003 : ปริศนา เมฆจานบิน


ฝรั่งชาวบ้านเรียกเมฆแบบนี้ว่า เมฆรูปเลนส์ (lenticular cloud) แต่บ่อยครั้งก็เรียกแบบง่ายๆ ว่า เมฆสิ่งบินลึกลับ (UFO cloud)

 
ล่าสุด!

ชมภาพเมฆจานบินแบบ Cap Clouds ฝีมือคนไทย ถึง 2 แบบ

จานบินร่อนลงเหนือภูเขาไฟฟูจิ Mount Fuji : Cap Clouds

ฝีมือ อ. Naree Suwan

 

                   158 : เมฆจานบิน เหนือภูเขา Aconcagua ฝีมือ ดร.ศรัณย์

 

 


 

ปริศนาเมฆจานบิน

บัญชา ธนบุญสมบัติ

* บทความนี้จะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ "รื่นรมย์ ชมเมฆ" ของ ชมรมคนรักมวลเมฆ*

 

มีเมฆรูปร่างประหลาดแบบหนึ่งที่เคยทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า มนุษย์ต่างดาวบุกโลกเข้าให้แล้ว เมฆแบบนี้มีรูปร่างคล้ายๆ ขนมครก ฝาเดียวบ้าง สองฝาประกบกันบูดๆ เบี้ยวๆ บ้าง 

 

ฝรั่งชาวบ้านเรียกเมฆแบบนี้ว่า เมฆรูปเลนส์ (lenticular cloud) แต่บ่อยครั้งก็เรียกแบบง่ายๆ ว่า เมฆสิ่งบินลึกลับ (UFO cloud) เพราะคำว่า UFO มาจาก Unidentifed Flying Object  แต่ผมขอเรียกแบบพี่ไทยว่า เมฆจานบิน ก็แล้วกัน

 

เมฆจานบินอาจจะเกิดปรากฏการณ์สีรุ้งได้ด้วย

 

แล้วเมฆจานบินเกิดขึ้นได้ยังไง? ทำไมไม่ค่อยได้เห็น?
    

เมฆจานบินนี้เกิดจากการที่กระแสอากาศในแนวระดับเคลื่อนที่ปะทะเนินหรือภูเขา ทำให้อากาศถูกบังคับให้ยกตัวสูงขึ้น แต่เมื่อผ่านเนิน (หรือภูเขา) นั้นไปแล้ว อากาศก็จะลดต่ำลง มองจากด้านข้างคล้ายๆ เป็นคลื่นกระเพื่อมวิ่งไป

แผนภาพการเกิดเมฆจานบิน แต่ละเส้นแทนการไหลของกระแสอากาศ
โปรดสังเกตว่าเมฆชนิดนี้เกิดบริเวณยอดคลื่น

 

อย่างไรก็ดี ในสภาพจริงนั้น กระแสอากาศจะแบ่งเป็นชั้นๆ ซ้อนกันอยู่ ดังนั้น หากมองในภาพรวม ก็จะพบว่า กระแสอากาศในชั้นล่างๆ กระเพื่อมมากหน่อย ส่วนชั้นบนกระเพื่อมน้อยกว่า 

อากาศในแต่ละชั้นเมื่อถูกยกให้ลอยสูงขึ้น ก็จะขยายตัวออก ส่งผลให้มีอุณหภูมิลดลง ผลก็คือ ไอน้ำ (แต่เดิม) เมื่อลอยสูงขึ้น ก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเล็กๆ เต็มไปหมด ซึ่งมองโดยภาพรวมก็คือ เมฆ นั่นเอง แต่เมฆที่เกิดขึ้นนี้ถูกกักอยู่ในชั้นอากาศที่ว่ามาแล้ว จึงมีรูปร่างออกจะแบนๆ ในแนวดิ่ง และยืดยาวออกทางด้านข้างโดยรอบ กลายเป็น ‘จานบิน’ นั่นเอง 
 

เห็นเมฆจานบินที่ไหน แสดงว่าตรงนั้นเป็นยอดคลื่น หรือบริเวณที่คลื่นอากาศกระเพื่อมขึ้นสูงสุด ทำให้อากาศเย็นสุดจนไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยด
    

เนื่องจากหยดน้ำในเมฆจานบินนี้มักจะมีขนาดเล็กมากๆ และมีขนาดพอๆ กัน ดังนั้น จึงสามารถทำให้แสงสีขาวจากดวงอาทิตย์เกิดการเลี้ยวเบน แตกออกเป็นสีรุ้งได้โดยง่ายด้วย

เมฆจานบินบางก้อนอาจมีลักษณะเป็นชั้นๆ หลายชั้นซ้อนกัน เป็นเพราะความชื้นในอากาศมีค่ามากน้อยสลับกันเป็นชั้นๆ ชั้นไหนมีความชื้นมาก ก็จะมีโอกาสเกิดหยดน้ำได้มากนั่นเอง

 
เมฆจานบินแบบหลายชั้น  


ส่วนเมฆจานบินแบบสุดท้ายนั้น ผมเคยโม้ให้ฟังไปแล้วในหนังสือ ‘มิติคู่ขนาน’ แต่ขออนุญาตเอาของเก่ามาหากินอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ครบถ้วน…อะแฮ่ม…เหตุผลฟังขึ้นไหมครับ (อิ..อิ) 

เมฆรูปหมวกเหนือยอดเขา

เมฆจานบินแบบนี้เกิดเหนือยอดเขาสูงๆ โดยลมที่พัดพาเอาความชื้นมาจากบริเวณที่ราบโดยรอบ จะถูกแนวสันเขาบังคับให้ไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทีนี้พอความชื้นขึ้นไปเจออากาศหนาวๆ แถวยอดเขา ก็จะแปลงกายกลายเป็นหยดน้ำเกาะกลุ่มปกคลุมอยู่เหนือยอดเขา บางคนก็มองเป็นดอกเห็ดขนาดยักษ์ แต่ฝรั่งเขาว่าเหมือนภูเขาสวมหมวก ก็เลยเรียกเมฆจานบินแบบพิเศษนี้ว่า เมฆ (ซึ่งมีรูปร่างเหมือน) หมวก หรือ cap cloud
 

คราวหน้า หากคุณคิดว่าเห็นจานบินอยู่บนท้องฟ้า ก็ลองจ้องให้ชัดๆ อีกที เพราะสิ่งที่เห็นนั้น อาจจะไม่ใช่ยานพาหนะของมะนาวต่างดุ๊ด แต่เป็นเมฆสุดพิเศษพวกนี้นั่นเอง

แต่หากมีตัวประหลาดย่นๆ หยุ่นๆ หล่นแหมะลงมาด้วย ก็จงตั้งสติให้ดีว่าจะเผ่นหนี หรือ ขอเลขเด็ด…แหะ..แหะ ;-P

 

ขุมทรัพย์ทางปัญญา

  • ขอแนะนำ http://www.atoptics.co.uk/  ส่วนใครสนใจภาพเมฆจานบิน ลองค้นคำว่า lenticular cloud หรือ UFO cloud ในอินเทอร์เน็ต
  • ขอขอบคุณ คุณโอ - อุทัย อาวรณ์ ที่ช่วยทักท้วงเกี่ยวก้บ link ในขุมทรัพย์ทางปัญญาครับ

 

 


ประวัติของบทความ : เขียนโดย บัญชา ธนบุญสมบัติ ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ กฎพิสดาร ปรากฏการณ์พิศวง หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่นเสาร์สวัสดี (เสาร์ 24 มิถุนายน 2549)

 

คำสำคัญ (Tags): #เมฆ#เมฆจานบิน
หมายเลขบันทึก: 79047เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2007 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีครับ

  • น่าสนใจมากๆ เลยครับ
  • อยากรู้จังครับ ว่าหากมองจากภาพถ่ายดาวเทียม ลงไป เมฆพวกนี้มันจะกระจายอยู่อย่างไร กับกลุ่มเมฆพวกอื่น
  • เพราะผมเอาภาพดาวเทียมมาลองทำสามมิติจากสองมิติอยู่เหมือนกันครับ (แต่เป็นความสูงเทียมครับ) เพื่อสร้างความน่ากลัวและการสร้างมุมมองจากหลายๆ ด้านนะครับ
  • ขอบคุณมากๆ ครับ

ภาพเมฆจานบิน (lenticular cloud) ปกคลุม Mount Shasta จากมุมสูงครับ

Mount Shasta  หมายความว่าอะไรครับอาจารย์

 

สวัสดีครับ คุณหนุ่มใหญ่
             คำว่า Mount หรือที่บางครั้งย่อว่า Mt  มาจากคำว่า mountain หรือ ภูเขา นั่นเอง
คำๆ นี้เอาไว้นำหน้าชื่อภูเขาครับ เช่น Mount Everest และ Mount Hood
             ดังนั้น Mount Shasta ก็คือ ภูเขาชื่อ แชสตา (Shasta) ครับ
            สังเกตว่า หากนำคำนี้ไปนำหน้าชื่อภูเขา ต้องเขียนตัว M ด้วยตัวใหญ่เสมอ
            แต่ถ้าหากเขียนว่า mount เฉยๆ และเป็นคำนาม จะหมายถึง mountain (ภูเขา) หรือ hill (เนินเขา)
            ส่วน mount ที่เป็นคำกิริยา มีหลายความหมายครับ เช่น ขี่ม้า เป็นต้น ลองค้นความหมายอื่นดูเองหากสนใจนะครับ ^__^
บัญชา

ไม่ทราบว่าใช่ปรากฏการณ์เดียวกับที่เครื่องบินรบ ฝึกบินด้วยความเร็วสูงจนสร้างทางสีขาวยาวบนท้องฟ้าหรือไม่ครับ

สวัสดีครับ คุณ 'มาจาก thaimtb.com'

เป็นคนละปรากฏการณ์ครับ อันนั้นเรียกว่า คอนเทรล (contrail)เกิดจากการที่ไอน้ำและฝุ่นที่ถูกพ่นออกมาจากเครื่องยนต์เจ็ตครับ ไอน้ำเข้าไปเติมปริมาณน้ำในอากาศ ส่วนฝุ่นทำหน้าที่เป็น แกนกลั่นตัว (condensation nuclei) ทำให้ไอน้ำ (ในสถานะแก๊ส) กลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำเล็กๆ

อาจเกิจจากเครื่องบินโดยสารพาณิชย์ (commercial airplanes) ก็ได้ครับ

บัญชา

ใจากเว็บ thaimtb.com ครับ

ขอบคุณครับ ได้ความรู้เพิ่มอีกแล้ว ^__^

สวัสดีครับ...

เมฆหางเครื่องบินผมเห็นแทบทุกวันครับ..แต่ไม่สวยเหมือนภาพพวกนี้เลยครับ..

ส่วนเมฆจานบินไม่เคยเห็นเลยครับ.. ขอบคุณครับที่นำเมฆต่าง ๆ มาให้ดูครับ

สวัสดีครับ น้องๆ ฟ้ามิกแม็ก

      ถ้าถ่ายภาพเมฆสวยๆ (แบบไหนก็ได้) ก็ส่งมาให้ดูหน่อยนะครับ

      เมฆจานบินนี่เกิดยากครับ จึงไม่ค่อยได้เห็นกันซะเท่าไร

ตามมาหาคำตอบเมฆจานบินค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ อธิบายพร้อมภาพกราฟฟิค ดีมากค่ะทำให้มองเห้นภาพ

ช่างน่าทึ่งจริงๆค่ะ

สวัสดีครับ พี่นุช

       ถ้าถ่ายเมฆจานบินแถวๆ แม่น้ำป่าสักได้เมื่อไร ผมว่าดังแน่ๆ ครับงานนี้ ^__^

สุดยอดครับผม เป็นปรากฏการณืที่มหัศจรรย์ สำหรับครับ ผมเป็นลูกศิษย์ของคุณครูต้อยครับ

อย่าลืมนำภาพมาฝากบ้างนะครับ ระบุข้อมูลมาด้วยนิดหน่อย เช่น ถ่ายที่ไหน เวลาประมาณเท่าไร บรรยากาศโดยรอบเป็นอย่างไร

ลมมันพัดมั่ง แล้วเมฆมันก็เป็นรูปร่างเองแหละ

เข้ามาบล็อกนี้เพราะได้รับการสนับสนุนจากครูแมวค่ะ

เห็นว่าน่าสนใจดี แล้วก็เปิดมากระทู้แรกเลยทีเดียว =_=

เห็นเนื้อเรื่องน่าสนใจมากค่ะ เกิดมาเพิ่งเคยเห็นเมฆรูปร่างแบบนี้เป็นครั้งแรก

ขอบคุณที่นำมาให้ชมนะคะ :)

สวัสดีครับ

         เรน : เมฆจานบินบางแบบก็เกิดจากลมพัด แต่หลายแบบก็ไม่ใช่แค่ลมพัดครับ

         June'z :) : ดีจัง แวะนำภาพเมฆมาฝากก็ได้นะครับ

 

                        ขอแนะนำ เว็บชมรมคนรักมวลเมฆ ที่นี่ครับ

                                http://portal.in.th/cloud-lover

 

เข้ามาดูภาพครับ อ.ชิว เมฆจานบินหาดูยากจังนะครับ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท