บุญ เป็นไฉน


ขอบคุณท่านพระมหาภาสกร ที่ท่านได้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ ขอนำงานท่านมาเผยแผ่ เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาสำหรับผู้สนใจ

๑. ความหมายของบุญ  

          คำว่า “บุญ”ผู้รู้ได้ให้ความหมายไว้หลายทัศนะ ดังนี้

๑.๑ ความหมายจากปทานุกรมและตามหน้าที่ทางไวยาการณ์

          -จากปทานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต ให้ความหมายไว้ว่า บุญ หรือ ปุญญะ หมายถึงกุศลธรรมหรือธรรมชาติอันชำระ[1]

 

          ตามหน้าที่ทางไวยากรณ์ บุญ เป็นได้ทั้งคำนามและคำกริยาและคุณศัพท์ บุญ ถ้าเป็นคำนาม หมายถึงความดี วิธีทำความดี ความสุข ผลของความดี ความเจริญเครื่องชำระสันดานสัตว์ให้ผ่องแผ้ว

 

          บุญ เป็นคำกริยา  หมายถึง กระทำความดี

          บุญ เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึงผู้มีความดี ผู้มีความสุข

 

.๒ ความหมายตามนัยแห่งพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มุ่งเอาผลคือความสุข ความเจริญทั้งร่างกายและจิตใจอันก่อให้เกิดความผ่องแผ้ว  สงบและเกิดความพอใจ ที่จะกระทำความดีให้สูงยิ่งๆขึ้นไป ดังนัยพุทธพจน์ที่ว่า

 

                    “... ถ้าบุคคลจะพึงทำบุญ ควรทำบุญนั้นบ่อยๆ ควรทำความพอใจในบุญนั้น

                   เพราะว่าการสั่งสม  บุญนำสุขมาให้”

                     “...ผู้ทำบุญแล้วย่อมบันเทิงในโลกนี้ ละไปแล้วย่อมบันเทิง ชื่อว่า ย่อมบันเทิง

                  ในโลกทั้งสอง เขาเห็นความบริสุทธิ์แห่งกรรมของตนแล้ว”[2]

 

 “...ไม่ควรดูหมิ่นต่อบุญว่า มีประมาณน้อย จักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำย่อมเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกฉันใด ผู้มีปัญญาสั่งสมบุญอยู่แม้ทีละน้อยๆย่อมได้ด้วยบุญ ฉันนั้น...”

 

“...บุญอันโจรนำไปไม่ได้ บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ในโลกหน้า ควรทำบุญอันเป็นเหตุนำสุขมาให้...”

 

“...สัตว์ทั้งหลายย่อมต้องการความสุข ผู้ใดแสวงหาความสุขเพื่อตน เบียดเบียนเขาด้วยอาชญา ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมไม่ได้ความสุข..”[3]

        


[1]  กรมพระจันทบุรีนฤนาท,ปทานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ-สันสกฤต. (กรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,พ.ศ.2538) หน้า 80,

[2]  ขุ.ธ.25 / 29 / 30

[3]  ขุ.ธ. 25 / 20 / 32

     ในนิธิกัณฑสูตร ก็ได้เปรียบบุญเหมือนกับขุมทรัพย์ ซึ่งบุคคลฝังไว้ด้วยการกระทำความดี หรือกุศลกรรม ขุมทรัพย์หรือบุญนี้ จะให้ผลตามที่ตนปรารถนา ตั้งแต่ระดับโลกียสุข และโลกุตรสุข ดังปรากฏในพระพุทธพจน์ว่า

 

          “...บุรุษย่อมฝังขุมทรัพย์ไว้ในที่ลึกมีน้ำเป็นที่สุด ด้วยคิดว่าเมื่อกิจที่จำเป็นเกิดขึ้น ทรัพย์นี้จักเป็นประโยชน์แก่เรา เพื่อเปลื้องตนจากราชภัยบ้าง เพื่อช่วยตนให้พ้นจากโจรภัยบ้าง เพื่อเปลื้องหนี้บ้าง ในคราวทุพภิกขภัยบ้าง ในคราวคับขันบ้าง ขุมทรัพย์ที่เขาฝังไว้ในโลก ก็เพื่อประโยชน์นี้แล ขุมทรัพย์ที่เขาไว้เป็นอย่างดี ในที่ลึกมีน้ำเป็นที่สุดนั้น ขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้น ย่อมหาสำเร็จประโยชน์แก่เขา ในกาลทั้งปวงทีเดียวไม่ เพราะขุมทรัพย์เคลื่อนจากที่เสียบ้าง ความจำของเขาเคลื่อนที่เสียบ้าง นาคทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ยักษ์ทั้งหลายลักไปเสียบ้าง ผู้รับมรดกที่ไม่ชอบกันขุดเอาไปเมื่อเขาไม่เห็นบ้าง ในเวลาที่เขาสิ้น ขุมทรัพย์ทั้งหมดนั้นย่อมสูญไป...”

 

           “...ขุมทรัพย์คือบุญของผู้ใด เป็นหญิงก็ตาม เป็นชายก็ตาม ฝังไว้ดีแล้ว ด้วยทาน ศีล ความสำรวม และความฝึกตน ในเจดีย์ก็ดี ในสงฆ์ก็ดี ในบุคคลก็ดี ในแขกก็ดี ในมารดาก็ดี ในบิดาก็ดี ในพี่ชายก็ดี ขุมทรัพย์นั้น ชื่อว่าฝังไว้ดีแล้ว ใครๆไม่อาจผจญได้ เป้นของติดตามตนไปได้ ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น.

 

            บุญนิธินั้น ให้สิ่งที่ต้องการทุกอย่างแก่เทพดา และมนุษย์ทั้งหลาย  เทพและมนุษย์ทั้งหลายปรารถนานักซึ่งผลใด ๆผลนั้นๆทั้งหมดอันตนย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี ความเป็นผู้มีรูปสวย ความเป็นใหญ่ยิ่ง ความเป็นผู้มีบริวาร อิฎฐผลทั้งปวงนั้น อันเทพและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธิ นั้น ความเป็นพระราชาเฉพาะประเทศ  ความเป็นใหญ่ คือความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ สุขของพระเจ้าจักรพรรดิ อันเป็นที่พึงใจ ความเป็นพระราชาแห่งเทพดา ในทิพยกายทั้งหลาย อิฏฐผลทั้งปวงนั้น  อันเทวดาทั้งหลายย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น

 

          สมบัติเป็นของมนุษย์ สมบัติอันบุคคลพึงรื่นรมย์ในเทวโลก และสมบัติคือนิพพาน สมบัติทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น ความที่อาศัยคุณเครื่องถึงพร้อมคือมิตรแล้ว ถ้าประกอบด้วยอุบายที่ชอบ เป็นผู้ชำนาญในวิชชาและวิมุตติ อิฏฐผลทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมได้ด้วยบุญนิธินั้น ปฏิสัมภิทาและวิโมกข์ และสาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ พุทธภูมิ  อิฏฐผลทั้งปวงนั้น อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมได้ด้วยบุญนิธิ คุณเครื่องถึงพร้อม  คือบุญนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์อย่างนี้ เพราะเหตุนั้นบัณฑิตผู้มีปัญญา จึงสรรเสริญข้อที่ว่าบุคคลมีบุญอันทำไว้แล้วดังนี้ ”[1]

 

          จากความหมายแห่งพระสูตรข้างต้นนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่า บุญนิธินี้ ย่อมส่งผลให้บุคคลมีความสุขความสมบูรณ์ในร่างกายและจิตใจ แต่เป้าหมายของการทำบุญก็ใช่เพียงจะให้ผลดีต่อชีวิตเท่านั้น หากยังส่งผลให้เข้าสู่พระนิพพานอันเป็นจุดสูงสุดในพระพุทธศาสนาได้

 

๑.๓  ความหมายตามคำอิบายของท่านผู้รู้ทางพระพุทธศาสนา

 

          พระราชมุนี (ประยุทธ ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายของคำว่าบุญ ไว้ดังนี้

 

               บุญ มีความหมายตามรูปศัพท์ ที่นิยมแสดงกันไว้ ๒ อย่าง คือเครื่อง ชำระสันดาน และพื้นจิตให้สะอาด และว่า สิ่งที่ทำให้เกิดผลคือสภาวะที่น่าชื่นชม นอกจากนี้บางแห่งก็แสดงไว้อีกความหมายหนึ่งว่า สิ่งที่อัธยาศัยประสงค์ (ความประสงค์) ของผู้กระทำให้บริบูรณ์ [2]

 

              พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙ ) ได้กล่าวให้ความหมายคำว่า บุญ ไว้ดังนี้

                  “ คำว่า บุญ แปลว่าชำระ หมายความว่า ชำระ กาย ชำระ วาจา และชำระใจให้สะอาด  ดุจสบู่ฟอกผ้าให้ขาวสะอาดฉะนั้น”[3]

 

               พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ ป.ธ. ๙) ได้ให้ความหมายของคำว่าบุญ ไว้ดังนี้

 

                   “บุญ คือ สภาพที่ชำระจิตใจให้สะอาดผ่องใส ฉะนั้น ลักษณะของบุญในความหมายแรกนี้ จึงหมายถึงสภาพจิตใจ หรือคุณภาพของจิตที่ผ่องใส อีกอย่างหนึ่ง บุญ หมายถึงความสุข ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของควาสุข” ฉะนั้นลักษณะของบุญในลักษณะที่สองนี้ จึงหมายถึงความสุขความเจริญ  อีกอย่างหนึ่งบุญหมายถึงการทำความดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงสั่งสมบุญทั้งหลาย อันจะนำความสุขมาให้” ฉะนั้นในลักษณะของบุญในความหมายที่สามนี้ หมายถึงการทำความดี เช่นการให้ทาน การรักษาศีล เป็นต้น

 

ดังนั้น บุญจึงมีลักษณะ ๓ ประการ คือ

๑.เมื่อกล่าวถึงสาเหตุของบุญ บุญได้แก่การทำความดี

๒.เมื่อว่าถึงผลของบุญ ได้แก่ความสุขความเจริญ

๓.เมื่อว่าถึงสภาพของจิต ก็ได้แก่ สภาพจิตใจที่ผ่องใสสะอาด[4]

   สุชีพ ปุญญานุภาพ ก็ได้ให้ความหมายคำว่า บุญ ไว้ดังนี้

 

“บุญ กล่าวโดยสภาพ ได้แก่คุณชาตที่ชำระ สันดานให้ผ่องใส กล่าวโดยเหตุได้แก่การทำความดี กล่าวโดยผลได้แก่ความสุข”[1] 

พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ ได้ให้ความหมายของคำว่าบุญ เอาไว้ดังนี้ คื

         “คำว่า บุญ ตามความหมายของพระพุทธศาสนา หมายถึงอาการที่จิตดีขึ้น เจริญขึ้น พัฒนาการไปในทางที่ดี แต่ความดีของจิตนั้นส่วนใหญ่ก็คือความบริสุทธิ์สะอาด อีกอย่างหนึ่งคำว่า บุญ หรือปุญญะ แปลว่าขาว สะอาด ผุดผ่อง การกระทำที่เรียกว่าบุญ ก็ต้องเป็นการกระทำที่ทำให้จิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนั้นเอง”[2]


[1]  สุชีพ ปุญญานุภาพ,พจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา,พิมพ์ครั้งที่ 6, (กรุงเทพฯ: เรือนอก้วการพิมพ์, พ.ศ. 2535, หน้า 126.

[2]  พ.อ. ปิ่น มุทุกันต์, ประมวลศัพท์ 6  ศาสนา,พิมพ์ครั้งที่ 1, (กรุงเทพฯ: บริษัทสารมวลชน, พ.ศ. 2534), หน้า 150.


[1]  ขุ.ขุ. 25 / 9 / 11-12

[2]  พระราชวรมุนี (ประยุทธ ปยุตฺโต),พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ. (กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณืราชวิทยาลัย.พ.ศ. 2529) หน้า 168.

[3]  พระธรรมธีรราชมหามุนี,มงคล 38, (กรุงเทพฯ: หจก.การพิมพ์พระนคร. พ.ศ. 2536), หน้า 60.

[4]  พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ), กฎแห่งกรรม, (กรุงเทพฯ: มหามกุกราชวิทยาลัย, พ.ศ. 2532), หน้า 125-126.

 

คำสำคัญ (Tags): #บุญ
หมายเลขบันทึก: 435020เขียนเมื่อ 11 เมษายน 2011 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

บุญ เป็นสิ่งงที่เติมเต็มชีวิตให้มีคุณค่า

นมัสการค่ะ

  • ครูอิงจะพยายามสั่งสมบุญไปเรื่อย ๆ ค่ะ
  • วันนี้มีความสุขมาก ที่ได้ร่วมทำบุญ ทอดผ้าป่า สมทบทุนเพื่อสร้างโบสถ์กับวัดในถิ่นทุรกันดาร
  • ตอนแรก แจ้งความประสงค์เจ้าอาวาสว่า ขอทำบุญ เสาโบสถ์ 1 ต้น เป็นเงิน 10,000 บาท (ทางวัดสลักชื่อไว้ที่เสาโบสถ์)
  • คิดไปคิดมาเปลี่ยนใจ  ขอทำบุญแบบไม่เจาะจงค่ะ และไม่ประสงค์ให้ทางวัดประกาศนามผู้บริจาค
  • พระคุณเจ้ามีความเห็นอย่างไรบ้างคะ การทำบุญแบบเจาะจง "เสาโบสถ์" กับการทำบุญแบบไม่เจาะจง  คือทำบุญแล้ว พระเจ้าอาวาสจะเอาไปทำอะไรก็ได้

กราบนมัสการเนื่องในโอกาสปีใหม่ไทยค่ะ

นมัสการค่ะ 

  บันทึกนี้เป็นวิชาการจัง

ขอบคุณคุณครูทั้งสองท่าน คุณครูอิงจันทร์ครับ ถ้าทำอย่างไรสบายใจเราๆก็ควรทำอย่างนั้นครับ ถ้าเรามุ่งบริจาคทำบุญเสาโบสถ์ บังเอิญว่าทางวัดท่านลืม หรือทำชื่อเราตกหล่น เราไม่เห็นรายชื่อ เราก็เกิดความไม่สบายใจ ถ้าทำไปแล้วเราสบายใจ ก็เป็นบุญครับ บุญแปลว่าชำระใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส เสาโบสถ์ก็ดีครับ ก็ได้ประโยชน์ที่อุโบสถ ทำอย่างอื่นก็ดีครับ ได้ประโยชน์อย่างอื่น อยู่ที่ใจเราครับ

คุณครูภาทิพ บางทีเรื่องแบบนี้ก็ต้องอ้างหลักฐานครับ เพราะบางทีคนเราก็มีความเห็นต่างกันในเรื่องเหล่านี้อยู่ บันทึกนี้จึงอาจจะมองดูเป็นวิชาการ ก็ดีแล้วหละจะได้เกิดความสมบูรณ์พร้อมทางวิชากร

  • กราบนมัสการ พระมหาวินัย
  • กราบขอบพระคุณที่เมตตาไปเยี่ยมเยือนบันทึก
    ของธรรมทิพย์พร้อมฝากผลงาน
  • แวะมาอ่านเรื่องบุญเพื่อเติมเต็มความรู้  อ่านแล้วเกิดความเข้าใจชัดเจนดีมากค่ะ
  • ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังติดการทำบุญอยู่แค่ทาน
    หากพัฒนาให้มีศีลประจำกาย  ภาวนาประจำใจ  สังคมไทยคงร่มเย็นเป็นสุข ปัญหานานา
    ประการคงหมดไปนะเจ้าคะ
  • กราบขอบพระคุณค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • วันนี้ครูอิงได้โอกาส หยิบเอาบทกวี ที่พระคุณเจ้ารวบรวมไว้ที่บันทึก ประวัติบ้านผักกาด เป็นเขียนบันทึกเผยแพร่ค่ะ
  • ที่นี่ค่ะ "เก็บความคิดเห็นเป็นบันทึก"
  • http://gotoknow.org/blog/eng-eng/435906?refresh_cache=true

นมัสการเจ้าค่ะ

มารับความรู้จากพระคุณเจ้า

ขอบพระคุณเจ้าค่ะ

นมัสการลา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท