให้เกิดฝนตกกระหน่ำอีกต่างหาก

 

 

แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า [เหนือม้ายังมีจ๊อกกี้ ;-)]

หากคิวมูลัสคอนเจสทัสเติบโตขึ้นไปอีก ทะลุขึ้นไปถึงระดับเมฆชั้นบน

ก็จะยิ่งใหญ่เอามากๆ

เรียกว่า

คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)

คำว่า คิวมูโล (Cumulo) มาจาก Cumulus คือ เมฆก้อน + นิมบัส (Nimbus) คือ ฝน

 

แต่ชื่อนี้มันหลอกตาเพราะเมฆคิวมูโลนิมบัสที่แหละ

ที่ผูกขาดสัมปทานแทบทุกอย่าง

ตั้งแต่

ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง ลูกเห็บ ไมโครเบิร์สต์ [เอาไว้จะเล่าให้ฟังอีกทีว่ามันคืออะไร ไอ้เจ้าเบิร์สต์ๆ นี่]

ภาษาไทยก็เลยเรียกว่า เมฆฝนฟ้าคะนอง

ดูภาพนี้สิครับ

 

 


ภาพจากเว็บนี้

 




เรื่องของเมฆฝนฟ้าคะนองนี่สนุกนัก

แต่คงต้องรอบันทึกอื่นๆ ต่อไป

  


 

สุดท้าย

คิวมูลัส (Cumulus) จัดได้ 2 แบบครับ

บางทีก็จัดเป็น เมฆระดับต่ำ (Low cloud)

แต่เนื่องจากมันมีศักยภาพที่จะเติบโตในแนวดิ่งสูงขึ้นไป จึงอาจจัดเป็น

เมฆที่สามารถก่อตัวสูงขึ้นในแนวดิ่งได้ (Cloud of Vertical Development)

ซึ่งเป็นพวกเดียวกับ คิวมูโนนิมบัส (Cumulonimbus) ได้ด้วย

 


 

คำสำคัญ (Tags): #cloud#cumulus#เมฆ
หมายเลขบันทึก: 239259เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2009 08:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อรุณสวัสดิ์ค่ะท่านอ.หมอ เมฆเท่ห์

ที่เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล ปีใหม่ ๑๑ โมงค่ะ

สวัสดีครับ พ่อครูบาฯ

      ว้าวๆ แวะมาคนแรกเลยนะครับเนี่ย ยังไม่เสร็จครับ กำลังเพิ่มคำบรรยายภาพอยู่ ^__^

สวัสดีครับ

        บันทึกเสร็จแล้วครับ เย้!

        คุณ poo : เมฆก้อนใหญ่จัง ถัดจากนั้นมีฝนตกหรือเปล่าครับ?

สวัสดีครับอาจารย์

ขอบคุณมากเลยครับ เรียนรู้เรื่องเมฆนี้มีแต่ นิมบัส คิวบัส มูรัส เต็มไปหมดเลย อิอิ

นักเรียนทุกคนสนใจเรียนสนุกคร๊าบ :)

  • สวัสดีค่ะ
  • ขอบคุณมาก ๆๆ ที่กรุณาตอบข้อสงสัย
  • ได้เรียนรู้มากขึ้น รู้จักเมฆในแนวตั้งเพียงแค่คิวมูลัส กับคิวมูโลนิมบัสเองค่ะ
  • ติดตามอ่านมาทุกบันทึกนะคะ 
  • ชอบตรงฝนน้ำแข็ง ฝนเยือกแข็ง (นั่นก็เพิ่งรู้แบบละเอียดค่ะ)
  • ขอให้มีความสุขและรักษาสุขภาพด้วยนะคะ

คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...

อ.ค่ะ ประมาณอีกชั่วโมงได้ค่ะ ระหว่างนั่งเรือได้สักพัก ก็มีพายุ

และคลื่นลมแรงมาก แล้วฝนก็ กระหน่ำในเวลาถัดมา ...

สวัสดีค่ะ

ชอบเมฆที่อาจารย์เขียนบรรยายค่ะ

อาจารย์ทำเป็นบทเลยหรือเปล่าคะ

เพราะมีบทเรียนสำหรับเด็กมัธยมศึกษาปีที่1

ที่ต้องเรียนเกี่ยวกับเมฆ บางครั้งเห็นคนสอนแล้วอึดอัดจัง

เค้าไม่พาเด็กลงไปดูของจริง แต่มาคิดอีกทีในกรุงเทพมันก็

ไม่ค่อยเห็นเมฆเห็นชัดเจนแบบที่อาจารย์เอามาให้ดูด้วย

อมรรัตน์ รีกิจติศิริกูล

สวัสดีครับ (ผมลืมตอบบันทึกนี้ไปเลย!)

        เดย์ : เรื่องชื่อยากๆ ยาวๆ เหมือนชื่อไดโนเสาร์นี่ ไม่ต้องไปจำมากก็ได้ครับ แต่ถ้ารู้ไว้จะทำให้เชื่อมโยงเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกันได้ เช่น ถ้าเห็นคำว่า cumulo- ที่ไหน ก็รู้ว่าเป็นเมฆก้อน อะไรทำนองนี้

       คุณ ♥< lovefull >♥ : เมฆนี่ถ้าคนที่รู้จริงๆ มาจัดแบ่งประเภท ก็เกือบๆ จะเหมือนสิ่งมีชีวิตเลยครับ คือมีทั้ง จีน้ส (genus) และสปีชีส์ (species) ด้วย!

            ส่วนพวกเรา ดูสวยๆ และจำเฉพาะเมฆแบบที่ชอบก็พอแล้วครับ

        คุณ poo : ทางใต้นี่ฝนตกได้ตลอดเกือบทั้งปีเลยนะครับเนี่ย

     อ.อมรรัตน์ : คงไม่เป็นบทๆ ครับ แต่จะสลับฉากชมเมฆสวยๆ กับความรู้ทางวิชาการบ้าง ให้ได้ดุลกันหน่อย

           สอนเรื่องเมฆนี่ ถ้าไม่ได้พาไปดูจริงๆ ก็อาจใช้ภาพที่น่าสนใจจากแหล่งต่างๆ ได้ครับ

เพิ่งสมัครสมาชิก ชอบดูเมฆเหมือนกันค่ะ

สวัสดีครับ คุณนันทยา

        ถ้าชอบดูเมฆ แนะนำให้ดูภาพรวมของบล็อกนี้ได้จากที่นี่ครับ

                  http://gotoknow.org/blog/weather/toc

        หรือจะเข้าไปที่เว็บท่า (portal web) ที่นี่ก็ได้

                  http://portal.in.th/cloud-lover

        ขอให้สนุกกับการดูเมฆครับ

สวัสดีค่ะ พี่ชิว นำมาถามอีกแล้วค่ะ อิอิ ... มันคือเมฆ คิวมูลัส คอนเจสทัส หรือเปล่าค่ะ แต่มันไม่เหมือนหอคอยค่ะ มันเหมือนภูเขา ฮาาาเลย งง ค่ะ ....


ดูรูปอื่นๆจาก ลิงค์นี้นะค่ะพี่ชิว

http://gotoknow.org/blog/hetweernl/278547

สีสวยๆ เดาเอาว่าน่าจะสะท้อนกับแสงอาทิตย์ เพราะเวลาดวงอาทิตย์ตก 21.50 น.  ถ่ายรูปที่เวลา 21.41 น.

รักษาสุขภาพด้วยค่ะ

หนุ่ย

สวัสดีครับ หนุ่ย

          แวะไปชมภาพใหญ่มาแล้วครับ นี่แหละ คุณคิวมูลัส คอนเจสทัส (cumulus congestus) จริงๆ ด้วย สูงใหญ่เบ้อเริ่มเชียวครับ

          สามทุ่มใกล้สี่ทุ่มแล้ว ฟ้ายังสว่างอยู่เลยนะครับเนี่ย ฤดูร้อนใช่ไหมครับ?

ขอบคุณพี่ชิวค่ะ ... ใช่ค่ะที่นี่เป็นฤดูร้อน แต่อากาศแปรปรวน นิดหน่อยมีข่าวว่า ที่ออสเตรีย มีสโนด้วยค่ะ ... ที่ฮอลแลนด์ก็มีฝนฟ้าคะนอง  แต่คนที่นี่เค้าชินแล้วค่ะ ...

หนูว่าคิวมูลัส คอนเจสทัส ดูเป็นเมฆที่หนักแน่นดีนะค่ะพี่ชิว ..

ขอบคุณพี่ชิวอีกครั้งค่ะ งานเยอะรักษาสุขภาพด้วยค่ะ

หนุ่ย

พี่ชอบเมฆคิวมูลัสคอนเจสทัสครับ ดูบึกบึนดีจัง

ขอบคุณครับหนุ่ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท