สงกรานต์-การบวช


      ท่านสาธุชนทั้งหลาย ช่วงนี้ก็ใกล้จะถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ซึ่งในโอกาสสงกรานต์นี้ ทุกหมู่บ้านก็ล้วนแล้วแต่มีการทำบุญ บ้างก็งานอุปสมบท บางบ้านบางวัดก็ทอดผ้าป่าสามัคคี บางที่บางแห่งก็มีการเฉลิมฉลองสัญญาบัตรพัดยศ ฉลองศาลาการเปรียญ กุฏิ วิหาร อุโบสถ ศาสนวัตถุภายในวัด ซึ่งงานบุญเหล่านี้ก็ล้วนแสดงให้เห็นถึงประเพณีวัฒนธรรม ความรักความสามัคคี มีจิตใจสำนึกรักในบ้านเกิดถิ่นเกิดของตนเอง  โดยเฉพาะชาวอิสานก็จะถือเอาโอกาสนี้เดินทางกลับบ้านเกิดของตนเอง เพราะส่วนใหญ่จะทำงานที่กรุงเทพฯ เมื่อถึงสงกรานต์ก็จะเดินทางกลับ  พร้อมทั้งนำต้นผ้าป่ามาทอดถวายวัด หรือโรงเรียน เป็นประจำทุกปี อันนี้ก็ถือว่าเป็นประเพณีที่ดีงามอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจ มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล ไม่ลืมภูมิลำเนาเดิมของตนเอง และในช่วงนี้บางคนก็ถือเอาโอกาสนี้อุปสมบทเพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดา  ถึงแม้จะเป็นการบวชที่ไม่นาน ก็เป็นประเพณีนิยมที่จะต้องจัดต้องทำ ให้สำเร็จเรียบร้อย เพราะถือว่าลูกผู้ชายที่นับถือพระพุทธศาสนา ก่อนจะแต่งงาน ต้องทำการบวชให้พ่อแม่ก่อน และคนเราก็ยังมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อลูกบวชพ่อแม่ก็จะได้เกาะชายผ้าเหลืองลูกขึ้นสวรรค์ เรื่องนี้เป็นอย่างไร ไม่ชัดเจน แต่ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้บวชนั้นก็มีอยู่

 

     พูดถึงการบวชหรือการอุปสมบท แต่ครั้งที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ เรียกการบวชว่าการบรรพชา ไม่ว่าจะบวชพระหรือบวชแป็นสามเณร แต่ปัจจุบัน ถ้าบวชเป็นสามเณรเรียกว่า “บรรพชา”  เรียกการบวชเป็นพระภิกษุว่า “อุปสมบท”   การบวช คืออะไร?

 

     คำว่า “บวช” เป็นคำภาษาไทย โดยยืมมาจากภาษาบาลี เมื่อยืมมาแล้วก็เปลี่ยนแปลงรูปและเสียงใหม่ ให้เหมาะกับคนไทย เดิมทีใช้คำว่า “ปพฺพชฺชา” เมื่อพิจารณาดูคำนี้ พอมองให้เห็นถึงรากศัพท์ หรือธาตุอยู่ คือ มาจาก ป บทหน้า ป เป็น อุปสรรค แปลว่า ทั่ว, วช ธาตุ ในความหมายว่า เว้น,  รวมแล้ว แปลว่าเว้นทั่ว,เว้นอย่างสิ้นเชิง, หรือเว้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นอันตรายต่อการประพฤติพรหมจรรย์,

 

     วิธีอุปสมบทในพระพุทธศาสนา มีทั้งหมด ๘ อย่าง แต่เฉพาะที่ใช้เป็นหลักมี ๓ อย่าง คือ

๑.     เอหิภิกขุอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยพระวาจาว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด” เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นเอหิภิกขุองค์แรกในพระพุทธศาสนา

๒.   ติสรณคมณูปสัมปทา หรือ สรณคมนูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการถึงไตรสรณะเป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้พระสาวกนำไปปฏิบัติในยุคต้นพุทธกาล ทั้งนี้ เพราะสมัยนั้นคณะสงฆ์ยังไม่ใหญ่นัก เมื่อทรงอนุญาตวิธีที่ ๓ แล้ว วิธีที่ ๒ นี้ก็เปลี่ยนใช้สำหรับบรรพชาสามเณร

๓.    ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม เป็นวิธีที่ทรงอนุญาต

ให้สงฆ์ทำ ในเมื่อคณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ขึ้นแล้ว และเป็นวิธีที่ใช้สืบมาจนทุกวันนี้วิธีอุปสมบทอีก ๕ อย่างที่เหลือ เป็นวิธีทรงประทานเป้นการพิเศษ จำเพาะบุคคลบ้างขาดตอนหมดไปแล้วบ้าง ได้แก่ (จัดเรียงลำดับใหม่ เอาข้อ ๓ เป็นข้อ ๘ ท้ายสุด)

๓.    โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการรับโอวาท เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่พระมหากัสสปะ

๔.    ปัญหาพยากรณูปสัมปทา การอุปสมบทด้วยการตอบปัญหาของพระพุทธองค์ เป็นวิธีที่อนุญาตแก่โสปากสามเณร

๕.    ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา (หรืออัฏฐครุธรรมปฏิคคหณูปสัมปทา) การอุปสมบทด้วยการรับครุธรรม ๘ ประการ เป็นวิธีที่อนุญาตแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี (คราวครั้งหนึ่ง เคยพูดกับท่านพระมหาวิทยา  ว่า การรับครุธรรม ๘ อย่างนี้เฉพาะพระนางมหาปชาบดีโคตมีคนเดียว ตอนนั้นท่านพระมหาคิม ปภสฺสโร ป.ธ.๗ ก็นั่งคุยกันอยู่ด้วย ท่านก็ยังลังเลอยู่ยังไม่มั่นใจว่า ถ้าพิจารณาตามนี้ ก็เป็นจริงตามที่พูด เพราะมีหลักฐานอ้าง ดังในข้อที่ ๗ บอกไว้ชัดเจน)

๖.     ทูเตนะ อุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยทูต เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตแก่นางคณิกา (หญิงโสเภณี) ชื่อ อัฑฒกาสี

๗.    อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา การอุปสมบทมีวาจา ๘ คือทำด้วยญัตติจตุตถกรรม ๒ ครั้งจากสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือ จาก ภิกษุณีสงฆ์ครั้งหนึ่ง จากภิกษุสงฆ์ครั้งหนึ่ง ได้แก่การอุปสมบทของนางภิกษุณี

๘.    ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา การอุปสมบทด้วยญัตติจตตถกรรม เป็นวิธีที่ทรงอนุญาตให้สงฆ์ทำ ในเมื่อคณะสงฆ์เป็นหมู่ใหญ่ขึ้นแล้ว และเป็นวิธีใช้สืบมาจนทุกวันนี้

 

            ส่วนความหมายของคำว่า “บวช” ที่แปลว่า “เว้นทั่ว เว้นทุกสิ่งทกอย่าง เว้นอย่างสิ้นเชิง” นั้น ส่วนหนึ่งหมายถึง  เว้นจากความเป็นฆราวาส คือจากการครองบ้านครองเรือนไปสู่ความเป็นบรรพชิต  ที่ว่าเว้นจากความเป็นฆราวาส นี้หมายความว่า ไปจากบ้านจากเรือน ซึ่งหมายถึง

            การสละความมีทรัพย์สมบัติ

            การสละวงศ์ญาติทั้งหลาย

            การเลิกละการนุ่งห่มอย่างฆราวาส

            เลิกละการใช้สอยอย่างฆราวาส

            เลิกละอาการกิริยาวาจาอย่างฆราวาส

            เลิกละความรู้สึกนึกคิดอย่างฆราวาสอย่างสิ้นเชิง

            ดังนี้ จึงจะเรียกว่าเว้นจากความเป็นฆราวาสอย่างสิ้นเชิง 

 

ผู้ที่บวชเข้ามาแล้วท่านเรียกว่า “ภิกษุ” ๆ มีความหมายเป็นหลายนัย ดังหลักฐานดังนี้

 

๑.     ภิกษุ แปลว่า  ผู้เห็นภัยในสงสาร  หมายความว่า  ภัย  คือความเกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  นั้นมีอยู่ในสงสารทั้ง  ๓ คือ  สงสารเบื้องต่ำ ได้แก่ อบายภูมิ  ๔  สงสารเบื้องกลางได้แก่  มนุษย์กับเทวดา  สงสารเบื้องบนได้แก่  พรหมโลก  ผู้ที่พิจารณาเห็นว่า สงสารทั้งสามนี้  เต็มไปด้วยภัยดังกล่าวมานั้น  จึงพยายามหาทางหลุดพ้น  เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า  “ภิกษุ”  ดังหลักฐานว่า  “สงฺสาเร  ภยํ  อิกฺขตีติ  ภิกฺขุ"  ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นภิกษุเพราะเห็นภัยในวัฏฏสงสาร

 

            ๒.   ภิกษุ  แปลว่า  ผู้ทำลายอกุศลธรรมอันลามก  ดังหลักฐานว่า “ปาปเก   อกุสเล  ธมฺเม   ภินฺทตีติ  ภิกฺขุ”   ชื่อว่า ภิกษุ เพราะทำลายอกุศลธรรม อันลามก หมายความว่า อกุศลธรรมอันลามกนั้น ได้แก่ ความประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ ถ้าเป็นภิกษุจริงแล้ว ความประพฤติชั่ว ความประพฤติเลว ประพฤติต่ำ ประพฤติทุจจริตดังกล่าวจะไม่มี เพราะฉะนั้นท่านจึงได้ชื่อว่า “ภิกษุ”

 

 ๓.    ภิกษุ แปลว่า ผู้ละกิเลสทั้งหลาย โดยเจาะจง หลักฐานว่า “โอธิโส  กิเลสานํ  ปหานา  ภิกฺขุ” ชื่อว่าภิกษุ เพราะละกิเลสโดยเจาะจง  หมายความว่า  ถ้าเป็นภิกษุแล้ว มีหน้าที่อยู่โดยเฉพาะเจาะจงลงไปทีเดียวว่า ต้องศึกษาปฏิบัติกำจัดกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความริษยากันและกัน ความตระหนี่ ความไม่ละอายบาป ความไม่กลัวบาป อวิชชา วิจิกิจฉา เป็นต้น

 

๔.    ภิกษุ แปลว่า ผู้กำจัดธรรมที่เป็นอกุศลอันลามก ดังหลักฐานว่า  “ภินฺนตา ปาปกานํ อกุสลานํ ธมฺมานํ ภิกฺขุ”  ชื่อว่า

“ภิกษุ”  เพราะกำจัดอกุศลธรรมอันลามก หมายความว่ากำจัดอกุศลจิต ๑๒ ได้แก่ โลภมูลจิต ๑๒ โทสมูลจิต ๘ โมหมูลจิต ๒ กับเจตสิกฝ่ายอกุศลที่เกิดร่วมกับจิตนั้นอีก ๒๗

 

๕.  ภิกษุ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษาอยู่ ดังหลักฐานว่า “เสกฺโข ภิกฺขุ” ผู้ที่ยังต้องศึกษาอยู่ชื่อว่า “ภิกษุ”หมายความว่า ผู้ที่กำลังศึกษาเพื่อได้บรรลุโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหันตมรรค ทั้ง ๗ จำพวกนี้ เรียกว่า เสกขะ แปลว่าผู้ยังต้องศึกษาอยู่

 

๖.  ภิกษุ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา ดังหลักฐานว่า “อโสกฺโข ภิกฺขุ” ผู้ที่ไม่ต้องศึกษา ชื่อว่า “ภิกษุ หมายความว่า ผู้เจริญวิปัสสนาจนได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว เรียก อเสกขะ เพราะไม่จำเป็นต้องศึกษาเพื่อ มรรค ผล นิพพาน ต่อไปอีกแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เสร็จกิจแล้ว กิเลสนี้สิ้นไปหมดแล้ว ภพชาติสิ้นแล้ว บุญบาปละได้หมดแล้ว

 

            ๗.    ภิกษุ แปลว่า ผู้เลิศ ดังหลักฐานว่า “อคฺโค ภิกฺขุ”  ชื่อว่า “ภิกษุ” เพราะเป็นผู้เลิศ หมายความว่า ผู้ที่เลิศด้วยอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ชื่อว่า “ภิกษุ”

 

 ๘.    ภิกษุ แปลว่า ผู้เจริญ ดังหลักฐานว่า “ภทฺโร ภิกฺขุ”  ชื่อว่าเป็นภิกษุ เพราะเป็นผู้เจริญ หมายความว่า ผู้ใดเจริญด้วยคุณธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ผู้นั้น ชื่อว่า ภิกษุ

 

๙.     ภิกษุ แปลว่า ผู้ผ่องใส ดังหลักฐานว่า “มณฺโฑ  ภิกฺขุ” ชื่อว่า “ภิกษุ”  เพราะเป็นผู้ผ่องใส หมายความว่า กาย วาจา ใจ  ของท่านไม่มีกิเลสอย่างหยาบ ไม่มีกิเลสอย่างกลาง ไม่มีกิเลสละเอียด คืออนุสัยเข้ามานอนดองอยู่ ถูกกำจัดออกไป ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว ไม่มีอวิชชามาห่อหุ้ม เพราะฉะนั้นท่านจึงเป็นผู้ผ่องใส

 

๑๐.  ภิกษุ แปลว่า ผู้มีสารธรรม  หลักฐานว่า “สาโร ภิกฺขุ”  ชื่อว่า “ภิกษุ” เพราะเป็นผู้มีสารธรรม หมายความว่า สารธรรม แปลว่า ธรรมที่เป็นแก่นสาร มีอยู่ ๖ ประการ คือ สีลสาระ สาระคือศีล ๑ สมาธิสาระ สาระ คือ สมาธิ ๑ ปัญญาสาระ สาระ คือ ปัญญา ๑ วิมุติสาระ สาระคือ วิมุติ ๑ วิมุติญาณทัสสนสาระ สาระ คือ วิมุติญาณทัสสนะ ๑ ปรมัตถสาระ สาระ คือ ธรรมที่เป็นประโยชน์อย่างยอดเยี่ยม ได้แก่ พระนิพพาน ๑

 

๑๑.  ภิกษุ แปลว่า ผู้อุปสมบทแล้วจากสงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ดังหลักฐานว่า “สมคฺเคน สงฺเฆน ญตฺติจตุตฺเถน กมฺเมน ฐานารเหน อุปสมฺปนฺโนติ ภิกฺขุ”  ชื่อว่า “ภิกษุ” เพราะได้อุปสมบทมาดีแล้ว แต่สงฆ์ผู้พร้อมเพรียงกัน ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบแก่ฐานะ  หมายความว่า อันกุลบุตรที่จะได้นามว่า เป็นภิกษุนั้น ต้องอุปสมบท คือบวชในกลางสงฆ์ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไป เว้นไว้แต่ปัจจันตประเทศ คือ ประเทศที่หาพระยาก ๕ รูปก็ใช้ได้ และสงฆ์เหล่านั้นต้องพร้อมเพรียงกัน ปรองดองกัน จะมีผู้ใดผู้หนึ่งคัดค้านขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ก็ไม่ได้ และต้องสวดญัตติจตุตตถกรรมจึงจะเป็นภิกษุได้

 

๑๒.   ภิกษุ แปลว่า ผู้ทำลายกิเลส ดังหลักฐานว่า “กิเลเส ภินฺทตีติ ภิกฺขุ”  ชื่อว่าภิกษุ เพราะอรรถว่า ทำลายกิเลสทั้งหลาย หมายความว่า กิเลสนั้นมีมาก เช่น กิเลส ๓ กิเลส ๑๐ กิเลส ๑๕๐๐ ถ้าผู้ใดปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลสดังกล่าว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ

 

     ความหมายของคำว่าภิกษุยังมีอีกมาก ที่ยกมาในที่นี้พอเป็นแนวทางแห่งการศึกษา

ประโยชน์ที่จะพึงเกิดขึ้นกับตัวผู้บวช 

            เมื่อกล่าวถึงผลหรืออานิสงส์ของการบวชย่อมมีมากมาย แต่เมื่อกล่าวโดยย่อพอเป็นแนวทางสำหรับการศึกษา สามมารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ ๓ ประเภท  กล่าวคือ

            ประโยชน์ที่จะเกิดกับตัวผู้บวช

            ประโยชน์ที่เกิดกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น บิดา มารดา

            ประโยชน์ที่จะเกิดกับพระศาสนา

 

......................................................................
บันทึกนี้ยังไม่จบ ด้วยมีภาระจึงต้องค้างไว้แบบนี้ ....ข้อมูลที่เป็นวิชาการอ้างจาก หนังสือ มโนปณิธาน ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ,หนังสือ บวชทำไม ของท่านพุทธทาส.และหนังสือ คำบรรยายเรื่อง วิปัสสนากรรมฐาน (มหาสติปัฏฐาน) ของ พระเทพสิทธิมุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)

หมายเลขบันทึก: 434481เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2011 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)
  • นมัสการครับ
  • ผมก็จะได้บวชแล้วได้มาอ่านก็ทำให้รู้เรื่องที่เีกี่ยวกับการบวชและความหมายของภิกษุมากขึ้นครับ

วศิน ท่านแปลว่าเขียน มีอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ท่านหนึ่งชื่ออาจารย์วศิน อินทสระ ผู้ที่รับการยกย่องว่า สามารถร้อยมาลัยธรรมได้อย่างงดงาม  เป็นนักวิชาการศาสนาที่ได้รับการยอมรับ ขออนุโมทนาขอบคุณคุณโยมที่มาเยี่ยม

แด่เจนจิรา อมราพิทักษ์

      น้องเอ๋ยน้องเจน                  ฝันอยากเป็นนักร้องต้องสานฝัน

ต้องฝึกซ้อมร้องให้ดีทุกวี่วัน          สิ่งสำคัญอย่าท้อถอยพลอยเชี่ยวชาญ

อีกเรื่องเรียนเพียรขยันหมั่นศึกษา    แบ่งเวลาให้ถูกต้องร้องขับขาน

ทำอะไรทำไปให้ถูกกาล              ไม่ช้านานคงได้เป็นเช่นฝันเอย.

กราบนมัสการครับผม...

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • แวะมาอ่าน มาเรียนรู้ค่ะ
  • พักนี้ครูอิงมีงานเข้า หลาย ๆ งาน ส่วนมากเป็นงานที่ต้องทำให้เรียบร้อยภายในเดือนนี้
  • ไม่ค่อยได้เขียนบันทึกที "ใต้ร่มกาสาวพัตร์" 
  • พักจากหน้างานก็แวะเข้ามาช่วงเวลาสั้น ๆ บันทึกเพลงซะเป็นส่วนใหญ่ เพราะใช้เวลาน้อยค่ะ

ขออนุโมทนาขอบคุณ อ.นุ และคุณครู ที่มาเยี่ยม ขอให้มัความสุข

นมัสการพระคุณเจ้า

  • บันทึกนี้ดี และเป็นประโยชน์ทางการศึกษาสืบค้นของผู้สนใจ
  • พระคุณเจ้าอาจจะแก้ไขเพื่อเพิ่ม คำสำคัญ ให้ครอบคลุมกว่านี้ก็ได้

เช่น คำว่า  ความหมายของบรรพชา  ความหมายของอุปสมบท

              ประวัติการบวช  การบวชในสมัยพุทธกาล ฯลฯ 

จะทำให้ผู้ที่ต้องการข้อมูล สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ดีค่ะ

 

  • อธิบายได้ชัดเจนดีมากค่ะ
  • กราบขอบพระคุณค่ะ

นำภาพนี้มาฝาก พระคุณเจ้า

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/kondee007/

โยมแม่ของ พระครู มีลูกชาย ๓ คน เป็นเจ้าอาวาส ๒ รูป

 

ขอบคุณคุณโยมธรรมทิพย์ และคุณครู ที่นำภาพมาฝาก ภาพนี้เห็นแล้วซาบซึ้งใจจริงๆ วันนี้ก็ไปทำบุญบังสุกุลให้โยมแม่ที่วัดบ้านเกิด ภาพถ่ายก็มีอยู่ครับ ก็อยากจะเอาลง แต่เน็ทช้ามาก เลยยากต่อการเอาลง วันนี้ไปเห็นเด็กผู้หญิงสาวคนนึงเมาเหล้าแล้วไปไม่ไหว เธอก็เลยนอนเมาอยู่ที่เตียงขายของที่วัด(วัดบ้านเกิด) อาตมามองเห็นก็เลยใหโยมไปดู ว่าเป็นลูกใคร แล้วให้พ่อแม่เขามาเอา และตอนที่นอนอยู่นั้นได้ถ่ายรูปไว้ด้วย เพื่อเป็นข้อคิดในเรื่องนี้ แต่ถ่ายอยู่ไกล ๆ กลัวคนอื่นจะมองในทางไม่ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท