สมาธิแปลก


ไปนั่งสมาธิที่วัด พบสมาธิแปลกๆ

   วันนี้บ่ายสองโมง  ภรรยาผมชวนไปนั่งสมาธิที่วัด  ผมว่างๆอยู่พอดี  ก็เลยลองไปนั่งดูครับ

 

 

   ไปถึง  มีชายหนุ่มคนหนึ่งอายุประมาณ 30  ปี  แต่งชุดขาว  มาดดี  ท่าทางน่าเลื่อมใส เป็นคนฝึกให้นั่งสมาธิ  มีคนมาร่วมนั่งประมาณ 10 คน

 

 

   ชายหนุ่มคนนี้  บอกคร่าวๆว่า  ให้นั่งขัดสมาธิเพชร   หายใจเข้า  ให้ภาวนาว่า "พอง" หายใจออก  ให้ภาวนาว่า "ยุบ"  ให้หายใจแรงๆ   หายใจเข้าให้ยืดตัวให้ตรง  หายใจออกให้ค้อมตัวไปข้างหน้า  อย่าให้ขาหลุดจากกัน  สมาธิแบบนี้  ต้องใช้พลังมาก เพราะเป็นสมาธิเปิดโลก

 

 

      พอบอกว่าเริ่มปฏิบัติได้  ปรากฏว่าข้างๆที่ผมนั่งอยู่  เป็นเด็กหนุ่มอายุประมาณ 15 - 16  หายใจฟืดฟาดเสียงดังมาก   เสียงหายใจเร็วๆ รัวๆ   ขณะเดียวกันก็เอามือทุบไปที่พื้นปูนไปด้วย  ผมเริ่มสงสัยแล้วครับ ว่าเขาเป็นอะไรของเขา  หรือ สมาธิแบบเปิดโลกมันต้องเป็นแบบนี้  พอนั่งไปสักพัก  ก็มีเสียงผู้หญิงข้างๆ ร้องโหยหวน   มีเสียงขากเสลด   มีเสียงร้องไห้  เสียงหายใจฟืดฟาด

 

 

      ชายหนุ่มคนดังกล่าวบอกว่าขอให้ทุกคนอย่าไปสนใจเสียงใดๆ  เพราะนั่นเป็นเสียงกรรมเก่าของเขา   และ บอกต่อไปว่า ให้ทุกคนเอากรรมเก่าของตัวเองออกมาให้หมด  ใครจะร้องก็เชิญร้องออกมาให้ดังๆ  ใครจะอาเจียน ก็อาเจียนออกมา  และพยายามหายใจให้เร็วๆแรงๆ  เพื่อให้เจ้ากรรมนายเวรได้ออกไป 

 

 

     ผมฝืนนั่งไปได้สักประมาณครึ่งชั่วโมง   ก็มีแต่เสียงสารพัด  นึกรำคาญก็เลยลุกออกมา   เมื่อเมื่อดูก็พบว่ามีบางคน ทำท่านั่งร้อยเข็ม   บางคนทำตัวโอนไปเอนมา   บางคนโยกหน้าโยกหลัง   สลับท่าทางแปลกๆ  มีทั้งเสียงร้องโหยหวน และเสียงขากเสลด  ที่กลัวในตอนนั้นก็คือ กลัวว่าภรรยาผมจะเป็นไปกับเขาด้วย แต่ภรรยาผมก็ยังคงนั่งสมาธิตามปกติ 

 

 

       ตอนแรกผมก็ไม่คิดอะไรครับ นึกว่าผมเองคงเข้าไม่ถึง  หรือ ไม่รู้จักสมาธิแบบนี้   "สมาธิแบบเปิดโลก"    แต่ยิ่งดูก็ยิ่งไม่แน่ใจครับ

 

 

      ที่ผมสังสัย  อาจจะมองโลกมนแง่ร้ายไปบ้าง คือ  คนที่มาเข้า  ส่วนใหญ่หน้าตาจะอมทุกข์มาทั้งนั้น

 

      ไม่ทราบว่าผมจะมองโลกในแง่ร้ายไปหรือเปล่า  หรือว่าผมเข้าไม่ถึง "สมาธิเปิดโลก"

 

 

     รบกวนท่านผู้รู้ช่วยชี้แนะด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 328788เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2010 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

แปลก แหวกแนว แบบน่ากลัวมากๆ เลยค่ะท่านรองหนุ่มเล็ก

สงสัยว่างานนี้คงต้องเดือดร้อนท่านเจ้าอาวาส ต้องมีการตรวจสอบกันบ้างแล้วคะ?

 

Pคุณpooครับ

   ผมได้สอบถามพรรคพวกที่อยู่ใกล้วัดนั้น เขาบอกเขาไม่เคยรู้เรื่องแบบนี้เลย   เขาจะนำไปแจ้งเจ้าอาวาสครับ  เพราะดูมันพิกลอยู่

       ขอบคุณคุณPooมากครับ 

หนับหนุนน้องปู..ไม่มีหรอกสมาธิแบบนี้ในพระพุทธศาสนา..แต่อะนะเขากล่าวกันว่า..เป็นความเชื่อส่วนบุคคล งานนี้เราพลัดหลงเข้าไปเอง ทางที่ดีอย่างน้องปูว่า..เจ้าอาวาสต้องตรวจสอบแล้วค่ะ..ส่วนท่านรองฯก็พาภรรยาไปนั่งวัดที่ดูไม่แปลกดีกว่าค่ะ..

   P

    คุณอ้อยเล็กครับ

*  เป็นความเชื่อส่วนบุคคล งานนี้เราพลัดหลงเข้าไปเอง

   (ครับ เพราะพลัดหลงเข้าไปเอง)

* ทางที่ดีพาภรรยาไปนั่งวัดที่ดูไม่แปลกดีกว่า

  (ผมเองก็ไม่ทรายมาก่อนหรอกครับ ว่าจะเป็นแบบนี้   แต่ก็ดีครับ  ที่ได้มาเจอสมาธิแปลกๆ จากประสบการณ์จริง)

                   ขอบคุณครับ

อาจารย์ Small man,

  • ก่อนอื่น ขออนุโมทนาต่อการใช้โอกาสดีๆ เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
  • การกำหนด "พอง/ยุบ" มีที่มาจากสำนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงในประเทศพม่า
  • นักปฏิบัติในประเทศไทยหลายท่านได้ใช้แนวทางนี้ ซึ่งอาจจะสอดรับกับจริตของบางท่าน คุณแม่สิริก็ได้ใช้หลักการนี้เช่นกัน

ข้อสังเกตต่อการปฏิบัติ

  • เพิ่งจะเคยได้ยินวาทกรรมนี้ครั้งแรก (ตามที่อาจารย์เล่า) ว่ามี "สมาธิเปิดโลก" เพราะปกติจะมีแต่วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก คือ วันออกพรรษา  
  • แสดงอาการอย่างใดอย่างหนึ่งในขณะปฏิบัติ เช่น การร้องไห้ หัวเราะ การกรีดร้อง การกระโดด และการโอนเอนไปมา  จัดเป็น "สภาวะธรรม" อย่างหนึ่งของการนั่งสมาธิ  หน้าที่ของนักปฏิบัติคือ ต้องกำหนดรู้ "ปัจจุบันารมณ์" หรือ อารมณ์ป้จจุบัน  อารมณ์ใดชัดเจนที่สุด ให้กำหนดอารมณ์นั้น  เช่น สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ รวมไปถึงการร้องไห้
  • อาการของการร้องไห้ อาจจะมาจากการที่จิตของเราเข้าถึง "อารมณ์ปีติ" เมื่อเกิดปีติแล้ว เราไม่กำหนด และรู้เท่าทันปีตีจึงร้องไห้ อาการของปีติอาจจะนั่งยิ้มอยู่คนเดียว ไม่ทานอะไรก็ได้

คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาปฏิบัติ "หน้าตาอมทุกข์"

  • แน่นอน ถ้าไม่ทุกข์ หรือเผชิญกับทางตัน คนอาจจะ "ไม่เห็นคุณค่าของสมาธิ"
  • ในขณะปฏิบัติ หน้าตาอาจจะทุกข์ได้เช่นนั้น เพราะอาจจะเิกิดจากความเีครียด เพราะเผชิญกับเวทนาอย่างหนัก ในขณะนั่งใหม่ๆ ยังไม่สามารถกำหนดอารมณ์ปัจจุบันได้ทัน หรืออาจจะเครียดเพราะตามอารมณ์ปัจจุบันหรือกำหนดไม่ทัน
  • หรืออาจจะฟุ้งซ้านเพราะคิดเรื่อยเปื่อย หรือรำคาญเสียงคนที่อยู่รอบๆ เพราะกำหนดเสียงเหล่านั้นไม่ทััน

ยิ่งดูยิ่งไม่น่าใช้สมาธิในพระพุทธศาสนา

  • สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านั้น แล้วอาจารย์บอกว่า "เป็นเพราะกรรม" ต้องปล่อยให้เป็นไปแบบนั้น ไม่ต้องไปยุ่ง  อธิบายได้ว่า เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะเมื่อเราปฏิับัติกรรมฐาน อาการเหล่านั้นบางครั้งก็มาปรากฎในขณะปฏิับัติกรรมฐาน
  • หน้าที่ของเราคือให้กำหนดอารมณ์ปัจจุบันให้ทัน อย่าตามอารมณ์ หรือปล่อยไปโดยไม่ยอมกำหนด เพราะอาจจะทำให้หลงทางในขณะปฏิบัติได้
  • หน้าที่ของอาจารย์สอนกรรมฐาน คือ การแก้อารมณ์ของโยคีหรือผู้ปฏิบัติให้ได้ เพราะให้ผ่านพ้นสถานการณ์ที่กำลัง "ติดหล่ม" หรือ "กำดัก" ต่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติ

เหล่านี้ เป็นข้อสังเกตของอาตมา ประสบการณ์ที่เคยปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ๔๕ วันเต็ม และปฏิบัติกรรมฐานมาตั้งแต่เป็นสามเณรเมื่อ ๒๗ ปีที่แล้ว เคยเห็นสภาวะธรรมที่โยมเล่า  แต่อาจารย์จะแก้ไขให้ตลอดเวลาในขณะที่สอบอารมณ์

การปฏิบัติกรรมฐานใหม่ๆ ไม่ควรปฏิบัติคนเดียว หรืออยู่คนเดียว หากจะปฏิบัติแบบเคร่งครัด (Intensive) ควรมีอาจารย์หรือกัลยาณมิตรคอยให้คำแนะนำ หรือ "แก้อารมณ์" ให้ เพื่อไม่ให้เราติดตัน และก้าวหน้าต่อไปอยู่เรื่อยๆ

แต่ถ้าต้องการปฏิบัติเื่พื่อให้เกิดความสงบชั่วคราว อาจจะเริ่มตั้งแต่ห้านาที สิบนาที ยี่สิบนาที โดยการไต่เพดานขึ้นไปเรื่อยๆๆ  จนกว่าเราจะคุ้นเคย ถึงกระนั้น เราก็ควรหาโอกาสที่จะสนทนาหลักการปฏิบัติกับ "วิปัสสนาจารย์" เพื่อเิพิ่มประสบการณ์ในการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การปฏิบัติสมาธิ นับเป็นบุญสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา  สมาธิเป็นของดีและประเสริฐ แต่ถ้าเรามีท่าทีที่ไม่ถูกต้อง หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องต่อสิ่งที่ดีและประเสริฐ ผลเสียย่อมเิกิดขึ้นแก่เราในที่สุด  อุปมาเช่นกับ "ไฟฟ้า" ที่ให้แสงสว่างแก่เรา หากเราปฏิบัติไม่เหมาะสมกับไฟฟ้า ไฟฟ้าอาจจะช๊อตเราตายก็ได้

ในขณะนี้วัดต่างๆ พยายามจะเปิดวัดให้เป้นที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยกสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดโครงการ "หนึ่งตำบล หนึ่งวัดกรรมฐาน" เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวพุทธทั่วประเทศได้ใช้ประโยชน์จากวัด หลัังจากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ของปัญญาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

แต่วัดก็ควรจะสอดส่อง และกำักับพร้อมทั้งตรวจสอบอาจารย์สอนกรรมฐาน หรือ "วิปัสสนาจารย์" ที่จะทำหน้าที่สอนว่า ได้รับการพัฒนาและฝึกอบรมมามากน้อยเพียงใด เพราะจะมีผลต่อ "สอบอารมณ์" และ "แก้อารมณ์" 

อยากให้ประเทศไทยปฏิบัติกันเยอะๆ เพราะตอนนี้สังคมตะวันตกเห็นคุณค่าของกรรมฐานเป้นอย่างมาก  จากประสบการณ์ที่เคยไปอยู่อังกฤษและสอนกรรมฐานแก่ฝรั่ง พบว่า ฝรั่งหลายคนได้ประโยชน์จากกรรมฐาน และเห็นมาตั้งสำนัก ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในอเมริก และยุโรป  หลายคนตัดสินใจเดินมาประเทศไทยและพม่าเพื่อปฏิับัติต่อ ประเทศไทยมีศาสนาพุทธคู่ชาติไทย มีวัดไทย แล้วเราจะได้อะไรจากสิ่งที่เรามีอยู่บ้าง

อาจารย์ Small Man,

  • ขอเพิ่มเติมอีกนิด
  • "สมาธิแปลก" ไม่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา
  • แต่ที่ "ดูแปลก" ไ่ม่ใช่เพราะ "สมาธิ" แต่เป็นเพราะ "คนปฏิบัติแปลก" "คนสอนแปลก" โดยเฉพาะ "การหาวิธีการแปลกๆ" มาใช่กับการปฏิบัติสมาธิ
  • เห็นด้วยกับข้อสังเกตของบางท่านที่บอกว่า "ก่อนจะไปปฏิบัติ" ในสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ควรใช้ "หลักกาลามสูตร" บางก็จะดี
  • เจริญพร

สวัสดีค่ะ แวะมารับความรู้เรื่องสมาธิค่ะ

ได้รับความรู้ทั้งจากบันทึกท่านอาจารย์ small man และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากพระอาจารย์ค่ะ

ดาวกำลังพยายามฝึกนั่งสมาธิ...แต่ก็ยังไม่ถึงกับอาเจียนหรือร้องไห้สักที คงยังต้องฝึกอีกเยอะค่ะ...แหะแหะ

ขอบพระคุณมากๆ นะคะ

ขอขอบคุณค่ะ ได้เข้ามาอ่านและได้ความรู้จากพระอาจารย์ ธรรมหรรษาเป็นประโยชน์มากค่ะ

Pนมัสการครับ

   *  เป็นข้อมูลการนั่งสมาธิที่ผมไม่เคยทราบเลยมาก่อนครับว่า การร้องไห้ หัวเราะ การกรีดร้อง การกระโดด และการโอนเอนไปมา  จัดเป็น "สภาวะธรรม" อย่างหนึ่งของการนั่งสมาธิ

    แต่ที่ผมสังสัย คือ  ผมสังสัยว่ามีบางคนเป็นหน้าม้า  คือ คนแรก พอนั่งปุ๊บ  ก็เป็นปั๊บเลยครับ   หายใจฟืดฟาดเสียงดัง มือทุบพื้นปูน  พออาจารย์บอกให้นายคนนี้ไปหยิบถุง  ก็ลุกเดินไปทันทีครับ(หยิบถุงใส่น้ำลายคนที่ขากเสลดออกมา) 

    หน้าม้า คนที่สอง  ร้องโหยหวน  บ่นพึมพำ  ทำท่าร้อยเข็ม  สักพักก็ลุกออกมานั่งหน้าตายิ้มแย้มตามปกติ  เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

    และที่สงสัยคือ อาจารย์ที่สอน ก็ปล่อยให้มีเสียง  มีท่าทาง  ออกมายาวนานครับ  ไม่ทำอะไร   และ สงสัยอีกอย่างคือ อาจารย์ฝึก เขาบอกให้ร้องออกมาครับ  ใครจะร้องอะไร จะพูดอะไร ให้ร้องออกมา ใคนจะอาเจียน ให้อาเจียนออกมา  เจ้ากรรมนายเวรจะได้หมดไป  ผมว่าคล้ายๆกับการสั่งจิตให้ทำนะครับ

     หรือผมอาจเข้าไม่ถึง ไม่เข้าใจ

และ หลายคน  อาจารย์ทีฝึกก็ปล่อยให้เป็นแบบนั้นนาน ๆ  มีบางคนที่ผมส

Pนมัสการท่านธรรมหรรษาครับ

   ผมกำลังให้เพื่อนลองตรวจสอบดูครับ ว่าอาจารย์สอนกรรมฐานท่านนี้  เป็นอย่างไร  หรือผมอาจเข้าใจท่านผิดไป

PคุณBlue starครับ

  ขอบคุณมากครับที่มาเยี่ยมชมการนั่งสมาธิ

PคุณPlumariaครับ

     ขอบคุณมากครับที่เข้ามาอ่าน

สาธุๆๆท่านรองที่ไปตามธรรมฐิตมา..

คำตอบพระอาจารย์หรรษาแจ่มชัดแล้วขอรับ..

เรื่องการปฏิบัติที่ท่านรองเล่ามานี้ธรรมฐิตเคยได้ยินมาหลายสิบปีแล้ว

แต่ธรรมฐิตไม่เคยไปเห็นกับตาเพื่อนที่ไปเล่าให้ฟัง..

และพระที่สอนแนวนี้ก็มีลูกศิษย์เยอะตอนนี้ก็ยังสอนอยู่..(แต่อาจารย์มรณภาพนานแล้ว)

ธรรมฐิตว่าลูกศิษย์ที่นำมาถ่ายทอดอาจผิดเพี้ยนไปกว่าที่อาจารย์เคยสอนมา

..เดี๋ยวยังไงจะติดต่อสอบถามข้อเท็จจริงให้ขอรับท่านรองเพราะธรรมฐิตรู้จักกับลูกศิษย์พระที่ปฏิบัติแบบนี้..

Pท่านธรรมฐิตครับ

   *  ดีมากเลยครับ  ยังไงก็ตาม ผมก็ยังสงสัยอยู่ครับ

   *  หรือ เขาสอนมาถูกทางแล้ว ผมเข้าไม่ถึงเอง

อาจารย์ Small man,

  • และที่สงสัยคือ อาจารย์ที่สอน ก็ปล่อยให้มีเสียง  มีท่าทาง  ออกมายาวนานครับ  ไม่ทำอะไร   และ สงสัยอีกอย่างคือ อาจารย์ฝึก เขาบอกให้ร้องออกมาครับ  ใครจะร้องอะไร จะพูดอะไร ให้ร้องออกมา ใคนจะอาเจียน ให้อาเจียนออกมา  เจ้ากรรมนายเวรจะได้หมดไป  ผมว่าคล้ายๆกับการสั่งจิตให้ทำนะครับ
  • การปล่อยให้ผู้ปฏิบัติที่กำลังเผชิญสภาวะธรรมนั้น อาจจะเป็นไปได้ เพราะ "วิปัสสนาจารย์" จะรอจังหวะ ก่อนที่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อาจจะเดินไปกระซิบใกล้ๆ ว่า "กำหนดๆๆๆๆ" อย่าตามอารมณ์ของตัวเอง
  • แต่การที่ "วิปัสสนาจารย์" ไปกระตุ้น "โยคีบุคคล" ให้แสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น นับว่า "ผิดทาง" เพราะนั่นนับเป็นการปล่อยให้ผู้ปฏิบัติ "ไม่พยายามกำหนดอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน" หรืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ปรากฎแก่เราชัดแจ้ง
  • สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม!!!!!

Pนมัสการท่านธรรมหรรษาครับ

*  วิปัสสนาจารย์" จะรอจังหวะ ก่อนที่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น อาจจะเดินไปกระซิบใกล้ๆ ว่า "กำหนดๆๆๆๆ" อย่าตามอารมณ์ของตัวเอง

    (วิปัสสนาจารย์ไม่ทำอะไรเลยครับ ปล่อยให้ร้องยาวนานอยู่อย่างนั้น พร้อมกับกระตุ้นอีกว่าอยากจะร้องอะไรให้ร้องออกมาดังๆ)

  • แต่การที่ "วิปัสสนาจารย์" ไปกระตุ้น "โยคีบุคคล" ให้แสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น นับว่า "ผิดทาง" เพราะนั่นนับเป็นการปล่อยให้ผู้ปฏิบัติ "ไม่พยายามกำหนดอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน" หรืออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ปรากฎแก่เราชัดแจ้ง
  •    (มีการกระตุ้นตลอดครับ  ประมาณว่าใครอยากร้องอะไร ให้ร้องออกมา  ใครอยากอาเจียน ให้อาเจียรออกมา ก็เลยมีคนขย้อนคอ ขากเสลด โดยวิปัสนาจารย์นำถุงไปแจก  บางคนก็ทำท่าทางเย็บปักถักร้อย วิปัสนาจารย์ก็มองเฉยๆ ไม่ว่าอะไร)

        ที่ผมสังสัยอีกนิด พอหยุด ก็ต่างตนต่างหยุดไปเองครับ   เพราะวิปัสนาจารย์ท่านไม่ได้บอกอะไร ท่านก็แสดงธรรมของท่านไปเรื่อยๆ ถึงความพิเศษของ สมาธิเปิดโลก

                   ขอบคุณท่านมากครับ

     

    เรียนท่านรองฯ

    • เคยมีรุ่นพี่ที่ท่านเป็นผู้บริหารโรงเรียนเตือนผมว่า การนำสมาธิไปพัฒนาผู้เรียนนั้นให้ระวังอาการดังที่ท่านรองฯเล่ามานี้ด้วย เพราะท่านเคยนำไปพัฒนานักเรียนที่โรงเรียนท่านก็เกิดอาการดังว่าหลายคนขอรับ

     

    Pคุณเด็กข้างบ้านครับ

         ขอบคุณมากครับ ประสบการณ์ค่ายธรรมะของเด็ก 

    *   พัฒนานักเรียนที่โรงเรียนท่านก็เกิดอาการดังว่าหลายคนขอรับ

          ผมก็เพิ่งเคยเจอเหมือนกันครับ   จะลองศึกษาดูครับ

                        ขอบคุณครับ

    ธรรมสวัสดียามเช้าท่านรอง..

    ธรรมฐิตเข้าไปดูตามที่ท่านรองนำข้อมูลไปให้แล้วขอรับ..

    ก็แล้วแต่ความเชื่อแต่ละคนว่าจะใช้วิจารณญาณมากน้อยเพียงไร

    ส่วนธรรมฐิตแล้วแนวนี้ไม่ใช่จริตขอรับ..

     

    Pท่านธรรมฐิตครับ

       แนวนี้ ผมไปนั่งแป๊บเดี๋ยว  ผมก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้วละครับ

                             ขอบคุณครับท่าน

     

     มาตามคำเชิญค่ะ ท่านรอง  P

     

     หลังจากไปคุยกับท่านรองเรื่อง เต๋า กับ แมว และน้ำ  ก็ไปสอน 2 ชั่วโมง  เสร็จภาระกิจแล้วก็มาดู "สมาธิแปลก" ของท่านรอง  ณ เวลานี้ ท่านรองคง ออกว่าราชการอยู่ข้างนอกสำนักงาน เน๊าะ... ร้อนไหมค่ะ...?
     หลังจากอ่านบันทึกของท่านรอง ก็รู้สึกว่าแปลกจริงๆ ด้วย  หนูอ่านหนังสือ ของท่านนายแพทย์เฉก ธนะสิริ  ท่านบางว่า ถ้าเกิดสภาวการณ์แบบนี้ นั้น ไม่เรียกว่า เป็นวิปัสสนา แต่เป็น อวิชา คือนำ การวิปัสสนากรรมฐานไปใช้ที่ผิดหลักทางพระพุทธศาสนา
     ได้อ่านข้อคิดเห็นของ พระคุณเจ้า  P ธรรมหรรษา ได้รับความรู้มากมาย และเป็นประโยชน์มากทีเดียวค่ะ 
     วิปัสสนากรรมฐาน มุ่งให้จิตพิจารณาด้วยเหตุผล รู้เท่าทันอารมณ์ หนูก็ไม่เข้าใจอะไรลึกซึ้งหรอก  ก็ทำให้ดีที่สุด คืดทำให้จิตนิ่ง ไม่หวั่นไหวต่อเวทนา รู้ตัวก็กำหนดว่ารู้หนอๆๆ .....
     ท่านรองเห็นแบบนี้ ก็อย่าพึ่งคิดว่าการเจริญภาวนาไม่ดี หรือเสื่อมศรัทธา นะคะ... วิธีการเขาแปลกจริงๆ ด้วย... ก็พึ่งได้ทราบจากท่านรองนี่แหละค่ะ... ที่เขาฝึกปฎิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องมีเยอะ ปฏิบัติแล้วเกิดความปิติ ชื่นใจ ผ่องแผ้วค่ะ  หนูศึกษาและปฏิบัติตามแนวของ หลวงพ่อจรัล วัดอัมพวา  และที่วัดเขาอินทร์ ก็ใช้วิธีการและแนวทางของหลวงพ่อจรัลเช่นเดียวกันค่ะ.....
     ปิดภาคเรียน ท่านรอง ชวนภริยา มาปฏิบัติธรรมที่วัดเขาอินทร์ สัก 7 วัน ดูซิคะ ทางวัดไม่บังคับ ว่าจะปฏิบัติกี่วัน  แล้วแต่ความศรัทธา และความสะดวก.... หนูชวนไปงั้นแหละ....ฮิ ฮิ  มันไกลบ้านท่านรองจะตายไป... ไปที่วัดอัมพวา สิงห์บุรี  คงใกล้กว่าเยอะเน๊าะ...
    ต้องขอบพระคุณท่านรองมากๆ  ค่า ที่ นำหนูมาอ่านบันทึกเรื่องนี้.... เอ... ช่วงที่ท่านรอง บันทึกเรื่องนี้ หนูทำอะไรอยู่ละเนี่ย ถึงพลาดไปได้.... อ๋อ.. จำได้แล้ว  หนูไปทำวิจัยร่วมกับ ม. ราชภัฎ อต. 3 วัน 2 คืน เลยตกข่าว.....ฮา...
     ขอบพระคุณท่านรองอีกหลายๆ ครั้งค่ะ ที่ทำให้ได้เข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติม
     ด้วยความเคารพ เหมือนเดิม
     จากผู้ใต้บังคับบัญชา ต่าง สพท. ค่ะ....
           

    Pครูใจดีครับ

    *  ผมก็สงสัยในลักษณะเดียวกับที่เขียนมาครับ คือ ถ้าเกิดสภาวการณ์แบบนี้ นั้น ไม่เรียกว่า เป็นวิปัสสนา แต่เป็น อวิชา คือนำ การวิปัสสนากรรมฐานไปใช้ที่ผิดหลักทางพระพุทธศาสนา

    *  ท่าน ธรรมะหรรษา P ได้ให้มุมมองที่ทำให้เข้าใจได้มากขึ้นเลยครับ

    *   จากวันนั้น ผมก็ศึกษามาเรื่อยๆครับ จนผมได้คำตอบในมุมมองของผมเองว่า  เกิดจาก อุปาทานหมู่  ครับ

     *  ผมเองศรัทธาเรื่องการภาวนาครับ ถึงแม้จะเจอแบบนี้   ก็ยังศรัทธาอยู่  เพียงแต่ว่าดีเหมือนกัน ทำให้ตรวจสอลให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะหลวมตัวเข้าไป

          ขอบคุณมากครับ

     

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท